ศาลปกครอง นำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการระงับข้อพิพาท (มีคลิป)

Last updated: 9 ก.ย. 2562  |  6662 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาลปกครอง นำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการระงับข้อพิพาท (มีคลิป)

ศาลปกครองเพิ่มทางเลือกใหม่ในการอำนวยความยุติธรรม โดยเปิดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองได้หวังให้เป็นทางเลือกใหม่ของการระงับข้อพิพาทที่เรียบง่าย ได้ผลเร็วและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่กรณีทุกฝ่าย

วันที่ 9 กันยายน 2562 ณ ห้องสัมมนา 2 ชั้น B1 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้เกียรติแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเนื่องในโอกาสที่ศาลปกครองได้เปิดดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง โดยมีนายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการยกร่างอนุบัญญัติและเตรียมความพร้อมศาลปกครองในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้ให้เกียรติกล่าวอธิบายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง

นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด

นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยว่า ปี 2562 เป็นปีที่ศาลปกครองได้มีการพัฒนาการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมในหลายๆ เรื่อง ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ศาลปกครองได้เปิดใช้ “ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน” รองรับการดำเนินการทางคดีของคู่กรณีทุกฝ่ายตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการพิจารณา

โดยวันนี้ (9 กันยายน 2562) เป็นโอกาสสำคัญอีกที่จะแจ้งให้สาธารณชนทราบว่า ศาลปกครองพร้อมที่จะนำระบบไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครองในศาลปกครองทุกศาลทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองมีเจตนารมณ์ เพื่อให้คู่กรณีที่พิพาทกันมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการระงับข้อพิพาท และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีในการยุติข้อพิพาทระหว่างกัน จะเป็นผลดีที่ ทำให้คู่กรณีสามารถยุติข้อพิพาทที่มีต่อกันได้ด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่กรณีสามารถยื่นคำขอต่อศาล หรือศาลเห็นเองว่าคดีนั้นควรมีการไกล่เกลี่ย และทำการไกล่เกลี่ยได้ โดยความสมัครใจของคู่กรณี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนี้จะดำเนินการโดยตุลาการศาลปกครอง ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไม่ได้มีรูปแบบ พิธีการ หรือขั้นตอนที่เคร่งครัด เพื่อช่วยให้คู่กรณีสามารถสื่อสารความต้องการและข้อจำกัดของทุกฝ่ายได้อย่างเต็มที่ เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน มีระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน กระชับ

นายปิยะ กล่าวว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองจะเป็นกลไกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่ง เป็นทางเลือกใหม่ของการระงับข้อพิพาททางปกครอง ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณี และส่งเสริมการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการยกร่าง อนุบัญญัติและเตรียมความพร้อมศาลปกครองในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้ชี้แจงว่า หลักการสำคัญของ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนั้น ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า เป็นการยุติข้อพิพาทโดยบุคคลที่เป็นกลาง

ไม่ได้ชี้นำหรือตัดสินข้อพิพาทนั้นเอง แต่มีบทบาทหน้าที่ในทางส่งเสริมให้คู่พิพาทสามารถเข้าใจความต้องการและข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย และยอมรับให้ข้อพิพาทยุติลงได้โดยความสมัครใจของคู่พิพาทเอง โดยการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทในคดีปกครองมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. หลักการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ผลของการ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ว่าจะปรากฏผลเช่นใด ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย

2. หลักความสมัครใจของคู่กรณี กล่าวคือ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองยึดถือความสมัครใจของคู่กรณีที่พิพาทกันเป็นสำคัญ

3. หลักความไว้วางใจของคู่กรณี ซึ่งหมายถึงว่า การจะให้ข้อพิพาทสามารถยุติลงหรือระงับได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่คู่พิพาท “เปิดใจ” ที่จะแสดงออกถึงความต้องการของตนได้อย่างเต็มที่ รับฟังความต้องการหรือข้อจำกัดของคู่พิพาทฝ่ายอื่น และยอมรับผลของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อาจตรงกับหรือแตกต่างจาก ความต้องการหรือความคาดหวังของตนที่เคยมี ซึ่งการที่จะให้คู่พิพาท”เปิดใจ” ต่อกันได้นั้น ต้องดำเนินการโดยให้คู่กรณีมีความไว้วางใจต่อกัน โดยมีหลักประกันให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ บรรดาที่คู่กรณีได้เปิดเผยต่อกันในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คู่กรณีสามารถเปิดเผยต่อกันได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือให้เป็นผลร้ายต่อตนในภายหลัง

