Last updated: 13 ส.ค. 2561 | 2900 จำนวนผู้เข้าชม |
"...ข้อเท็จจริง พันตำรวจตรี ก. มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของหมวดการเงินและบัญชี และมีอำนาจหน้าที่ลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินนอกงบประมาณ โดยโรงเรียนตำรวจภูธรได้จัดซื้อรองเท้าหุ้มข้อสีดำเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่พันตำรวจตรี ก. ได้จัดทำหลักฐานใบสำคัญรับเงินเป็นเท็จโดยกรอกจำนวนเงิน 1,300,000 บาท โดยนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง..."
x-files : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
ในตอนนี้เป็นตอนในหมวดคดีการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ ทำหลักฐานเบิกจ่ายเงินเป็นเท็จแล้วเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์สำหรับตน
ข้อเท็จจริง พันตำรวจตรี ก. มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของหมวดการเงินและบัญชี และมีอำนาจหน้าที่ลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินนอกงบประมาณ โดยโรงเรียนตำรวจภูธรได้จัดซื้อรองเท้าหุ้มข้อสีดำเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่พันตำรวจตรี ก. ได้จัดทำหลักฐานใบสำคัญรับเงินเป็นเท็จโดยกรอกจำนวนเงิน 1,300,000 บาท โดยนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจตรี ก. เป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157
@ เบียดบังเงินของราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน
ข้อเท็จจริง พันโท ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้านายทหารฝ่ายการเงิน ได้รับเช็คของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งพันโท ก. มีหน้าที่ต้องนำเช็คส่งกรมการเงินทหารบก แต่ไม่ได้นำส่งตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด กลับนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝาก ซึ่งเปิดในนามของกรมการเงินทหารบกแทน โดยระบุเงื่อนไขให้ตนเองมีสิทธิในการเบิกถอนเงิน จากนั้นได้เบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเป็นประโยชน์ส่วนตน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันโท ก เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 15 และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
@ เบียดบังเงินที่อยู่ในความควบคุมดูแลไปเป็นของตนโดยทุจริต
ข้อเท็จจริง ธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งได้ทำการเปลี่ยนตู้ ATM โดยนาย ก เป็นหนึ่งในผู้ร่วมบรรจุเงินสดใส่ในตู้ ATM เครื่องใหม่ ซึ่งนาย ก. เป็นผู้ถือกุญแจเซฟและทราบรหัสเซฟของเครื่องเพียงผู้เดียว โดยไม่ส่งมอบกุญแจเซฟและแจ้งรหัสเซฟให้กรรมการคนอื่นทราบ ต่อมาได้มีการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในตู้ ATM
พบว่า มีเงินหายไปจำนวนหนึ่ง โดยนาย ก. ได้ทำการเบียดบังเงินที่บรรจุในตู้เซฟของตู้ ATM ไปเป็นประโยชน์สำหรับตน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11
@ การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่และร่วมกันกับพวกเบียดบังเงินไปโดยทุจริต
ข้อเท็จจริง นางสาว ก. ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติในหน้าที่งานการเงิน ได้อาศัยโอกาสที่ได้รับมอบหมายในหน้าที่งานการเงิน ปลอมลายมือชื่อผู้รับเงินในใบรับเงิน ซึ่งเป็นหลักฐานส่งให้งานบัญชีดำเนินการลงรายการบัญชี นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่เขียนเช็คและครอบครองดูแลสมุดเช็คเพื่อเสนอผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค โดยได้เบียดบังเช็คไปโดยทุจริต เพื่อนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อให้เรียกเก็บเงินตามวิธีการของ
ธนาคาร และให้ผู้มีชื่อถอนเงินไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง โดยนางสาว ข ช่วยเหลือในการแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร และเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากให้นางสาว ก. หลายครั้งไปใช้ได้สำเร็จ การกระทำของนางสาว ก. จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และการกระทำของนางสาว ข. จึงเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนางสาว ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. 2544 ข้อ 3 และข้อ 4 และเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 161 และการกระทำของนางสาว ข. เป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
