Last updated: 13 ธ.ค. 2561 | 3055 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันชาติ และวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งวงการอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันดินโลกอีกด้วย เพื่อแสดงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณด้านการอนุรักษ์และพัฒนาดิน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการระดับประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงระดับสากลด้วย โดยสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินสหประชาชาติ ได้ถวายเหรียญด้านวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม เพื่อสดุดีและเทิดพระเกียรติพระองค์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น วันดินโลกนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของดินให้ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของมนุษย์ ที่เชื่อมโยงกับพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ป่า น้ำ รวมทั้งความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากดินเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามหน้าที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังบรรเทาช่วยความสูญเสียทางชีวิตภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
นอกจากนี้ วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งถือเป็นหน้าที่ทุกคน ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น โดยมีพระราชดำรัสเตือนคนไทยให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ใจความตอนหนึ่งว่า เมืองไทยนี้ อีกหน่อยจะแห้งไม่มีน้ำเหลือจนต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นไปได้ต้องบริหารให้ดี น้ำสำหรับบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม น้ำสะอาด น้ำที่มีคุณภาพดี ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังถือว่าวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เป็นการรวมพลังด้วยประชาอาสาเพื่อจะสร้างคุณความดีพิทักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชาติ
ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณบรรดาห้างสรรพสินค้ารวมถึงร้านสะดวกซื้อ ที่พร้อมใจกันงดให้บริการถุงพลาสติกในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เพื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟมในชีวิตประจำวันลงให้มากที่สุด ภายใต้แนวคิด ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ถุง ไม่หลอด พกแก้วน้ำ ช้อน ส้อม ขวดน้ำส่วนตัว พร้อมถุงผ้า ตระกร้า ปิ่นโต หรือกล่องใส่อาหาร สำหรับถุงผ้านั้น ในกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรและพลังงานด้วยเช่นกัน จึงแนะนำให้ใช้งานซ้ำมากกว่า 130 ครั้ง จึงจะถือว่าคุ้มค่า หากใครมีเยอะ แนะนำให้แบ่งปันกัน เพื่อชักชวนให้คนรอบข้างปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง ต่อการลดใช้พลาสติก รวมถึงให้ความสำคัญคัดแยกขยะก่อนทิ้งด้วย จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันได้อย่างจริงจัง
ปัจจุบัน เขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศมีนโยบายห้ามไม่ให้นำบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว และขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวดเข้าไปในพื้นที่อุทยานแล้ว ขอความร่วมมือทุกคนมา ณ โอกาสนี้ด้วย
พี่น้องที่รักทุกท่าน วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน ไบค์ อุ่นไอรัก ขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีประชาชนลงทะเบียนร่วมกิจกรรมแล้วมากกว่า 640,000 ราย โดยวันที่ 1-2 ธันวาคมนี้ จะมีกิจกรรมรับซื้อพระราชทาน ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งการซ้อมใหญ่เส้นทางปั่นจริง ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม จึงขอเชิญชวนพี่้น้องประชาชนใช้รถสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเข้าในพื้นที่จัดงาน กิจกรรม และหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยาน ในวันที่มีกิจกรรมดังกล่าว โดยขอให้ติดตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับจุดจอดรถของผู้ร่วมกิจกรรม การใช้รถชัทเทิลบัสรับส่ง ช่องทางการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ตลอดจนเส้นทางเลี่ยง และสะดวกเดินทาง หากเป็นไปได้ขอให้วันนั้นเป็นวันปลอดรถ
ทั้งนี้ วันสำคัญต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพวกเราตลอดมา และแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงฐานรากทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ แม้จะมีความคิด ความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่เราชาวไทยจะยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของชาติบ้านเมือง เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยตลอดไป
สำหรับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 จะเป็นอีกวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยและของโลก เนื่องด้วยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ รับรองอย่างเป็นทางการให้การแสดงโขนของประเทศไทย ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูง เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริมการแสดงโขนทุกมิติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานคงความเป็นมรดกของชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดสร้างเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับโขนชุดใหม่ พัฒนาการแต่งหน้าให้งดงาม ดึงดูดความสนใจ พัฒนาเทคนิคการแสดง ศาสตร์เวที แสง สี เสียง อันเป็นที่มาของโขนพระราชทานที่มีเอกลัษณ์โดดเด่นเป็นต้น จึงทำให้โขนไทยยิ่งใหญ่อลังการ ตื่นตา สร้างความประทับใจแก่ชาวไทยและต่างประเทศ อีกทั้งอัตลักษณ์ไทยในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
จากข่าวดีส่งท้ายปีดังกล่าว รัฐบาลมีแผนงานจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองโขน ตลอดปี 2561- 2562 อาทิ 1.จัดแสดงโขนรอบพิเศษ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ และงานมหกรรมการแสดงโขน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
การจัดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ การเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสาธิตงานช่างฝีมือโขน สาธิตการแสดงโขน การเสวนาความรู้คุณค่าของโขน จัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับโขนฉบับเยาวชน สารคดีโขน และคลังข้อมูลโขนในรูปแบบดิจิตัล เป็นต้น
รวมทั้งการจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคล องค์กร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน อีกด้วย โดยรายละเอียดต่างๆ ขอให้ติดตามได้ทางช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆต่อไป
พี่น้องประชาชนที่รัก นอกจากพลังของชาวไทยในการแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของประเทศแล้ว ภารกิจการเยือนต่างประเทศของผม ในฐานะตัวแทนของคนไทยทุกคน ก็จะช่วยเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก การรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน
อีกทั้ง ยังนำพามิตรไมตรี และเจตนารมณ์ที่ดีของชาวไทยไปสู่มิตรประเทศทั่วโลกอีกด้วย ทุกครั้งที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างแดน ผมจึงระลึกถึงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ ในฐานะที่ไทยเรา ก็เป็นชาติเอกราช มีเกียีติภูมิ และความเป็นไทย ที่เราทุกคนภาคภูมิใจ
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมโอก่าสเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ณ ต่างประเทศอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการไปเยือนประเทศเยอรมนี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของผมในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยจุดประสงค์สำคัญของการเดินทางครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ หลังจากที่ยุโรปได้เปิดประตูความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้ง และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0
เนื่องจากประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า และเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ในระหว่างการหารือกันนั้น ผมได้พูดกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี โดยจะร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น เป็น 15,000 ล้านยูโร ภายในปี 2563 ส่งเสริมการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ
อีกทั้ง เรียนรู้แนวทางและประสบการณ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 11 สาขาของไทย
นอกจากนี้ ผมยังขอให้เยอรมนีสนับสนุนการกลับมาหารือกันในเรื่องเขตการค้าเสรีไทย-อียู และอาเซียน - อียู ซึ่งทั้งสองฝ่ายยืนยันในการสนับสนุนแนวทางในการดำเนินการค้าเสรี และได้มีการหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับความท้าทายระหว่างประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะ ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
นอกจากนี้ ผมได้ขอให้เยอรมนีช่วยสนับสนุนการปลดใบเหลืองของ IUU ในกรณี IUU รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒาทางเทคโนโลยีการอาชีวะศึกษา และการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี รวมทั้งสตาร์ทอัปของไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเราให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และได้หยิบยกข้อเสนอของภาคเอกชนไทยเข้ามาพูดคุยด้วย
และผมได้เชิญนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล เดินทางเยือนประเทศไทย ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และเชิญให้เยอรมนีเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาของความร่วมมือทางต่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ด้วย
อีกงานหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ งานสนับสนุนการพัฒนาการค้าการลงทุนในไทย ที่มีการเข้าร่วมจากภาครัฐและเอกชนของเยอรมนีกว่า 180 คน ผมได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนักธุรกิจชาวเยอรมัน และได้เชิญชวนให้บริษัทระบบรางและบริษัทยานยนต์แห่งอนาคตของเยอรมนี ที่มีความสนใจหรือมีธุรกิจในไทยอยู่แล้ว ได้มีการพิจารณาขยายการลงทุนในอีอีซี เพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ ผมยังได้มีโอกาสศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิจัยประยุกต์เฟราน์โฮเฟอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อจะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ และได้เห็นแนวทางการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ที่เป็นปัจจัยในการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเยอรมนี ประสบผลสำเร็จ
อีกทั้ง ยังได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับสถาบันเฟราน์โฮเฟอร์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและร่วมกันพัฒนาในสาขาต่างๆ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
ผมขอขอบคุณพี่น้องชุมชนไทยในเยอรมนีกันทุกคนที่ให้การต้อนรับแก่ผมและคณะอย่างอบอุ่น ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความรักและห่วงใย บ้านเกิดเมืองนอนของคนไทยในต่างแดน ที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย
สำหรับการเดินทางเยือนประเทศต่างๆอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของผู้นำประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น ที่ผ่านมา รวมทั้งเยอรมนีในครั้งนี้ อีกทั้ง การเข้าร่วมประชุมในครั้งสำคัญๆ ในเวทีระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับและความเชื่อมั่นทางการเมืองจากประเทศชั้นนำต่างๆ ต่อศักยภาพและบทบาทของไทยในเวทีโลก
ซึ่งการสอบผ่านผลพิสูจน์เหล่านี้ ย่อมจะนำพาไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือที่นำพาประเทศของเราเปิดโลกวิสัยทัศน์มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้ในที่สุด
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ จากการติดตามแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ผมขอเล่าความคืบหน้าให้พี่น้องประชาชนได้ฟัง
1.แนวทางส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ อาทิ โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐปี 2561 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้กระทรวงต่างๆและกรุงเทพมหานคร ได้สำรวจความต้องการและพิจารณาปรับแผนงานโครงการเพื่อให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างจากยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร ทางเท้า สนามเด็กเล่น ถนนงานยางพารา แอสฟัลท์ติกคอนกรีต และถนนงานซีเมนต์ผสมยางพารา เป็นต้น โดยได้ประสานแจ้งความต้องการใช้ยางพาราต่างๆ ต่อการยางแห่งประเทศไทย เพื่อจะนำยางพาราภายใต้โครงการรักษาเสถียรภาพราคา ที่มีต้นทุนการเก็บรักษาใช้งบประมาณภาครัฐปีละ 120 ล้านบาท มาผลิตตามโครงการต่างๆที่เสนอ อาทิ เบื้องต้นทราบความต้องการใช้เครื่องนอนยางพารารวม 450,000 ชุด ซึ่งจะใช้น้ำยางสดประมาณ 13,000 ตัน
สำหรับหลักการที่จะสนับสนุนนั้นในช่วงที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทยได้จัดทำรายละเอียดและระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวกับโครงการทำถนนยางพารา อาทิ ส่วนผสมยางพาราที่ใช้สำหรับทำถนน รูปแบบ ประมาณการ โครงสร้างถนน และราคากลาง โดยพร้อมสำหรับดำเนินการในช่วงต่อไปแล้ว
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จับมือกับกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เดินหน้าสร้างถนนยางพาราในกว่า 75,000 หมู่บ้าน และกว่า 7,200 ตำบล ทั่วประเทศ ซึ่งหลายจังหวัดก็ได้เริ่มลงมือแล้ว เช่น จ.หนองบัวลำภู และอุทัยธานี และอีกราว 40 จังหวัด ที่สนใจ เตรียมที่จะดำเนินการ
