Last updated: 25 พ.ย. 2562 | 3604 จำนวนผู้เข้าชม |
อย. ร่วมกับ ตำรวจกองกำกับการ 4 บก.ปคบ. จับกุมขยายผลเยลลี่ผสมกัญชาตามที่เป็นข่าว รุดตรวจค้น 2 จุด ที่จังหวัดเชียงใหม่ พบของกลางลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งเยลลี่ผสมกัญชา น้ำมัน CBD ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ผสมสาร CBD มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ย้ำขณะนี้ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์เท่านั้น และอีกกรณี รวบแม่ค้าออนไลน์ขายยาชุดลดความอ้วน 2 จุด ที่จังหวัดราชบุรี ขยายผลจากคดีเก่าที่เคยจับกุมจากการตรวจพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พร้อมยึดของกลางจำนวนมาก
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำทีมโดย พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ สว.กก.4 บก.ปคบ., พ.ต.ท.พชร แสนชัยสกุลกิจ สว.กก.4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีผลิตภัณฑ์เยลลี่ผสมกัญชาที่กำลังตกเป็นข่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 178/712 หมู่ 7 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พบเยลลี่ผสมกัญชาและบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง จึงขยายผลไปยังบ้านเลขที่ 399/72 หมู่บ้านปาจารีย์ หมู่ 1 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พบของกลางเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุเสพติดผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น
รวมของกลางทั้งสิ้นกว่า 1,500 ชิ้น มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท จึงได้ยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เบื้องต้นได้แจ้งข้อหานำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายและผู้ครอบครอง จะมีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดฐาน เสนอขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ห้ามขายตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 มีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เน้นย้ำว่า ปัจจุบันในประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนผสมของกัญชา ไม่ว่าจะเป็น ยา อาหารหรือเครื่องสำอาง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง หรือส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่สามารถซื้อขายผ่านทางออนไลน์ได้ หากพบการนำเข้าไม่ว่าจะนำเข้ามาด้วยตนเอง หรือสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ จะมีโทษดังกล่าวข้างต้น
สำหรับมาตรการในการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา กรณีการสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์ ซึ่งสินค้ามักผ่านเข้ามาที่ไปรษณีย์ สนามบิน หรือการที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามาในประเทศ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากรหรือด่านอาหารและยาก่อน กรณีการจับกุมครั้งนี้พบว่า เป็นการลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้สำแดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องสอบสวนต่อไปว่านำเข้ามาจากทางใด โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกยึดจะส่งให้กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ตรวจวิเคราะห์หาสาร THC CBD เพื่อยืนยันอีกครั้ง จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าสั่งซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาในประเทศไทยโดยเด็ดขาดเพราะถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถอ่านรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนประกอบของกัญชาบนฉลาก เช่น THC CBD Cannabis
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อีกกรณีเป็นการขยายผลจับกุมการขายยาชุดลดความอ้วนทางออนไลน์ที่จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 จุด ดังนี้ จุดแรก เข้าตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 106 หมู่ 6 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเคยตรวจพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี แต่ผู้กระทำความผิดยังท้าทายกฎหมายลักลอบจำหน่ายยาชุดลดความอ้วน เจ้าหน้าที่จึงได้ขยายผลเข้าจับกุมในครั้งนี้ พบการจำหน่ายยาชุดเป็นจำนวนมาก และพบยาชุดแบบเดียวกับที่เคยจับกุมและตรวจพบไซบูทรามีนอีกด้วย ยาชุดดังกล่าวเป็นการนำยามาบรรจุซองจำนวน 2 ชุด ๆ ละ 2 ซอง แต่ละชุดประกอบด้วยแผนปัจจุบันหลายชนิด
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้พบกล่องพัสดุภายในบรรจุซองพลาสติกบรรจุยาแคปซูลสีเขียว-ชมพู พร้อมส่ง จำนวน 986 แคปซูล และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเบื้องต้นพบการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและมีการโฆษณาลดอ้วน 10 วัน ลงแน่ 5 กิโล และต้องสงสัยว่าจะปลอมปนยาแผนปัจจุบัน กว่า 4,800 กล่อง เจ้าหน้าที่จึงยึดเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
จุดที่ 2 สืบเนื่องจากการจับกุมที่จังหวัดระยองซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ได้สืบทราบว่า มีการจำหน่ายยาชุดลดความอ้วนที่จังหวัดราชบุรี จึงได้ขยายผลเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 127 หมู่ 5 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พบยาชุดลดความอ้วนและพบยาแผนปัจจุบันหลายรายการ ซองซิปพลาสติกสำหรับบรรจุยา และ กล่องบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Slim plus ไม่มีเลขสารบบอาหาร ไม่ระบุสถานที่ผลิต จำนวน 900 กล่อง
พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ.
รวมทั้งกล่องพัสดุและซองพัสดุมีการจ่าหน้าซองพร้อมส่งทางไปรษณีย์ โดยผู้กระทำความผิดให้ข้อมูลว่า จะมีการนำยาชุดลดความอ้วนใส่ในกล่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Slim plus เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดของกลาง ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
โดยทั้ง 2 จุด เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา
ทั้งนี้หากตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท–2,000,000 บาท หากเป็นผู้ขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท–2,000,000 บาท รวมถึงการครอบครองหรือบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิด มีโทษจำคุกหรือปรับด้วย
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีและพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ หากลักลอบจำหน่ายยาชุดลดความอ้วน อย. และ บก.ปคบ จะดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายขั้นเด็ดขาด หากตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 จะมีบทลงโทษสูงมาก และขอเตือนผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก อย่าได้คิดที่จะซื้อยาลดความอ้วนหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณลดความอ้วนมากินเด็ดขาด ขอให้ระลึกเสมอว่า ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดสรรพคุณในการลดความอ้วนเหล่านี้ที่ขายผ่านทางสื่อออนไลน์ ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบจะเป็นยาปลอมหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ และไม่มีผลวิจัยรับรองสรรพคุณจากการใช้ยาตามหลักการแพทย์ที่ถูกต้อง ผู้ที่ได้รับยาปลอมดังกล่าวเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต หากบริโภคเกินขนาดหรือมีโรคประจำตัวแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับไซบูทรามีนจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต หลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
ซึ่งผลข้างเคียงจะพบตั้งแต่ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และ อาจถึงแก่ชีวิตได้ ตามที่มีข่าวจากผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้น ก่อนใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง พร้อมทั้งขอปรามผู้ขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือร้านขายยาต่าง ๆ อย่าได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพราะอาจเกิดผลร้ายต่อผู้บริโภค หาก อย. ตรวจพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด