คอร์รัปชันในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ-มหาดไทย

Last updated: 2 พ.ย. 2565  |  3825 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คอร์รัปชันในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ-มหาดไทย

โครงการปืนสวัสดิการ มีมาหลายครั้งแล้วในรอบหลายสิบปี ครั้งนี้คำแถลงของท่านรอง ผบ.ตร. ให้หยุดโครงการฯ จึงเป็นก้าวที่กล้าหาญและถูกต้อง ในระยะยาวเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของสังคมจากอาชญากรรมที่ใช้ปืนเป็นอาวุธ จำเป็นที่คนไทยต้องร่วมกันติตตาม กดดันให้ผู้มีอำนาจและผู้นำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับแสดงความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหาที่มีในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจให้หมดไป

          คอร์รัปชันในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ ทำไมคนไทยถึงมีปืนในครอบครองจำนวนมาก ทำไมปืนเถื่อนจึงหาซื้อได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต ตำรวจขโมยปืนหลวงเพิ่งมีจริงหรือ แล้ว 'ปืนสวัสดิการตำรวจ' มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร คำตอบที่เหมือนกันทุกประเด็นคือ ผลประโยชน์ที่เกิดจาก 'คอร์รัปชัน'   

          โครงการปืนสวัสดิการฯ เริ่มเรื่องด้วยการเสนอขอของ สตช. ไปยังกระทรวงมหาดไทย และเมื่อผู้ใดต้องการซื้อปืน กระบวนการออกใบอนุญาตจะให้ซื้อ ให้ครอบครอง ให้พกพา จะอยู่ในอำนาจของ กรม จังหวัดและอำเภอ แล้วแต่กรณี

คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบโดยอาศัยอำนาจและขั้นตอนของราชการ สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในหลายระดับ หลายหน่วยงาน รวมถึงพ่อค้าปืนและผู้ซื้อปืน 

          1. ปี 2563 มีการอนุมัติโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ มีทั้งปืนสั้น - ปืนยาวรวมกันอย่างน้อย 127,116 กระบอก ในเวลาต่อมาปืนเหล่านี้เปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกสังกัด รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงข้าราชการบำนาญก็มีสิทธิซื้อได้ด้วย ปืนเหล่านี้ขายถูกกว่าราคาปืนทั่วไปในตลาดราวครึ่งหนึ่ง เพราะได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีในการนำเข้า 

          2. 28 ตุลาคม 2565 พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. แถลงข่าวการระงับโครงการปืนสวัสดิการฯไม่มีกำหนด เนื่องจากพบเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยใช้ใบอนุญาตให้ซื้อปืน (ป.3) ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ กลายเป็นปืนเถื่อนหรือไม่ก็ลักลอบจำหน่ายออกนอกประเทศ 

          3. 'สินบนโควตาปืน' เอกชนรายใดที่ต้องการโควตานำเข้า/จำหน่ายปืนตามโครงการนี้ ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้ผู้มีอำนาจบางคน ในอัตรา 5,000 – 8,000 บาทต่อกระบอกตามชนิดปืน

          4. 'สินบนใบ ป.3 - ป.4' ผู้ซื้อปืนต้องยื่นขอใบอนุญาตซื้อปืน (ป.3) ใบอนุญาตให้มีและใช้ปืน (ป. 4) ตามขั้นตอนจากหน่วยงาน 'ฝ่ายปกครอง' โดยทั่วไปร้านขายปืนจะเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง รวมเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่บางคนอีก 3,000 – 10,000 บาทต่อกระบอก ขึ้นอยู่กับชนิดปืนและประวัติว่าบุคคลนั้นมีปืนมาแล้วกี่กระบอก

          5. ผู้ซื้อปืนฯ บางรายสมัครใจซื้อโดยไม่รับของ แต่ฝากไว้ขายกับร้านปืน บางรายขายปืนเมื่อหมดระยะบังคับห้ามโอนห้ามขายต่อ ส่วนมากขายผ่านร้านที่ตนซื้อและเป็นปืนที่ไม่ผ่านการใช้งาน 

          6. เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ครอบครองปืนหลวงหรือปืนสวัสดิการก็ตาม เมื่อขัดสนเงินทองก็เอาปืนไปจำนำ หากสุดวิสัยก็ปล่อยขาดหรือขายไปแล้วทำเรื่องแจ้งหาย โดยยอมชดใช้และรับโทษทางวินัยหากเป็นปืนหลวง ซึ่งกินเวลานานกว่าเรื่องจะแดงขึ้นมาและการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้น

          โครงการปืนสวัสดิการ มีมาหลายครั้งแล้วในรอบหลายสิบปี ครั้งนี้คำแถลงของท่านรอง ผบ.ตร. ให้หยุดโครงการฯ จึงเป็นก้าวที่กล้าหาญและถูกต้อง ในระยะยาวเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของสังคมจากอาชญากรรมที่ใช้ปืนเป็นอาวุธ จำเป็นที่คนไทยต้องร่วมกันติตตาม กดดันให้ผู้มีอำนาจและผู้นำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับแสดงความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหาที่มีในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจให้หมดไป 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้