กสทช. เตรียม "ประมูลคลื่นความถี่" เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างระบบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง

Last updated: 3 ก.ค. 2564  |  4180 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสทช. เตรียม "ประมูลคลื่นความถี่" เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างระบบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง

การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง พ.ศ. ...

        ตามที่ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ เมื่อวันพุธที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้มีมติเห็นชอบ ในหลักการร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง พ.ศ. ... (ร่างประกาศ) พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ สำนักงาน กสทช. จึงขอเชิญผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศ โดยสามารถศึกษารายละเอียดของร่างประกาศ และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่ วันที่ ๑ - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔

ความเป็นมา ส่วนที่ 2

        ข้อ ๑. ตามมาตรา ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดระยะเวลา การถือครอง หรือใช้งานคลื่นความถี่จนถึงระยะเวลาสูงสุดที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทบริหารคลื่น ความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ตามยุทธศาสตร์การคืนคลื่นความถี่ ข้อ ๘.๒.๓.๑ ที่กำหนดให้การถือครอง คลื่นความถี่ได้จนถึงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ที่ ๗๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะข้อ ๗  ซึ่งกำหนดให้ กสทช. หรือ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕) นับแต่วันครบกำหนดแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว ดังนั้นระยะเวลาในการใช้งานหรือถือครองคลื่น ความถี่ภายใต้คำสั่ง คสช. ดังกล่าว จึงนับต่อไปอีก ๕ ปี นับแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ โดยจะ สิ้นสุดลงในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๕

        ข้อ ๒. ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๔ เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระเรื่อง แผนการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ ๓ โดยที่ประชุมมีมติดังนี้

๒.๑ เห็นชอบแผนการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง สำหรับคลื่นความถี่ตามแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม  และระบบ เอ.เอ็ม เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง

๒.๒ เห็นชอบแผนการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่านการทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียง โดยมีหลักการ ดังนี้

๒.๒.๑ ให้จัดทำแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม กำลังส่งต่ำ และมาตรฐานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียง ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการรบกวนคลื่นความถี่ และบริหารจัดการการใช้งานคลื่นความถี่ให้เหมาะสม

๒.๒.๒ การพิจารณาอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ด้วยกำลังส่งต่ำเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้ เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกำหนด

๒.๒.๓ กรณีสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีสถานะเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. ๒๕๕๕  และยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามข้อ ๒.๒ ได้ ให้ออกอากาศด้วยการใช้คลื่นความถี่ กำลังต่ำ ทั้งนี้การออกอากาศให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕  และให้สิ้นสุดลงพร้อมกันภายในปี ๒๕๖๗

๒.๓ มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้สถานีที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการทุกสถานีทราบถึงกำหนดแนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาต โดยให้มีรายละเอียด เกี่ยวกับหลักการเปลี่ยนผ่านด้านการทดลองประกอบกิจการ มาตรฐานกำลังส่ง ระยะเวลาสิ้นสุด การทดลองประกอบกิจการ (ปี พ.ศ. ๒๕๖๕) ระยะเวลาสิ้นสุดการออกอากาศในลักษณะชั่วคราว (พ.ศ. ๒๕๖๗) เพื่อให้ทุกสถานีทราบและเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการอนุญาต

๒.๔ มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงหรือจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินการตามแผนฯ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดต่อไป

        ข้อ ๓. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง ตามแนวทางที่มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๔ เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กำหนด สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง พ.ศ. ... ขึ้น

สาระสำคัญ ส่วนที่ ๒

        ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการ ให้บริการกระจายเสียง พ.ศ. ... (ร่างประกาศฯ) ฉบับนี้เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประสงค์จะใช้ คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงได้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตลอดจนเงื่อนไขอื่นที่จำเป็นในการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการ ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกอบกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑

        ร่างประกาศฯ ฉบับนี้ กำหนดให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง มี ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทกิจการบริการชุมชน ประเภทกิจการบริการสาธารณะ และ ประเภทกิจการทางธุรกิจ และให้มีอายุไม่เกิน ๗ ปีทั้งนี้ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง อาจมีการอนุญาตในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งจะพิจารณาจากจำนวน คลื่นความถี่และพื้นที่ให้บริการที่ผู้ขอรับใบอนุญาตได้รับในการ อนุญาตแต่ละครั้ง โดยวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ตามร่างประกาศฯ นี้ กำหนดไว้ ๒ วิธีหลักๆ คือ การอนุญาตโดยการประมูล และโดยวิธีคัดเลือกโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติ (beauty contest หรือ comparative review) หรืออนุญาตโดย  วิธีการอื่น ซึ่งมีกระบวนการ ขั้นตอน การพิจารณาแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ ร่างประกาศฯ  นี้ยังกำหนดถึงสิทธิ หน้าที่ ของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การเริ่มต้นและการสิ้นสุดการ อนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม ตลอดจนการกำกับดูแลเช่นกัน ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้ว ผู้รับใบอนุญาตต้องเข้าสู่กระบวนการขอรับการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงต่อไป โดยร่างประกาศฯ แบ่งออกเป็นหมวด ดังต่อไปนี้

- หมวด ๑ บททั่วไป 

- หมวด ๒ ประเภทใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

- หมวด ๓ วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

- หมวด ๔ การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

- หมวด ๕ การพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

- หมวด ๖ สิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต 

- หมวด ๗ การกำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่ 

- ภาคผนวก ก ค่าธรรมเนียมการขออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่


- ร่าง - 
ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง พ.ศ. ....

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ กระจายเสียง เพื่อให้ผู้ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงได้ทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตลอดจนเงื่อนไขอื่นที่จำเป็นในการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่ดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ (๔) และ (๒๔) มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ แห่ง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการ ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ อันเป็น กฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๔๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งอื่นใด ในส่วนที่มีกำหนดไว้แล้วในประกาศนี้  หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน

ข้อ ๓ ในประกาศนี้

“แผนความถี่วิทยุ” หมายความว่า แผนความถี่วิทยุตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่น ความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม “ผู้ขอรับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการ ให้บริการกระจายเสียง

“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ กระจายเสียง

“การให้บริการกระจายเสียง” หมายความว่า การประกอบกิจการกระจายเสียงเพื่อให้บริการ การส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมหรือรับฟังการให้บริการนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะ ส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าหรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่งหรือ หลายระบบรวมกัน หรือการให้บริการอื่นทำนองเดียวกันที่คณะกรรมการกำหนดให้เป็นกิจการกระจายเสียง

“สิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียง” หมายความว่า โครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งอำนวย ความสะดวกเพื่อการให้บริการกิจการกระจายเสียง ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เสา ระบบสาย  สายอากาศ ท่อ หรือสิ่งอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด 

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามประกาศนี้

หมวดที่ ๑ 
บททั่วไป

ข้อ ๔ คลื่นความถี่ที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้ใช้ตามประกาศฉบับนี้ให้เป็นไปตามแผน ความถี่วิทยุสำหรับกิจการกระจายเสียง

คลื่นความถี่ที่คณะกรรมการอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตใช้ตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่มีภัยพิบัติหรือ มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีกรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด คณะกรรมการอาจอนุญาตให้บุคคลอื่นร่วมใช้ ประโยชน์ในย่านความถี่หรือช่องความถี่จากคลื่นความถี่ที่ได้อนุญาตไว้แล้วนั้นได้ โดยการอนุญาตนั้นจะต้อง ไม่เป็นการรบกวนการใช้ประโยชน์ของผู้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ การอนุญาตให้บุคคลอื่นร่วมใช้ประโยชน์ในคลื่น ความถี่ดังกล่าว ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ข้อ ๕ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง คณะกรรมการอาจมี การอนุญาตในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ 

การแบ่งระดับตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจกำหนดในประกาศเชิญชวนตามข้อ ๑๐ หรือ  ข้อ ๑๔ หรืออาจกำหนดในใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยพิจารณาจากจำนวนคลื่นความถี่และพื้นที่ ให้บริการที่ผู้ขอรับใบอนุญาตได้รับในการอนุญาตแต่ละครั้ง

หมวด ๒ 
ประเภทใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

ข้อ ๖ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง มี๓ ประเภท ดังนี้

(๑) ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ  

(๒) ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ประเภทกิจการบริการชุมชน  

(๓) ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ประเภทกิจการทางธุรกิจ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจะจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ กระจายเสียง ประเภทกิจการบริการสาธารณะและประเภทกิจการบริการชุมชนรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่า ร้อยละยี่สิบห้าของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง

ในกรณีที่ไม่มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่จัดให้ตามวรรคสองจนพ้นกำหนดสามปีนับตั้งแต่ วันที่ได้มีการประกาศให้ขออนุญาต หากคณะกรรมการเห็นว่าการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้เพื่อกิจการ ประเภทอื่นจะเกิดประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพสูงกว่า คณะกรรมการอาจนำคลื่นความถี่นั้นไปใช้ประโยชน์ใน กิจการประเภทอื่นได้ ในกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวทำให้สัดส่วนตามวรรคสองลดลง คณะกรรมการจะจัด ให้มีคลื่นความถี่ตามสัดส่วนดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ข้อ ๗ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียงตามข้อ ๔ ให้มีอายุตามที่ คณะกรรมการกำหนดในใบอนุญาต แต่ต้องไม่เกิน ๗ ปี

หมวด ๓ 
วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

 

ส่วนที่ ๑ 
การอนุญาตด้วยวิธีการประมูล

ข้อ ๘ คลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ซึ่งมิใช่คลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๒ แห่ง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการ ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้อนุญาต โดยวิธีการประมูล

เงินรายได้ที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการประมูล และเงิน ที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ข้อ ๙ เมื่อคณะกรรมการเห็นควรให้มีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามตามข้อ ๘ ให้คณะกรรมการออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประมูล

ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประมูลตามวรรคหนึ่ง ให้มีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(๑) คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล 

(๒) เงื่อนไขการเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน 

(๓) ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดระยะเวลาการประมูล  

(๔) การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่  

(๕) รายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อ ๑๐ ในการประมูลคลื่นความถี่ ให้คณะกรรมการออกประกาศเชิญชวนให้สาธารณชนทราบ โดยให้มีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๑) แผนความถี่วิทยุ และคลื่นความถี่ที่จะมีการอนุญาต 

(๒) ประเภทใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

(๓) กิจการที่สามารถใช้คลื่นความถี่ที่จะมีการอนุญาตนั้นประกอบกิจการได้ 

(๔) ราคาขั้นต่ำ ราคาเริ่มต้น การเสนอเพิ่มราคา และเงื่อนไขการประมูล 

(๕) เงื่อนไขการเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน 

(๖) ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาต 

(๗) กำหนดการและสถานที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต 

(๘) การชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

(๙) อายุใบอนุญาต ขอบเขตพื้นที่การให้บริการ 

(๑๐) รายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนที่ ๒ 
การอนุญาตด้วยวิธีการอื่นนอกจากการประมูล

ข้อ ๑๑ คลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการสาธารณะ และประเภทกิจการบริการชุมชน ให้อนุญาตโดยวิธีคัดเลือกโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติ (beauty contest หรือ  comparative review) หรือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด 

กรณีคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงตามมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติการ ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ใช้ในการประกอบกิจการกระจายเสียงอยู่ใน วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามประกาศนี้สำหรับคลื่น ความถี่ ดังกล่าว ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามประกาศนี้ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่ วันที่แผนประกอบกิจการกระจายเสียงผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการพิจารณา อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยคำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมายในการบริการสาธารณะ ความจำเป็นของการ ประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่

ข้อ ๑๒ การคัดเลือกโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติ ตามข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้

(๑) ความเหมาะสมและศักยภาพของผู้ขอรับใบอนุญาต

(๑.๑) ผู้ขอรับใบอนุญาต ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ต้องเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตาม กฎหมายในการบริการสาธารณะ หรือเป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ในการบริการสาธารณะและมีความ จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่โดยต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการใช้งานคลื่นความถี่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายใน การบริการสาธารณะ

(๑.๒) ผู้ขอรับใบอนุญาต ประเภทกิจการบริการชุมชน ต้องมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการ กระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยต้องมีหลักฐาน เชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน เช่น ความเป็นเจ้าของ การร่วมบริหาร จัดการ การร่วมผลิตรายการหรือจัดรายการ หรือการมีส่วนร่วมในลักษณะอื่น ๆ

