จำคุก 60 เดือน อดีตหัวหน้างานบริการศึกษา ม.รามฯปราจีนบุรี เบียดบังเงินค่าเทอมนักศึกษา

Last updated: 1 พ.ย. 2565  |  3586 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จำคุก 60 เดือน อดีตหัวหน้างานบริการศึกษา ม.รามฯปราจีนบุรี เบียดบังเงินค่าเทอมนักศึกษา

เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'สุนทร ร่มเย็น' อดีตหัวหน้างานบริการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปราจีนบุรี เบียดบังเงินค่าลงทะเบียน-เทียบโอนหน่วยกิต-ตำราเรียนวิชากฎหมาย ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุก 60 เดือน แต่รอลงอาญา หลังเจ้าตัวรับสารภาพ ปรับอีก 100,000 บาท

เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นายสุนทร ร่มเย็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศึกษา 4 หัวหน้างานบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยาบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดปราจีนบุรี เบียดบังเงินค่าลงทะเบียน ค่าเทียบโอนหน่วยกิต และค่าตำราเรียนวิชากฎหมาย ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน

หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ประกอบ ปอ. มาตรา 90 และมาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

ข้อมูลคำพิพากษาคดีนี้ พบว่ามีการระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายสุนทร ร่มเย็น แนวคำวินิจฉัยคดีของศาลฯ ไว้ดังนี้

@ สถานะบทบาทหน้าที่จำเลย 

คำฟ้องโจทก์ (อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 2 ฟ้องคดีให้ ป.ป.ช.) ระบุว่าคดีนี้  มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้เสียหาย

ขณะเกิดเหตุนายสุนทร ร่มเย็น ดํารงตําแหน่ง นักวิชาการศึกษา 4 และหัวหน้างานบริการการศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยรามคําแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปราจีนบุรี มีหน้าที่และรับผิดชอบงานบริการการศึกษา ส่งเสริมพัฒนาทางวิชาการ ดูแลประสานงานเกี่ยวกับตําราเรียนระดับปริญญาตรีและระดับ บัณฑิตศึกษา แนะแนว บริการทางวิชาการ ดําเนินการลงทะเบียนให้คําปรึกษาและแนะนํานักศึกษา ในเรื่องการเรียนการสอน การเทียบโอนหน่วยกิต การแจ้งผลการสอบ งานทะเบียน ประเมินผล การศึกษา งานกิจกรรม และสวัสดิการนักศึกษา รวมถึงการรับเงินค่าลงทะเบียนเรียน ค่าเทียบโอน หน่วยกิตจากนักศึกษา และค่าจําหน่ายตําราเรียนให้แก่นักศึกษา แล้วนําเงินส่งให้มหาวิทยาลัยรามคําแหงส่วนกลาง

และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานการเรียนการสอน ระดับ ปริญญาตรี สาขานิติศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ ของโครงการหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ

นายสุนทร จําเลยจึงมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าวและรับเงินค่าลงทะเบียนเรียน ค่าเทียบโอน หน่วยกิตจากนักศึกษา ค่าจําหน่ายตําราเรียนวิชากฎหมายให้แก่นักศึกษา และนําเงินดังกล่าว ฝากเข้าบัญชีส่งให้โครงการหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหงส่วนกลางทันที

หากนําฝากไม่ทันต้องเก็บไว้ในตู้นิรภัยแล้วนําเข้าฝากในวันรุ่งขึ้น

นายสุนทร จําเลย จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และมีฐานะเป็นพนักงาน ตามมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 

@ พฤติการณ์กระทำความผิด 

เมื่อระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2552  จำเลยได้รับเงินค่าเทียบโอนหน่วยกิต ค่าลงทะเบียนเรียน ค่าจําหน่ายตําราวิชากฎหมายที่นักศึกษานํามาชําระให้แก่ผู้เสียหายไว้ จํานวน 10 ครั้ง รวมเป็นเงิน 451,305  บาท แล้วเบียดบังเอาเงินไว้เป็นประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหาย

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายได้รับเงินจํานวน 451,305 บาท ดังกล่าวคืนจากจําเลยแล้ว

