Last updated: 18 พ.ย. 2565 | 3093 จำนวนผู้เข้าชม |
นายกฯ กล่าวเปิดในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 1 ชี้แจงวิธีคิดเศรษฐกิจ BCG แบบครบวงจร ย้ำชัด Bangkok Goals คือเข็มทิศการทำงานของเอเปค
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวเปิดในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 1 หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน” โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้นำสู่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมแบบพบหน้าหลังจากที่ไม่ได้เจอกันนานถึง 4 ปี การประชุมครั้งนี้จะเป็นบทสรุปการหารือเพื่อร่วมฟื้นฟูภูมิภาคไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น เอเปคควรทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนผ่าน
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัจจุบันยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาด ของโควิด-19 และความท้าทายของสถานการณ์โลก รวมทั้ง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อทั้งโลก จึงต้องร่วมมือกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบ และปกป้องโลก ไทยนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาและการเติบโตในระยะยาวที่เข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม
เศรษฐกิจ BCG ผสานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
- เศรษฐกิจชีวภาพ เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าที่มาจากทรัพยากรและวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป
- เศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งให้เกิดระบบการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการ แบบฟื้นสร้าง วางแผนตั้งแต่การออกแบบระบบให้ความสำคัญกับการลดขยะและมลพิษ พยายามใช้วัตถุดิบซ้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- เศรษฐกิจสีเขียวส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบและแนวคิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างผลกำไรไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ทั้งนี้ ความท้าทายหลากหลายที่เราประสบอยู่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยง และคาบเกี่ยวกัน จึงทำให้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG จึงให้ความสำคัญและผลักดันการใช้สามแนวทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม เกิดผลที่เป็นรูปธรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย เพิ่มโอกาส ทางธุรกิจ และฟื้นคืนความสมดุลระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ไทยจึงนำเสนอ แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นแนวทางสู่การบรรลุเป้าหมาย ด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ไทยริเริ่มการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok goals) ให้เป็นกรอบแนวทางผลักดันวาระด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเปคอย่างชัดเจน เอกสารดังกล่าวมุ่งขับเคลื่อน 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ความพยายามเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 2. ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ 4. ปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์
ในโอกาสนี้ ไทยขอบคุณทุกเขตเศรษฐกิจที่สนับสนุนเป้าหมายกรุงเทพฯ จนบรรลุฉันทามติด้วยดี คาดหวังว่าจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นมรดกสำคัญของเอเปค 2565 ในโอกาสนี้ เพื่อต่อยอดเป้าหมายกรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีเสนอการหารือว่า แนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะแปลงวิสัยทัศน์และทิศทางตามที่ระบุในวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 และแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร จะร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้นำเขตเศรษฐกิจกล่าวถ้อยแถลงตามลำดับตัวอักษร
ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประชุมฯ ขอบคุณไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพ ร่วมกันสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยผลักดัน สะท้อนความความสำเร็จ ความมุ่งมั่นที่ทุกประเทศต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มุ่งหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
และในตอนท้ายก่อนปิดการประชุม นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับคำกล่าวของผู้นำว่าต้องใช้โอกาสการฟื้นตัว สร้างความเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน และเชื่อว่าเป้าหมายกรุงเทพฯ จะเป็นเข็มทิศนำทางการทำงานของเอเปคให้มีทิศทางที่ชัดเจน