(๒) มีความพร้อมด้านมาตรฐานทางเทคนิคในการใช้งานคลื่นความถี่ตามที่คณะกรรมการ กำหนด

ข้อ ๑๓ เมื่อคณะกรรมการเห็นควรให้มีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการออกประกาศเชิญชวนให้สาธารณชนทราบ โดยให้มีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๑) แผนความถี่วิทยุ และคลื่นความถี่ที่จะอนุญาต 

(๒) ประเภทใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

(๓) กิจการที่สามารถใช้คลื่นความถี่ที่จะมีการอนุญาตนั้นประกอบกิจการได้ 

(๔) ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาต 

(๕) กำหนดการและสถานที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต 

(๖) การชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

(๗) อายุใบอนุญาต ขอบเขตพื้นที่การให้บริการ 

(๘) รายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๔ 
การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

ข้อ ๑๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการประกอบ กิจการกระจายเสียงตามที่ระบุไว้ในประกาศเชิญชวน ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถ ประกอบกิจการกระจายเสียงตามที่ระบุไว้ในประกาศเชิญชวนได้ผู้รับใบอนุญาตอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๔/๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓)  พ.ศ. ๒๕๖๒ 

ข้อ ๑๕ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามแบบที่กำหนดใน ประกาศเชิญชวนตามข้อ ๑๐ หรือ ข้อ ๑๓ หรือตามแบบที่สำนักงาน กสทช. กำหนด แล้วแต่กรณีพร้อมทั้ง ชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตตามที่กำหนดในภาคผนวก ก ท้ายประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ยื่น คำขอ หรือตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

คำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้มีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้ 

(๑) ข้อมูลนิติบุคคลหรือกลุ่มคนผู้ขอรับใบอนุญาต 

(๒) แผนความถี่วิทยุและคลื่นความถี่ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาต 

(๓) ประเภทใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาต 

(๔) ประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงที่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ที่ขอรับ ใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการ

ข้อ ๑๖ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามข้อ ๑๕ แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของแบบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ หากปรากฏว่าแบบคำขอหรือ เอกสารหลักฐานที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการพิจารณาไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน หรือไม่เพียงพอ พนักงาน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขทันที หรือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดส่งเอกสารหลักฐาน เพิ่มเติมตามบันทึกความบกพร่องและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่จะต้องยื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน ระยะเวลาสามสิบวันนับจากวันที่ยื่นคำขอ

ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอหรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมตามที่ พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบหรือตามที่ปรากฏในบันทึกตามระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืน คำขอให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตพร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคำขอให้ทราบด้วย

ข้อ ๑๗ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตได้ยื่นคำขอถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่เป็นการยื่นคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ที่ต้องประมูลให้ดำเนินการต่อไปตาม ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประมูลคลื่นความถี่ตามข้อ ๙ 

(๒) ในกรณีที่เป็นการยื่นคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่โดยวิธีการอื่นนอกจากการประมูลให้ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการใช้คลื่นความถี่ตามข้อ ๑๑ วรรคสอง หรือข้อ ๑๒ และผลการพิจารณาอื่นตามที่กำหนดในประกาศเชิญ ชวน แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการพิจารณาภายในหกสิบวันทำการ ทั้งนี้ อาจยื่นขอขยายระยะเวลาต่อ คณะกรรมการเป็นการล่วงหน้าก่อนครบกำหนดระยะเวลา การขยายระยะเวลาให้กระทำได้ไม่เกินสามสิบวัน ทำการ และขอขยายได้ไม่เกินสองครั้ง

หมวด ๕ 
การพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

ข้อ ๑๘ ในกรณีที่เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ต้องประมูล เมื่อผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการ ประมูลลงนามรับรองราคาสุดท้ายที่ตนเสนอแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลให้ทราบ โดยทั่วกัน และให้ประกาศด้วยว่าผู้ประมูลชนะการประมูลในคลื่นความถี่ใด และสามารถประกอบกิจการกระจายเสียงโดยใช้คลื่นความถี่ในระดับใดโดยพิจารณาจากพื้นที่ให้บริการโดยคลื่นความถี่ที่ประมูลได้ 

ข้อ ๑๙ ในกรณีที่เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยวิธีการอื่นนอกจากการประมูล ตามข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมตามข้อ ๑๗ (๒) และคัดเลือก ผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้แล้วเสร็จภายในภายในสามสิบวันทำการ และประกาศรายชื่อ ผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้ทราบโดยทั่วกัน

