Last updated: 13 ส.ค. 2561 | 2505 จำนวนผู้เข้าชม |
"... ร้อยตำรวจเอก ส. ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร สถานีตำรวจภูธรอำเภอ น. ได้รับตัวผู้ต้องหาคดีมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย พร้อมทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิดหลายรายการเพื่อเป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งบัตร ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย จำกัด แต่ไม่ได้นำบัตร ATM ลงบัญชีของกลางตามหน้าที่ และได้นำบัตร ATM ดังกล่าวไปถอนเงินจากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ เป็นเงินประมาณ 700,000 บาท แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลรายงานผลการศึกษาตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตตรวจการจ้าง เบิกจ่ายเงิน และเรียก รับผลประโยชน์ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิด นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 และมีการจัดทำรวบรวมไว้เป็นทางการ มานำเสนอให้สาธารณะรับทราบเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล) มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้วว่ามีคดีอะไรกันบ้าง (อ่านประกอบ : x-files (5) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ -ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง)
สำหรับตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จะขอนำข้อมูลตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย
@ นำทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ข้อเท็จจริง ร้อยตำรวจเอก ส. ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร สถานีตำรวจภูธรอำเภอ น. ได้รับตัวผู้ต้องหาคดีมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย พร้อมทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิดหลายรายการเพื่อเป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งบัตร ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย จำกัด แต่ไม่ได้นำบัตร ATM ลงบัญชีของกลางตามหน้าที่ และได้นำบัตร ATM ดังกล่าวไปถอนเงินจากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ เป็นเงินประมาณ 700,000 บาท แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของร้อยตำรวจเอก ส. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และมาตรา 61 และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 (1) (2) และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 149 และมาตรา 157
@ ลงลายมือชื่อและปลอมลายมือชื่อเพื่อสั่งจ่ายเงินให้กับตนเอง และนำเช็คไปเบิกเงิน
ข้อเท็จจริง นาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินร่วมกับนางสาว ข. นักวิชาการ
เงินและบัญชี 4 ในเช็คของสำนักงานบังคับคดีจังหวัด ได้กระทำการทุจริตโดยลงลายมือชื่อของตนและปลอมลายมือชื่อของนางสาว ข. สั่งจ่ายเงินให้หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดในเช็คจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีไว้สำหรับใช้ในราชการของสำนักงานบังคับคดีจังหวัด ทั้งที่ไม่มีมูลเหตุของทางราชการที่จะสั่งจ่ายเช็ค จากนั้นนาย ก. ได้นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,647,250 บาท แล้วยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 161 และเป็นความผิดวินัย
@ ทุจริตนำเงินที่ได้รับชำระค่าใช้ไฟฟ้าไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง
ข้อเท็จจริง นาย ก. ดำรงตำแหน่งพนักงานการเงิน 4 กลุ่มงานเก็บเงิน แผนกเก็บเงินส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่รับชำระเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า แล้วนำเงินส่งแผนกการเงินเพื่อข้าบัญชีเป็นรายได้ของการไฟฟ้านครหลวง ต่อมาได้มีคำสั่งกำหนดให้พนักงานการเงิน แผนกเก็บเงิน ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ นำเงินที่ได้รับชำระค่าใช้ไฟฟ้าส่งเข้าบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยการไฟฟ้านครหลวง เพลินจิต ภายในเวลา 15:00 น. ของวันที่ได้รับชำระเงิน ทั้งนี้ ปรากฏพยานหลักฐานว่านาย ก. เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับชำระเงินค่าไฟฟ้าจำนวน 4 รายการ รวมเป็นจำนวนเงิน 32,190 บาท แล้วนาย ก. ไม่นำเงินที่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าดังกล่าวนำเงินฝากเข้าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเข้าบัญชีการไฟฟ้านครหลวง ตามคำสั่งของการไฟฟ้านครหลวง แต่กลับยักยอกเงินค่าไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยมิชอบเป็นเหตุให้การไฟฟ้านครหลวงได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 และเป็นความผิดวินัย
@ ทุจริตถอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าธนาคาร
ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งธนกรชั้น 4 ประจำธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอรัญประเทศ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการรับฝาก/ถอน/โอนเงินสด ตามวงเงินและอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ตรวจนับเงินสด เก็บรักษาเงินสด อาศัยการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่กระทำผิดกฎหมายโดยวิธีปลอมลายมือชื่อลูกค้าธนาคารฯ เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ ผู้ตรวจสอบ แล้วถอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าและยักยอกนำไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และโดยวิธีไม่นำเงินที่ลูกค้าขอฝากเข้าบัญชีลูกค้าโดยระบบออนไลน์ แต่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์จำนวนเงินที่ฝากในสมุดเงินฝากแทน แล้วยักยอกเงินที่ลูกค้าไปฝากจำนวน 11 ราย หลายครั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,518,993.90 บาท ไปเป็นของตนโดยทุจริต ทำให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 และเป็นความผิดวินัย
@ ทุจริตนำเงินที่ได้รับชำระค่าพัสดุไปรษณีย์ไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง
ข้อเท็จจริง นาย ก. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายไปรษณีย์ 6 มีหน้าที่ให้บริการหน้าเคาน์เตอร์รับฝากแบบครบวงจร จ่ายพัสดุไปรษณีย์เก็บเงิน (พกง.) เก็บเงินค่าพัสดุไปรษณีย์เก็บเงิน (พกง.) จัดส่งธนาณัติให้แก่ผู้ฝากส่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่รับเงินค่าพัสดุไปรษณีย์เก็บเงิน จำนวน 37 ครั้ง เป็นเงิน 75,010บาท แต่ไม่จัดนำส่งเงินค่าพัสดุไปรษณีย์เก็บเงินดังกล่าวตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้ยักยอกไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และตามมาตรา 157 ประกอบพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 15 และเป็นความผิดวินัยตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 ว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือน การถอดถอน ระเบียบวินัย การลงโทษและการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนการกำหนดจำนวนอัตราตำแหน่ง อัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ. 2520 ข้อ 55 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และข้อ 62 ฐานกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
----------
ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน แต่ยังมีอีกหลายคดีที่น่าสนใจในหมวดนี้ ติดตามอ่านกันตอนต่อได้นะครับ