รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561

Last updated: 16 มิ.ย. 2561  |  1528 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน


วันนี้ผมอยากจะกล่าวถึงแนวทางของการสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก(จุลภาค)กับระดับประเทศ(มหภาค) ของรัฐบาลนี้ ผมขอเริ่มจากการมองย้อนถึงการวัดผลงานรัฐบาลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หากว่าเราดูที่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ก็จะเห็นว่าไม่มีตัวไหนที่แย่ลง มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้นถึง 4 ล้านล้านบาท GDP ของเราโตขึ้นมา 2 ล้านล้านบาท การส่งออก การลงทุน ความเชื่อมั่นต่างๆก็ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น ภาคเกษตรของเรากลับลำบากมาก ไม่เหมือนกับยุคต้มยำกุ้งที่ตลาดโลกดี พืชผลทางการเกษตรก็ดีทำให้ขายได้ ประเทศมีรายได้มาช่วยจุนเจือให้เราพ้นวิกฤตในที่สุด แต่ครั้งนี้นั้นตลาดโลกยังซบเซา และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาโดยตลอด ยิ่งกว่านั้นความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าของต่างประเทศ และความไม่สงบในหลายพื้นที่ในโลก ก็ช่วยกันซ้ำเติม ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการในตลาดโลก ก็อาจจะยังไม่ดีขึ้นนัก
สิ่งที่รัฐบาลต้องการทำก็คือ ในเรื่องของการกระจายรายได้ไปยังเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้สามารถโตจากภายในได้ดีขึ้น หมายถึงว่า (1) ราคาพืชผลต้องดี และ (2) เศรษฐกิจฐานรากต้องเข้มแข็ง พร้อมปรับตัว เราไม่อาจพึ่งพาแต่เพียงสินค้าเกษตร เพราะราคายังผันผวนมาก รายได้ไม่แน่นอน 4 ปีที่ผ่านมา โครงการช่วยเหลือของภาครัฐไปยังเกษตรกร มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท ส่วน SMEs ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นเพียงการประคับประคองให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เพื่อให้โตจากภายในได้เท่าที่ควร ทั้งนี้การจะแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ผลนั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนประเทศให้มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มมูลค่าของการผลิต เน้นการพัฒนาเชิงมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพ มีการแปรรูป มีการปรับใช้เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ เพื่อจะสร้างความสามารถในการแข่งขันและหาตลาดได้ง่ายขึ้น


10 ปีที่ผ่านมาเราพลาดโอกาสหลาย ๆ อย่างในการพัฒนาประเทศ เพราะเปรียบเหมือนกับ ชีพจรของประเทศนั้นเต้นแผ่ว ประเทศในภาพรวมไม่มีเสถียรภาพ อาจจะไม่มีใครกล้าลงทุนมากนัก แม้แต่นักท่องเที่ยวก็ยังขาดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยวันนี้เราต้องมาพลิกฟื้น และสร้างความเข้มแข็งใหม่ ต้องช่วยกันเร่งพัฒนาศักยภาพให้ทัน ชดเชยกับโอกาสที่เราสูญเสียไป แต่ทั้งนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องทำหลายๆ อย่างพร้อม ๆ กัน สิ่งที่สำคัญในวันนี้ เราต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กระจายลงไปจนถึงฐานรากไปถึงประชาชน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาตนเองไปด้วยอาทิ (1) ภาคการผลิตเราต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ (2) โครงการขนาดใหญ่ ลักษณะเช่นเดียวกันกับ EEC ที่จะเป็นฐานให้ทุกภาคการผลิต ได้มีการกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และสร้างการจ้างงาน (3) เพิ่มโอกาส สร้างความเชื่อมโยงผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคม ถนนหนทาง อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุน และการให้บริการต่างๆ ในพื้นที่ของภาครัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้พี่น้องเกษตรกรและชุมชนในเศรษฐกิจฐานรากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับตัว ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาผลผลิต เพื่อสร้างรายได้ เปิดช่องทางการค้าขายของตนเอง วันนี้ รัฐบาลเองก็ได้เร่งดำเนินการให้ได้ทุกเรื่อง บางอย่างก็เริ่มต้น บางอย่างก็ทำไปถึงระยะที่ 2 แล้ว บางอย่างก็ต้องเดินต่อไประยะที่ 3 ที่ 4 ต่อไป เพราะว่าเป็นการทำในเชิงโครงสร้างไปด้วย พร้อมกับงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกกระทรวงต้องเข้าใจ ประชาชนต้องเข้าใจ แล้วก็ปรับตัวเข้าหากัน ที่เขาเรียกว่าการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งคน ทั้งกฎหมาย ทั้งวิธีการดำเนินการทั้งหมด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมด เช่น การท่องเที่ยวเดิมเราเคยไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักเท่านั้น วันนี้เราไม่ให้ไปกระจุกตัวอย่างนั้น ต้องกระจายไปยังเมืองรองเมืองที่ติดต่อกัน เช่นแต่ละจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค ต้องเชื่อมโยงกับภาคอื่นๆ ด้วย ผมก็ขอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะหนทางแก้ไข หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น อะไรที่ไม่ดี ก็ดำเนินการตามกฎหมาย ให้ความเห็นที่สร้างสรรค์ ติเพื่อก่อ ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนพี่น้องประชาชนได้อย่างตรงความต้องการมากยิ่งขึ้น

