วุฒิสภาจัดเสวนา “สิทธิประชาชน ตรวจสอบ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2566

Last updated: 29 มี.ค. 2566  |  37930 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วุฒิสภาจัดเสวนา “สิทธิประชาชน ตรวจสอบ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2566

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา จัดเสวนา “สิทธิประชาชน : ตรวจสอบ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” มุ่งสร้างความตระหนักรู้สิทธิทางการเมืองและกระตุ้นการมีส่วนร่วมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม

          วันที่ 29 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมหมายเลข 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จัดเสวนา เรื่อง “สิทธิประชาชน : ตรวจสอบ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” ผ่านรูปแบบผสมในห้องประชุม (onsite) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (online) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวรายงาน และนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา อ่านบทกวี “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วม

          ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้สะท้อนปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่สำคัญ คือ ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน ตลอดจนการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน การไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตเป็นภัยต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำลายภาพลักษณ์ ทำลายความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งทุกคนจะต้องป้องกันและแก้ไขปัญหา “การทุจริตคอร์รัปชัน” หรือ “การฉ้อราษฎร์บังหลวง” อันถือได้ว่าเป็นอาชญากรรม เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายในสังคมไทย ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญและผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ สร้างกลไกการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการบรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เช่น 1. พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ 2. นโยบาย National e-Payment เป็นต้น ที่ช่วยขจัดโอกาสการทุจริต หักหัวคิว เรียกรับสินบน เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของภาครัฐให้สามารถติดตามและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มช่องทางรับร้องราวร้องเรียนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ตรวจสอบการทุจริตในทุกระดับตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

          ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า การจัดการกับการฉ้อราษฎร์-บังหลวง ผู้ที่จะตรวจสอบได้ดีที่สุดคือ “ประชาชน” โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 41 ได้บัญญัติให้บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ 1. ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ 2. เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว และ 3. ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ และมาตรา 50 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ได้บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ พร้อมกันนั้น มาตรา 63 ได้บัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา

          พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวตอนหนึ่งในช่วงบรรยาย เรื่อง สถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทย ว่า นักการเมืองไทยที่มีอำนาจมักอ้างความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อนำโครงการไปลงพื้นที่ของตนเอง โดย400 เขตเลือกตั้ง พบว่านำโครงการไปลงพื้นที่ของตัวเอง ทำให้เกิดคำถามว่าพื้นที่อื่นไม่มีความเดือดร้อนแบบเดียวหรือ ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าเป็นการใช้อำนาจมิชอบและใช้อำนาจนำโครงการไปลงพื้นที่ของตนเอง ทั้งนี้การทำงานของ ส.ส.ต้องแยกระหว่างหน้าที่การตรากฎหมายและการดูแลประชาชน เพราะการดูแลประชาชนเป็นเรื่องของท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยที่จะสนับสนุนเท่าเทียมเป็นธรรมด้วยกติกา ดังนั้นต้องปรับความคิดทางการเมืองใหม่

          พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มีข้อเสนอแนะองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ  ปี2566  ต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น คือ ต้องให้ความสำคัญต่อการถ่วงดุลอำนาจ ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระ รวมถึงให้โอกาสประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมากรรมการปฏิรูปได้ผลักดันกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร และกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่พบว่าถูกยื้อไปจนกรรมการปฏิรูปหมดวาระ ทั้งนี้การแก้ปัญหาทุจริตที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ยึดระบบคุณธรรม การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเลือกเพื่อให้คนดีมาปกครอง ขณะเดียวกันต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและให้ความเห็น

          พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ กล่าวเรียกร้องต่อพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง ว่า ต้องสัญญากับประชาชนว่าจะผลักดันร่างกฎหมาย 4 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม, กฎหมายติดตามทรัพย์สินคืน กรณีสินบนข้ามชาติ, กฎหมายข้อมูลข่าวสาร และกฎหมายตรวจสอบเส้นทางการเงินของนักการเมืองและพรรคการเมือง รวมถึงเปิดเผยถึงที่มาของเงิน ว่าเป็นเงินบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะไม่ไว้วางใจว่าเป็นเงินสีเทาที่ว่อนในประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานที่ควบคุมการเงินไม่เข้มแข็งพอ

“พรรคการเมืองต้องส่งคนที่ไม่มีมลทิน มีประเด็นคอร์รัปชั่นให้ประชาชนเลือก หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ รวมถึงคนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูล ก็ไม่ควรส่งเพราะจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต นอกจากนั้นพรรคการเมืองควรมีนโยบายสำคัญ คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ ขณะที่เงินที่ใช้หาเสียง กกต.ต้องดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก เช่นเดียวกับการจ่ายภาษี และความโปร่งใสการจ่ายภาษีหากพรรคไหนไม่มีนโยบายต้านคอร์รัปชั่น อย่าเลือก และอย่าเลือกคนมีมลทินให้เข้ามาเป็นมะเร็งร้ายของการเมืองไทย” พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ กล่าว

 

          ต่อจากนั้นเป็นการเสวนา หัวข้อ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนยกย่อง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่เปิดประเด็นทุนจีนสีเทาและประเด็นของนายตู้ห่าว เพราะคนที่มีอำนาจไม่ดำเนินการใดๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้เงินเป็นใหญ่ในประเทศไทย อย่างที่นายตู้ห่าว เคยกล่าวว่า มีเงินมาก จะทำอะไรใครก็ได้ ทั้งนี้ช่วงเลือกตั้งที่จะมาถึงทำให้เกิดคำถามว่าจะเลือกคนแบบใดมาปกครอง หากจะเลือกคนดีต้องเลือกคนแบบใด โดยคนดีของตนหมายถึง คือ  คนที่ไม่ใช่อำนาจรัฐเพื่อตนเอง และพวกพ้อง

          ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กล่าวถึงการทำงานของนายชูวิทย์ ว่า แม้จะกระดำกระด่าง หากทำคนเดียวเชื่อว่าตายเปล่า แต่เบื้องหลังของนายชูวิทย์มีกลุ่มคนขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ดีในการตรวจสอบของภาคประชาชนเปิดเผยข้อมูลของนักการเมือง พบว่าถูกฟ้องร้อง ดังนั้นตนมองว่าต้องมีมาตรการคุ้มครองภาคประชาชนที่ตรวจสอบคนทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่ให้ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาท เหมือนประเทศเกาหลีใต้

“เราได้คนไม่ดี เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ จะทำให้ความยุติธรรมไม่ปรากฏ และคนถูกตรวจสอบถูกรังแก ผมไม่อยากให้เกิดความล้มเหลวในความยุติธรรม แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในการยุติ ธรรมมานาน ทั้งนี้ต้องดำรงความยุติธรรม โดยให้ถือว่าเป็นเจตจำนงของปะชาชน ฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย” ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กล่าว

          เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงสิทธิทางการเมือง และสามารถใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง คณะกรรมาธิการฯ จึงร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนและสื่อสารมวลชนได้รับทราบและเข้าใจในภัยของ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ที่มีผลกระทบถึงประชาชนอย่างรุนแรงในปัจจุบัน 2. เพื่อเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชน สถานการณ์คอร์รัปชัน สภาพปัญหาอุปสรรค ภัยคุกคามต่อสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบนักการเมืองและพรรคการเมือง ตลอดจนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของบ้านเมือง 3. เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันแสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ “การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” ไปสู่เป้าหมาย.สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยและแนวทางการป้องกันและแก้ไข” โดย พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

          ด้านรองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าวว่า กรณีที่ได้นักการเมืองโกง หรือคนไม่ดี ต้องย้อนไปถึงต้นตอ ว่าเกิดจากประชาชน ในฐานะคนเลือกนักการเมือง ทั้งนี้การเป็นตัวแทนไม่ใช่ตัวแทนของรัฐ แต่คือเลือกตัวแทนของประชาชน คนที่เป็นผู้แทนต้องคิดถึงประชาชน ประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่คิดถึงแต่อำนาจของตนเอง ทั้งนี้การตรวจสอบนักการเมือง ต้องเริ่มจากเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือ โหวตเตอร์ ที่ต้องเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสม และเป็นคนดี แต่เมื่อเลือกแล้ว หากที่ผ่านมาไม่ทำงาน อย่าเลือกคนเดิมซ้ำ

          ทั้งนี้หากไม่มีคนให้เลือกแล้ว การตรวจสอบของประชาชนในกรณีนี้ สามารถทำได้ผ่านการลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง ด้วยการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกใคร หากประชาชนทั้ง 400 เขตใช้การลงคะแนนแบบดังกล่าว และชนะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ จะสามารถขจัดนักการเมืองอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทยได้

“หากประชาชนกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนเพื่อให้ได้คะแนนโหวตโนที่ท่วมท้น ตัวใหญ่ๆของแต่ละพรรค จะถูกกวาดออกไป และพรรคการเมืองจะไปไม่ถูก เพราะไม่ใช่เรื่องยุบพรรค เนื่องจากต้องหาคนลงสมัครใหม่ แต่ที่ผ่านมาเงินพรรคเงินผู้สมัครใช้จ่ายเกือบหมด เมื่อถึงตอนนั้นนักการเมืองจะกราบประชาชนอย่างแท้จริง ผมมองว่าหากประชาชนใช้มาตรการของรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมู่เหนือกฎหมาย คือการใช้อำนาจตรวจสอบของประชาชนที่เข้มแข็ง ดังนั้นการหย่อนบัตรที่ชาญฉลาดและเหมาะสม คือ จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบนักการเมือง” รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าว

          ขณะที่ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวด้วยว่าหากประชาชนเห็นว่าไม่มีผู้สมัครส.ส.ที่เป็นคนดี สามารถกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนได้ รวมถึงลงคะแนนในบัตรของพรรคการเมืองได้เช่นกัน ส่วนการลงคะแนนดังกล่าวไม่ต้องห่วงว่าหัวคะแนนจะทราบ นอกจากประชาชนจะตรวจสอบนักการเมืองผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว คือ การร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สำหรับสถิติของการเลือกตั้งปี2562 พบว่ามีการร้องเรียนต่อ กกต. 592 เรื่อง สามารถทำเป็นสำนวนได้ 286 เรื่อง และยอมรับว่านำไปสู่การลงโทษได้เพียง 1-2 เรื่องเท่านั้น โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น คือ ร้องเรื่องการซื้อเสียง รวม 191 เรื่อง ส่งศาล 3 เรื่อง ส่วนที่เหลือนั้นยุติเรื่อง , ร้องเรื่องการใส่ร้าย ใช้อิทธิพล 64 เรื่อง สามารถส่งศาลได้ 5 เรื่อง เป็นต้น

          นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายอีก 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 หัวข้อ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง” โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย พันตำรวจตรี ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

          และช่วงที่ 2 หัวข้อ “สิทธิของประชาชนในการตรวจสอบพฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมือง” โดย นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา บรรณาธิการข่าว PPTV นางพงษ์ทิพย์ เทศะภู ประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท Real SMART จำกัด นายณัฐภัทร เนียวกุล ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (แห่งประเทศไทย) นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด และนางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้