Last updated: 6 มิ.ย. 2565 | 7840 จำนวนผู้เข้าชม |
การอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส. รุ่นที่ 13 มุ่งเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย อีกทั้งเร่งสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจอนุมัติ เช่น กระทรวงการคลัง ที่มีอำนาจเป็นของตัวเองโดยใช้เป็นหลักประกันว่าได้ใช้อำนาจอย่างสุจริต เป็นกระบวนการตรวจสอบ เพื่อเป็นการพิสูจน์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งได้เงินเดือนเป็นค่าจ้างตอบแทนเท่านั้น ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันผู้ที่คิดจะกระทำการทุจริตได้มีวิธีการแปลกๆ และหาช่องโหว่ของกฎหมายกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน และมีวิวัฒนาการการทุจริตที่ได้พัฒนาการตามเทคโนโลยี เช่น การลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งเป็นตัวเงินตราที่ไม่อยู่ในการรับรองของธนาคารแห่งประเทศไทย
กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 ได้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรม รวดเร็ว การตรวจสอบทรัพย์สินเป็นหลักประกัน เมื่อข้าราชการ นักการเมือง พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว จะต้องมีประวัติที่สะอาดโปร่งใส สามารถยืนยันได้ว่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นไปตามเหตุผล ซึ่งการทำงานของ ป.ป.ช. เน้นการตรวจสอบทรัพย์สินคนของรัฐ ได้มีการยักยอกเงินของแผ่นดินไปหรือไม่ เป็นการสร้างความโปร่งใสในระบบราชการ นักการเมือง ดังนั้น ควรจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ครบถ้วน โดยต้องยื่นบัญชีทรัพย์ทั้งหมด เพื่อเป็นการแสดงความจำนงที่ชัดเจนในการยื่นทรัพย์สิน หากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ต้องมีการสำแดงเอกสาร สามารถชี้แจงยืนยันที่มาและที่ไปของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเมืองและราชการ ป้องกันการทุจริตและคัดกรองบุคคลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง มาตรการเสริมในด้านปราบปรามการทุจริต การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนร่วม
โดยอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตรวจสอบทรัพย์สิน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ตุลาการศาลรรัฐธรรมนูญ ยกเว้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องบัญชีทรัพย์สินกับวุฒิสภา
นางสาวสุภา กล่าวต่ออีกว่า วิธีการและขั้นตอนในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ ข้าราชการ หากมีการร้องเรียนเรื่องทุจริต เน้นตรวจสอบบุคคลที่มีทรัพย์สินมาก หากไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ถือเป็นสัญญาณผิดปกติ โดยข้าราชการ และนักการเมือง จะปฏิเสธอ้างไม่รู้ไม่ได้ เนื่องจาก ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้แจ้งกฎหมายข้อบังคับเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ทราบหากยังทำเพิกเฉย ทาง ป.ป.ช. จะมีการแจ้งเตือน 1-2 ครั้ง หากยังปฏิเสธการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ป.ป.ช. จะยื่นเรื่องไปยังศาลฎีกาเพื่อดำเนินการถอดถอน
ในส่วนของการยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น บ้าน รถยนต์ บัญชีเงินฝาก หากมีการโอนให้บุตรก่อนรับตำแหน่ง ป.ป.ช. จะมีการตรวจสอบชัดเจน หากพบมีทรัพย์สินเพิ่มกว่าปกติ ให้ สำนักตรวจสอบความร่ำรวย จะทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ยื่นจะต้องมีหน้าที่พิสูจน์ที่มาที่ไปของทรัพย์สินให้ได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของแผ่นดิน
โดยกลุ่มข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา รองปลัด อธิบดี กำหนดให้เฉพาะตำแหน่งสำคัญมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน สามารถเปิดเผยให้ประชาชนทราบ และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุก 3 ปี
สำหรับในส่วนของ ป.ป.ช. กฏหมายมาตรา 158 กำหนดไว้ว่า ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดำรงตำแหน่งเป็นหน้าที่รัฐทุก 3 ปี