จําเลยให้การรับสารภาพ

@ ข้อเท็จจริงทางการสอบสวน

เมื่อประมาณปี 2548 สาขาจังหวัดปราจีนบุรี ได้เปิดการเรียนการสอน โครงการนิติศาสตรบัณฑิตภาคพิเศษขึ้น สําหรับนักศึกษาภาคปกติจะต้องชําระเพียงค่าลงทะเบียนเรียน ส่วนนักศึกษาภาคพิเศษจะต้องชําระค่าเทียบโอนหน่วยกิตด้วย

ในการรับลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาในแต่ละครั้งนั้น นาย พ. (อักษรย่อ) เจ้าพนักงานปฏิบัติการโครงการภาคพิเศษ คณะนิติศาสตร์ ประจําอยู่ที่ส่วนกลาง จะกําหนดช่วงเวลาไว้แล้วแจ้งไปยังสาขาจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อถึงกําหนดเวลาก็จะเดินทางไปรับลงทะเบียนจากนักศึกษา แล้วนําเงินหรือเช็คที่ได้รับจากการรับลงทะเบียนกลับไปที่ส่วนกลางเพื่อออกใบเสร็จรับเงินตัวจริงแล้วส่งให้แก่นักศึกษาที่มาลงทะเบียนในภายหลังรวมทั้งเงินค่าเทียบโอนหน่วยกิตและค่าตําราเรียนด้วย

สําหรับเงินค่าลงทะเบียนเรียนแต่ละภาคการศึกษา นาย พ. จะนําไปชําระที่สํานักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล (สวป.) ส่วนค่าเทียบโอนหน่วยกิต ของนักศึกษาภาคพิเศษนั้นจะชําระที่ส่วนการคลังของมหาวิทยาลัยผู้เสียหายที่ตั้งอยู่ที่ส่วนกลาง

หากนักศึกษาคนใดไม่พร้อมที่จะลงทะเบียนในช่วงเวลาที่กําหนดไว้ก็สามารถที่จะฝากเงินไว้กับเจ้าหน้าที่สาขาในภายหลังก็ได้ เพื่อส่งมอบเงินให้แก่นาย พ. ทั้งนี้เป็นการอํานวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาเท่านั้นไม่มีการมอบหมายหน้าที่กันเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด จากนั้นนาย พ. จะนําเงินส่งมอบต่อให้แก่ สํานักบริการทางวิชาการและทดสอบการประเมินผลและการคลัง ตามแต่ประเภทของเงินรายได้

ส่วนเงินค่าจําหน่ายตําราเรียนนั้น นาย พ. จะเดินทางไปรับที่สาขาจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ไปคุมสอบ แล้วนําส่งมอบต่อให้แก่สํานักพิมพ์ที่อยู่ส่วนกลางของผู้เสียหายต่อไป

 ในช่วงเวลาเกิดเหตุ มหาวิทยาลัยผู้เสียหายมี คําสั่งแต่งตั้งนาง จ. เป็นหัวหน้าสํานักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปราจีนบุรี มีอํานาจรับผิดชอบดูแลรวมทั้งด้านการเงินและการบัญชี และเป็นหัวหน้างานบริหารและธุรการ กับแต่งตั้งจําเลยเป็นหัวหน้างานบริการการศึกษา 

จําเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบโครงการหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ ในทางปฏิบัตินักศึกษาภาคปกติจะชําระค่าลงทะเบียนเรียนให้แก่เจ้าหน้าที่คนใดก็ได้ที่ประจําอยู่ที่สาขาจังหวัดปราจีนบุรี ไม่จํากัดว่าจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของส่วนงานการบริการการศึกษาเท่านั้นแล้วจะออกใบเสร็จรับเงินได้ทันที

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนําส่งเงินให้แก่ฝ่ายการเงินแล้วเก็บไว้ในตู้เซฟเพื่อโอนเข้าบัญชีของมหาวิทยาลัยส่วนกลางของผู้เสียหาย แต่หากเป็นนักศึกษาโครงการนิติศาสตรบัณฑิตภาคพิเศษจะต้องชําระให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนงานบริการการศึกษาเท่านั้นเพราะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแล โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับเงินชั่วคราวให้กับนักศึกษาเก็บไว้เป็นหลักฐานจากนั้นจะส่งมอบเงินให้แก่นาย พ. เพื่อรับไปดําเนินการ

