พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาง ‘ก.’ จนท.ที่ดิน เรียกเก็บค่าโอนขายที่ดินเข้ากระเป๋าตนเอง Ep12

Last updated: 14 มี.ค. 2564  |  3744 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาง ‘ก.’ จนท.ที่ดิน เรียกเก็บค่าโอนขายที่ดินเข้ากระเป๋าตนเอง Ep12

นาง ก. เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน มีหน้าที่พิจารณาคำขอตรวจหลักฐานทางทะเบียนและเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิและนิติกรรมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับคำสั่งให้อยู่เวรทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และแจกบัตรคิว แต่นาง ก. ได้รับเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดินรายหนึ่งไว้ดำเนินการเองและได้เรียกรับเงินจำนวน 10,000 บาท จากผู้ขายที่ดินเป็นค่าดำเนินการ พร้อมทั้งเงินอีกจำนวน 45,112 บาท นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรตามใบเสร็จรับเงิน นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว

x-files :พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 12 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. ในสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดเจ้าหน้าที่รัฐเรียก รับ ผลประโยชน์ จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

@ เรียกรับเงินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดิน

ข้อเท็จจริง นาง ก. เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน มีหน้าที่พิจารณาคำขอตรวจหลักฐานทางทะเบียนและเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิและนิติกรรมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับคำสั่งให้อยู่เวรทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และแจกบัตรคิว แต่นาง ก. ได้รับเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนขายที่ดินรายหนึ่งไว้ดำเนินการเองและได้เรียกรับเงินจำนวน 10,000 บาท จากผู้ขายที่ดินเป็นค่าดำเนินการ พร้อมทั้งเงินอีกจำนวน 45,112 บาท นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรตามใบเสร็จรับเงิน นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ นาง ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง สำหรับความผิดทางอาญา เห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาได้

@ เรียกรับเงินค่าป่วยการ เพื่อช่วยให้ได้รับมรดก

ข้อเท็จจริง นาง ก. ได้ไปพบ นาย ข. เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน และทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ปรึกษาเรื่องการโอนมรดกของสามี นาย ข. จึงได้แนะนำและช่วยจัดหาทนายความให้ และให้ยืมเงินค่าจ้างทนายความ ต่อมาเมื่อศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งคำร้อง จึงได้ยื่นขอโอนมรดกเฉพาะส่วนต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ในระหว่างที่นาง ก. ขอจดทะเบียนรับมรดกของสามีนั้น นาย ข. ได้เรียกเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากนาง ก. เป็นค่าป่วยการเพื่อช่วยให้ได้รับมรดก ซึ่งนาง ก. ตกลงยินยอมตามที่เรียกร้องและทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ไว้ต่อกัน ต่อมา นาง ก. ตกลงขายที่ดินให้แก่นาย ข. ราคา 4,000,000 บาท มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำไว้ โดยถือว่าเงิน 1,000,000 บาท ที่เรียกร้องนั้น เป็นเงินมัดจำส่วนหนึ่งตามสัญญา

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157

@ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ข่มขู่เรียกรับผลประโยชน์

ข้อเท็จจริง ร้อยตำรวจเอก ก. และพวก อ้างตนเป็นตำรวจทางหลวงหรือตำรวจกองปราบปรามแต่ทำการขมขู่ เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินจากผู้ค้ากระเทียมเถื่อน โดยข่มขู่ว่าหากบุคคลใดไม่ยอมให้ทรัพย์สินตามที่เรียกร้องก็จะจับกุมดำเนินคดีในข้อหานำเข้ากระเทียมเข้ามาในราชอาณาจักรโดยลักลอบหนีภาษีศุลกากร รวมถึงการกรรโชกเอากระเทียมที่บรรทุกมาในรถและไม่จับกุมดำเนินคดี ร่วมกันบังคับให้รถบรรทุกกระเทียมเถื่อนหยุดรถเพื่อจะจับกุมแล้วละเว้นไม่จับกุมดำเนินคดี และการแต่งเครื่องแบบตำรวจกองปราบปราม เรียกร้องเงินจากเจ้าของกระเทียม และเป็นเงินรายเดือนอีก

