Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 5302 จำนวนผู้เข้าชม |
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เตรียมความพร้อมลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 กำชับทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขกฎหมาย ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1/2560 เพื่อเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" โดยมุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ (Area Approach) ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินมาตรการเสริมผ่านกลไกประชารัฐ ในการป้องปรามและควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเมาแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การได้มาซึ่งใบอนุญาตขับรถ การป้องกันอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการคาดเข็มขัดนิรภัย พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ การประชุมในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการบูรณาการลดอุบัติเหตุทางถนน และสร้างความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว โดยได้จัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงการรณรงค์และเสริมสร้างวินัย ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 10 เมษายน 2560 และช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2560 เพื่อปฏิบัติการสร้างความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการสำคัญที่มุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ (Area Approach) อาทิ 1) มาตรการด้านกายภาพ ซึ่งจะเน้นการแก้ไขจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดตัดทางรถไฟ จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และการปรับสภาพแวดล้อมริมทางให้ปลอดภัย 2) มาตรการด้านยานพาหนะ โดยคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ และรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบ พร้อมทั้งส่งเสริมการตรวจสภาพรถก่อนเดินทาง และขอความร่วมมือหยุดการขนส่งโดยรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน 3) มาตรการด้านการสัญจร โดยจัดให้มีถนนปลอดภัย ตามมาตรการ "1 ท้องถิ่น 1ถนนปลอดภัย" รวมถึงกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการสัญจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุ ควบคู่กับการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 4) มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย เน้นการบังคับใช้กฎหมายจราจร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเคร่ืองดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง รวมทั้ง เข้มงวดกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ และการจัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ มีการกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) ตลอดจนกำหนดมาตรการเสริมโดยใช้แนวทางประชารัฐเป็นกลไกในการเฝ้าระวังและควบคุมปัจจัยเสี่ยง และใช้มาตรการสังคมและชุมชนในการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ 5) มาตรการด้านความปลอดภัยทางน้ำ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำของพี่น้องประชาชน จึงได้กำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัย ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มความปลอดภัยของท่าเทียบเรือ เรือโดยสาร และอุปกรณ์นิรภัย 6)มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เน้นการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือกู้ชีพกู้ภัย รวมทั้งระบบสื่อสาร เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ ได้เน้นย้ำให้จ้งหวัดมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลไกของกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบ "เคาะประตูบ้าน" เสียงตามสาย และผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยร่วมกัน ทั้งนี้ ศปถ.โดยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยยึดการดำเนินงานตามกรอบแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ให้ครอบคลุมทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างการสัญจรที่ปลอดภัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ “ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน