Last updated: 9 ต.ค. 2562 | 3438 จำนวนผู้เข้าชม |
“วิทยุ” เป็นอีกสื่อในกลุ่ม Traditional Media ที่ต้องดิ้นรนปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องในยุคออนไลน์เฟื่องฟู และพฤติกรรมคนเสพสื่อและคอนเทนท์เปลี่ยนไปจากเดิม
จากรายงานสภาพตลาดกิจการวิทยุล่าสุดของ สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ระบุผู้ฟังวิทยุคลื่นหลักระบบเอฟ.เอ็ม. 40 สถานี (87.5-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง เช่น เครื่องรับฟังวิทยุ โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มประชากรไทยอายุ 12 ปีขึ้นไป ฟังวิทยุประมาณ 10.5 ล้านคน
พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ พบว่าผู้คนส่วนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน สัดส่วน 52.16% ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุในรถยนต์ 36.17%, ฟังในที่ทำงาน 11.07% และอื่นๆ 0.6% ส่วนใหญ่นิยมฟังวิทยุผ่านเครื่องรับวิทยุ 73.12% ตามด้วยโทรศัพท์มือถือ 25.83% และคอมพิวเตอร์ 1.05%
แม้จะมีฐานผู้ฟังวิทยุกว่า 10 ล้านคน แต่หากเปรียบเทียบกับสื่อออนไลน์และโซเชียลเดียปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานระดับ 40-50 ล้านบัญชี อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเสพคอนเทนท์ได้หลายหลายทั้งดูหนัง ฟังเพลง ตลอดระยะเวลาการเติบโตของสื่อออนไลน์และโซเซียลมีเดีย เป็นจังหวะที่สื่อ “ดั้งเดิม” ต้องปรับตัว
ไม่เพียงสื่อสิ่งพิมพ์ ที่จะเห็นการปิดตัวของหัว “นิตยสารและหนังสือพิมพ์” ทุกปี ยังเห็นการ เปลี่ยนคลื่นและปิดช่อง ของคลื่นวิทยุบนหน้าปัด “เอฟ.เอ็ม.” ที่มีอยู่ 36 คลื่นมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
หากโฟกัสเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อวิทยุคลื่นหลักระบบเอฟ.เอ็ม. ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี คลื่นเอฟ.เอ็ม. 88.0-91.5, 93.0-103.5 และ 104.5-107.0 MHz
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล นีลเส็น พบว่าเม็ดเงินลดลงต่อเนื่อง โดยมูลค่าสูงสุดอยู่ในปี 2553 มูลค่า 6,114 ล้านบาท ติดลบ 0.88%, ปี 2554 มูลค่า 5,928 ล้านบาท ติดลบ 3.07%, ปี 2555 มูลค่า 6,349 ล้านบาท เติบโต 7.28%, ปี 2556 มูลค่า 6,321 ล้านบาท ติดลบ 0.58%
ปี 2557 มูลค่า 5,625 ล้านบาท ติดลบ 11%, ปี 2558 มูลค่า 5,675 ล้านบาท เติบโต 1.16%, ปี 2559 มูลค่า 5,252 ล้านบาท ติดลบ 7.28%, ปี 2560 มูลค่า 4,476 ล้านบาท ติดลบ 14.95%
ทั้งนี้ MAAT คาดการณ์ ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท เติบโต 3% และ ปี 2562 มูลค่า 4,600 ล้านบาท ทรงตัว
แม้ปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาสื่อวิทยุเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ติดลบ 15% และคาดว่าอยู่ในภาวะทรงตัวในปีนี้ แต่หากพิจารณาจากปี 2553 ที่ถือเป็นปีที่ดีที่สุดของโฆษณาวิทยุ มูลค่าโฆษณาอยู่ที่ 6,114 ล้านบาทถึงปีก่อนอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท ก็ต้องบอกว่าเม็ดเงินโฆษณาวิทยุในช่วงเกือบ 10 ปีนี้ ถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนยุคอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียล “บูม” วิทยุถือเป็นสื่อฮิตของคนกรุง หน้าปัดคลื่นเอฟ.เอ็ม.ของหน่วยงานรัฐต่างๆ เรียกว่ามีการแข่งขันประมูลชิงสัมปทานเช่าคลื่นฯ กันดุเดือด หากย้อนไป 10 ปีก่อน ก็ต้องบอกว่าค่าสัมปทานต่อเดือนต่อคลื่นอยู่ที่หลัก 5-6 ล้านบาทต่อเดือน ก่อนอัตราค่าเช่าสัมปทานคลื่นจะลดลงมาอยู่ที่หลัก 1 ล้านบาทต่อเดือน และลดลงต่อเนื่องในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การเกิดขึ้นของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปี 2554 ซึ่งตามแผนแม่บทจัดสรรคลื่นฯ กำหนดให้ต้องมีการประมูลคลื่นวิทยุเอฟ.เอ็ม. (อนาล็อก) ในรูปแบบเดียวกับทีวีดิจิทัล โดยหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นวิทยุ ไม่สามารถทำสัญญาระยะยาวกับเอกเชนเช่าคลื่นวิทยุได้อีกต่อไป ส่วนใหญ่เป็นสัญญา 1-2 ปีเท่านั้น เพื่อเตรียมคืนคลื่นวิทยุให้ กสทช.นำกลับไปประมูล
เป็นจังหวะเดียวกับการเริ่มเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคนี้ และสื่อวิทยุเอฟ.เอ็ม. มีบทบาทลดลง แม้อัตราค่าสัมปทานจะลดลงแล้ว แต่เมื่อเทียบกับการหารายได้จากโฆษณาที่ลดลงเช่นกัน รายได้จากสื่อวิทยุจึง “ไม่คุ้มทุน” สำหรับผู้ประกอบการวิทยุในยุคนี้
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการสื่อรายใหญ่ที่มีวิทยุในมือหลายคลื่นฯ ต่างทยอยคืนคลื่นเอฟ.เอ็ม. ไม่ต่อสัญญาสัมปทานในทุกสิ้นปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 GET 102.5 FM แจ้งสถานีปิดสถานี
คลื่นเพลงสากลของคนกรุงเทพฯ ที่ออกอากาศทางวิทยุมากว่า 17 ปี จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ ผู้บริโภคสื่อวิทยุน้อยลง และส่งผลกระทบให้รายได้ลดลง
สำหรับคลื่น GET 102.5 FM บริหารโดย บริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด โดยมีนายชเยนทร์ คำนวณ เป็นเจ้าของ ซึ่งก่อนหน้านี้ อินดิเพ็นเดนท์ ได้ประกาศปิดนิตยสาร “เปรียว” อายุ 35 ปี ในปี 2559
ช่วงปี 2557 อินดิเพ็นเดนท์ มีสัมปทานวิทยุในมือ 4 คลื่นหลัก คือ 98.5 Click FM, Get 102.5, FM One 103.5, Love Radio 104.5 ในปี 2559 นอกจากปิดนิตยสารเปรียวแล้ว อินดิเพ็นเดนท์ ได้ยกเลิกคลื่นวิทยุ 98.5 Click FM ต่อมาปี 2560 คืนคลื่นฯ 104.5 ล่าสุดต้นปีนี้ คืนคลื่น Get 102.5 คงเหลือคลื่นเดียวในขณะนี้ คือ FM One 103.5
“เอไทม์ มีเดีย” ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นอีกผู้ประกอบการที่ช่วง 10 ปีก่อนถือครองคลื่นวิทยุในมือไว้ถึง 4 คลื่น แต่ละคลื่นจับกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เอฟเอ็ม 91.5 ฮอตเวฟ สำหรับวัยรุ่น, เอฟเอ็ม 89 บานาน่า (ต่อมาเปลี่ยนเป็น 89 ชิลล์เอฟเอ็ม) เจาะกลุ่มคนทำงาน , เอฟเอ็ม 94 อี เอฟเอ็ม วัยรุ่นและคนทำงาน และเอฟเอ็ม 106.5 กรีนเวฟ เจาะกลุ่มคนทำงานผู้ใหญ่
ในยุคอินเทอร์เน็ตบูม เอไทม์ เริ่มก้าวเข้าสู่ Social Media Platform อย่าง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ไอจี เพื่อเป็นอีกช่องทางการสื่อสารกับผู้ฟังเช่นกัน รวมทั้งพัฒนาแอพ AtimeOnline เพื่อเข้าถึงผู้ฟังผ่านสมาร์ทโฟน
แม้จะเป็นค่ายบันเทิงรายใหญ่ แต่ในธุรกิจสื่อวิทยุบนหน้าปัดเอฟเอ็ม เอไทม์ ก็ต้องเผชิญกับภาวะภาพรวมธุรกิจถดถอยไม่ต่างจากผู้ประกอบการค่ายอื่นๆ โดยในปี 2560 เอไทม์ ได้คืนคลื่นวิทยุ 2 คลื่นฯ คือ เอฟเอ็ม 89 ชิลล์เอฟเอ็ม และ 94 อีเอฟเอ็ม
โดยเหลือคลื่นวิทยุบนหน้าปัดเอฟ.เอ็ม.เพียง 2 คลื่น คือ กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม และ อีเอฟเอ็มจาก 94 มาเป็นเอฟเอ็ม 104.5 และเปลี่ยนคลื่นชิลล์ เอฟเอ็ม มาเป็น ชิลล์ ออนไลน์ (ไม่มีคลื่นบนหน้าปัด) เป็นการก้าวสู่ยุคออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยทุกคลื่นฯ สามารถฟังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และแอพ
เช่นเดียวกับ “อาร์เอส” ที่เคยบริหารวิทยุในมือสูงสุด 3 คลื่น ได้ทยอยคืนคลื่น เหลือเพียง คลื่น เอฟเอ็ม 93 COOLfahrenheit เพียงคลื่นเดียว และก้าวสู่สถานีวิทยุเพลงดิจิทัล ออนไลน์และออนแอร์
ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาต้องถือว่า “วิทยุ” คลื่นเอฟ.เอ็ม.บนหน้าปัดมีการทยอยคืนคลื่นกันมาต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ประกอบการทุกราย และพากันก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งไม่มีข้อจำกันในการรับฟังเหมือนเอฟ.เอ็ม. ที่รับฟังได้เฉพาะพื้นที่ แต่วิทยุออนไลน์เปิดฟังได้ทั่วประเทศและทั่วโลกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และการก้าวสู่ยุค 5G ของประเทศ
หลังจากนี้ยังคงเห็น “สื่อวิทยุ” คืนคลื่นกันต่อเนื่อง ไม่ต่างกันสื่อสิ่งพิมพ์ลาแผง และเดินหน้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มตัว!