แต่หลังจากจําเลยได้รับเงินค่าเทียบโอนหน่วยกิต ค่าลงทะเบียนเรียน ค่าจําหน่ายตําราวิชากฎหมาย จากนักศึกษาที่นํามาชําระให้แก่ผู้เสียหาย รวม 10  ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้นจํานวน 451,305 บาท  แล้วไม่นําเงินโอนเข้าบัญชีส่งให้แก่นาย พ. เพื่อดําเนินการชําระให้แก่ผู้เสียหายที่ส่วนกลาง

ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2552  นาย พ. เดินทางไปคุมสอบที่สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดปราจีนบุรีพบว่ายังมีนักศึกษาที่ไม่ได้ชําระเงินค่าลงทะเบียน

เมื่อสอบถามแจ้งว่าชําระเงินให้แก่จําเลยไปแล้วและทวงถามใบเสร็จ

นาย พ. ตรวจสอบแล้ว จึงพบการกระทําความผิดและรายงานผู้บังคับบัญชา

ต่อมาผู้เสียหายตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเรียกเงินคืน

จากนั้นจําเลยนําเงินทั้งหมดมาคืนแก่ผู้เสียหายจนครบถ้วนแล้ว

@ คำให้การพยาน 

จากคำให้การของ นาย พ. ระบุว่า หากนักศึกษาคนใดไม่พร้อมที่จะชําระค่าลงทะเบียนในช่วงเวลาที่กําหนดไว้ ก็สามารถฝากเงินไว้กับเจ้าหน้าที่สาขาภายหลังก็ได้ เพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกให้เท่านั้น สอดคล้องกับคำให้การของพยานอีก 2 ปาก ที่ยืนยันว่า การรับเงินของจําเลยไม่มีคําสั่งแต่งตั้ง แต่เป็นแนวที่เคยปฏิบัติกันมา

ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ที่มีหน้าที่รับเงินจากนักศึกษาโครงการนี้คือนาย พ. 

ส่วนการที่จําเลยรับเงินจากนักศึกษาเอาไว้นั้นเป็นเพียงการช่วยการอํานวยความสะดวกแทนนาย พ.เท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจําเลย แม้นาง ศ. อดีตหัวหน้างานบริการการศึกษา สาขาปราจีนบุรีให้ปากคําในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ว่า ขณะที่ตนดํารงตําแหน่ง หัวหน้างานบริการการศึกษาได้รับมอบหมายจากรองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการจังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการนิติศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในส่วนงานบริการการศึกษา ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางรวมทั้งทําหน้าที่รับเงินลงทะเบียนจากนักศึกษาในช่วงที่มีการลงทะเบียนด้วย การมอบหมายดังกล่าวไม่ได้มีคําสั่งแต่อย่างใด

เห็นว่าการมอบหมายดังกล่าวไม่ได้มอบหมายเป็นคําสั่งของผู้เสียหายเช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ทั้งก็เป็นการมอบหมายหน้าที่ให้แก่นาง ศ. ไม่ใช่มอบหมายให้แก่จําเลย

จากพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จําเลยเป็นพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  มาตรา 4

แม้ให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 155 ประกอบ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จําเลยซึ่งเป็นหัวหน้างานบริการการศึกษา มีหน้าที่ประสานงานดูแลการลงทะเบียน การเทียบโอนหน่วยกิต และตําราเรียน แล้วรับเงินค่าลงทะเบียน ค่าเทียบโอนหน่วยกิตและค่าตําราเรียนของนักศึกษาเอาไว้แล้ว ไม่นําไปประสานงานให้เรียบร้อยแต่กลับเบียดบังเอาไป

ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการประสานงานดูแลโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม มาตรา 11 เท่านั้น

ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน ประกอบกับอายุมากแล้ว

หลังเกิดเหตุก็นําเงินมาคืนผู้เสียหายจนครบถ้วน

ในชั้นพิจารณาก็สํานึกผิดให้การรับสารภาพ สมควรลงโทษสถานเบา

แต่เห็นควรให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย

พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  มาตรา 11 

การกระทําของจําเลยเป็นความผิด 10 กรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 

ลงโทษจําคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 20,000  บาท รวม จําคุก 10  ปี ปรับ 200,000 บาท

จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 78 

คงจำคุก 60 เดือน และปรับ 100,000 บาท

โทษจําคุกให้รอไว้มีกําหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56  ไม่ชําระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 

ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้