Last updated: 24 ส.ค. 2565 | 6796 จำนวนผู้เข้าชม |
สัมมนาสาธารณะ เรื่อง ‘การป้องกันและปราบปรามการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก’ ของ 'นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง' (นยปส.) รุ่นที่ 13
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ “นยปส.” รุ่นที่ 13 จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก” โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวเปิดงานพร้อมด้วยวิทยากรรับเชิญพิเศษ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้จัดการฝ่ายข่าวบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด โดยมี นางสาวอรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การบริหารจัดการที่โปร่งใส เพื่อกรุงเทพที่ดี” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) กล่าวว่า ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรภาครัฐ เอกชน หรือธุรกิจส่วนตัว สิ่งสำคัญในการบริหารองค์กร คือ ความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งต้องมีความเก่งเชี่ยวชาญในงานที่ทำ และต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งประกอบด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต โดยผู้บริหารต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง และทำตามนโยบายที่เคยพูดไว้ หัวใจของหลักการบริหาร ที่จะช่วยลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความโปร่งใส นำไปสู่การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ ที่ตนนำมาใช้ในการบริหารกรุงเทพฯ มีอยู่ 7 ด้านสำคัญ อันดับแรก ต้องตั้งใจจริง มีนโยบายที่ชัดเจน โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น, วอล์ก เดอะ ทอล์ก ทำตามที่พูดไว้ เช่น ออกนโยบายไม่รับของขวัญ ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานต้องทำให้เป็นตัวอย่าง, เปิดเผยข้อมูลให้ได้มากที่สุด เนื่องจากทุกวันนี้ที่เกิดปัญหา ก็เพราะได้รับข้อมูลที่ไม่เท่ากัน จึงเป็นที่มาของนโยบาย Open Data เปิดข้อมูลให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ เช่น ข้อมูลงบประมาณของแต่ละเขต สัญญาโครงการต่างๆ และข้อมูลของนโยบายแต่ละเรื่อง, กระจายอำนาจสู่ประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ช่วยกันพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น เช่น การจัดทำแอปพลิเคชัน ‘Traffy Fondue’ รับแจ้งปัญหาและเหตุต่างๆ รวมถึงเบาะแสทุจริต ซึ่งตั้งแต่เปิดมาก็มีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาแล้วมากกว่า 120,000 เรื่อง แก้ไขไปแล้วกว่า 65,700 เรื่อง
จากนั้น นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดอุทัยธานี ในฐานะประธานนักศึกษาหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 13 ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรมทางความคิดเพื่อแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง” กล่าวว่าการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีหลายรูปแบบ และพัฒนาการทุจริต ตั้งแต่การขออนุญาต การออกแบบโครงการรับเหมา การประมูล จึงต้องดูว่าโครงการที่ตั้งขึ้นมามีความเป็นธรรมหรือไม่ และประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ การออกแบบราคากลาง ที่จะแก้ปัญหาการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงควบคุมการล็อกสเปก เพื่อลดปัญหาการฮั้วประมูล ป.ป.ช. จึงต้องสร้างเครือข่ายให้ทุกคนไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐ
สำหรับงานสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก" เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการยุทธศาสตร์ประจำรุ่นของนักศึกษาหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 13 โดยมีตัวแทนนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย นางสาวศุภพรรัตน์ สุขพุ่ม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายอภิศักดิ์ธนเศรษฐกร กรรมการบริหาร บริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีจิตรา เจริญลาภนพรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาวอลินี ธนะวัฒน์สัจจะเสรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงาน ก.พ. และ นางสาวรุ่งรัตนา เจริญจิตต์นักวิชาการประจำองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีจิตรา เจริญลาภนพรัตน์ ในฐานะประธานฝ่ายวิชาการ กล่าวว่าโดยยุทธศาสตร์รุ่นใช้เวลาในการจัดทำ 5 เดือน “ที่มาและความสำคัญของปัญหา” เกิดจากคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับคงที่ สะท้อนภาพลักษณ์เชิงลบอันเกิดจากความเสียหายของการทุจริต รัฐใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมหาศาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของทุกปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในชาติ และความเสียหายจากการทุจริตนั้นประเมินค่าไม่ได้
วัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ศึกษาแนวทางการป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และเพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