นอกจากนี้ ร้อยตำรวจเอก ก. และพวก ได้เดินทางไปร้านอาหารแห่งหนึ่ง เรียกรับเงินจากเจ้าของร้านโดยอ้างว่าจะจับกุมในข้อหาจัดให้มีการค้าประเวณีในร้าน ซึ่งการกระทำของร้อยตำรวจเอก ก และพวกมีลักษณะและพฤติกรรมในการกระทำความผิดในแต่ละคราวคล้ายคลึงกัน

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำร้อยตำรวจเอก ก. และพวก เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

@ เรี่ยไรเงินโดยขอร้องแกมบังคับให้โรงพยาบาล 6 แห่ง บริจาคเงินเพื่อซื้อรถตู้ไว้ใช้งาน

ข้อเท็จจริง นาย จ. ดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะในเขตตรวจราชการ ร่วมกับนางสาว อ. นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ และผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ข่มขืนใจหรือจูงใจผู้อำนวยการโรงพยาบาลภายในเขตตรวจราชการที่ 6 จำนวน 5 แห่ง ให้มอบเงินสวัสดิการโรงพยาบาลหรือเงินสนับสนุนโรงพยาบาล เพื่อนำมาซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อ VOLKWAGEN ราคา 3,100,000 บาท จากบริษัท ท. เพื่อจะนำไปใช้ในราชการของเขตตรวจราชการ โดยไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยโอนเข้าบัญชีแม่บ้านสาธารณสุข ส. และบัญชีสวัสดิการเขตตรวจราชการ รวมเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,601,020 บาท ซึ่งต่อมาได้โอนเงินจำนวน 3,100,000 บาท จากบัญชีแม่บ้านสาธารณสุข ส. ให้บริษัท ท. เพื่อชำระเป็นค่ารถยนต์ยี่ห้อ VOLKWAGEN โดยได้เอาเงินส่วนที่เหลือ จำนวน 500,000 บาท ไปเป็นของตนเอง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันนางสาว อ. ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี เนื่องจากนางสาว อ. ได้ให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำความผิดของนาย จ. ตัวการสำคัญได้ ซึ่งขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขต ได้รับมอบหมายจากนาย จ. ให้ช่วยติดต่อประสานงานกับผู้บริหารโรงพยาบาลในเรื่องการจัดซื้อรถยนต์นี้ กล่าวคือ เป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้อำนวยการหรือเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลต่างๆ ให้โอนเงินเข้าบัญชีแม่บ้านสาธารณสุข ส. และบัญชีสวัสดิการเขตตรวจราชการ โดยเกิดขึ้นภายหลังจากที่นาย จ. ได้พูดคุยขอเรี่ยไรรับเงินบริจาค กำหนดจำนวนเงินกับผู้บริหารของโรงพยาบาลต่างๆ อันเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจผู้บริหารโรงพยาบาลและเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว การกระทำของนางสาว อ. เป็นเพียงกระทำตามคำสั่งของนาย จ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามที่ได้มอบหมายเท่านั้น

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย จ. มีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1), (4) มาตรา 85 (7) ประกอบมาตรา 82 (2) และมาตรา 85 (7) ประกอบมาตรา 83 (3)

และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 โดยกันให้นางสาว อ. มาไว้เป็นพยานตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2554

@ เรียกรับทรัพย์สินจากผู้ต้องหาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีให้ได้รับโทษหนักขึ้นหากไม่ยินยอมตามที่เรียกร้อง

ข้อเท็จจริง ผู้ต้องหาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นพบของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) และสิ่งผิดกฎหมายอื่น จึงถูกแจ้งข้อหารวม 5 ข้อหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหา โดยเห็นควรสั่งฟ้องไปยังอัยการจังหวัด โดยนาย ฉ. อัยการจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในสำนวนคดีนี้ ได้ทำการติดต่อเรียกรับเงินจากญาติของผู้ต้องหาอ้างว่าเพื่อจะช่วยเหลือหรือกลั่นแกล้งในทางคดีแก่ผู้ต้องหาหลายครั้งทั้งทางโทรศัพท์และไปพบด้วยตนเอง ในส่วนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา นาย ฉ. ได้ใช้หนังสือให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม และเป็นการสั่งการในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ได้ติดต่อกับฝ่ายผู้ต้องหาและญาติ โดยใช้หนังสือสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมมาข่มขู่ให้เกิดความกลัว

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ฉ. ผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม ฐานกระทำการอันทำให้เสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 44 , 47 และมาตรา 60 (1), (8) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ข้อ 7 และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 201

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักข่าวอิศรา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้