Last updated: 7 ส.ค. 2562 | 1704 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย เป็นเงิน จำนวน 1,728 ล้านบาท
วันที่ 6 สิงหาคม 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่ามีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวกว่าอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 129/2556 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 615/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวน จากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน (ต่อมาภายหลังนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน รวมทั้งการพิจารณา)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างไม่เกิดปัญหา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับ ดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติ อนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน และตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีงบประมาณ (2552 - 2554) จากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 203/2552 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดจ้างและการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพลตำรวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เห็นควรดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลาง และแยกเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1–9) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้เสนอแนวทางการจัดจ้างดังกล่าวต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วมีบันทึกลงวันที่ 9 มิถุนายน 2552 เห็นชอบและให้ดำเนินการตามที่เสนอ
ปรากฏว่าต่อมาพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณรองนายกรัฐมนตรี ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุงเป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเสียก่อน จึงเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอำนาจ และโดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงิน 6,298,000,000 บาท ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวแบบรูปรายการละเอียดกำหนดขนาดความยาวเสาเข็มตอกซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่มีนัยสำคัญต่อคดีนี้ไว้ที่ความยาว 21 เมตร ต่อต้น ผู้เสนอราคาจะต้องยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการละเอียดดังกล่าว และเมื่อสิ้นสุดการประกวดราคา ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ปรากฏว่าบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำที่สุด เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท และได้จัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา โดยในส่วนของเสาเข็มตอกขนาดความยาว 21 เมตร นั้น บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ระบุราคา จำนวน 2,520 บาท ต่อต้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตามท้องตลาดโดยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ราคาต้นละ8,151.15 บาท และต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำหนดไว้ต้นละ 6,360 บาท ซึ่งการระบุราคาเสาเข็มตอกให้ต่ำกว่าราคา ตามท้องตลาดและราคากลางดังกล่าว โดยมีเจตนาจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบได้น้อยหรือต่ำกว่าราคาที่แท้จริงและตนได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว จึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่น ซึ่งต้องเสนอราคาตามความเป็นจริง ทำให้การเสนอราคาไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เมื่อพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ ประธานกรรมการประกวดราคา ได้รับบัญชีปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ดังกล่าวไว้แล้วกลับละเว้น ไม่แจ้งให้คณะกรรมการประกวดราคารายอื่นทราบและนัดประชุมเพื่อพิจารณาว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่เพียงใด แต่ได้จัดส่งให้พันตำรวจโท สุริยา แจ้งสุวรรณ์ กรรมการและเลขานุการ นำไปใช้ประกอบในการทำสัญญาจ้างบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ตามสัญญาจ้างลงวันที่ 25 มีนาคม 2554 จนเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายหักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการได้เงินน้อยกว่าราคาที่แท้จริง เป็นเงินจำนวน 33,360,778 บาท และต่อมาก็ปรากฏว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างไปอีกจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 1,728,629,606 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา) ดังนี้
1.) การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.) การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา
2.1) การกระทำของพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโท สุริยา
แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.2) การกระทำของพันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอก สุทธี โสตถิทัต
พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอก ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอก ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)
3.) บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว
4.) สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์
ดามาพงศ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโท สุพร พันธุ์เสือ
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
หมายเหตุ : การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด (อ่านต้นฉบับ)