Last updated: 10 พ.ย. 2561 | 4588 จำนวนผู้เข้าชม |
ดีเจ เสียงใสๆ คนนั้นเป็นใคร ดวงใจฉันถามหา....
ใครเคยทำบ้าง...?
โทรศัพท์ไปขอเพลงกับดีเจ
ขอให้ดีเจอวยพรก่อนสอบไฟนอล
โทรไปสารภาพความในใจกับคนที่ตัวเองชอบผ่านทางหน้าไมค์
เล่นเกมลุ้นรับของรางวัลหน้าไมค์กับดีเจ
รีบกลับบ้านมาเปิดวิทยุฟังดีเจที่ชื่นชอบจากน้ำเสียงอันหล่อเหลา
และอีกหลายๆ เรื่องราวในความทรงจำที่เกิดขึ้นในยุค 90
ขณะที่ในวันนี้ยุคดิจิตอลนำพาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ส่งผลต่อวงการสื่ออย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวิทยุ ที่วันนี้คนหันไปฟังเพลงจาก YouTube Facebook หรือแอปพลิเคชันฟังเพลงบนโทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญยังมีช่องทางให้สามารถเป็นดีเจผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ โดยมีเพียงแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวด้วย
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาผู้อ่านย้อนวัยไล่ตามความฝันของเด็กๆ หลายคนในยุคนั้นว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิตฉันอยากเป็นดีเจ” รวมทั้งปัญหาของวงการวิทยุวันนี้ ยังมีคนฟังอยู่หรือไม่ อีกกี่ปีวิทยุจะตาย และจะต้องปรับตัวอย่างไร?
ผ่านบทสัมภาษณ์ของดีเจสุดเก๋า วินิจ เลิศรัตนชัย อดีตนักจัดรายการวิทยุ ผู้ก่อตั้งไพเรทเรดิโอ ปรากฏการณ์ดนตรีร็อก บนคลื่นวิทยุตลอด 24 ชั่วโมง และ ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล เจ้าของเสียงหวานๆ ผู้เป็นกำลังใจและเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ฟัง
กว่าจะเป็น “ดีเจ” ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
วินิจ เล่าย้อนไปว่า เริ่มเข้ามาในวงการวิทยุในฐานะผู้ประกาศข่าว และค่อยๆ ขยับขึ้นไปเป็นนักจัดรายการวิทยุ ก่อนจะก้าวขึ้นไปเป็นเจ้าของรายการวิทยุ โดยในยุคนั้นเป็นยุคอะนาล็อก อยากได้อะไรต้องไปหาเอง อยากรู้อะไรต้องไปศึกษาค้นคว้า ต้องมีความพยายาม ข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอ มีความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่ปัจจุบัน การได้มาด้วยได้แค่ปลายนิ้ว ชีวิตมันรีบเกินไป ข้อมูลบางอย่างก็คลาดเคลื่อน ไม่ได้ถูกกลั่นกรอง กลายเป็นว่าดีเจ ถ้าไม่เก๋า ไม่ได้ทำการบ้านมาดีพอ ก็มีความรู้น้อยกว่าคนฟังด้วยซ้ำไป ความน่าเชื่อถือก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นต่างคนต่างเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน แต่ว่าอยู่ที่ใครจะขวนขวายมากกว่ากัน
ขณะที่ ดีเจพี่อ้อย เผยว่า ในยุคนั้นเป็นอาชีพที่หลายๆ คนอยากเข้ามาทำงานมาก และเป็นคนที่ชอบการจัดรายการวิทยุมาก โดยกว่าจะได้จัดรายการต้องทำเดโม่ส่งพี่ฉอดเยอะ ถึงแม้ว่าจะเคยจัดรายการที่อื่นมาแล้วปีหนึ่ง ยังต้องทำเดโม่อย่างต่ำ 30 ชุด พอถึงวันที่ได้จัดรายการจริงๆ ก็เลยรู้สึกว่า “นี่คือที่สุดของเรา”
“เราชอบมาเลย อยู่แต่ในลำโพง ไม่ต้องเห็นหน้าเห็นตากัน ทุกคนก็มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า เสียงแบบนี้ ต้องมีบุคลิกแบบนี้ หน้าตาเป็นยังไง ยุคของพี่จะเป็นแบบนั้น” ดีเจรุ่นเก๋า เล่าอย่างมีความสุข
คุณนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล
ดีเจ = หมอ? ประสบการณ์พิเศษของอาชีพดีเจ
ดีเจพี่อ้อย ถ่ายทอดประสบการณ์ 25 ปี ให้ฟังว่า ได้ค้นพบว่า เมื่อก่อนคิดว่าอาชีพที่ช่วยคนอื่นได้ คือ หมอ แต่วันนี้คิดว่า ดีเจเป็นอาชีพเล็กๆ ที่ยังสามารถช่วยเหลือใครต่อใครได้มากมาย บางคนบอกว่า ‘รอพี่มาจัดรายการเลยนะ เพื่อที่จะโทรมาบอกว่า วันนี้หนูหย่าแล้วนะ เพราะหนูบอกที่บ้านไม่ได้จริงๆ แต่หนูอยากจะบอกใครสักคนที่เข้าใจและรู้ว่าทำไมหนูถึงตัดสินใจแบบนี้’ มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่กลับรู้สึกว่า ความไว้วางใจกับการที่ดีเจสักคนมารับรู้เรื่องความอ่อนแอของเขา ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของคนที่ประกอบอาชีพนี้
“ดีเจเป็นอาชีพที่มีระยะห่างกำลังดี ระยะใกล้กำลังเหมาะ...ห่างกำลังดีคือ ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เล่าอะไรให้พี่ฟังพี่ก็คงไปบอกเพื่อนหนูได้ แต่ระยะใกล้กำลังเหมาะคือ เปิดวิทยุมาเจอกันทุกวันเวลาบ่ายสาม เจอกันจนสนิทกัน แม้ไม่เคยเจอกัน มันเลยเกิดเป็นความสัมพันธ์” ดีเจรุ่นเก๋า เล่าด้วยความอิ่มใจ
คุณนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล
ความแตกต่างของวงการวิทยุไทยในอดีต VS ปัจจุบัน
เพลงฮิต = ฮิตจริงๆ
ดีเจพี่อ้อย กล่าวว่า ในอดีต คำว่า “เพลงฮิต” คือ รายการวิทยุทุกรายการต้องเปิดเพลงนี้ และมีคนขอมากกว่า 1 ครั้ง โดยกติกาของดีเจ 1 ช่วงดีเจจะเปิดเพลงนี้ได้ครั้งเดียว แต่ก็จะมีคนขอแล้วขออีก ขณะที่ยุคปัจจุบันเพลงฮิตแต่ละที่แตกต่างกัน ใน YouTube Joox หน้าปัดวิทยุ เหมือนกับเป็นเพลงฮิต ณ กลุ่มเป้าหมายนั้นๆ
ฟังได้ทั่วโลก
ในแง่ของดีเจ เมื่อก่อนเราอยู่กันแต่ในลำโพง ฟังได้แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ดีเจวันนี้ไม่ได้จัดในวิทยุแล้ว เพราะเริ่มมีแอปพลิเคชัน ทำให้การสื่อสารกว้างขึ้น สามารถฟังได้ทั่วโลก ดีเจวันนี้จะพูดแต่เรื่องรถติดไม่ได้แล้ว เพราะว่าคนที่นั่งฟังอยู่ในพื้นที่นั้นอาจจะรถไม่ติดก็ได้
สัมผัสทั้งภาพและเสียง
ปัจจุบันในแอปพลิเคชันได้มีกล้องส่องให้เห็นดีเจเวลาจัดรายการ เพราะฉะนั้น ดีเจไม่ได้ซ่อนตัวอยู่แต่ในลำโพง แต่คือคนที่ต้องปรากฏตัวให้คนเห็น ซึ่งเมื่อก่อนผู้ฟังมักจะบอกว่า “เปิดเพลงเพราะจังเลย แต่วันนี้ดีเจใส่เสื้อหนาวมาด้วย ในห้องจัดหนาวมากเลยเหรอคะ” มันก็เลยกลายเป็นการสัมผัสทั้งภาพและเสียง
อยากเป็นดีเจ ง่ายนิดเดียว
นอกจากนี้ คนที่อยากเป็นดีเจก็มีโอกาสขึ้นมากกว่าในอดีต เพราะไม่ต้องจัดในวิทยุอย่างเดียว บางคนอยากจัดรายการผ่านแอปพลิเคชันก็สามารถจัดได้ เหมือนมีแชแนลของตัวเอง มีเพลงหลากหลายขึ้น จัดรายการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
สำรวจความนิยม-เม็ดเงินสื่อโฆษณาวิทยุ
หากดูข้อมูลจาก “นีลเส็น” เกี่ยวกับภาพรวมมูลค่าโฆษณาในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะสื่อวิทยุลดลงอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี 2016 มูลค่ารวม 5,984 ล้านบาท ปี 2017 มูลค่ารวม 5,047 ล้านบาท ขณะที่ปี 2018 มูลค่ารวม 4,290 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% จากแพลตฟอร์มทั้งหมด โดย 2 อันดับแรก คือ Total TV 57% และ Digital TV 55%
ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ สื่ออินเทอร์เน็ต ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 มูลค่าโฆษณารวม 9,478 ล้านบาท ส่วนปี 2017 มูลค่ารวม 11,777 ล้านบาท และปี 2018 มูลค่ารวม 14,722 ล้านบาท
ทีนี้ ลองมาดู Rating วิทยุปัจจุบันกันว่า คลื่นไหนมาแรงสุด ซึ่งเผยแพร่โดยเว็บไซต์ jindamanee.co.th 5 อันดับ Rating วิทยุ ประจำเดือน ก.ย. 61 พบว่า อันดับ 1 คือ FM 95 ลูกทุ่งมหานคร อันดับ 2 คือ FM 93 Cool Fahrenheit อันดับ 3 คือ FM 100 จส.100 อันดับ 4 คือ FM 98 Star และอันดับ 5 คือ FM 103.5 FM ONE
สำหรับราคาเหมาโฆษณาวิทยุของบริษัทเอเจนซี่ Jindamanee ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคละเวลานั้น FM 95 ลูกทุ่งมหานคร รวม 9 สปอตต่อ 3 วัน 18,000 บาทต่อแพ็ก FM 93 Cool Fahrenheit รวม 6 สปอตต่อ 2 วัน 26,800 บาทต่อแพ็ก FM 100 จส.100 รวม 8 สปอตต่อ 2 วัน 16,800 บาทต่อแพ็ก FM 98 Star รวม 180 สปอตต่อเดือน 30,000 บาทต่อแพ็ก FM 103.5 FM ONE รวม 8 สปอตต่อ 2 วัน 21,600 บาทต่อแพ็ก
คุณวินิจ เลิศรัตนชัย
วินิจ กล่าวว่า ช่วงปี 2530 เริ่มเช่าสัมปทานทำรายการวิทยุเป็นรายชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท บางคนไปได้สัมปทานมาแล้วเปิดให้เช่าต่อ ราคาก็จะไม่แน่นอน กระทั่งปี 2538 มาถึงยุคที่มาเช่าเวลาในสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ซึ่งก็เช่าต่อจากผู้ที่ได้สัมปทานมาอีกต่อหนึ่ง จำได้ว่าเคยเช่าคลื่นสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 4 ล้านบาทตลอด 24 ชม.
“ปัจจุบัน ผมคิดว่าคงถูกลงไปเยอะมาก วันนี้มีคนมาบอกว่า พี่เอามั้ยทั้งคลื่น เดือนละล้าน ผมยังไม่เอาเลย (หัวเราะ) เมื่อก่อนผมจ่ายมากกว่านี้ 4 เท่า” อดีตผู้บริหารคลื่นวิทยุ เล่าจากประสบการณ์
ในยุคดิจิตอลกำลังฆ่าสื่อวิทยุ
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนหันไปฟังเพลงผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน สื่อวิทยุจะเป็นอย่างไร
วินิจ ให้ความเห็นว่า ความนิยมของวิทยุค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งความจริงก็กระทบกับทุกสื่อ ดังนั้นถึงยุคที่ต้องยอมรับความจริงกันได้แล้วว่า วิทยุต้องปรับตัว ต้องเป็นสื่อทางเลือก จะทำอย่างไรให้มีบทบาท ที่สำคัญก็คือ ความน่าเชื่อถือ และคุณภาพเป็นองค์ประกอบรวม
“ถามว่าคลื่นวิทยุจะอยู่ได้หรือไม่ในปัจจุบันนั้น คิดว่าอยู่ได้บางคลื่น จากเดิมที่มีทุกๆ .25 เลย อาจจะเหลือน้อยลงแม้ว่าต้นทุนจะถูกลงก็ตาม แต่ก็สามารถฝังอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย ซึ่งสามารถจัดสรรรายได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามา” อดีตเจ้าของคลื่นวิทยุ แสดงทรรศนะ
ขณะที่ ดีเจพี่อ้อย มองว่า หลายๆ คนมองว่า วิทยุเล็กลงมาก ใครจะสนใจฟังรายการวิทยุ แต่แค่รู้สึกว่าวิทยุมันเล็กพอที่จะ “รอดตัว” เนื่องจากทุกวันนี้คนที่ฟังวิทยุก็ยังฟังเนื้อหาของวิทยุ แค่ไม่ต้องฟังผ่านวิทยุ โดยไปฟังผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแอปพลิเคชัน
แต่สิ่งที่ยากของวงการวิทยุคือ เมื่อก่อนแข่งขันกันเฉพาะตัวเลขบนหน้าปัดวิทยุ ปัจจุบันต้องแข่งกับรายการวิทยุยิบย่อยที่เกิดขึ้นมาในโลกออนไลน์ มีความหวือหวา มีสีสัน สนุกสนาน เพราะฉะนั้น การที่จะให้คนมาฟังรายการวิทยุจะยากขึ้นกว่าแต่ก่อน คอนเทนต์จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทำอย่างไรให้เขาฟังเพลงจากเรา นี่คือ “ดีเจ”
คนโทรขอเพลงน้อยลง เลือกโหลดฟังในสมาร์ทโฟน
ดีเจพี่อ้อย เล่าว่า ปัจจุบันผู้ฟังส่วนใหญ่มักจะรอฟังเพลงตามที่ดีเจเปิดมากกว่าการโทรศัพท์เข้ามาขอเพลงเพราะว่าสามารถดาวน์โหลดเพลงที่ชื่นชอบ หรือฟังเพลงจากสมาร์ทโฟนที่มีอินเตอร์เน็ตได้สะดวกกว่า
แต่ทั้งนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป หากผู้ฟังต้องการสื่อสารกับดีเจ ก็มักจะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น การส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ หรือใช้การสื่อสารในเพจเฟซบุ๊กแทน ส่วนโทรศัพท์จะโทรเข้ามาเพื่อเล่นเกมส์ลุ้นของรางวัลมากกว่าโทรเข้ามาขอเพลง
ดีเจ ยัง “จำเป็น” อยู่หรือไม่?
เจ้าของเสียงสุดหวาน ตอบคำถามนี้อย่างไม่หวั่นเกรงว่า “พี่ว่าดีเจยังจำเป็นอยู่...ยังมีคนอีกมากที่เปิดวิทยุและอยากมีใครสักคนคุยกับเรา ขณะที่รายการวิทยุบางรายการที่บอกว่า เรตติ้งสูงเพราะเปิดแต่เพลงอย่างเดียว แต่วันนี้คุณเปิดเพลงเยอะแค่ไหน คุณก็แพ้ Joox แต่อยู่กับเพลงอย่างเดียวก็เหงา ไม่อย่างนั้นรายการประเภทคลับฟรายเดย์ รายการแฉ รายการพุธทอล์ค พุธโทร ไม่ต้องเปิดเพลงสักเพลง แต่ทำไมถึงอยู่ได้
ขณะที่ คลื่นวิทยุคงไม่หายไปหรอก อะไรก็ตามที่เสิร์ฟความต้องการมากจนอิ่มเกิน คนก็จะเริ่มกลับไปหาอะไรที่คลาสสิกอยู่ดี และคลื่นวิทยุไม่ได้มีแต่รายการวิทยุ มันมีอะไรอีกหลายอย่าง เพียงแค่วันนี้ไม่มีใครที่ทำคลื่นวิทยุอย่างเดียวโดยไม่ออนไลน์ด้วย ก็แข่งขันกันต่อไป”
เมื่อวันนี้...ดีเจ ไม่ใช่อาชีพในฝันของเด็กยุคใหม่
ในมุมมองของดีเจรุ่นเก๋า มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก การที่คนคนหนึ่งโตขึ้นอยากจะประกอบอาชีพอะไรนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัย “ยุคสมัย” ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งก็มาจาก “ความใกล้ชิด” กับสิ่งนั้นๆ เมื่อก่อนอยากเขียนหนังสือเพราะเป็นคนชอบอ่านนิยาย เมื่อไหร่ก็ตามที่เสพอะไรบ่อยๆ จะคิดว่า “แล้วถ้าเกิดฉันทำล่ะ ฉันทำแล้วประสบความสำเร็จไหมนะ”
“พี่ว่าอยากจะเป็นอาชีพอะไรก็เป็นไปเถอะ ไม่จำเป็นต้องทำแต่อาชีพในฝัน พี่ว่าทุกอย่างอย่าไปยึดติดกับอะไรมากมาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคนคนนั้นได้เข้าไปอยู่อาชีพนี้ ขอให้เขาประกอบอาชีพนี้ด้วยใจ และไม่แน่ การทำอะไรด้วยใจจะเป็นอาชีพอะไร เดี๋ยวอาชีพนั้นมันก็จะเปล่งประกายเองว่าเธอเจ๋งในงานนี้จริงๆ” ดีเจพี่อ้อย ทิ้งท้ายน่าคิด.
ขอบคุณทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต้นฉบับ https://www.thairath.co.th/content/1415560