Last updated: 15 มิ.ย. 2563 | 2825 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช.รับเรื่องตรวจสอบการใช้งบท้องถิ่นจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด รวม 23 ประเด็น ‘วรวิทย์’ เผยตั้งอนุไต่สวนแล้ว 1 เรื่อง คือ จัดซื้อแคร์เซ็ต จ.ลำพูน ตั้งคณะทำงานรับมืองบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ย้ำงบโควิดเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องทำให้เห็นผลของคดีทันที
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.พบสื่อมวลชน ในหัวข้อ “การตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้าน – เงินสะสมท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาโควิด-19” โดยมี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. , นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน , นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการปราบปรามการทุจริต และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการป้องกันการทุจริต เข้าร่วมด้วย
นายวรวิทย์ กล่าวว่า วันนี้แผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ยังไม่เกิดขึ้น มีแต่วงเงินที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว จึงยังไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะยังไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทุจริต แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบทันทีที่โครงการต่างๆ ได้รับการอนุมัติ
นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด โดยเฉพาะการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หากมีการร้องเรียนหรือเป็นคดี ป.ป.ช.จะยกเป็นคดีเร่งด่วนที่ต้องตรวจสอบทันที เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ต้องตรวจสอบและเห็นผลของคดีทันที ขณะเดียวกันที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริต ได้หารือกันว่าจะมีการตั้งเว็บไซต์เฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.
“การใช้จ่ายเงินกู้ก้อนนี้ ป.ป.ช.จะถือเป็นเคสพิเศษที่ต้องมีการตรวจสอบและจัดการให้คดีเห็นผลทันที เพราะถือว่าเป็นแผนงานที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ขณะเดียวกันหากประชาชนพบความผิดปกติเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ขอให้รีบส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบทันที” นายวรวิทย์ กล่าว
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบเงินสะสมท้องถิ่นที่ถูกใช้ไปในการแก้ไขปัญหาโควิด ว่า ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช.รับไว้ตรวจสอบแล้วทั้งหมด 23 เรื่อง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 เรื่อง ภาคกลาง 10 เรื่อง อีสาน 7 เรื่อง และภาคใต้ 3 เรื่อง ในส่วนนี้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 1 เรื่อง คือเรื่องจัดซื้อแคร์เซ็ตที่ จ.ลำพูน ส่วนที่เหลือเข้าสู่ กระบวนการสอบในขั้นต้นทั้งหมดแล้ว
“ทั้ง 23 เรื่องที่ร้องเรียนมี หลากหลายประเภท ทั้งเรื่องซื้อของแพงเกินกว่าความเป็นจริง เรื่องติดตั้งอุโมงค์ฆ่าเชื้อ รวมถึงการซื้อยาเวชภัณฑ์ เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ จัดซื้อหน้ากากอนามัย ถุงยังชีพ ตลอดจนเรื่องเรียกรับเงิน ในส่วนนี้มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ที่ใหญ่ทั้งขนาดโครงการและตัวคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง” นายวรวิทย์ กล่าว
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ด้านการป้องกันการทุจริต
ด้านนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่า แม้ว่าเงินกู้จำนวน 4 แสนล้านบาทจะเป็นตัวเลขที่มหาศาล แต่ไม่ใช่สถานการณ์แรกที่ ป.ป.ช.ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้ เราเคยตรวจสอบทั้งโครงการมิยาซาว่า และโครงการไทยเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องอาศัยกลไกภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อว่าการตรวจสอบเงินกู้ครั้งนี้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ด้านการปราบปรามการทุจริต
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการปราบปรามการทุจริต กล่าวว่า วันนี้ ป.ป.ช.คงรับปากไม่ได้ว่าจะไม่ให้เกิดการทุจริตแม้แต่บาทเดียว แต่เรื่องนี้ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันตรวจสอบ ในส่วนของ ป.ป.ช.เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนก็จะเร่งรัดการตรวจสอบคดี เพื่อนำไปสู่การชี้มูลความผิดและลงโทษผู้กระทำความผิด ดังนั้นการชี้ช่องเบาะแสเป็นเรื่องสำคัญมาก ขอให้ทุกคนอย่าเพิกเฉยหากพบเห็นสิ่งที่ผิดปกติ
“ยกตัวอย่างกรณีแจกแคร์เซ็ตที่ จ.ลำพูน เมื่อประชาชนพบเห็น จนเกิดเรื่องร้องเรียนและปรากฏเป็นข่าว ป.ป.ช.ก็จะเข้าไปตรวจสอบทันที และทำงานได้อย่างรวดเร็วจนถึงวันนี้” นายนิวัติไชย กล่าว
นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน
ส่วน นายพิเชฐ พุ่มพันธ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน หลังจากสังคมยังมีความเห็นที่ แตกต่างกันระหว่างเจ้าของบัญชีทรัพย์สินที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยทั้งหมด พบว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเจ้าของบัญชีทรัพย์สินที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ขณะที่สื่อมวลชนและสังคมต้องการรู้รายละเอียดทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบทุจริต