กรมการพัฒนาชุมชนสืบสานพระราชดำริ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน

Last updated: 19 ก.พ. 2564  |  2846 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรมการพัฒนาชุมชนสืบสานพระราชดำริ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน

พช. จับมือสภาสตรีฯ สนองพระดำริ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมประกวดผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้แทนที่ปรึกษาคณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน ร่วมในการแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ โดยมีนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ สุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นับเป็นโชคดีของพวกเราคนไทย ที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน มีพระเมตตาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สืบสานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาต่อพวกเราอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมสิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นไทย เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของวัฒนธรรมการแต่งกาย สนับสนุน ส่งเสริม รื้อฟื้น ชีวิตผ้าไทย มาตั้งแต่พระพันปีหลวง จนนับเนื่องมาถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านก็ทรงมีพระดำรัสที่สำคัญ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 วันสตรีแห่งชาติ ว่าจะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของพระองค์ท่าน สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือ การฉลองชุดพระองค์ด้วยผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนให้ผ้าไทยที่สมเด็จย่าของพระองค์ท่าน ทรงชุบชีวิตขึ้นมา ให้มีอายุที่ยืนยาวชั่วกับชั่วกันคู่กับแผ่นดินไทย พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพเรื่องของผ้ามาก ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องผ้าไทย พระองค์ทรงพระราชทานหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK S/S 2022 ให้กระทรวงวัฒนธรรมช่วยพิมพ์ ช่วยเผยแพร่ ในหนังสือ จะเห็นได้ชัดว่าทรงเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นเลิศ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน 3 ภาค ของประเทศไทย ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร โดยพี่น้องประชาชนได้นำผ้ามาจัดแสดง พระองค์ท่านทรงมีพระดำริในการให้คำแนะนำในเรื่องผ้า สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงอุทิศทุ่มเท ความเพียรพยายาม แนะนำติดตามงาน และที่สำคัญคือ ผ้าเป็นสิ่งที่ล่อเลี้ยงชีวิตของพี่น้องประชาชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน โดยพระองค์ท่านมองเห็นถึงจุดอ่อนของวงการผ้าไทย คือ แบบผ้าเก่า ไม่มีความโดดเด่นตามยุคตามสมัย พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยะภาพช่วยฝ่าทางตันออกไปได้ ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทรงได้แนะนำการประยุกต์พัฒนาลวดลายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ชัดว่า วงการทอผ้าไทย มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการตื่นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ต่อลมหายใจของผ้าไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ท่านชุบชีวิตมาด้วยยาวิเศษ คือความเพียรพยาม ความวิริยะอุตสาหะ ความรัก ความเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทย จะมีลมหายใจที่แข็งแรงและยาวนานไปสู่รุ่นต่อรุ่น คู่กับผืนแผ่นดินไทยสืบไป

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อปี 2499 เป็นต้นมา กระทั่งถึง วันที่ 5 พฤษภาคม 2504 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับสภาสตรีแห่งชาติไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงได้ชื่อว่า “สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์” จวบจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ เชิดชูบทบาทสตรีไทย ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสถานภาพของสตรีไทยตามพระราชเสาวนีย์ 4 ประการ ในวันสตรีไทยในการเป็นแม่ที่ดี เป็นแม่บ้านที่ดี รักษาเอกลักษณ์ไทย และใส่ใจพัฒนาตนเอง ยึดมั่นสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรสตรีกว่า 200 องค์กร สำหรับการได้รับเกียรติเป็นประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ 25 – 26 จึงเป็นโอกาสที่มีคุณค่าอย่างที่สุด ในการทดแทนพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรของพระองค์มาอย่างยาวนาน ด้วยทรงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์ สืบสานผ้าไทยมากกว่า 60 ปี สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้มีโอกาสสนองงานสืบสานพระราชปณิธาน อาทิ โครงการตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน ด้วยต่างสำนักในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทำให้พี่น้องสตรีไทยทั้ง 4 ภาค ล้วนได้มีอาชีพ มีรายได้ และความมั่นคงในชีวิตด้วยผ้าไทย ทำให้ผ้าทุกผืนมีคุณค่าจนเกิดเป็นอาชีพหลักสร้างความมั่นคงต่อตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดีด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งนี้ต่อมาสภาสตรีฯ ได้ดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยไม่เน้นที่ความสวยงามเป็นหลักเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการต่อยอดในการอนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่น ซึ่งได้จับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ลงนาม MOU ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ในการสวมใส่ผ้าไทย และผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน ทั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้ผ้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในชุมชน อันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นเป้าหมายที่สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน พยายามผลักดันให้ผ้าไทยสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตของคนไทยทุกคนให้ได้ ด้วยพระปรีชาและพระกรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้ประทานลวดลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จึงเป็นการสร้างปรากฏการณ์แห่งอนาคตสำหรับการพัฒนาลวดลายและคุณภาพผ้าในยุคใหม่ เพราะโจทย์ใหญ่ของการพัฒนาผ้าไทยวันนี้คือรูปแบบ เรื่องราว ดังนั้นจึงเป็นดังการประทานแรงบันดาลใจของพระองค์ ไปสู่ช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ทุกกลุ่มทุกภูมิภาค ให้วงการผ้าไทยกลับมามีชีวิตชีวา พัฒนาสืบสานต่อยอดอย่างไม่หยุดยั้ง เกิดความนิยมโดยแพร่หลาย ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนร่วมกันหันมาสวมใส่ผ้าไทย ส่งเสริมหัตถศิลป์ผ้าไทยด้วยความภาคภูมิใจ ช่วยเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป

ด้าน นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวการประกวดลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการ kick off ในการส่งเสริม อนุรักษ์ รักษา สืบสาน และต่อยอด โดยการส่งเสริมศิลปินคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นการทำงานทักทอผ้าต้องไม่ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ทรงพระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงพระอักษรลายเชิงผ้ารูปหัวใจ สื่อความหมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternal Love ซึ่งทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย การประกวดลายผ้าครั้งนี้ เพื่อต้องการส่งเสริม รักษา ต่อยอด พระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามกติกาที่ได้วางไว้ สุนทรียศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ส่งต่อบรรพบุรุษดำเนินต่อเนื่อง สิ่งที่คงอยู่กับโลกปัจจุบันในเรื่อง แนวโน้ม ขับเคลื่อนรูปแบบความต้องการในยุคปัจจุบัน เพื่อต้องการยกระดับ คุณภาพลายผ้าไทย เส้นใย และสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่องผ้าโดยไม่จำกัดอายุ มีความถนัด ความชอบในด้านการทอผ้า แต่ขาดเวทีโอกาสในเผยแพร่คุณค่าของตนเอง เวทีนี้จะสร้างคุณค่าแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่สนใจในการเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้เป็นอย่างมาก และพระองค์ท่านยังทรงเน้นย้ำถึงการทอผ้าต้องไม่มีการลดขั้นตอน ต้องปฏิบัติตามบรรพบุรุษ ทออย่างไร ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นๆ และในการประกวดช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พระองค์ท่านจะทรงเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินในระดับประเทศด้วยพระองค์เอง และทรงเชิญพระราชบริพารที่ถวายงานเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินรอบกิตติมศักดิ์ รวมถึงมีรางวัลพิเศษ the best of the best รางวัล 15 ประเภทผ้า ตามเทคนิค เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้นๆ เป็นแรงกระตุ้นสิ่งสำคัญ นำผ้าที่ชนะเลิศไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ ใส่ไปงาน OTOP Midyear 2020 ในเดือนสิงหาคม และมีเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ 3 รางวัล และพระองค์ท่านยังเข้าถึงใจประชาชน ทรงพระราชทานรางวัลชมเชยแก่ผู้เข้าร่วม เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นแรงบันดาลใจ จึงขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน ที่เห็นความสำคัญของการพลิกฟื้นผ้าไทยและสนองแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ต่อการดำเนินงานประโยชน์ต้องตกอยู่แก่ประชาชนแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติม เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งกว่ารางวัล ก็คือ การที่พระองค์ท่านพระราชทานเหรียญรางวัลและร่วมฉลองพระองค์ จากผ้าที่ได้รับชนะเลิศ ซึ่งเป็นเกียรติประวัติและมีคุณค่าเป็นอย่างมาก จากลายผ้าพระราชทาน ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ บนผืนผ้าลายขอ รูปตัว S แบบมาตรฐาน พระองค์ท่านทรงพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ก่อให้เกิดรายได้ แต่ต้องเป็นการทำมือ เช่น ทำสร้อยอัญมณีลายขอ จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้นำเอาสิ่งที่สำคัญ มาเป็นของขวัญอันล้ำค่าให้แก่ปวงประชาชน และรูปหัวใจที่ร้อยเรียงเปรียบเสมือนหัวใจแห่งความรัก ความดูแล เอาใจใส่ที่พระองค์ท่านมอบให้แก่ประชาชน พระองค์ท่านได้พระราชทานแบบ เพื่อมอบให้ชาวบ้านได้นำไปต่อยอด สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีรูปแบบที่ทันสมัย เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และทรงมีความละเอียดอ่อนในเรื่องของการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยให้กรมการพัฒนาชุมชน จดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยไว้ โดยพระองค์ท่านทรงลงพระนามมอบให้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเปิดรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ – เดือนเมษายน 2564 และประกวดในระดับภูมิภาคในห้วงเดือนพฤษภาคม 2564 และประกวดในระดับประเทศในห้วงเดือนกรกฎาคม 2564 โดยสามารถติดต่อได้ที่กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทุกแห่ง ดังนั้นการประกวดในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า จะเป็นต้นแบบรังสรรค์ผ้าไทยให้เกิดความหลากหลาย สร้างเทคนิคที่โดดเด่น ตามความถนัดของตนเองและสร้างคุณค่าในสังคมควบคู่กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะระดับประเทศ จะเป็นเกียรติประวัติ โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์พระองค์ท่าน เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน และขอเชิญชวนให้ทุกท่านสวมใส่ผ้าไทยอย่างพร้อมเพียงกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีแก่พระองค์ท่าน และสามารถดูรายละเอียดการประกวด และข้อมูลเกี่ยวกับผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th หรือทาง Facebook กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage อธิบดี พช.กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้