วุฒิสภามีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหาเลขาฯกสทช.ช้า ให้ป.ป.ช.-สว.เผย'นพ.สรณ'ส่อพ้นเก้าอี้

Last updated: 1 เม.ย 2567  |  1994 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วุฒิสภามีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหาเลขาฯกสทช.ช้า ให้ป.ป.ช.-สว.เผย'นพ.สรณ'ส่อพ้นเก้าอี้

ที่ประชุม ‘วุฒิสภา’ ไฟเขียวส่งผลศึกษาปมสรรหา ‘เลขาธิการ กสทช.’ ล่าช้า ให้ ‘ครม.-ป.ป.ช.’พิจารณา ด้าน ‘ประพันธุ์’ เผยกลางที่ประชุมฯ ชี้ ‘นพ.สรณ’ ส่อขาดคุณสมบัตินั่งเก้าอี้ ‘กสทช.’ แล้ว

        เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว

        ทั้งนี้ หลังจากประธานคณะกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ตรงกันกรณีการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดของรายงานผลการพิจารณาศึกษาฯ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายรายงานฯฉบับดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงแล้ว

        ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ส่งรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ฯ พร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานฯของคณะกรรมาธิการฯและ ส.ว. ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงาน กสทช. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณารายงานฯ ฉบับดังกล่าว นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สว. ลุกขึ้นอภิปรายไม่เห็นด้วยกับรายงานฯฉบับนี้ โดยระบุว่า จากปัญหาการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. นั้น สว.ไม่ได้มีอำนาจตัดสินว่า ใครทำผิด เพราะ สว.ไม่ใช่ศาล และเชื่อว่ากระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ดำเนินการถูกต้องแล้ว และในเรื่องนี้เอง กรรมการ กสทช. ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ก็ได้ไปฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว

        “การที่กรรมการ (กสทช.) เสียงส่วนใหญ่ และกรรมการเสียงส่วนน้อย ไปใช้สิทธิทางศาลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง หรือศาลอาญาคดีทุจริตฯ เขาดำเนินการถูกต้องแล้ว และเมื่อกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ใครตีความได้ว่าถูกหรือผิด คนที่ตอบได้ คือ ศาล คำพิพากษาของศาลถือว่าเป็นที่สุด เราควรรับฟังตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเขาไปฟ้องศาลแล้ว ยังจะไปวินิจฉัยอะไรอีก แล้วไปสรุปว่าประธาน กสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช.ผิด ผมว่าไม่ถูกต้อง” นายวิวรรธน์ กล่าว

        ขณะที่ นายประพันธุ์ คูณมี สว. กรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ชี้แจงว่า การจัดทำรายงานฯฉบับนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ซึ่ง สว. และคณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจในการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสรรหาเลขาธิการ กสทช. โดยไม่ได้ไปตัดสินว่าใครผิดหรือใครถูก เพียงแต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่ากรณีนี้ น่าจะมีความไม่ชอบหรือความไม่สอดคล้องด้วยข้อกฎหมายในประเด็นใดบ้าง และควรดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไร

        “ผมไม่ได้กล่าวหา หรือชี้ว่าเขาผิดอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแต่คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าว น่าจะเข้าข่ายหรือส่อไปในทางปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ส่วนคนที่จะวินิจฉัยแน่นอนว่าจะต้องเป็น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเป็นศาลฯ ไม่ใช่พวกผมแน่ ผมไม่ได้ไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูกเขา แต่การกระทำของเขา ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียหาย เราจึงเห็นว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควรจะได้ดำเนินการ” นายประพันธุ์ กล่าว

        นายประพันธุ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ มีหนังสือให้ตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ว่า เป็นคนละกรณีกับรายงานฯกรณีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. โดยได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมายอีกคณะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช.ท่านนี้ ว่า จะขาดคุณสมบัติหรือไม่

        “มันมีคณะอนุกรรมการฯด้านกฎหมายอีกคณะหนึ่ง ของคณะกรรมาธิการคณะนี้ กำลังตรวจสอบท่านประธาน กสทช. ท่านนี้ ว่า น่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะในขณะที่เป็นกรรมการ กสทช.อยู่ ยังไปกรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ แล้วไม่ได้ลาออก ก่อนที่จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน ซึ่งตามกฎหมาย เขาบอกว่าหมดสิทธิ์แล้ว ธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ตลาดหลักทรัพย์ฯตอบมา และเดี๋ยวจะมีรายงานฯอีกเรื่องเข้ามาอีกว่า คุณสมบัติของท่านประธาน กสทช.น่าจะขาดไปแล้ว” นายประพันธุ์ กล่าว

        รายงานข่าวแจ้งว่า ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ฯ ดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการคัดเลือก และภายหลังกระบวนการคัดเลือก รวมถึงจัดส่งรายงานฯไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่าการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตามประกาศประธาน กสทช. ลงวันที่ 17 มี.ค.2566 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่

        รวมถึงส่งรายงานฯไปให้ ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาหยิบยกเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งใช้เวลามาแล้วกว่า 1 ปี 9 เดือน มาพิจารณาดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ประธาน กสทช. กรรมการ กสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. มีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เป็นต้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้