ส่วนกรณีข้าราชการ นักการเมือง ยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ทัน สามารถขอขยายระยะเวลาได้ ต้องการเน้นย้ำให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ครบถ้วนมากที่สุด ยื่นเกินไว้ดีกว่าที่ขาด และต้องยื่นก่อนเข้าคณะกรรมการ ปปช โดยคณะทำงานของ ป.ป.ช. จะตรวจสอบตามเอกสารครบถ้วน ก่อนที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะชน 30 วัน หรือ ลงในเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. มีระยะเวลา 180 วัน โดย ป.ป.ช. ยืนยันจะรักษาความลับปิดข้อมูลของผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเต็มที่
ส่วนกรณี คู่สมรสที่จดทะเบียน และผู้ที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและออกงานสังคมเป็นประจำ และมีบุตรที่รับรองโดยกฎหมาย บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุตรที่ชอบโดยกฏหมายที่อายุไม่ครบ 20 ปี หากไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินจะเข้าสู่การเป็นผู้ถือแทนและร่ำรวยผิดปกติ จะต้องถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบ โดยไม่มีการละเว้น
นอกจากนี้ เอกสารสำคัญเช่น การชำระภาษีเงินได้ ภงด. ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง รวมถึง รายได้ รวมถึง ดอกเบี้ยเงินฝาก ต้องระบุชัดเจนว่าได้ยื่นในภาษีเงินได้ หรือ ไม่ได้ยื่น
สำหรับทรัพย์สินประเภทที่ดิน ที่ ปปช.จะตรวจสอบโดยไม่มีการละเว้น คือ ที่ดินประเภท ใบสค1-/ นส3ก /สปก4 – 01 /ใบ ภ.บ.ท.5 เสียภาษีดอกหญ้า ที่รัฐให้ประชาชนใช้ทำกิน แต่หากข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือครองไว้ เป็นความผิด เนื่องจาก ข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งมทางการเมืองไม่มีสิทธิ ไม่ควรเอาที่ดินไปทำในเชิงพาณิชย์ สิ่งที่ต้องยึดถือคือ ข้าราชการต้องรักษาทรัพย์แผ่นดิน ไม่ใช่เอาทรัพย์แผ่นไปหาผลประโยชน์ ดังนั้น ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบทันทีโดยไม่มีการละเว้น
นางสาวสุภา กล่าวยอมรับว่า ทรัพย์สินที่มีปัญหามาก คือ พระเครื่อง เนื่องจาก มีมูลค่าต่างกัน หากมีการนำไปขายเปลี่ยนมือ ทาง ป.ป.ช. จะต้องไปตรวจสอบผู้ซื้อขาย ผู้ยื่นทรัพย์สินต้องระบุให้ชัดเจน รวมถึง นาฬิกา ต้องโชว์กล่องและเอกสารรับรองให้ชัดเจน นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่มีปัญหามากคือ เรื่องหนี้สินบัตรเครดิต ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าร่ำรวย โดย ป.ป.ช. มองว่า หนี้สินที่เกิดจากบัตรเครดิตต้องนำมาแสดง และนำเงินจากที่ใดไปชำระหนี้บัตรเครดิต รวมถึง ยานพาหนะ เช่น รถยนต์ บิ๊กไบค์ ผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต้องตอบคำถามให้ได้ได้ทรัพย์นี้มาอย่างไร หากยืนยันการได้มาของทรัพย์สินไม่ได้จะถูกยึดทรัพย์คืนเป็นของแผ่นดิน ขอเน้นย้ำว่า ไม่ควรถือทรัพย์แทนบุคคลอื่น สำหรับบทกำหนดโทษ ลักษณะความผิด หากข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใจไม่ยื่นบัญ๙ชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือ จงใจยื่นแต่ปกปิดยื่นเท็จ เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ โดย ป.ป.ช. ยื่นศาลฎีกาลงโทษถอดถอนทันที
อย่างไรก็ตาม สำหรับการยึดทรัพย์ของ อดีตข้าราชการหรือ นักการเมือง ที่ได้โอนถ่ายย้ายทรัพย์สินไปอยู่ต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่ได้เพิกเฉย ได้ตรวจสอบเส้นทางเงิน โดยขณะนี้ มีหลายประเทศฝั่งยุโรปให้ความร่วมมือเป็นไปตามกฎหมายความร่วมมือ แต่ประเทศในแถบเอเชียเช่น สิงค์โปร ฮ่องกง มาเลเซีย ไม่ให้ความร่วมมือติดตามทรัพย์ถือว่าเป็นความล้มเหลวของกฎหมายความร่วมมือ
นอกจากนี้ ผู้กระทำการทุจริตอาจจะยักย้ายถ่ายเทเงินไปลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้รับการยืนยันจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการรับรองการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ เนื่องจาก เป็นเงินนอกสกุลไม่มีความเสถียรภาพ มีความเสี่ยงสูง ไม่มีอะไรรองรับ หากนำมายื่นในบัญชีทรัพย์สินและหนี้ ทาง ป.ป.ช. ไม่มีการละเว้นจะต้องถูกตรวจสอบ.
:: เอกสารสำหรับดาวน์โหลดและไฟล์ที่เกี่ยวข้อง ::