ยอดผู้เสียชีวิต 41 คน สถิติวันแรกช่วง 7 วันเฝ้าระวังอุบัติเหตุ

Last updated: 5 ม.ค. 2561  |  4221 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยอดผู้เสียชีวิต 41 คน สถิติวันแรกช่วง 7 วันเฝ้าระวังอุบัติเหตุ

ศปถ.กำชับเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางขาออก – ประสานเร่งระบายรถ พร้อมคุมเข้มรถโดยสารสาธารณะ 

วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 10.30 น. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2560 เกิดอุบัติเหตุ 477 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 41 ราย ผู้บาดเจ็บ 500 คน กำชับจังหวัดเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางขาออกสู่ภูมิภาค เส้นทางเลี่ยง ทางลัด และทางเชื่อมต่อสู่ถนนสายหลักในจังหวัดต่างๆ เพิ่มการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะและรถกระบะที่บรรทุกคนท้ายกระบะ ควบคู่กับการเร่งระบายรถ โดยเปิดช่องทางพิเศษและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก รวมถึงคุมเข้มความปลอดภัยของรถโดยสาร พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณจุดตัดเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น  ฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ แจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 477 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 41 ราย ผู้บาดเจ็บ 500 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 42.77 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 73.62 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.15 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.44 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.12 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 30.40 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.49 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,008 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,275 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 559,639 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 89,277 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 25,628 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 25,329 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่  ศรีสะเกษ (6 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (25 คน)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณการจราจรบนเส้นทางสายหลักหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ประสานให้จังหวัดเข้มข้นการจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางขาออกสู่ภูมิภาคต่างๆ มุ่งบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างเคร่งครัด เน้นกวดขันตามหลัก “4 ห้าม 2 ต้อง” คุมเข้มเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วงแล้วขับ โทรศัพท์ขณะขับรถ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย  รวมถึงเพิ่มการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถตู้ ควบคู่กับการป้องปรามและตักเตือนรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะในลักษณะที่เป็นอันตราย พร้อมดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติเหตุรถโดยสาร โดยกำชับให้จังหวัดคุมเข้มการตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ นายตรวจผู้บริการประจำรถโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ ให้สนธิกำลังหน่วยทหาร ตำรวจ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกการจราจร โดยการเร่งระบายรถและเปิดช่องทางพิเศษให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในแต่ละเส้นทาง เพิ่มจุดบริการประชาชนจุดแวะพักบนถนนสายหลัก และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณจุดตัดเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ให้ประสานการเคลื่อนย้ายรถออกจากสถานที่เกิดเหตุ เพื่อเปิดเส้นทางจราจรให้ความคล่องตัวและป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน 

นายศุภชัย  เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุ พบว่า ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรงบนถนนกรมทางหลวงกว่าร้อยละ 44.44  โดยรถปิคอัพเกิดอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 9.20 ศปถ. จึงได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ทุกระดับ บูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น เน้นการเรียกตรวจและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางเลี่ยง ทางลัด และทางเชื่อมต่อสู่ถนนสายหลักในจังหวัดต่างๆ โดยใช้กลไกของจุดตรวจร่วมและด่านชุมชน เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงและลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ 

นายชยพล  ธิติศักดิ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัดยึดแผนบูรณาการฯ เป็นแนวทางหลักในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ควบคู่กับการวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำและการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 อย่างไรก็ตาม คาดว่าประชาชนบางส่วนเดินทางถึงจุดหมายและอยู่ในพื้นที่แล้ว จึงได้กำชับให้จังหวัดเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัยผ่านสื่อต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมุ่งดูแลความปลอดภัยบนถนนสายรอง กวดขันการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็ว โดยเฉพาะบริเวณสถานบันเทิงและสถานที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ท้ายนี้ ขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสอบสภาพรถ ศึกษาและเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย หากขับรถระยะทางไกล ควรจอดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัยหรือจุดบริการบนเส้นทางสายต่างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือสายด่วน 1669 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

============ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ============

 

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เปิดเผยว่า เมื่อวิเคราะห์ตัวเลขผู้เสียชีวิต 41 คน กลับพบว่ามีสาเหตุจากการใช้ความเร็วมากที่สุดถึง ร้อยละ 50 สูงกว่าเมาแล้วขับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า "ความเร็ว" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่ออุบัติเหตุรุนแรง นอกจากนี้สภาพแวดล้อมฝนตกถนนลื่นก็เป็นสาเหตุที่สร้างปัญหาทัศนวิสัยในการขับขี่

 

นายแพทย์ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน

สอดคล้องกับ นายแพทย์ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน ที่แสดงความเป็นห่วงถึงยอดผู้เสียชีวิต 41 คน กว่าครึ่งเกิดจากการขับรถเร็ว บวกกับปัญหาทัศนวิสัยฝนตกถนนลื่นจึงเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุ จากสถิติผู้เสียชีวิตแต่ละปีจะพบว่า ก่อนคืนวันสิ้นปีเมื่อเดินทางถึงจุดหมายมักจะจัดเลี้ยงสังสรรค์และดื่มฉลอง ผู้ขับขี่ต้องตระหนักเรื่องดื่มไม่ขับ และเจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในด่านชุมชน     

ข้อมูลทางวิชาการพบว่า การขับรถเร็วเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุรุนแรง การขับรถโดยใช้ความเร็วจะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น เพราะผู้ขับขี่มีระยะเวลาตัดสินใจน้อยลงเมื่อเกิดเหตุคับขัน และอาจทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำหรือพุ่งออกไปข้างทาง

เมื่อขับรถเร็วขึ้น ผู้ขับขี่ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น เช่นขับรถความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางรับรู้และตัดสินใจ 2 วินาที จะต้องใช้ระยะเบรคจนรถหยุด 116 เมตร  ถ้าถนนเปียกลื่นจะต้องใช้ระยะเบรคจนรถหยุดมากขึ้น หากผู้ขับขี่รถทุกประเภทยังมีพฤติกรรมขับรถด้วยความเร็ว แรงปะทะจากการชนด้วยความเร็วยิ่งเสี่ยงต่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นทั้งตัวเองและผู้ร่วมทางคนอื่น 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต เปิดเผยว่า วันนี้มีประชาชนมาใช้บริการมากที่สุด ขณะเดียวกันสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยความปลอดภัย และขอให้ผู้เดินทางรักษาวินัยจราจร สถิติผู้เดินทางวันแรก วันที่ 28 ธันวาคม มีปริมาณรถที่ออกจาก กรุงเทพมหานคร มุ่งสู่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ประมาณ 753,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 730,000 หรือ 5 % และเดินทางมากกว่าวันธรรมดาประมาณ 30 % ขณะที่โครงการนำร่อง One Transport ของกรมทางหลวงที่มีเป้าหมายอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ใน 41 สายทางทั่วประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา 

 

  1. ข้อมูลนำเสนอที่ประชุมประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ดาวน์โหลด
  2. ข้อมูลสถิติวันที่ 1 ของการรณรงค (28 ธันวาคม 2560) ดาวน์โหลด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้