Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 5220 จำนวนผู้เข้าชม |
มาตรการคุมเข้มความปลอดภัยรถทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560
รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนอย่างมาก การใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน ประชาชนมักเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จึงทำให้ปริมาณการใช้รถบนถนนมีจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายราย มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงได้มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด รวมถึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันประชุมหารือเพื่อเตรียมพร้อม สำหรับแนวทางในการดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านการจราจรต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 นี้
เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ สาเหตุเนื่องมาจากการขับรถโดยสารที่บรรทุกเกินน้ำหนัก หรือการขับรถด้วยความเร็ว การดื่มของมึนเมา การสวมเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกกันน็อก เป็นต้น เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร ผ่านกลไกประชารัฐตาม 6 มาตรการหลัก ประกอบด้วย ด้านถนน มุ่งแก้ไขจุดเสี่ยงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมทางให้มีความปลอดภัย ด้านยานพาหนะ คุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะทุกกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ด้านการสัญจร โดยกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยว ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เน้นการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ด้านความปลอดภัยทางน้ำ โดยกำหนดแนวทางการดูแลความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำ และด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ วางระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ การติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงการแจ้งเหตุและการส่งต่อผู้ประสบเหตุครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ที่เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี และผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาแล้วขับ และได้กำชับให้จังหวัดส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม การเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี รวมถึงกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงและลดอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ ศปถ. และหน่วยงานทุกภาคส่วน มีความพร้อมอย่างเต็มกำลังในการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทุกเส้นทาง โดยได้สนธิกำลังทุกภาคส่วนตั้งจุดตรวจหลัก ด่านชุมชน จุดบริการประชาชน รวมถึงชุดปฏิบัติการสอดส่องดูแลความปลอดภัย ทั้งบนเส้นทางสายหลัก สายรอง และถนนในชุมชน/หมู่บ้าน
ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความพร้อมของรัฐบาล ในการบูรณาการทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนในทุกเส้นทาง รวมถึงเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนของภาครัฐ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน คือ ความร่วมมือจากประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ขับรถอย่างมีวินัยและมีน้ำใจต่อ ผู้ร่วมใช้เส้นทาง รวมถึงให้ยึดการปฏิบัติตามหลัก “4 ห้าม 2 ต้อง” ได้แก่ “4 ห้าม” คือ ห้ามขับรถเร็ว ห้ามดื่มแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ “2 ต้อง” คือ ต้องสวมหมวกกันน็อกและต้องคาดเข็มนิรภัยทุกครั้ง เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์