Last updated: 22 พ.ย. 2566 | 4346 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง จำนวน 4 ฉบับ เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มไปสู่ระบบใบอนุญาต
วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทดลองออกอากาศในกิจการกระจายเสียงจำนวน 4 ฉบับ ที่ โรงแรม เดอร์ บาซาร์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมี ผู้ประกอบกิจการ ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซท์และออนไลน์มากกว่า 200 คน (ออนไซต์ 63 คน และ ออนไลน์ 188 คน)
ตามที่ กสทช. ชุดที่แล้วได้มีมติให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มทั้งในส่วนของกิจการประเภทชุมชน สาธารณะ และ ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,902 สถานี (ชุมชน 159 สาธารณะ 611 และ ธุรกิจ 3,132 สถานี) ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทำให้ กสทช.ชุดปัจจุบันได้พิจารณาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ทดลองออกอากาศดังกล่าว ได้ออกอากาศต่อไปได้โดยได้รับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายปราศจากการรบกวนซึ่งกันและกัน โดยที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 21/2566 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ได้มีมติให้นำ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับหรับการให้บริการกระจายเสียง (ฉบับที่ 2) โดยมีการปรับปรุงกระบวนการยื่นคำขออนุญาตการใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียงให้มีความสะดวกมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของเอกสาร เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตถูกต้องเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยกรณีประเภทชุมชนและสาธารณะจะใช้วิธีคัดเลือกโดยเปรียบเทียมคุณสมบัติ และประเภทธุรกิจต้องใช้วิธีประมูลตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามได้ปรับลดลงค่าธรรมเนียมให้ถูกลงเมื่อเทียบกับกรณีการทดลองออกอากาศปัจจุบัน
2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม โดยมีการจัดทำแผนความถี่วิทยุตามมาตรฐานสากลที่สามารถรองรับการอนุญาตสถานีวิทยุเอฟเอ็ม ได้ประมาณ 2,800 สถานี โดยไม่มีการรบกวนกับสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม เพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีสัดส่วนการอนุญาตให้แก่ประเภทชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ตามที่กฎหมายกำหนด
3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม โดยมีการปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิคเพื่อรองรับการอนุญาตใหม่และปรับลดขั้นตอนการส่งรายงานทางด้านเทคนิค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ แต่คงมีความเป็นมาตรฐานตามหลักสากล
4. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบิน มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขการกำกับดูแลตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้มีความสมบูรณ์และสะดวกต่อการปฏิบัติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความปลอดภัยทางด้านการบินของประเทศไทย
“การดำเนินการดังกล่าวนั้นสอดคล้องตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ต้องการยกระดับกิจการกระจายเสียงไทยสู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน จึงได้เร่งรัดปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงทั้ง 4 ฉบับใหม่ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบการอนุญาตตามที่กำหนดได้ ทดแทนการอนุญาตทดลองออกอากาศชั่วคราว ซึ่งควรเปลี่ยนผ่านดังกล่าวภายใน 5 ปี ตั้งแต่มีการแต่งตั้ง กสทช. ครั้งแรก แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กสทช.ชุดปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการ โดยมี Timeline ในการปฏิบัติ เริ่มจากการออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ทดลองออกอากาศมายื่นขออนุญาตในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 และจะดำเนินการพิจารณาทั้งในส่วนของการอนุญาตใช้คลื่นความถี่ การอนุญาตประกอบกิจการ และการอนุญาตวิทยุคมนาคม ภายในปี 2567 เพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ในปี 2568 หากประกาศทั้ง 4 ฉบับได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. นอกจากนั้นจะมีการเร่งรัดจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในระบบวิทยุดิจิทัลให้แล้วเสร็จในปีหน้าเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถดำเนินกิจการกระจายเสียงในระบบใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทและเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ เช่นกัน” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กล่าว