จำคุก'ประสิทธิ์ เจียวก๊ก' 1,155 ปี ปรับ 145 ล้าน ร่วมกับอีก 2 บริษัท หลอกลงทุนซื้อ-ขายกระเป๋าแบรนด์เนม

Last updated: 3 ก.ค. 2566  |  2673 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จำคุก'ประสิทธิ์ เจียวก๊ก' 1,155 ปี ปรับ 145 ล้าน ร่วมกับอีก 2 บริษัท หลอกลงทุนซื้อ-ขายกระเป๋าแบรนด์เนม

ศาลอาญา พิพากษา จำคุก‘ประสิทธิ์ เจียวก๊ก’ 1,155 ปี ปรับหนักพร้อมพวกรายละ 145 ล้าน คดีร่วมหลอกตุ๋นเหยื่อ 321 ราย ร่วมลงทุน ซื้อ-ขายกระเป๋าแบรนด์เนม เสียหายกว่าพันล้าน พร้อมให้ชดใช้เงินคืนเหยื่อ

          เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษา คดีฉ้อโกงประชาชนหมายเลขดำ อ.1837/2564 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท วีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ 1 , นางสาวอมราภรณ์ หรือ พันตรีหญิงแพทย์หญิงอมราภรณ์ วิเศษสุข ที่ 2 , บริษัท เหนือโลก จำกัด โดย นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการ ในฐานะนิติบุคคล ที่ 3 , นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อดีตประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน นักธุรกิจพันล้าน ที่ 4 , นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ ที่ 5 , นางสาวณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม ที่ 6 , บริษัท เอ็ม โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด โดย นางสาวสิริมา เนาวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ที่ 7 , นางสาวสิริมา เนาวรัตน์ ที่ 8 และ นายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ ที่ 9 

          ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-9 ตามลำดับในฐานความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11, 12, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 และให้พวกจำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

          โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1,3,4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 342 พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกฎหลายบทต่างกัน ให้ลงโทษ ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นหนักสุด

          ให้จำคุก นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก จำเลยที่ 4 กระทงละ 5 ปี จำนวน 321 กระทง รวม 1,155 ปี และปรับจำเลยที่ 1,3 และ 4 รายละ 5 แสนบาท รวม 321 กระทง รวมเป็นเงิน 145,500,000 บาท อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก จำเลยที่ 4 ไว้รวม 20 ปี และให้ จำเลย 1,3 และ 4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายอัตราร้อยละ 5 ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2, 5-9 พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

          คดีนี่อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2564 พวกจำเลยได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันด้วยการหลอกลวงและแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการโฆษณาชักชวนประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขาย ฝากขายสินค้าแบรนด์เนม เช่น หลุยส์ วิตตอง ชาแนล แอเมส กุชชี่ และสินค้าทำความสะอาดสินค้าแบรนด์ เนม เป็นต้น ในหลายรูปแบบคิดโดยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 40.15 - 51.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี จนมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อร่วมลงทุนกับพวกจำเลยตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่พวกจำเลยตั้งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วพวกจำเลยไม่มีเจตนานำเงินจากประชาชน และผู้เสียหายไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงอุบายเพื่อนำเงินลงทุนมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกจำเลยเท่านั้น สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลกว่า 1,000 ล้านบาท ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย

          โดยวันนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก จำเลยที่ 4 ฟังคำผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนท์ไปที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

          ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องรู้เห็นด้วยตัวเอง สมเหตุสมผลมีรายละเอียดเชื่อมต่อเป็นลำดับเรื่องราวความเป็นมาของการกระทำความผิดตั้งแต่เปิดธุกิจของ จำเลยที่ 1,3,4 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่ จำเลยที่ 1,3,4 ต่อสู้คดีอ้างว่ามีแผนการธุรกิจและคำนวณตามโมเดลธุรกิจดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนสูงนั้นเป็นเพียงแนวคิดเบิกความลอยๆ ที่โฆษณาหลอกลวงว่าประชาชนผู้เสียหายจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากนั้นไม่สามารถกระทำได้จริง พยานและหลักฐานของ จำเลยที่ 1,3,4 ยังมีข้อพิรุธ น่าสงสัยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

          ส่วนจำเลยที่ 2 ,5-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ยังไม่มีหน้ำหนักให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2,5-9 จึงพิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

          ขณะที่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ทำความเห็นแย้งเห็นว่า จำเลยทั้ง 9 รายมีส่วนร่วมรู้เห็นการกระทำผิดด้วย โดยการทำความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญานั้นจะอยู่ในสำนวนคดี และหากอัยการยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งดังกล่าวก็จะอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ด้วย 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้