ขอบเขตของการศึกษา มีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย แบ่งเป็น 5 ตอน ได้แก่ 1.นโยบาย คำสั่งยุทธศาสตร์ แผน กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 2. ทฤษฎีการทุจริตคอร์รัปชัน 3.แนวคิดพื้นฐานการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน 4.งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 5.กรอบแนวคิดในการศึกษา ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
ผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน วิเคราะห์ผลออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดความต้องการแบบ inside-out ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ผู้กำหนดไม่มีความรู้ทางเทคนิค ขาดการบูรณาการงบประมาณภาพรวม ระบบการจัดซื้อจัดจ้างปัจจุบันยังไม่มีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน หลักการอาจขัดกัน
กลางน้ำ ได้แก่ TORs ที่ล็อกสเปกกำหนดการใช้ดุลยพินิจ, เกณฑ์ PricePerformance ยังไม่มีการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อช่วยการคัดเลือกผู้เสนอราคา,ปัญหาในระบบ e-GP ไม่สอดคล้องกับระเบียบ การยื่นอุทธรณ์ในขั้นตอนตัดสินว่าใครคือผู้ได้รับงาน กลายเป็นปัญหาดาบสองคม ช่องโหว่ของระบบ e-bidding ผู้ที่มีเจตนาทุจริตก็หาช่องทางได้
และ ปลายน้ำ ได้แก่ การทุจริตที่พบบ่อย คือ ในรูปของเงินค่ารับรองค่าเดินทางตรวจงาน เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ตลอดจนเงินพิเศษ ปัญหาของการใช้ดุลยพินิจในการงดค่าปรับ การใช้ดุลยพินิจในการขยายเวลาของสัญญา โดยไม่มีเหตุผลสมควร มุมของผู้ประกอบการภาคเอกชน เห็นว่า กลไกคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น ในทางปฏิบัติอาจทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่าง อาจเป็นช่องทางการรับสินบน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่มีองค์ความรู้ในเนื้องาน สถานการณ์โควิด ที่ส่งผลให้มีการปรับลดค่าปรับเหลือ 0 ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่เร่งรัดงาน ล่าช้า ทิ้งงาน
ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ แบ่งเป็นแผน 3 ระดับ ได้แก่ 1.แผนระดับยุทธศาสตร์ชาติ 2.แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนด้านต่างๆ และ แผนระดับ 3.คือแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 โดยแนวทางที่ 1 ปลูกฝังวิธีคิดปลุกจิตสำนึกให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต แนวทางที่ 2 ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ แนวทางที่ 3 ปราบปรามการทุจริต เป็นต้น
บทสรุปข้อเสนอยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มี 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบ เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูลในการป้องกันการทุจริตเชิงรุก แบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Artificial Intelligence + Blockchains) มาใช้ในการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้างทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 2.พัฒนาระบบ Data Center เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ การจัดทำข้อกำหนดงานซื้องานจ้าง (TORs) การตรวจรับงานซื้องานจ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง ข้อมูลทางเทคนิค และ 3.พัฒนา Data Center การจัดซื้อจัดจ้าง และมีข้อมูล Data Analytics เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับการสร้างความโปร่งใสเชิงนโยบาย แบ่งออกเป็น 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.กำหนดให้หน่วยงานเปิดเผยงบประมาณและข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การจัดซื้อจัดจ้าง 2.พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสร้าง Platform ที่ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ง่ายเพื่อเป็นช่องทางติดตาม ตรวจสอบ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ 3.การจัดตั้งศูนย์การจัดซื้อจัดจ้างกรณีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/พัสดุ ที่มีลักษณะเชิงเทคนิค เช่น การก่อสร้าง การพัฒนาระบบดิจิทัล เป็นต้น 4.สร้างผู้นำที่มีจริยธรรม เพื่อเป็นต้นแบบการปฏิบัติงาน ด้วยหลักคุณธรรมและความโปร่งใส 5.ส่งเสริมให้มีการนำแนวคิดของข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในทางปฏิบัติให้กว้างขวางมากขึ้น เช่น รัฐวิสาหกิจ 6.ปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดความโปร่งใสและลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่องว่างของกฎหมาย และ 7.ส่งเสริมการใช้กลไกธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบ่งออกเป็น 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.กำหนดให้มีการลงทะเบียน Part Number ของครุภัณฑ์และเผยแพร่ผ่านระบบ Cloud รวมทั้งมีการ Update ราคาครุภัณฑ์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมสามารถตรวจสอบงบประมาณของแต่ละโครงการ ว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงใด 2.มีกลไกคณะกรรมการพิจารณาตัดสินในกรณีหลักการขัดแย้ง และข้อกฎหมายลงโทษผู้ร้อง ที่ร้องโดยไม่มีมูล หรือพิสูจน์ได้ว่าเจตนากลั่นแกล้ง 3.ปรับกระบวนการจัดทำคำของบประมาณสำหรับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงบประมาณ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน 4.ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (ArtificialIntelligence + Blockchains) เพื่อการจับคู่ข้อมูลความต้องการกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว โปร่งใส และ 5.เพิ่มช่องทางการแจ้งเบาะแส กรณีพบเห็นความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างการตระหนักรู้ของประชาชน ในการเป็นกลไกตรวจสอบการทุจริต แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นเครือข่ายในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2.จัดอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อความเข้าใจกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันสมัย และ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างภูมิคุ้มกันสังคมให้เข้มแข็ง แบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐจากภาคประชาสังคม 2.เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรภาครัฐ ในการเป็นองค์กรคุณธรรมและความโปร่งใส และการมีวัฒนธรรมสุจริต ผ่าน Soft power 3.ส่งเสริมบทบาทของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เช่น การจัดทำสกู๊ปติดตามงานจัดซื้อจัดจ้าง
ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก ต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สรุปได้ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐ แบ่งออกเป็น 1.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาระบบเทคโนโลยี ดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการเผยแพร่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ เน้นการซื่อสัตย์ สุจริตควบคู่กับผู้นำมีจริยธรรม ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ปรับปรุงกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ลดช่องว่างของกฎหมาย และมีกลไกคณะกรรมการพิจารณาตัดสินในกรณีหลักการขัดแย้ง และข้อกฎหมายลงโทษผู้ร้องไม่มีมูล เจตนากลั่นแกล้ง กับ 1.2 ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ ได้แก่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ ครบ ตลอดเส้นทางน้ำ, จัดตั้งศูนย์การจัดซื้อจัดจ้างกรณีที่เป็นการสินค้า หรือ พัสดุ เชิงเทคนิค, พัฒนาระบบ Data Center เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง , พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสร้าง Platform ให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ง่าย ในการติดตาม ตรวจสอบ, กำหนดให้มีการลงทะเบียน Part Number ของครุภัณฑ์ และเผยแพร่ผ่านระบบคลาวน์ เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมตรวจสอบความสมเหตุสมผลของงบประมาณโครงการ,กำหนดพื้นที่นำร่องในการติดตาม เฝ้าระวังกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างใกล้ชิด /และเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะการประกาศผลผู้ชนะ
2. ข้อเสนอแนะสำหรับภาคเอกชน ในส่วนของภาคเอกชน ควรดำเนินการจัดทำสัญญาคุณธรรม / ข้อตกลงคุณธรรม ตามมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ภายใต้กระบวนการที่กำหนดตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนให้ความร่วมมือ ป้องกันและต่อต้านการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และ
3. ข้อเสนอแนะสำหรับภาคประชาชน ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ในทุกขั้นตอน ผ่านเว็บไซต์ เนื่องจากในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยยังไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่อสาธารณะ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ
ข้อเสนอแนะเหล่านี้ เป็นเป้าหมายทั้งหมดในกระบวนการที่ออกมาเป็นยุทธศาสตร์แก้ปัญหาในกระบวนการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะเห็นได้ชัดว่า “ในทุกกระบวนการ สิ่งที่สำคัญที่สุด จะต้องมีสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ คน” ทั้งนี้ “หลังการนำเสนอ...จะเป็นการวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะผลงานวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ” ประกอบด้วย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้จัดการฝ่ายข่าวบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด โดยมี นางสาวอรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยต่างมีความเห็นสอดคล้องกันกับการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนเข้าถึง และตรวจสอบได้ให้มากที่สุด ระบบ Data เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งหากมีข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านครบถ้วน ก็จะสามารถถอดรหัส ของสาเหตุการทุจริตในแต่ละโครงการว่าเกิดจากอะไร และ ป.ป.ช. น่าจะถอดรหัสคดีแดงออกมาได้ อีกทั้งต้องปรับแผนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ และควรมีการตรวจสอบโครงการ ทั้งก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นโครงการแล้วว่า ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนหรือไม่ ขณะที่สัญญาการจัดซื้อจัดจ้างที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนด จะต้องเป็นสัญญาที่เป็นธรรมทั้งกับภาครัฐและผู้ประกอบการ ไม่มีการล็อกสเปก.
ดาวน์โหลดไฟล์ที่เกี่ยวข้อง : เอกสารประกอบการบรรยายงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง ‘การป้องกันและปราบปรามการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก’