Last updated: 28 ส.ค. 2565 | 4334 จำนวนผู้เข้าชม |
รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับภูมิภาค รุ่นที่ 3 เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย
วันที่ 28 สิงหาคม 2565 นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมโครงการพลเมืองศึกษา (Civic Education) หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับภูมิภาค รุ่นที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดย สำนักพัฒนาบุคลากร สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2565 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้บริหารภาคเอกชน องค์กรเอกชน ตัวแทนพรรค การเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาชนที่สนใจ จำนวน 19 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 98 คน ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น
นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่าการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับภูมิภาค เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้แก่องค์กรเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปรับหัวข้อวิชา และเนื้อหา ให้เป็นไปในแนวเดียวกับหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง หรือที่เรียกชื่อย่อว่า หลักสูตร พตส. ซึ่งจัดอบรมที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่วนกลาง ตลอดระยะเวลาที่จัดอบรมหลักสูตร พตส. มา 12 รุ่น และกำลังจะเปิดรับสมัครรุ่นที่ 13 เร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าใจว่ามีผู้ที่สนใจสมัครเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตร พตส. เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ที่ได้รับการอุดจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองพรรคการเมือง ประกอบกับเรื่องปัญหาอุปสรรค และใช้เวลาศึกษาอบรมทุกวันศุกร์ เป็นเวลาถึง 9 เดือน จึงทำให้ผู้ที่สนใจไม่สามารถเข้ารับการศึกษาอบรมได้
ดังนั้น เพื่อกระจายโอกาสให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะองค์กรเครือข่ายที่ทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตลอดจนผู้ที่คุณสมบัติยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ระเบียบกำหนด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงได้เนินการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ระดับภูมิภาคขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และผู้สนใจที่มีจำนวนมากเนื่องจากตระหนักดีว่า กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เหมาะสมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ต้องเริ่มจากการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐรวมทั้งได้รับการเสริมสร้างแนวคิด และวิสัยทัศน์ในยุคดิจิทัล อย่างเหมาะสม
หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ระดับภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อให้บุคลากรทางการเมือง บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมือง การเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
2. เพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์ แนวคิด จิตสำนึก และอุดมการณ์ทางการเมือง ตลอดจนการสร้างความตระหนัก และเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
3. เพื่อส่งเสริมและแสวงหาความร่วมมือเครือข่ายทางวิชาการ ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการเมือง ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน ภาคเอกชน พรรคการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาชนในส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น
การดำเนินการแบ่งการอบรมออกเป็นกลุ่มพื้นที่ตามภูมิภาค จำนวน 5 รุ่น ซึ่งรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ 3 เป็นกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้บริหารภาคเอกชน องค์กรเอกชน ตัวแทนพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาชนที่สนใจ โดยได้รับการคัดเลือกด้วยวิธีการสรรหาจากผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จำนวน 19 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 98 คน วิธีการอบรม มีการบรรยาย การยกกรณีศึกษา การแบ่งกลุ่ม การอภิปรายประเด็นร่วมสมัย โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงทางวิชาการ บางท่านเป็นผู้บรรยายและอาจารย์ที่ปรึกษาประจำหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อประเมินผลการจัดอบรมได้กาหนดให้มีผู้เข้ารับการอบรมทำ Pre-Test และ Post –Test อีกด้วย