Last updated: 7 มิ.ย. 2565 | 4043 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มต้นกระดุมเม็ดแรกด้านความโปร่งใส
วันที่ 6 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) โดยมี นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ACT และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ชั้น 16 อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน ว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในนโยบายซึ่งประชาชนต่างก็ให้ความสำคัญ ในช่วงก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่าประชาชนตั้งแต่รากหญ้าจนถึงนักธุรกิจและผู้ประกอบการทุกระดับมีความหมดหวัง ไม่ไว้ใจ และรู้สึกไม่ดีนักต่อกทม. ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริต ความไม่โปร่งใส สิ่งที่ต้องทำจากนี้ไปคือการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้ใจให้กลับคืนมา รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์อย่างเช่นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ซึ่งจะให้การทำงานเป็นไปด้วยความมั่นใจและถูกทางมากยิ่งขึ้น สำหรับในวันนี้ได้มีการหารือกันหลายเรื่อง ได้แก่ ข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะมีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ กรุงเทพมหานคร ผู้ที่ทำสัญญา (เอกชน) และผู้สังเกตการณ์จาก ACT เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความโปร่งใส นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการเปิดเผยข้อมูล แนวคิดเรื่องการขอใบอนุญาต การคำนวณภาษีต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถปรับปรุงเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้นได้ รวมถึงการกำหนดให้มีหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความเข้าใจมาร่วมกันทำการวิจัยก่อนเดินหน้างาน เพื่อให้งานที่เกิดขึ้นมีหลักอ้างอิงทางวิชาการด้วย
“วันนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี และจากนี้ไปจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อหารืออย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้เห็นความก้าวหน้า และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ด้วย เพราะจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเมือง ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่สละเวลามาช่วยให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากเราเริ่มต้นด้วยกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง จะเป็นผลดีในระยะยาว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดตั้งขึ้นเพื่อเสาะแสวงหาความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริต และมีพันธกิจมายาวนาน รวมถึงถือเป็นหน้าที่ที่จะสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องมือที่อยู่มาประยุกต์ใช้และต่อยอดในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จากนี้ไปจะทำให้การทำงานเกิดความโปร่งใส มีการเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ และประชาชน ซึ่งประชาชนไม่ได้มีฐานะเป็นผู้รับบริการเพียงอย่างเดียว ประชาชนยังต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดตามโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีกระบวนการขอใบอนุญาต กระบวนการอื่น ๆ ที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากกรุงเทพมหานครต้องดูแลชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในหลายมิติ และกทม.เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหลากหลาย ประชาชนแต่ละคนก็มีปัญหาต่างกันไป โดยจะต้องดูให้ครบถ้วน
“สำหรับในเรื่องของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามก่อนหน้านี้แล้ว และจากนี้ไปคณะทำงานซึ่งมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดูแลจะมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน และมีหน่วยงานอื่นมาร่วมทำวิจัยและให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการดูในรายละเอียดของโครงการอื่น ๆ ด้วย อาทิ โรงกำจัดขยะ การอำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาต กระบวนการคิดคำนวณภาษี ซึ่งเชื่อว่าการทำงานของกทม. จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมข้อมูลตามหลักการซึ่งมีความซับซ้อน แต่คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะเสร็จเรียบร้อย” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้าย
ขอบคุณภาพข่าวจากสำนักประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร