Last updated: 1 ม.ค. 2563 | 3497 จำนวนผู้เข้าชม |
สรุปสถิติวันที่ 5 ของ 7 วันอันตราย รวมเกิดอุบัติเหตุ 2,529 ครั้ง ตาย 256 ราย บาดเจ็บ 2,588 คน ศปถ.ปรับแผนรองรับการเดินทางกลับ เข้มข้นจุดตรวจเส้นทางสายหลัก ดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง
เวลา 10.30 น. วันที่ 1 มกราคม 2563 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เกิดอุบัติเหตุ 542 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 567 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (27 - 31 ธ.ค.62) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,529 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 256 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,588 คน ประสานพื้นที่เข้มข้นจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก ทางเลี่ยง ทางลัด กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มข้นการเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ ป้องกันอุบัติเหตุง่วงหลับใน และกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วและไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมคุมเข้มความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง สภาพการจราจร และเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนวางแผนก่อนออกเดินทาง
นายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2563 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 542 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 567 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.29 ขับรถเร็ว ร้อยละ 29.52 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.97 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 63.10 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.82 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.42 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.49 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.96 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,043 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,072 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,030,105 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 236,341 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 65,105 ราย ไม่มีใบขับขี่ 55,230 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (18 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ระนอง ยโสธร และสกลนคร (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (21 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (27 - 31 ธ.ค.62) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,529 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 256 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,588 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (76 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (12 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (77 คน)
นายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
นายวีระ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่ คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเริ่มเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิลำเนา ทำให้เส้นทางสายหลักและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมีปริมาณรถหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานพื้นที่ปรับแผนการตั้งจุดตรวจและจุดบริการประชาชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้เกิดความคล่องตัว โดยให้เพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจเพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมผู้ขับขี่ เน้นการเฝ้าระวัง ตักเตือน พูดคุย ซักถาม หากเห็นว่าผู้ขับขี่มีสภาพอ่อนล้าควรแนะนำให้หยุดพักให้ร่างกายพร้อมสำหรับเดินทาง เพื่อป้องกันการหลับใน นอกจากนี้ ให้คุมเข้มความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ กวดขันการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดและการใช้ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของพนักงานขับรถก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงกำชับให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนจัดเตรียมรถโดยสารให้เพียงพอรองรับการเดินทางกลับของประชาชน ทั้งนี้ บางพื้นที่ยังคงมีการจัดงานรื่นเริง จึงขอให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงใช้กลไกด่านชุมชนและด่านครอบครัว เพื่อป้องปราม ตักเตือนผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า วันนี้คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และเส้นทางตรงระยะทางยาว ที่ผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน นอกจากนี้ ศปถ. ได้กำชับให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่อประชาชนตลอดเส้นทาง โดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ตลอดจนเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบสื่อสารแจ้งเหตุ ทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย อุปกรณ์เครื่องมือ ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.ได้ประสานให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้ขับขี่เตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง ทั้งยานพาหนะ สภาพร่างกาย สภาพการจราจรและเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนวางแผนก่อนออกเดินทาง ทั้งนี้ ขอฝากเตือนประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สร้างความปลอดภัยบนเส้นทางสายต่างๆ พร้อมยึดหลัก “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ และใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อให้การเริ่มต้นปีใหม่ 2563 เป็นไปด้วยความสุขและความปลอดภัย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