รวมถึงกรมชลประทานจะดำเนินโครงการสร้างถนนคันคลองชลประทานใน 53 จังหวัด ก็จะเป็นการลดสต็อกยางโดยอัตโนมัติ ซึ่งการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐนี้ จะใช้น้ำยางพาราไม่น้อยกว่า 960,000 ตัน ในอัตราการสร้างถนน 1 กิโลเมตร จะใช้น้ำยางพาราสด 12 ตัน และเมื่อมีความต้องการมากขึ้น ก็คาดว่าจะทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ นับว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากจะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นตามเป้าหมายและเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ซึ่งจะไม่ใช่การแทรกแซงราคายาง หรือการซื้อชี้นำตลาดที่ไม่ได้ทำให้ราคายางสูงขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากจะเสียเงินไปซื้อผลิตภัณฑ์ยางมาเก็บแล้ว ยังต้องมีค่ารักษาตามมาอีกด้วย และเมื่อราคายางปรับสูงขึ้นจะนำยางในสต็อกที่ซื้อมาเก็บ
ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนในอดีต พบว่ามีการใช้งบประมาณในลักษณะดังกล่าวในอดีต ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2542-2561 ทำให้รัฐเสียงบประมาณไปจำนวนมาก ราว 1.8 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
2. แนวทางการปลูกพืชทดแทน หรือแซมในสวนยาง เพื่อลดการผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันตลาดภายในประเทศและตลาดโลก มีความต้องการผลผลิตโกโก้มากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยเริ่มให้ความสนใจปลูกโกโก้กันมากขึ้น เพราะราคาซื้อขายค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่นๆ แต่ต้องมีการวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งก็เป็นแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรของรัฐบาลที่ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังฤดูการทำนา เป็นต้น
สำหรับแนวทางการดำเนินงานนี้ เพื่อสนับสนุนการปลูกโกโก้ทดแทนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปี หรือสวนยางที่ให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มต้นทุนการผลิต โดยให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ตามความเหมาะสม มาทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลด้านการตลาด พร้อมทั้งแนวโน้มความต้องการในอนาคต ศึกษาสภาพพื้นที่ในการเพาะปลูกโกโก้ ตามคุณภาพดินในภูมิภาคต่างๆ ที่เหมาะสม ประมาณการต้นทุนและความยากง่าย เปรียบเทียบกับความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในการเพาะปลูก การบำรุงรักษา ระหว่างการเพาะปลูก และการแปรรูปโกโก้ออกเป็นผลผลิตสู่ตลาดตามห่วงโซ่การผลิตโกโก้ ก่อนที่จะจัดทำแผนการผลิตโกโก้
ตัวอย่างความสำเร็จโกโก้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก พาราได (PARADAI) ช็อกโกแลตไทยคว้า 2 รางวัลระดับโลก ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ก่อนหน้านี้ก็ได้รับรางวัลในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี เช่นกัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่อยากให้แห่กันปลูก แต่ควรจะดำเนินการตามนโยบายตลาดนำการผลิตเสียตั้งแต่ต้น พื้นที่ใดที่ควรปลูก ปลูกแล้วสมบูรณ์ดี ให้ผลผลิตสูง น้ำท่าดี อากาศเหมาะสม โดยใช้ Agri Map ที่สำคัญต้องส่งเสริมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นทาง คือ แหล่งเพาะปลูก ที่ไม่มากจนทำให้ราคาตกในอนาคต กลางทาง คือ การศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ การแปรรูปเป็นช็อกโกแลต เครื่องดื่ม ไปจนถึงการออกแบบหีบห่อผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงความเป็นไทยของถิ่นกำเนิด อย่างเช่น สินค้าชุมชนที่มีเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ที่รัฐบาลนี้ให้การสนับสนุนในปัจจุบัน ส่วนปลายทาง ก็คือการตลาด ซึ่งก็ต้องมองหา รัฐบาลก็ต้องให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำผลิตภัณฑ์โอทอปของแต่ละท้องถิ่นทั่วไทยโฆษณาขายในแคตาล็อกของการบินไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าในโลกการค้าเสรีที่มีการแข่งขันสูง เราจำเป็นต้องมีรางวัลการันตี หรือมาตรฐานการผลิตที่เป็นสากลด้วย
นอกจากนี้ โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จากการสำรวจเกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวโพดหลังนา เดือนกันยายน และตุลาคมที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และสมาชิกลูกค้า ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้มากกว่า 100,000 ราย จำนวน 160,000 กว่าแปลง คิดเป็นพื้นที่ 1 ล้านกว่าไร่ ใน 33 จังหวัด โดย ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดไปแล้ว 15 วัน มาขึ้นทะเบียนในโครงการแล้ว 84,090 ราย จำนวนเกือบ 130,000 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 700,000 กว่าไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่ปลูกแล้ว 71 เปอร์เซ็นต์ โดยได้รับความร่วมมือจากพลังประชารัฐ อาทิ บริษัทเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 55 แห่ง ที่มีความต้องการข้าวโพด เพื่อจะนำไปผลิตอาหารสัตว์อีกเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันปริมาณข้าวโพดในประเทศยังขาดแคลน และต้องการให้เพิ่มผลผลิตอีกปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งอาจจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มอีก 3-4 ล้านไร่ และหากสามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกปีละ 3 ล้านตัน ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรที่จะสามารถลดพื้นที่ทำนาแล้วหันมาปลูกพืชที่มีตลาดรับซื้อแน่นอน และได้ราคาที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็จะมีวัตถุดิบในประเทศที่เพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ และลดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ มีการกำหนดพื้นที่และบริษัทที่จะเข้าไปรับซื้อที่ชัดเจน จึงอยากจะเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 พร้อมให้ความมั่นใจว่าผลผลิตจากโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน ขอให้ช่วยกันระมัดระวังพืชผลทางการเกษตรที่มีการลักลอบข้ามแดนเข้ามาด้วยนะครับ หน่วยงาน กองกำลังต่างๆ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เคร่งครัด ไม่อย่างนั้นก็เข้ามาแทรกแซง ทำให้ผลผลิตของเราราคาตกต่ำไปอีกด้วย
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ ในวันพรุ่งนี้ หรือวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก ที่มีหลายประเด็นที่เราคนไทยควรจะภาคภูมิใจในการพัฒนาการและความสำเร็จร่วมกัน อาทิ ปัจจุบันสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ครอบคลุมทั้งการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความมีประสิทธิภาพด้านระบบดูแลสุขภาพของโลก ในปี 2018 ของไทยปรับดีขึ้นมาถึง 14 อันดับ โดยมาอยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 56 ประเทศ และในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลได้จัดสรรงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 3,000 กว่าล้านบาท ล่าสุด องค์การเภสัชกรรมได้แถลงความสำเร็จในการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก คือ ยาเอฟฟาไวเรนส์ ซึ่งนับเป็นยารายการแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจากองค์การอนามัยโลก
สุดท้ายนี้ ผมฝากเรื่องสำคัญๆ อีก 3-4 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องของการช่วยกันเฝ้าระวังรักษาสิทธิ์ รู้จักหน้าที่ ในการที่จะป้องกันและแก้ไขการขับขี่รถจักยานยนต์บนทางเท้า หรือบนฟุตบาธ ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ผู้ขับขี่ก็อย่าขับขี่ขึ้นไปบนทางเท้า อันนี้เจ้าหน้าที่ก็พยายามออกกฎหมายมาบังคับใช้ ก็ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือด้วย
เรื่องที่สอง คือเรื่องการบริหารจัดการขยะมีหลายอย่าง สิ่งที่เราแก้ได้ก็คือที่ต้นทาง ผู้ที่ทำให้เกิดขยะก็ลดการทำให้เกิดขยะให้ได้ การทิ้งขยะ มีการแยกขยะให้ได้ และอย่าไปทิ้งขยะในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ จนทำให้บ้านเมืองสกปรก เสียหาย
เรื่องที่สาม คือ เรื่องยาเสพติด ขอให้ทุกคนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเก็บรักษาไว้เป็นความลับ ถ้าไม่ช่วยกันเฝ้าระวัง ไม่ช่วยกันดูแลสังคม ต่างคนต่างอยู่ มันก็แก้ปัญหาทุกปัญหาไม่ได้ เจ้าหน้าที่อย่างเดียวคงช่วยแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ได้ไม่มากนัก ถ้าไม่มีข้อมูลข่าวสาร มีการแจ้งความจากประชาชนในพื้นที่ สังคมต้องช่วยกันดูแลปัญหายาเสพติด ซึ่งได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
เรื่องที่สี่ คือเรื่องของการแก้ปัญหาเกี่ยวกับในเรื่องความรุนแรงของคนในครอบครัว ความรุนแรงในสังคม เราเห็นภาพข่าวจากในโทรทัศน์ ในโซเชียลมีเดียมากมาย ยังคงมีอยู่ ก็ขอให้แก้ปัญหานี้ให้ได้ เป็นปัญหาสำคัญภายในครอบครัว และการที่มีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องของการรักษาสิทธิ์ของสตรี เด็ก คนชรา และคนพิการ เหล่านี้ ช่วยกันดูแลด้วยนะครับ สังคมจะได้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ทั้ง 4 เรื่องผมขอฝากกับประชาชนทุกคนด้วย และขอกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มสติกำลัง
สุดท้ายนี้ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว หลายพื้นที่อาจจะประสบกับความหนาวเย็น ผมขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวัง รักษาสุขภาพ ทำร่างกายให้อบอุ่น ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพดี ทุกครอบครัวมีความสุข สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard