สอดเงินไว้ในนสพ.! พฤติการณ์อดีตนิติกรศุลกากร-พวก เรียก1หมื่นช่วยลดค่าปรับ-ไล่ออกแล้ว

Last updated: 8 ส.ค. 2565  |  1776 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สอดเงินไว้ในนสพ.! พฤติการณ์อดีตนิติกรศุลกากร-พวก เรียก1หมื่นช่วยลดค่าปรับ-ไล่ออกแล้ว

"...เมื่อถึงเวลานัดหมาย ผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์  ได้มาติดต่องานกับจำเลยที่ 2 และได้นําซองซึ่งบรรจุเงินเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 10,000 บาท สอดไว้ในหนังสือพิมพ์ที่วางอยู่บนโต๊ะของจําเลยที่ 2  เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ซึ่งแฝงตัวอยู่ในห้องฝ่ายคดีจึงแจ้งให้ฝ่ายตรวจค้นทราบ และเข้าตรวจสอบจําเลยทั้งสอง จําเลยที่ 1 ได้ส่งเงินซึ่งเป็นธนบัตร ฉบับละ 1,000 บาท รวม 10,000 บาท ให้และส่งซองให้ภายหลัง เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่าหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ได้ลงบันทึกไว้ จึงได้ทําบันทึกการตรวจพบการกระทําความผิดไว้เป็นหลักฐาน..."

ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี

คือ บทสรุปคำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ตัดสินคดีกล่าวหา น.ส.สุดใจ ชัยธนะกุลมงคล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกร 7 ว สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ กรมศุลกากร กับพวกคือ นายศราวุธ เจนสวัสดิ์ เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการลดค่าปรับ กรณีนำทองแดงเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียค่าอากร ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 86 ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาในคดีนี้ พบว่ามีการระบุคำฟ้องและพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ของ จำเลยทั้ง 2 ราย ไว้ดังนี้ 

โจทก์ฟ้องว่า กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดกระทรวงการคลังเป็นนิติบุคคล ปฏิบัติภารกิจหลักเกี่ยวกับการอํานวยความสะดวกทางการค้า การควบคุมทางศุลกากร เพื่อปกป้องสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จัดเก็บอากรจากการนําสินค้าเข้ามาและส่งสินค้าออกและการให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนการส่งเสริม การส่งออก โดยมาตรการทางภาษีอากร การให้บริการแก่ผู้นําเข้าและส่งออกเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรจากการนําเข้าและการส่งสินค้าออกและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้ง เก็บภาษีแทนกรมสรรพากรกรมสรรพสามิตและกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งจะต้องมีการป้องกันและปราบปรามการหลีกเลี่ยงและลักลอบหนีภาษี

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จําเลยที่ 1 รับราชการในตําแหน่งนิติกร 7 ว สํานักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ กรมศุลกากร มีอํานาจหน้าที่ในการรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของฝ่ายคดีเกี่ยวกับการพิจารณาดําเนินคดีผู้กระทําความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและดําเนินคดีตามที่ได้รับมอบหมาย

จําเลยที่ 2 เป็นพนักงานราชการตามคําสั่งสํานักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ที่ 2/2549 เรื่อง ให้พนักงานราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ลงวันที่ 10 มกราคม 2549 ตําแหน่งนิติกรฝ่ายคดี สํานักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ มีอํานาจหน้าที่ในการทําสํานวนคดีตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย แต่ไม่มีอํานาจทําความเห็นสั่งสํานวนคดี

จําเลยทั้งสอง เป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 

เมื่อระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ต่อเนื่องกัน จําเลยทั้งสองกระทําความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ วันที่ 6 พฤษภาคม 2550 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ ผู้นําเข้าได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0102-00550-01545 เพื่อขอรับสินค้า COPPER RADIATOR STRIP แผ่นทองแดง ปริมาณ 7 CASES น้ำหนัก6,451 KGM ประเภทพิกัดอัตรา 7409.2100 อัตรา 0 เปอร์เซ็นต์ ประเทศกําเนิด SWEDEN นําเข้าโดยเรือ BANI BHUM ซึ่งตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติห้ามนําของที่มีการสําแดงกําเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 ห้ามนําของหัตถกรรมใด ๆ ที่มีการสําแดงกําเนิดเป็นเท็จเข้ามาในราชอาณาจักร และได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12  แห่งพระราชกําหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ข้อ 1 ให้ยกเลิกการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรสําหรับของตามประเภทย่อยตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกําหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549  ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าและยกเว้นอากรสําหรับของดังกล่าว ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ แทนบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12  แห่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530  (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 เมษายน 2550 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คือ สินค้าประเภท 74.10 ประเภทย่อย7410.12.00 รหัสย่อย 00 รายการทําด้วยทองแดงเจือ อัตราอากรตามราคาร้อยละ 17 ลดลงเหลือตามราคาร้อยละ 5

ต่อมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการศุลกากรที่ 2 ส่วนบริการศุลกากรที่ 1 (ฝบศ.2สบศ.1) ตรวจพบว่าสินค้าของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์เป็นแผ่นทองแดง (โลหะเจือ) COPPER RADIATOR STRIP (ALLOY) มีความหนา 0.044 มิลลิเมตร เป็นม้วนที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ นําเข้าดังกล่าวจัดเข้าพิกัด 7410.12.00 อัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกําหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 เมษายน 2550

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 จําเลยที่ 2 แสดงตนต่อผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์และแจ้งว่าต้องชําระค่าปรับสองเท่าของอากรที่ขาด