พี่น้องประชาชนที่รักครับ


สำหรับการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ คำว่าท้องถิ่นก็หมายถึง อปท. มีประกอบไปด้วยทั้ง อบจ. เทศบาลอบต. ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับภูมิภาคนั้น จากการบริหารราชการแผ่นดิน จะมีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ก็ให้เข้าใจด้วย ส่วนภูมิภาคที่เล็กที่สุดก็คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการลงพื้นที่ของผมนั้น ประกอบไปด้วยทั้งผม และคณะรัฐมนตรี แล้วก็หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ก็ลงไปเพื่อจะพบปะพี่น้องประชาชน รวมทั้ง ติดตามและประเมินผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติการ ซึ่งให้ทุกกระทรวงได้มีการปรับปรุงพัฒนาด้วย เพิ่มการเรียนรู้ในเรื่องของหลักการต่างๆ ทั้งหมดที่รัฐบาลได้ทำลงไปใหม่ พร้อมทั้งให้เข้าใจถึงกฎหมายใหม่ๆ เพื่อเขาจะได้สร้างความเข้าใจกับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ ทุกคนเท่าที่ผมเห็นก็พยายามตั้งใจในการทำงานอย่างเต็มที่ อาจจะมีบกพร่องอยู่บ้าง ก็ขอให้ทุกหน่วยงานได้มีการปรับแก้ให้ตรงความต้องการของประชาชน ข้าราชการก็ต้องเสียสละ ต้องอดทน ในการพูดคุย แล้วก็เตรียมความรู้ของตัวเองให้พร้อม ผมเองนั้นไม่ต้องการทำงาน เพียงแค่คิดนโยบาย แล้วนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างอย่างที่เขาว่ากันนะครับ


เมื่อเราคิดโครงการมาแล้ว ลงพื้นที่ไม่ทั่วถึงก็พัฒนายาก ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น เพราะว่าอาจจะไปลงในพื้นที่ของฝ่ายรัฐบาลมากเกินไป พื้นที่ฝ่ายค้านไม่ได้ หรือได้น้อย เพราะฉะนั้น เราได้มีการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณไปสู่ภาค ไปสู่กลุ่มจังหวัด ไปสู่จังหวัด แล้วก็ท้องถิ่น ทั้งหมดคืองบประมาณที่ต้องมาเสริมกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกันไม่ใช่มุ่งหวังเพียงแค่ทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น


การทำโครงการต่างๆ นั้น ต้องทำเพื่อสอดคล้องกับภารกิจ พันธกิจของหน่วยงาน ขณะเดียวกันต้องเสริมภารกิจของหน่วยงานอื่นไปด้วย อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ปลัด อปท. ทั้งหมดนี้จะต้องมีความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และมีการพัฒนาต่อยอดออกไปได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เท่าเทียม ต่ออะไรก็ไม่ได้ บางพื้นที่ขยายได้ เพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ได้ บางพื้นที่ไม่ได้ ในความต้องการพื้นฐานก็ยังไม่ครบเลย อันนี้เป็นสิ่งที่อาจจะเป็นข้อเสียของในช่วงการทำงานที่ผ่านมา แม้กระทั่งวันนี้ในปัจจุบัน เราก็พยายามจะกวดขันในเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องของประชาชนที่จะช่วยได้ตรงนี้ เพราะว่าวันนี้ รัฐบาล คสช. กอ.รมน. ก็ได้ไปสัมผัสกับพื้นที่ทั้งด้วยตัวผมเอง แล้วก็หน่วยงานที่ผมกล่าวไปแล้ว ได้ไปทำการพบปะพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ไม่ใช่งานการเมือง เข้าไปเพื่อรับฟังปัญหา เข้าไปสนับสนุนอย่างใกล้ชิดให้ตรงกับความต้องการ จัดลำดับความเร่งด่วน ความเดือดร้อน โดยจะต้องปรับแผนงาน โครงการ ของรัฐบาลที่จัดทำไว้ได้ล่วงหน้า เพราะว่าทำจากข้อมูล ฐานข้อมูล แต่ทั้งนี้ต้องไปฟังประชนด้วย เมื่อกลับมาจากการลงพื้นที่ทุกครั้ง เราก็ได้เห็นข้อมูลใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รับทราบถึงภูมิปัญญาของพี่น้องประชาชน ความร่วมมือของพี่น้องในชุมชน ความยากลำบากของประชาชนที่สำคัญก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่น้องหลายคน ในการที่พร้อมจะเรียนรู้ ปรับตัว เปิดใจ เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และเชื่อมั่นในความพยายาม การใฝ่หาความรู้ ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด เหมือนกับเราเข้าไปซึมซับพลังบวกและมิตรภาพ จากแววตา จากการแสดงออกของประชาชน ทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น ให้กำลังใจผม คณะรัฐมนตรีทุกคน เราก็พร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรค พร้อมที่จะเดินหน้าประเทศของเราไปให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยการที่ลงไปดูนั้นหมายความถึงว่า ในเมื่อเราคิดโครงการจากข้างบนลงไป จากข้อมูลพื้นฐานของหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน เราก็ต้องจัดทำแผนงานโครงการไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อไปพบประชาชนแล้ว เราก็จะเห็นถึงความต้องการของเขา ซึ่งอาจจะมีตรงกัน มีบางส่วนที่ไม่ตรงกัน ส่วนที่ไม่ตรงกัน ถ้าลำบากมากเราก็ต้องทำให้เขาก่อน มีการปรับแผนงาน งบประมาณลงไปให้เขาให้ได้ หรือไม่ถ้าเร่งด่วนจริงๆ ก็อาจจะต้องหางบกลาง หรืองบอื่นๆ เติมลงไปให้ได้มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ตรง ไม่ทันเวลา แต่ก็ต้องเห็นใจกันบ้างเพราะว่างบประมาณจำนวนมาก ถ้าทำพร้อมกันทั้งหมดคือปัญหา แต่ต้องทำให้พื้นที่ใดก็ตามที่มีความขาดแคลน พื้นที่ใดก็ตามที่มีความเดือดร้อนก่อน ความเสียหายมาก เราก็ต้องแก้ไขดูแลเขาก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับความทั่วถึงนั่นก็คือเราใช้งบประมาณลงทุกภาค ที่มีความใกล้เคียงกัน จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะภาคใดก็ตาม ใน 6 ภาคของเราในปัจจุบันนั้น งบประมาณจะใกล้เคียงกัน เพราะมีการจัดงบประมาณในทั้ง ภาคกลุ่มจังหวัด และจังหวัด และในส่วนของงบบูรณาการ งบงานตามนโยบายเข้าไปอีก

ในการลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 ณ จังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ ในครั้งนี้ ก็เช่นกันครับ ขอบคุณทุกคนที่ให้การต้อนรับ และบรรยากาศที่มิตรไมตรี ผมขอยกตัวอย่างของพลังบวกในพื้นที่ ที่ผมได้ไปพบ ได้ไปรับทราบมา เพื่อให้เป็นแนวคิดหรือแรงบันดาลใจ ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน และก็นำไปประยุกต์ใช้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม อาทิ จังหวัดพิจิตร ที่เขาเรียกว่าเมืองเล็กแต่น่ารักบางคนอาจเรียกเมืองทางผ่านที่น่าสนใจคือการขับเคลื่อนของจังหวัดพิจิตร ยึดหลักการระเบิดจากข้างในตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 การมีส่วนร่วมของประชาชน ตามกลไกประชารัฐ และไทยนิยม ยั่งยืนกล่าวคือ ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมมือ ได้ร่วมกันลงมือทำ และต้องใช้ 3 ท. ก็คือ ทำ ทัน ที โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะรอรับงบประมาณ หรือความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพลังของชุมชนด้วย


ผมขอยกตัวอย่าง การพัฒนาบึงสีไฟ ซึ่งน้ำในบึงแห้งขอด ในช่วงปี 2559 ก็ได้มีการตั้งกลไกประชารัฐ ในการช่วยแก้ไขปัญหา ร่วมมือกันเปิดเส้นทางน้ำ มีการกำจัดผักตบชวาจนทำให้แม่น้ำที่เคยแห้งขอด และอุดตัน ได้ไหลผ่านตลอดทั้งสาย 127 กิโลเมตร เปิดทางน้ำให้เข้ามาเติมในบึงสีไฟได้ทำให้เราได้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างองค์กรเครือข่ายภาครัฐ และภาคประชาชน เช่น จังหวัดคุณธรรมโรงเรียนผู้นำตามรอยพ่อ ชมรมผู้สูงอายุชมรมคนรักในหลวง ชมรมดูนกพิจิตร กลุ่มคนพิจิตรได้คืนชีวิตให้กับบึงสีไฟ เหล่านี้เป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว จนส่งผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมดังกล่าว


สำหรับในส่วนของรัฐบาลเองนั้น ก็ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณมากกว่า 300 ล้านบาท ในการขุดลอกบึงสีไฟ ระยะแรก และงบประมาณการก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ระยะทาง 12 กิโลเมตร อีกราว 65 ล้านบาทหากแล้วเสร็จ จะทำให้บึงสีไฟ จากเดิมกักเก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ได้มากถึง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วเราก็จะมีเลนจักรยาน ที่เป็นเส้นทางธรรมชาติ สวยงาม และปลอดภัย อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยสิ่งที่คาดหวังต่อไปก็คือ การเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนายกระดับบึงสีไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ จะมีการก่อสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาอาคารพิพิธภัณฑ์จระเข้รวมไปถึงการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพันธุ์ปลาอาคาร 9 เหลี่ยม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกส่วนหนึ่ง ราว 500 ล้านบาท ก็ทยอยดำเนินการไปครับ


สำหรับการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่จะแสดงออกถึงความร่วมมืออย่างเข้มแข็งและน่าชื่นชมของภาคประชาชน โดยเริ่มจากการที่นายรักกี้ สุขประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลย่านยาว ร่วมกับแกนนำชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ได้มีการพัฒนาแม่น้ำพิจิตร ด้วยการทำความสะอาดและนำน้ำลงมาเติมให้กับแม่น้ำอย่างต่อเนื่องโดยการผันน้ำจากคลอง และปรับปรุงอาคารบังคับน้ำดงเศรษฐี ที่กั้นระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำพิจิตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำน่าน ไหลเข้าแม่น้ำพิจิตรได้เป็นครั้งแรก ในปี 2560 ซึ่งก็ก่อให้เกิดความตื่นเต้น และความหวังในใจประชาชน ใน 4 อำเภอ 13 ตำบล สองฝั่งแม่น้ำพิจิตร ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสายน้ำแห่งความหวัง ที่จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่เพียงของชาวพิจิตร แต่กับชาวไทยในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำนี้อีกด้วย นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ต่างก็ตื่นตัวในการพัฒนาแม่น้ำพิจิตร จนมีการก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ใช้ชื่อว่าขุนศึกลูกพ่อปู่ กอบกู้แม่น้ำพิจิตรขึ้น ประกอบด้วย ตัวแทนจากทุกภาคส่วน รวมถึงคณะสงฆ์ เข้ามาร่วมหารือและวางแผนงาน โดยใช้งบประมาณจากการบริจาค และการประมูลพระเครื่อง


ทั้งนี้งานหลักของกลุ่มขุนศึกฯ ก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนผู้เกี่ยวข้องกับแม่น้ำพิจิตรให้มีความตระหนักรู้ ถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านดีที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำพิจิตร ซึ่งต้องการความเสียสละจากภาคประชาชนมากพอควร ทั้งการเสียสละจากความสะดวกสบาย จากการใช้ทางข้ามที่ถมแม่น้ำ การเสียสละที่ดินที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำ และการสละแรงกายเพื่อช่วยเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูแม่น้ำทางกลุ่มก็ได้รายงานสภาพน้ำ ปัญหาต่างๆ และการสำรวจเพื่อการขุดลอกรวมถึงขอให้ชาวบ้านร่วมมือเปิดทางข้ามวางท่อลอด และยกย้ายบ้านที่รุกล้ำลงไปกีดขวางทางน้ำ ก็จะทำให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้นกล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่อาศัยพลังประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้โครงการขุดลอกแม่น้ำพิจิตรในระยะต่อไปรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กรมทรัพยากรน้ำสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 กรมชลประทานกอ.รมน.จังหวัดฝ่ายท้องที่ และองค์กรปกครองท้องถิ่นในการขุดลอก ซ่อมแซม และติดตั้งระบบของประตูระบายน้ำดงเศรษฐี ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ใช้งานได้ 100% และจะทำประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อจะผันน้ำเข้าสู่ระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำพิจิตร เป็นเงิน 380 ล้านบาท


นอกจากพลังชุมชน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและตรงกับความต้องการของประชาชนแล้วนั้นผมยังมีความประทับใจในความมุ่งมั่นในการนำความรู้มาพัฒนาพื้นที่ และช่วยเหลือชุมชนผมได้รับทราบถึงปราชญ์ชาวบ้านในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ คือ คุณสุพจน์ โคมณี ที่เป็นผู้น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ เพื่อปรับปรุงการผลิตพืชผลให้มีคุณภาพและลดต้นทุนจากเดิมที่ปลูกข้าวและทำไร่ข้าวโพด โดยใช้หลักพึ่งพาธรรมชาติ แต่ด้วยฤดูกาลที่ไม่แน่นอน บางปีน้ำหลาก บางปีน้ำแล้ง การเพาะปลูกที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก


ทั้งนี้ คุณสุพจน์ฯ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมการทำเกษตรผสมผสาน ได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และวิธีทำเกษตรกรรม จากที่เน้นเรื่องปริมาณผลผลิตเพื่อการค้าขาย มาเป็นแบบพึ่งตนเอง เพื่อบริโภคในครัวเรือน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้กู้เงินมาฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก และริเริ่มทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งซื้อที่ดินเพิ่มอีก 20 ไร่ แล้วแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ตามหลักการ 30-30-30 และ 10 กล่าวคือ เป็นนาข้าว 6 ไร่น้ำ 6 ไร่ไม้ผล 6 ไร่ ที่อยู่อาศัย พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ 2 ไร่จนในที่สุดทำให้ชีวิตครอบครัวเริ่มดีขึ้น มีผลผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน หรือแลกเปลี่ยนผลผลิต แบ่งปันเพื่อนบ้าน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย จนสามารถชดใช้หนี้สินที่กู้ยืมมา หมดภายใน 4 ปี


นอกจากนี้ สิ่งที่ได้นำมาปรับใช้ยังมีอีกมากมาย เช่น การเพาะปลูกที่เน้นการปลูกข้าวอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภคด้วย สำหรับการปลูกข้าว ก็ใช้วิธีตีตารางในการปักดำข้าวในแปลงนา ให้มีช่องห่าง และระยะที่พอดี เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงในนาสามารถหากินได้ง่าย โดยจะปล่อยปลา ประมาณ 500-800 ตัวต่อไร่รวมถึงการทำนาด้วยน้ำบาดาล ซึ่งมีสนิมเหล็กที่เป็นอันตรายต่อพืช จึงต้องทำให้ตกตะกอนเสียก่อน โดยการสูบน้ำแล้วนำมาพักไว้ในบ่อ และทำทางน้ำให้น้ำไหล และม้วนตัว เป็นระยะทาง 200 เมตร เพื่อให้สนิมเหล็กตกตะกอนเป็นต้น


อีกสิ่งที่สำคัญคือ การพลิกฟื้นผืนดินโดยคุณสุพจน์ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า พื้นที่ที่ประสบปัญหา เราก็สามารถปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยในหมู่บ้านหนองข่อย ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ไม่มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้งยังมีปัญหาดินเสีย เนื่องจากเกษตรกรรายเก่าใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมากคุณสุพจน์จึงเริ่มแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม โดยการยกคันดินสูง 3 เมตร แก้ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง โดยการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในพื้นที่ และนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการวางแผนผังของพื้นที่ และทำการเกษตรแบบเกื้อกูล เน้นการบริหารจัดการน้ำ โดยวางระบบน้ำเป็นแบบไหลวนรอบพื้นที่เริ่มจากบ่อพัก ผ่านไปยังพื้นที่เลี้ยงไก่และเป็ด เพื่อใช้มูลไก่และเป็ด เพิ่มธาตุอาหารให้กับน้ำ และยังสามารถบริโภคไข่ได้ด้วย โดยน้ำจะอยู่ตรงพื้นที่นี้ 7 วัน แล้วจึงปล่อยสู่บ่อพัก ก่อนที่จะปล่อยไปยังพื้นที่ทำการเกษตร คือพื้นที่ทำนาข้าวและบ่อเลี้ยงปลาสำหรับการเลี้ยงปลานั้น ก็จะเป็นการเลี้ยงปลาแบบห่วงโซ่อาหาร โดยเลียนแบบระบบนิเวศ ในช่วงแรกคุณสุพจน์ใช้ข้าวเปลือกในการเลี้ยงปลา แต่เห็นว่าปลาโตช้า จนได้นำปลาที่เลี้ยงมาผ่าท้องดู และพบว่าในท้องของปลานั้นมีหอยขม ก็เลยเลี้ยงหอยขม เพื่อเป็นอาหารของปลา แล้วปล่อยน้ำให้ไหลเวียนไปยังบ่อพักส่วนผลผลิตที่เหลือจากการสีข้าว เช่น รำข้าว ก็นำมาเป็นอาหารให้ไก่และเป็ดส่วนแกลบสามารถนำมาปูในเล้าไก่ โดยแกลบที่ได้หลังจากปูในเล้าไก่เสร็จแล้ว ก็นำมาเป็นปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นไม้ต่อไปอีกด้วย


จะเห็นได้ว่าในการทำเกษตรกรรมของคุณสุพจน์ทั้งหมดนั้น เน้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างคุ้มค่ามากที่สุดผมคิดว่านี่คือภูมิปัญญาของพี่น้องเกษตรกร ที่มีเป็นทุนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการนำมาปรับใช้ในแต่ละขั้นตอนให้ครบวงจร เพื่อจะเพิ่มผลผลิตและรายได้ พื้นที่ที่มีปัญหา ก็สามารถพลิกฟื้นให้ผลผลิตได้มากขึ้นเพื่อจะให้รายได้กับพี่น้องเกษตรกรได้ผมอยากให้สิ่งนี้เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้กับพี่น้องเกษตรกรนำไปประยุกต์ ต่อสู้กับปัญหาทางธรรมชาติ รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวน


คุณสุพจน์นั้นเป็นหนึ่งในปราชญ์ชาวบ้านหลายๆ ท่านที่เรามีอยู่ทั่วประเทศ ที่เราสมควรต้องขยายผล นำเอาความรู้ ความเข้าใจต่อพื้นที่ ต่อผืนดิน และภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นวงกว้างต่อไป อันนี้ก็เป็นไปตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ด้วย ที่ทรงมีพระราโชบายให้พวกเราทุกคนได้มีการสืบสาน รักษา และต่อยอดสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ได้ทรงพระราชทานไว้ให้กับเรามาหลายสิบปีมาแล้วนะครับ

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ


ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนการปรับตัวของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทั้งในเรื่องของการวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้ Agri-map ที่มีทั้งเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดต่างๆ และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในการผลิตมีการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ การช่วยเหลือสนับสนุนด้านปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการพัฒนาหรือแปรรูปผลผลิต การหาตลาด และ การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ทั้งนี้ก็เพื่อจะลดต้นทุนและย่นระยะเวลาที่ผลผลิตจะถึงมือผู้บริโภคด้วย ในเรื่องของเงินทุน ภาครัฐก็มีการให้การสนับสนุนในหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าถึงสินเชื่อ และเงินอุดหนุน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเงินทุนและสภาพคล่องเมื่อประสบปัญหาภัยธรรมชาติ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรซึ่งมีทุน 2,900 ล้านกว่าบาท มาดำเนินการต่อ โดยจูงใจให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน ปลูกพืชผลตามประเภท และปฏิทินที่รัฐแนะนำ เมื่อเกิดปัญหาในอนาคต ไม่ว่าราคาตกต่ำ หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนนี้ มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบปัญหาต่างๆ โดยที่ทางราชการไม่สามารถเข้าไปควบคุมแต่เริ่มแรก ที่ผ่านมาเราใช้เงินในส่วนนี้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่การช่วยเหลือตามแนวทางกองทุนนี้จะประหยัดกว่า และเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอีกด้วย


