รมช.คมนาคม หนุนเอกชนเปลี่ยนเครื่องจักรยกตู้สินค้าลดคาร์บอนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

Last updated: 21 พ.ย. 2566  |  2801 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รมช.คมนาคม หนุนเอกชนเปลี่ยนเครื่องจักรยกตู้สินค้าลดคาร์บอนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นางมนพร เจริญศรี รมช.กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาหนุนเอกชนเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) จากพลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ สู่เป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยยั่งยืน

        เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามเซ็นสัญญาระหว่าง บริษัท แอลซีเอ็มที จำกัด กับ บริษัท แซด-พี-เอ็ม-ซี โคเรีย จำกัด พร้อมด้วย Mr.Ole Lindholm ผู้แทนจากสถานทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย เข้าร่วม เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (อาร์ทีจี) จากเดิมที่ใช้พลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ กลุ่ม บ.แอลซีบีวัน พร้อมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง ณ บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดระยอง

        บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ A0 นำโดย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายคอร์ สแปงจ์ จรดปากกาลงนามในสัญญาร่วมกับ บริษัท แซด-พี-เอ็ม-ซี โคเรีย จำกัด นำโดย ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดทวีปเอเชีย Miss Lorelai Yuan เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) จากพลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มูลค่าการลงทุนกว่า 145 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 1.5 ล้านกิโลซีโอทูต่อปี มุ่งสู่การเป็นท่าเรือแห่งอนาคต ‘Terminals of the Future’

        นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชนอย่างคับคั่ง อาทิ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ดร.สุนทร ผจญ นายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี ผู้แทนสมาคมโลจิสติกส์อีอีซี และบริษัทสายการเดินเรือ  เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวครั้งนี้ด้วย

        บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มบริษัท แอลซีบีวัน เปิดให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า ให้บริการแก่เรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2538 ณ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยมีนโยบายในการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาบุคลากร อุปกรณ์เครื่องจักร และปรับปรุงระบบไอที ให้มีมาตรฐานระดับโลกตามนโยบายของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

        นางมนพร เจริญศรี กล่าวว่าตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ยืนยันถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติ (UN) ในการประชุมระดับผู้นำ ณ สำนักงานใหญ่ UN เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะผลักดันความร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่และใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการขนส่งของประเทศได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ภาคเอกชนที่อยู่ในกำกับดูแล ดำเนินธุรกิจด้วยการนำวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในท่าเรือ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

        “การที่บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด ผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประกอบธุรกิจท่าเทียบเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ในพื้นที่ ท่าเรือแหลมฉบัง  ได้ริเริ่มนำนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักร ที่ให้บริการในท่าเรือให้มาใช้พลังงานสะอาดแทนที่พลังงานจากฟอสซิล  เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยสู่อากาศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพร้อมสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวในอนาคตตามนโยบายของกรมฯและรัฐบาลไทย” นางมนพร กล่าว

        นางมนพร กล่าวต่ออีกว่า “สำหรับการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หลักในการให้บริการท่าเทียบเรือระหว่าง ประเทศในท่าเทียบเรือ เอ 0 ท่าเรือแหลมฉบัง โดย LCMT ร่วมกับ ZPMC Korea มีมูลค่าการลงทุนกว่า 145 ล้านบาท เมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จ จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนต่อปี และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และการดำเนินธุรกิจขนส่งทางน้ำอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลไทย และตามเป้าหมายของ UN ต่อไป”

        ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของ ทลฉ. ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation) การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) และเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของ บริษัท ฮัทชิสิน เทอร์มินัล โดยได้สั่งการให้ กทท. เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดภายในท่าเรือ ซึ่งเบื้องต้น กทท. ได้จัดทำและใช้งานระบบ TRUCK QUE ที่มีการจองคิวของรถบรรทุกเพื่อจัดคิวรถบรรทุกให้มีความสอดคล้องกับตารางของสายเดินเรือ เพื่อให้รถบรรทุกที่เข้ามารับ - ส่งตู้สินค้า ประหยัดเวลา และลดปัญหาการจราจรติดขัดภายในบริเวณท่าเรือ โดย กทท. จะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการพัฒนาท่าเรือให้เป็น SMART CITY ซึ่งจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น บริการโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น

        ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในฐานะตัวแทนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณกลุ่มบริษัท แอลซีบีวัน ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือบี 1 และท่าเทียบเรือเอ 0 ที่ตลอดระยะเวลากว่า 28 ปีที่ผ่านมาได้ ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการส่งมอบบริการด้านโลจิสติกส์ให้กับเรือขนส่งสินค้า ระหว่างประเทศขนาดใหญ่ด้วยมาตรฐานท่าเทียบเรือระดับโลก ซึ่งทำให้สายเดินเรือระหว่าง ประเทศเชื่อมั่นและมั่นใจว่าประเทศไทยจะได้ให้บริการขนส่งตู้สินค้าได้รวดเร็ว ปลอดภัยและเป็น มาตรฐานสากล ความเชื่อมั่นดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นจากปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าที่เข้ามาใช้บริการ ท่าเทียบเรือบี 1 และเอ 0 สูงถึงกว่า 1.7 ล้านทีอียูต่อปีหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของ ปริมาณตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ทั้งหมดของประเทศ การจัดการสินค้าที่ดีทำให้เกิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทำให้ฟันเฟืองของระบบโลจิสติกส์โลกหมุนไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

        “นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยและกลุ่มบริษัท แอลซีบีวัน ยังได้มี ความร่วมมือกันในมิติด้านการกิจกรรมเพื่อสังคมและการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณในความพยายามของกลุ่มบริษัท แอลซีบีวัน ที่ได้ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในการประกอบกิจการท่าเทียบเรือบี 1 และเอ0 อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยลงทุนเพิ่มเติม กว่า 145 ล้านบาทในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้ในลานตู้สินค้าของท่าเรือจากเดิมที่ใช้แต่ พลังงานจากน้ำมัน มาใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิส อันจะทำให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งโครงการลงทุนใน ครั้งนี้ สอดรับกับวิสัยทัศน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ว่า “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำ ระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573″ นายเกรียงไกร กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้