4. หลักความเป็นกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นหลักการสำคัญอีกข้อหนึ่งของการไกล่เกลี่ยใน คดีปกครอง เพราะคดีปกครองเป็นคดีพิพาทที่มีลักษณะเป็นคดีที่มีผลกระทบทั้งต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล และต่อการใช้อำนาจหรือการดำเนินกิจการทางปกครองและการบริการสาธารณะหรือการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้คู่กรณีและสังคมมีความเชื่อมั่นต่อระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง จึงต้องมี หลักความเป็นกลาง โดยในระยะเริ่มต้นของการนำเอาระบบนี้มาใช้ กฎหมายบัญญัติให้ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้องวางตนเป็นกลาง และปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา 66/4 วรรคสาม ยังบัญญัติว่า ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ได้แก่ ตุลาการศาลปกครอง ซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีในสำนวนคดีนั้น

5. หลักความมีประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีและการบริหารจัดการคดี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองจะช่วยให้ข้อพิพาทมีโอกาสที่จะยุติลงและระงับไปได้ โดยไม่ถึงขั้นที่ต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีเต็มรูปแบบปกติ ซึ่งนอกเหนือจากผลดีที่คู่กรณีที่พิพาทกันจะสามารถยุติข้อพิพาทกันได้แล้ว ยังมีผลในทางที่จะทำให้คดีที่ศาลต้องทำการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปมีจำนวนลดลง ซึ่งจะทำให้ศาลสามารถทุ่มเทความรู้ความเชี่ยวชาญสำหรับคดีที่ยังคงมีข้อพิพาทกันอยู่ได้มากยิ่งขึ้น

นายบุญอนันต์ กล่าวด้วยว่า ตามหลักการของกฎหมาย กำหนดให้ระบบการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทในคดีปกครอง เป็นการดำเนินการโดยศาลชั้นเดียว และให้คดีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจของ ศาลชั้นใดเป็นคดีที่อาจมีการไกล่เกลี่ยได้ในศาลชั้นนั้น หมายความว่า ศาลปกครองชั้นต้นก็มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดก็มีอำนาจ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่ง “ฟ้องเป็นครั้งแรก” ต่อ ศาลปกครองสูงสุด อันหมายถึง คดีที่ไม่ใช่คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยเหตุผลที่ต้องกำหนดหลักการนี้ก็เพื่อให้ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถทำหน้าที่เป็นทางเลือกของการยุติ ข้อพิพาทได้อย่างแท้จริงและเหมาะสม

สำหรับลักษณะของคดีที่ศาลปกครอง มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ กฎหมายกำหนดให้ ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดี

1. คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร 2. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

4. คดีพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในอนาคตอาจมีคดีพิพาทประเภทอื่นๆ อีกที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้

นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดกรณีที่มีลักษณะห้ามไม่ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไว้ด้วย กรณีเหล่านั้นเป็นไปตามหลักทั่วไปของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบต่อสถานะของบุคคลหรือมีผลกระทบในทางเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการบังคับใช้กฎหมาย หรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่อยู่นอกเหนือสิทธิ อำนาจหน้าที่ หรือความสามารถของคู่กรณี เป็นต้น

สำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น สามารถริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นับแต่ มีการฟ้องคดี จนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยอาจมีการริเริ่มได้โดยคู่กรณี คือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำขอ หรือทั้งสองฝ่ายยื่นคำขอร่วมกัน หรือริเริ่มโดยศาลเห็นเอง ทั้งนี้ ระยะเวลาการดำเนินการไกล่เกลี่ยกำหนดให้มีความชัดเจน และกระชับ คือ ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่ “วันนัดไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทครั้งแรก”

ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาจเกิดขึ้นได้ 3 ลักษณะ

1. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จและ ทำให้คดีเสร็จสิ้นไปทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่ศาลตรวจดูข้อตกลงและสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเห็นว่า ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลก็จะมี “คำพิพากษาตามยอม”

2. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จและทำให้คดีเสร็จสิ้นไปบางส่วน กรณีนี้ศาลจะจดรายงานแสดงข้อความแห่งข้อตกลงในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไว้ และพิจารณาประเด็นที่ยังพิพาทกันต่อไปแล้วนำมารวมพิพากษาไปในคราวเดียวกัน

3. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ไม่สำเร็จ ศาลก็จะดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้