ในกรณีที่เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามข้อ ๑๑ วรรคสอง ให้คณะกรรมการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมตามข้อ ๑๗ (๒) ให้แล้วเสร็จภายในภายในสามสิบวันทำการ และ ประกาศรายชื่อผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้ทราบโดยทั่วกัน

ข้อ ๒๐ เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลหรือได้ผู้ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้สมควรได้รับใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่ตามข้อ ๑๘ หรือข้อ ๑๙ แล้ว ให้ผู้ชนะการประมูลหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็น ผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังนี้

(๑.๑) กรณีผู้ชนะการประมูล ให้ชำระค่าประมูล ซึ่งถือเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล 

(๑.๒) กรณีผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็น  ผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

บรรดาหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจาย เสียงและกิจการโทรทัศน์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องเสียค่าธรรมเนียมตาม (๑) ด้วย แต่คณะกรรมการจะ ลดหย่อนให้ตามที่เห็นสมควรก็ได้โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกิจการของหน่วยงานนั้น

(๒) แจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูลหรือแจ้งการเป็นผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แล้วแต่กรณี โดยให้มี รายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๒.๑) กรณีใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของตนเอง

(๒.๑.๑) ให้ระบุประเภทหรือชนิดของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงที่จะ ให้บริการ 

(๒.๑.๒) ให้แสดงรายละเอียดข้อมูลทางเทคนิคตามประเภทหรือชนิดของสิ่งอำนวย ความสะดวกด้านกระจายเสียงที่จะให้บริการที่ระบุในข้อ (๒.๑.๑) 

(๒.๑.๓) ให้ระบุพิกัดภูมิศาสตร์ (Geographic Coordinates) (ละติจูดและลองจิจูด โดยให้แสดงค่าเป็นทศนิยม ๖ ตำแหน่ง) และรายละเอียดสถานที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจาย เสียงที่จะให้บริการ เช่น ที่ตั้งของอาคาร ชั้น ห้อง บ้านเลขที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ เป็นต้น 

(๒.๑.๔) ให้ระบุพื้นที่ให้บริการ (Coverage Area Service) ที่ประสงค์จะดำเนินการ ของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงที่จะให้บริการ  

(๒.๑.๕) ให้แสดงรูปลักษณะของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงที่จะ ให้บริการ เช่น ภาพถ่าย พิมพ์เขียว เป็นต้น 

(๒.๑.๖) ให้แสดงแผนผังรายละเอียดของลักษณะทิศทางและแนวเขตของสิ่งอำนวย ความสะดวกด้านกระจายเสียงที่จะให้บริการ 

(๒.๒) กรณีใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของผู้รับใบอนุญาตสิ่งอำนวยความสะดวก 

(๒.๒.๑) ให้ระบุชื่อเจ้าของสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้งานเพื่อให้บริการกระจายเสียง

(๒.๒.๒) ให้แสดงหลักฐานสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือ โทรทัศน์สำหรับให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของเจ้าของสิ่งอำนวยความ สะดวกที่ใช้งานใน ข้อ (๒.๒.๑)

(๒.๓) กรณีใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของตนเองและของผู้อื่น

(๒.๓.๑) สิ่งอำนวยความสะดวกของตนเองให้แสดงรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อ (๒.๑) 

(๒.๓.๒) สิ่งอำนวยความสะดวกของผู้อื่นให้แสดงรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อ (๒.๒)

ในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่ ไม่ดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒) ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าสละสิทธิการขอรับ ใบอนุญาต และให้ริบค่าธรรมเนียมการขออนุญาตและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ชำระแล้ว รวมทั้งหลักประกันการประมูลที่เกิดจากการขอรับใบอนุญาตตามประกาศนี้

ข้อ ๒๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ จัดทำรายงานผลการ วิเคราะห์ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียง ตามข้อ ๒๐ (๒) สอดคล้องกับแผนความถี่วิทยุสำหรับ กิจการกระจายเสียงหรือไม่ ให้คณะกรรมการพิจารณาภายในหกสิบวันทำการ ทั้งนี้ อาจยื่นขอขยายระยะเวลา ต่อคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้าก่อนครบกำหนดระยะเวลา การขยายระยะเวลาให้กระทำได้ไม่เกินสามสิบ วันทำการ และขอขยายได้ไม่เกินสองครั้ง

เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าผู้ชนะการประมูลหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้สมควรได้รับ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ได้ดำเนินการตามข้อ ๒๐ (๑) ครบถ้วน และสิ่งอำนวยความสะดวก ตามข้อ ๒๐ (๒) สอดคล้องกับแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการกระจายเสียง ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่ตามประเภทที่คณะกรรมการกำหนดในประกาศเชิญชวน พร้อมทั้งกำหนดอายุใบอนุญาต ขอบเขต  และเงื่อนไขการประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ด้วย

กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นควรให้ผู้ชนะการประมูลหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็น ผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ยื่นเอกสารหรือชี้แจงข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ให้ผู้ชนะการประมูลหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้สมควรได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดำเนินการยื่นเอกสาร หรือชี้แจงข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กสทช.  หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อคณะกรรมการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามวรรคสองแล้ว ให้สำนักงาน กสทช. แจ้ง ผลการพิจารณาให้ผู้รับใบอนุญาตทราบเป็นหนังสือ พร้อมเปิดเผยข้อมูลและผลการพิจารณาในระบบเครือข่าย สารสนเทศของสำนักงาน กสทช. แก่สาธารณะภายในสิบห้าวันทำการ รวมถึงแจ้งข้อมูลผู้รับใบอนุญาต ดังกล่าวต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หมวด ๖ 
สิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต

ข้อ ๒๒ ผู้รับใบอนุญาตต้อง

(๑) ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการ ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้

(๒) ใช้คลื่นความถี่โดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวนความถี่ต่อผู้รับใบอนุญาตรายอื่น

(๓) ยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ 

(๔) ประกอบกิจการกระจายเสียงตามที่ตนได้รับอนุญาตภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ กำหนด  

(๕) ใช้คลื่นความถี่ตามวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการกระจายเสียง 

(๖) ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่  

(๗) ไม่กระทำการอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการ กระจายเสียง

ข้อ ๒๓ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่เป็นการโอน ใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 

ข้อ ๒๔ ผู้รับอนุญาตที่ประสงค์จะยกเลิกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ ให้แจ้งเหตุแห่งการเลิกใช้งานคลื่นความถี่ เพื่อให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนยกเลิกใบอนุญาต โดย จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนยกเลิกใบอนุญาต

ข้อ ๒๕ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สิ้นสุดลง ดังต่อไปนี้ 

(๑) ใบอนุญาตสิ้นอายุ 

(๒) คณะกรรมการเห็นชอบให้ยกเลิกใบอนุญาตตามข้อ ๒๔ 

(๓) ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ข้อ ๒๖ ในกรณีที่การสิ้นสุดลงของใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามข้อ ๒๕ จะส่งผลกระทบต่อ ผู้ใช้บริการกระจายเสียง คณะกรรมการอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีมาตรการเยียวยา ผลกระทบที่เกิดต่อผู้ใช้บริการกระจายเสียงภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ 

ข้อ ๒๗ ในกรณีที่การได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฉบับใหม่ หรือการสิ้นสุดลงของ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ส่งผลให้ระดับการให้บริการกระจายเสียงเปลี่ยนแปลงไป ผู้รับใบอนุญาตจะต้อง ขอใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงใหม่ให้เป็นไปตามระดับการให้บริการใหม่ และดำเนินการแก้ไข คุณสมบัติให้สามารถเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงตามระดับการให้บริการใหม่ภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฉบับใหม่ หรือนับแต่วันที่ใบอนุญาตฉบับเดิมสิ้นสุดลง  แล้วแต่กรณี 

ข้อ ๒๘ ในกรณีที่ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ใดจะสิ้นอายุ คณะกรรมการอาจดำเนิน กระบวนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่นั้นตามประกาศนี้เป็นการล่วงหน้าก่อนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สิ้น อายุได้

หมวด ๗ 
การกำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่

ข้อ ๒๙ ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไป ตามข้อ ๒๒ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมจัดทำรายงานความเห็น  เสนอต่อคณะกรรมการ ภายในสามสิบวันทำการ เพื่อให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการ แก้ไขให้ถูกต้องหรือมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน

ร่างประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียง และมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม จำนวน ๔ ฉบับ

๑. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม  
๒. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม  
๓. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม กำลังส่งต่ำ  
๔. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม กำลังส่งต่ำ  

ที่มา :  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้