แต่ถ้าต้องการชําระค่าปรับ 10 เปอร์เซ็นต์ ของอากรที่ขาด 

โดยจําเลยที่ 1 ขอค่าเขียนเรื่อง 25,000 บาท มีการต่อรองราคาเหลือ 10,000 บาท

วันที่ 20 มิถุนายน 2550 เวลากลางวัน จําเลยที่ 2 แจ้งผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ว่า ต้องเสียค่าปรับ 2 เท่า และต้องชําระเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเจรจาให้มีการลดค่าปรับ 10,000 บาท อันเป็นการแสดงตนต่อผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีตําแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคิดค่าปรับคดีนี้ จนผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์หลงเชื่อ

และต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2550 เวลากลางวัน ห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ยินยอมให้ผู้รับมอบอํานาจมอบเงิน 10,000 บาท ให้แก่จําเลยที่ 2 แล้วจําเลยที่ 2 นําเงินจํานวนดังกล่าวไปมอบให้กับจําเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่นิติกรเจ้าของสํานวนและไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิดค่าปรับคดีนี้ อันเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น

ต่อมาห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ ถูกประเมินราคาพอใจเป็นเหตุให้อากรขาด 79,763 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 5,584  บาท และจากการตรวจสอบเชื่อว่าผู้นําเข้าอาจไม่ทราบว่ามีการประกาศเพิ่มอัตราอากรเนื่องจากผู้นําเข้าเคยนําเข้าสินค้าหลายครั้ง เพื่อทําการผลิตส่วนประกอบของหม้อน้ำรถยนต์ ก่อนการนําเข้าคดีนี้ไม่ถึง 9 เดือน

เชื่อว่าผู้นําเข้าไม่มีเจตนาทุจริต แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ให้เพียงพอ อันเป็นความผิดฐานสําแดงเท็จตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ผู้นําเข้ายินยอมชําระค่าปรับฐานสําแดงเท็จเป็นเงิน 86,074 บาท คดีเป็นอันระงับไป

วันที่ 25 มิถุนายน 2550 ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สํานักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพและเจ้าพนักงานของสํานักงาน ป.ป.ช. ตรวจค้นได้ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จํานวน 10 ฉบับ จํานวนเงิน 10,000 บาท ที่ผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์มอบให้แก่จําเลยที่ 2 ขณะอยู่ในความครอบครองของจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเงินที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้มาจากการกระทําความผิด

วันที่ 25 มิถุนายน 2550 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ ได้ร้องเรียนต่อผู้อํานวยการสํานักศุลกากรการท่าเรือกรุงเทพ และวันที่ 25 มิถุนายน 2551 กรมศุลกากร ได้ส่งเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีมูล จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนทําการไต่สวน คณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จําเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง ว่าการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับหรือยอมที่จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

การกระทําของจําเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมที่จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คดีมีการตั้งข้อไม่สมบูรณ์

ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 อัยการสูงสุดพิจารณาว่า จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 กระทําผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171, 192 วันที่ 3 สิงหาคม 2563 อัยการสูงสุดมีคําสั่งให้ดําเนินคดีกับจําเลยทั้งสอง ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตน ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเองหรือผู้อื่น และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 คณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมให้จําเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว 

ชั้นไต่สวน จําเลยทั้งสอง ได้ชี้แจงข้อกล่าวห าโดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เหตุเกิดแขวงคลองเตย เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร 

@ สอดเงินสินบนไว้ใน นสพ.บนโต๊ะทำงาน 

ในคำพิพากษาคดีนี้ ยังระบุด้วยว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ได้เรียกรับเงินจำนวน 25,000 บาท และมีการต่อรองเหลือ 10,000 บาท ผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์ ได้เข้าร้องเรียนต่อผู้บริหารสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และมีการนำเรียนเรื่องนี้ต่อผู้บริหารระดับสูงในกรมศุลกากร จนนำมาสู่การร่วมกันวางแผนในการตรวจสอบ โดยแบ่งเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก สังเกตการณ์ ชุดสอง ตรวจค้น โดยมีการบันทึกหมายเลขธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 10 ฉบับ ไว้เป็นหลักฐาน 

เมื่อจำเลยที่ 2 เรียกรับเงินให้มีการส่งมอบเงินให้ โดยในขั้นตอนนี้ มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. แฝงตัวเฝ้าสังเกตการณ์และเฝ้าดูพฤติกรรมของจำเลยทั้ง 2 ราย อยู่ด้วย 

โดยเมื่อถึงเวลานัดหมาย  ผู้รับมอบอํานาจของห้างหุ้นส่วนจํากัดบุญส่งเรดิเอเตอร์  ได้มาติดต่องานกับจำเลยที่ 2 และได้นําซองซึ่งบรรจุเงินเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 10,000 บาท 

สอดไว้ในหนังสือพิมพ์ที่วางอยู่บนโต๊ะของจําเลยที่ 2  

เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ซึ่งแฝงตัวอยู่ในห้องฝ่ายคดี จึงแจ้งให้ฝ่ายตรวจค้นทราบ และเข้าตรวจสอบจําเลยทั้งสอง

จําเลยที่ 1 ได้ส่งเงินซึ่งเป็นธนบัตร ฉบับละ 1,000 บาท รวม 10,000 บาท ให้และส่งซองให้ภายหลัง เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่าหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ได้ลงบันทึกไว้ 

จึงได้ทําบันทึกการตรวจพบการกระทําความผิดไว้เป็นหลักฐาน 

..................................

ขณะที่แหล่งข่าวจาก กรมศุลกากร ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยทั้ง 2 ราย กรมฯ มีคำสั่งไล่ออกไปแล้ว ตั้งแต่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด เมื่อปี 2560 

ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดในคำฟ้องและพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 ในคำพิพากษาคดีนี้ 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้ว สำหรับคดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง  มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้ 

แต่ไม่ว่าในท้ายที่สุด ผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร เรื่องนี้นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐข้าราชการทุกคน ยึดถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีกทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้