นอกจากนี้ กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ 75,000 กว่ากองทุน ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชา ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งบางกองทุนมีการร่วมมือกัน เช่น โครงการแหล่งท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำ แก้มลิงทุ่งคลองคัน เกิดจาก 8 กองทุนกองทุนละ 5 แสนบาทรวมแล้วก็ 4 ล้านบาทเงินก้อนโตขึ้น ก็ลงทุนทำอะไรได้มากขึ้น เช่น การปรับภูมิทัศน์สวนสาธารณะอ่างเก็บน้ำ จัดหาแพกลางน้ำจักรยานน้ำ และการจัดสรรพื้นที่ให้สมาชิกเช่าเป็นร้านขายสินค้า ร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม เป็นต้น


อีกช่องทางเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของพี่น้องในเศรษฐกิจระดับฐานราก ก็คือการหาตลาด โดยอาศัยเทคโนโลยี และการเข้าเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่ายกตัวอย่าง Thaitrade.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ สำหรับคนตัวเล็กซึ่งจะช่วยให้คนตัวเล็กมีโอกาสเติบโตได้ ช่วยให้รายย่อยนำสินค้ามาขายให้กับผู้บริโภค ดึงแบงก์ โลจิสติกส์ เข้ามาช่วยเรื่องการจ่ายเงิน และการจัดส่งสินค้า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการอยู่เกือบ 25,000 ราย โดยจะผลักดันให้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ราย ภายใน 3 ปี และเพิ่มมูลค่าการค้าขายผ่านเว็บไซต์ที่มีอยู่ ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาทภายในปีหน้า ซึ่งต่อไป ช้อปครบ จบในคลิกเดียว ที่เป็นการขายออนไลน์แบบ B2Cหรือธุรกิจถึงผู้บริโภคโดยได้รวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยมาให้เลือกซื้อได้ โดยตรง มีระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เดบิต ทุกธนาคาร และยังมีระบบโลจิสติกส์หลายรายเข้ามาร่วมในการจัดส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยค้าขายได้เพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ เว็บไซต์ค้าขายออนไลน์จะช่วยให้คนตัวเล็กอย่างเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสในการขายสินค้าแบบออนไลน์ ขจัดข้อจำกัดด้านระยะทางลงไป หลายคนคงได้เห็นตัวอย่างจากประเทศจีนมาบ้างแล้ว ตอนนี้เราได้เริ่มต้นแล้ว ต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้าไปช่วยขับเคลื่อนทั้งค้นหาสินค้า พัฒนาสินค้าเพื่อนำเข้ามาขายออนไลน์ให้ได้เพิ่มขึ้นและผมมั่นใจว่าเราจะทำได้สำเร็จเช่นกัน สรุปได้ว่าดิจิทัลเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับโลกในอนาคต เป็นที่มาของนโยบายไทยแลนด์ 4.0


ส่วนในด้านการตลาด นอกจากตลาดประชารัฐแล้ว การจัดงานนิทรรศการระดับชาติ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ส่งเสริมการขาย การเข้าถึงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้นโดยงาน OTOP Midyear 2018 ภายใต้ธีมงานเอกลักษณ์จากเสน่ห์วิถีไทยนิยมระหว่างวันที่ 9 - 17 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ก็เป็นอีกโครงการที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องประชาชน โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ การบริการ ให้มีมาตรฐาน และเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งตลาดท้องถิ่น ตลาดภูมิภาค ตลาดต่างประเทศ และตลาดออนไลน์หรือการซื้อขายผ่านระบบe-Commerce ที่เป็นเทรนด์ใหม่ในปัจจุบันซึ่งรัฐบาลนี้เข้าไปสนับสนุนในกลไกระดับชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นทางกลางทางปลายทาง อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2546 - 2557 มีสถิติการเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 11 แต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารจัดการใหม่ สนับสนุนอย่างเต็มที่ ช่วยให้อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในระดับร้อยละ 22 ในปีที่ผ่านมามียอดการจำหน่ายมากกว่า 153,000 ล้านบาท เฉพาะช่วงแรกของปีนี้มียอดการจำหน่ายมากกว่า 116,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีที่แล้ว ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก มีการกระจายตัวของรายได้มากขึ้นอีกด้วย


ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจช่วยอุดหนุนสินค้าพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น งานฝีมือของคนไทยด้วย ทราบว่า 4 วันแรกของงาน มียอดการจำหน่ายสินค้า กว่า 500 ล้านบาทมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 170,000 คน แล้ว ก็น่าดีใจแทนผู้ผลิตของเราจริงๆผู้ผลิตบางส่วน อาจยังไม่มีนามบัตรใช้ ก็ทำให้การทำการติดต่อซื้อขายในอนาคตติดขัด ผมก็ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ท่านสามารถปรับตัวไปใช้ LINE ใช้ QR Code ก็ได้ จะได้ติดต่อธุรกิจกันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลก เพราะเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 แล้วที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เรากำลังพัฒนาอยู่ทั้งสิ้นผมขอฝากพี่น้อง ข้าราชการในพื้นที่ ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น จะต้องรู้ทั้งหมดที่ผมพูดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่งานของตัวเองก็ตาม ทั้งนี้พวกท่านจะได้ใช้โอกาสไปสร้างความเข้าใจเวลาชาวบ้านถามไม่ใช่เกษตรก็ตอบได้แต่เกษตร พาณิชย์ก็ตอบได้แต่ค้าขาย ไม่ใช่ ทุกคนต้องรู้ในลักษณะของการบูรณาการว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้ว แล้วจะเชื่อมกันอยู่ตรงไหน ประชาชนจะเข้าได้ช่องทางไหน อาทิ ในช่วงที่เรามีการตั้งราคากลางข้าว สมมตินะครับเพราะฉะนั้นประชาชนต้องรู้ว่า ข้าวหอมมะลิเป็นอย่างไร ข้าวขาวเท่าไหร่ ข้าวเหนียวเท่าไหร่ เพื่อเกษตรกรได้ตัดสินใจเองว่าเขาจะขายดีหรือไม่ ถ้าราคายังต่ำ เขาก็ไปจำนำยุ้งฉาง ฝากไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) เมื่อเขาพอใจราคาข้าวสูงขึ้น จึงจะนำออกมาขาย


ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ บางคนอาจจะไม่ทราบตรงนี้ ต้องลงรายละเอียดให้มากยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นที่เราทำไปทั้งหมด ก็มีทั้งคนได้ คนไม่ได้ คนได้ก็พอใจ คนไม่ได้เขาก็เสียใจ เขาไม่ได้เพราะอะไรครับ เขาไม่เข้าใจ คือไม่รู้ ไม่รับทราบ ไปถามคนนี้ก็ตอบไม่ได้ ถามอีกพวกก็ตอบไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนรู้พร้อมกันได้ทั้งหมด แต่ข้าราชการในท้องถิ่น ในพื้นที่ผมขอฝากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล ทั้งหมด ท้องถิ่นเป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ท่านต้องรู้ทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ ท่านต้องรู้ทุกช่องทาง ท่านต้องรู้ถึงโอกาส และรู้ถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ เพื่อท่านจะเชื่อมต่อความต้องการของประชาชนมาให้ถึงรัฐบาลได้

เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกผมก็อยากให้ใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมให้เยาวชนของเราได้ติดตาม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องกีฬา แล้วก็นำมาพัฒนาตนเอง และวงการฟุตบอลของบ้านเรา แต่สิ่งที่จะต้องตามมาควบคู่กันเปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน ก็คือการเล่นการพนันผมเองก็เป็นห่วง เราต้องช่วยกันตักเตือน ให้สติ ไม่มีใครรวยจากการพนันได้หรอกครับ เอาแค่สนุกสนาน ดูให้สนุก เชียร์ทีมที่ตัวเองชอบ แล้วก็นำมาสู่การออกกำลังกาย อย่าไปเล่นเลยการพนัน ไม่มีใครรวยจากการพนัน ผมขอย้ำอีกที ยิ่งกว่าโจรปล้นอีกครับ แล้วก็เป็นหนี้เป็นสินเขา มีการติดตามทวงหนี้ แล้วก็เป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีลงโทษอีกมากมาย และหลายคนก็จะเสียโอกาสโดยเฉพาะเด็กนักเรียน เยาวชน ผมขอฝากเตือนสติพวกเราทุกคน พี่น้องประชาชน เยาวชน ลูกหลานอย่าไปเกี่ยวข้องเล่นการพนันเลยครับ ต้องช่วยกัน ไม่อย่างนั้นทุกคนก็กลับมาโทษรัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็ทำงานไม่ไหวหรอก เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันให้เหลือคนทำผิดให้น้อยลงหน่อย เราก็ได้กวาดล้าง ได้ดำเนินคดีได้อย่างจริงจัง โบราณเขาสอนไว้ว่า ไฟไหม้บ้าน 10 ครั้งยังไม่เท่าเสียพนัน เพียงครั้งเดียวก็อยากหยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจในช่วงท้ายรายการนี้ครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในการชมฟุตบอลโดยไม่เล่นการพนันครับ


ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เดินทางปลอดภัยนะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้