@ นำธนบัตรปลอมไปปะปนกับธนบัตรจริง เพื่อนำธนบัตรจริงไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง โดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ได้มาขอเบิกเงินจากสำนักงานคลังจังหวัด ซึ่งขณะนั้น นาย ก. อยู่ระหว่างการประชุม นาย ข. ปฏิบัติหน้าที่แทน นำเงินสำรองจ่ายประจำวันจากตู้เก็บรักษาเงินสำรองจ่ายประจำวันซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนาย ก. จ่ายให้ไป ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ธนาคารพบว่ามีธนบัตรปลอมจำนวน 1,000 บาท ปะปนจำนวน 33 ฉบับ ต่อมาสำนักงานคลังจังหวัดได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธนบัตรของกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของนาย ก. พบว่า ธนบัตรปลอมจำนวน 1,000 บาท หายไป 71 ใบ โดยนาย ก. ยอมรับว่านำธนบัตรปลอมดังกล่าวนำไปปะปนกับธนบัตรจริง จำนวน 33 ใบ ต่อมานาย ก. ได้นำธนบัตรปลอมมาคืนให้แก่สำนักงานคลังจังหวัดในทันที โดยมิได้นำธนบัตรจริงคืนในคราวเดียวกัน แต่นำเงินจำนวน 33,000 บาท ไปทดแทนเงินที่ขาดหายไปในวันเดียวกัน
การกระทำของนาย ก. จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157
@ ไม่ออกใบเสร็จรับเงิน และนำเงินไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริง พันตำรวจโท ก. ได้รับหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาจากผู้ประกันแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ประกัน ไม่นำเงินประกันส่งมอบให้เจ้าหน้าที่การเงิน เพื่อนำฝากธนาคารตามระเบียบกระทรวงการคลัง และไม่ลงรายละเอียดลงในสมุดสถิติประกันประจำสถานีตำรวจ แต่ได้นำเงินประกันบางส่วนไปให้พันตำรวจโท ข. ใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยที่พันตำรวจโท ข. รู้แก่ใจตนเองดีว่าเป็นเงินประกันผู้ต้องหา เมื่อผู้ประกันมาขอพบเพื่อยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหลักทรัพย์ประกันส่วนที่เป็นเงินสดมาเป็นโฉนดที่ดินแล้ว ก็ได้หลบเลี่ยงประวิงเวลาไม่ยอมให้พบ อีกทั้งเมื่อได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนหลักทรัพย์มาเป็นโฉนดที่ดินก็ได้คืนหลักทรัพย์ประกันที่เป็นเงินสดเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือคืนให้ภายหลัง การกระทำของพันตำรวจโท ก. และพันตำรวจโท ข. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ผู้อื่นและราชการได้รับความเสียหาย และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจโท ก. และพันตำรวจโท ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
@ การปลอมเอกสารสัญญาจ้างทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเพื่อเบียดบังเอาเงินที่จ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนให้เกินไปเป็นของตนเอง
ข้อเท็จจริง นาย ส. เป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสำนักงาน ส. ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่องค์การรัฐวิสาหกิจ ว. ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการองค์กรและกฎหมาย ในการช่วยราชการนี้ได้มีการทำสัญญาจ้างกันนาย ส. มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน กำหนดจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 80,000 บาท ทุกสิ้นเดือน ต่อมานาย ส. ได้นำเอกสารสัญญาจ้างออกไปจากแผนกทรัพยากรบุคคล และต่อมาได้นำมาส่งคืนปรากฏว่าสัญญาจ้างแผ่นที่ 2 เดิมที่มีตัวเลขค่าจ้าง 80,000 บาท ถูกนำออกไปแล้วมีสัญญาจ้างเฉพาะแผ่นที่ 2 ที่ระบุอัตราค่าตอบแทนรายเดือนเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท ใส่ไว้แทน และต่อมาก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าจ้างในแผ่นที่ 2 ใหม่อีกครั้ง โดยดึงสัญญาจ้างแผ่นที่ 2 ที่ระบุอัตราค่าจ้าง 120,000 บาทออกแล้วนำสัญญาจ้างเฉพาะแผ่นที่ 2 ซึ่งระบุอัตราจ้างจำนวน 100,000 บาทมาใส่ไว้แทน การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้องค์การรัฐวิสาหกิจ ว. ได้โอนเงินค่าตอบแทนเข้าบัญชีเงินฝากของนาย ส. จำนวน 3 ครั้ง ทำให้นาย ส. ได้รับเงินค่าตอบแทนเกินกว่าที่ตกลงกันจริงเป็นเงินจำนวน 88,412.23 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ส. มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ร. ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2537) ข้อ 3 (2) วรรคสาม และ (17) วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 มาตรา 48 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการ ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา266 และมาตรา 268
-------------
ตอนหน้าจะเป็นตอนเริ่มต้น นำเสนอคดีสำคัญในหมวดใหม่ "เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์" จะมีคดีสำคัญอะไรบ้าง โปรดติดตามเช่นเดิมครับ