Last updated: 18 พ.ย. 2562 | 3635 จำนวนผู้เข้าชม |
เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำชัด 2 ทศวรรษ ป.ป.ช. พร้อมเดินหน้า มุ่งมั่น สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้ค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ” และให้คำมั่นคดีสำคัญจะแล้วเสร็จในปี 2563 อย่างน้อย 15 คดี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. มีความมุ่งมั่นในการปราบปรามการทุจริตควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่คนในประเทศชาติ เพื่อสร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องนนทบุรี 2 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวในวาระครบรอบ 20 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. “2 ทศวรรษ ป.ป.ช. ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล” กับความมุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต”
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าสาเหตุสำคัญในการทุจริตของสังคมไทย ประกอบด้วย
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้างในเรื่องของการทุจริตนับแต่ก่อตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุค ดังนี้
ยุคที่ 1 ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สำนักงาน ป.ป.ช. ก่อตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 กฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ในแง่กฎหมายถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญของการป้องกันการปราบปรามการทุจริต เพราะกำหนดให้มีองค์กรอิสระหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย โดยมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงมีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งเมื่อมีพฤติการณ์ส่อว่าจะกระทำการทุจริตฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย ในด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัย คดีสำคัญเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินจำนวนมาก
การทุจริตในยุคนี้เป็นการทุจริตทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในยุคที่ 1 นี้ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจำคุกนักการเมืองระดับรัฐมนตรีได้หลายราย เมื่อเทียบกับการดำเนินการสอบสวนในระบบเดิมโดยใช้พนักงานสอบสวน เช่น นายรักเกียรติ นายวัฒนา อัศวเหม (หนี) แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องปริมาณงานคดีทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการมีจำนวนมาก ตลอดจนการทำให้คดีใหญ่ๆ ต้องใช้ระยะเวลา
ยุคที่ 2 ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้มีการแก้ไขปัญหาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับอำนวยการต้นขึ้นไป โดยระดับต่ำกว่าให้สำนักงาน ป.ป.ท.ดำเนินการแทน ในด้านการตรวจสอบทรัพย์สินให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น คือมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเท็จแทนศาลรัฐธรรมนูญ
ลักษณะของการทุจริตในช่วงนี้เป็นการทุจริตในเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตในยุคนี้จึงจับได้ยากนอกจากนั้นยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากคดีทุจริตมีจำนวนมากระบบการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ระบบไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะหรืออนุกรรมการไต่สวน ซึ่งมีกรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งคนไปทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการการขับเคลื่อนงานปราบปรามการทุจริต จึงทำให้ยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร สำหรับการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตในช่วงนี้มีคดีสำคัญที่ดำเนินการสำเร็จ คือ คดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น
ยุคที่ 3 ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 234 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีมาตรการในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม โดยอาจมอบหมายคดีที่เป็นความผิดที่มิใช่ความผิดร้ายแรงหรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรดำเนินการแทนได้ นอกจากนั้น ยังกำหนดระยะเวลาการทำงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขยายระยะเวลาได้ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 3 ปี ยกเว้นความผิดที่ต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศหรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศจะขยายระยะเวลาออกไปเท่าที่จำเป็นก็ได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา สำหรับรูปแบบของการทุจริตเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
จากสถิติผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2562 ด้านปราบปรามการทุจริต พบว่าจำนวนเรื่องกล่าวหาคงเหลือสะสม ณ วันสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) เพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของจำนวนเรื่องกล่าวหาคงค้างตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2562 แล้วพบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. กลับมีแนวโน้มของจำนวนเรื่องกล่าวหาคงค้างลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นร้อยละ 85.24, 81.62, 81.22 และ 75.55 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เป็นอย่างดี สำหรับการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตในช่วงนี้มีคดีีสำคัญ เช่น เงินทอนวัด โครงการก่อสร้างโรงพัก ก่อสร้างสนามฟุตซอล จัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์ บ้านเอื้ออาทร Motif of Light เงินบริจาคจากผู้ปกครองโรงเรียนสามเสน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม เป็นต้น
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คำมั่นว่าในปี พ.ศ. 2563 จะดำเนินการไต่สวนคดีเหล่านี้ให้แล้วเสร็จ ได้แก่
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า งานสำคัญที่เป็นเรื่องท้าทายการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในลำดับต่อไป ได้แก่
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของสำนักงาน ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกระดับพร้อมเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ภายใต้ค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ” ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การพิจารณาวินิจฉัยคดีทุกอย่างต้องมีพยานหลักฐานและจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ ตามความมุ่งหวังของประชาชน เพื่อขจัดทุจริตให้หมดจากสังคมไทย
ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนต้องตระหนักว่าท่านคือคนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจากการแก้ไขปัญหาการทุจริตจะสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ทั้งด้านการป้องกันและปราบปรามอย่างสมดุล ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการประสานความร่วมมืออย่างบูรณาการ ดังนั้น หากประชานพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โปรดแจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. หรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