Last updated: 28 ธ.ค. 2560 | 2487 จำนวนผู้เข้าชม |
สสส.-สคอ. ห่วงใยคนไทยขอให้ปีใหม่ 2561 นี้ทุกคนได้เดินทาง “กลับบ้านปลอดภัย” เตือนวินัยจราจรเป็นสิ่งสำคัญ ผนึกกำลังภาคีเร่งสร้างมาตรป้องกัน หวั่นปีใหม่ 2561 เกิดเหตุสูง ชี้ “ เร็ว-ดื่ม” สาเหตุหลัก เหยื่อวอนใช้สติ อย่าทำลายชีวิตคนอื่นเพียงเพราะไม่เป็นไร ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินย้ำรัฐต้องบังคับกฎหมายเข้มทุกมาตรการ จับตา 7 วันปีใหม่ หวังลดผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล ยืนยันพร้อมหนุนเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้เป็นวาระสำคัญของชาติ
วันที่ 25 ธันวาคม 2560 ที่ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ในการแถลงข่าว “ลดเร็ว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัยปีใหม่ 2561” นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 22,356 ราย มี 6,000 ราย ต้องกลายเป็นผู้พิการ มีคนเสียชีวิต 60 คน/วัน และจากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้เสียชีวิต 478 ราย เกิดอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง บาดเจ็บ 4,128 คน สาเหตุอันดับหนึ่ง คือ เมาสุรา ร้อยละ 36.59 (ปี 2559 ร้อยละ 34.12 ) รองลงมาคือ การขับรถเร็ว ร้อยละ 31.31 (ปี 2559 ร้อยละ 24.53)
นายแพทย์คำนวณ กล่าวต่อว่าการขับรถเร็วจะเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุสูง เพราะจะมีเวลาตัดสินใจน้อยลงเมื่อเกิดเหตุคับขัน ต้องใช้ระยะทางในการชะลอหยุดรถมากขึ้น เช่น หากใช้ความเร็วที่ 50 กม./ชม. ต้องใช้ระยะทาง 27 เมตรในการตัดสินใจและหยุดรถ แต่หากใช้ความเร็วที่ 80 กม./ชม. จะต้องเพิ่มระยะทางเกือบ 60 เมตร ตัดสินใจเบรกและหยุดรถ นอกจากนั้น การขับเร็วยังส่งผลต่อมุมมองทัศนวิสัยในการมองเห็นด้านหน้าก็จะลดลง และเมื่อผู้ขับขี่ขับด้วยความเร็วสูงบวกกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ก็จะเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลมูลนิธิไทยโรดส์ เมื่อปี 2558 ได้สุ่มสำรวจทัศนคติผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วประเทศ ต่อปัญหาการจัดการความเร็ว จำนวน 2,981 ราย พบว่า ร้อยละ 83 เห็นด้วยกับการตรวจจับความเร็ว โดยการถ่ายภาพและส่งหลักฐานพร้อมใบสั่งไปถึงที่บ้าน ร้อยละ 50 เห็นว่าโทษปรับของการขับเร็วยังไม่ทำให้คนเกรงกลัวและไม่กล้าขับรถเร็ว นอกจากนี้ ร้อยละ 87 เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษปรับการขับเร็วในลักษณะขั้นบันได ตามระดับความรุนแรงของการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ สสส.และภาคีเครือข่ายจึงพัฒนาแคมเปญรณรงค์ภายใต้ชื่อ “กลับบ้านปลอดภัย” เพื่อกระตุกความคิดเรื่องวินัยจราจร/วินัยในการขับขี่ ชี้ถึงความสูญเสียของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั้งสองฝ่าย โดยถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ที่สูญเสียคนรักจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ผ่านบทเพลง “คิดถึง” และอยากให้ทุกคนได้เดินทางกลับบ้านปีใหม่นี้อย่างปลอดภัย
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐควรจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และที่สำคัญประชาชนขาดจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ ประเด็นเมาแล้วขับ ควรมีการแก้ไขโดยการกำหนดโทษปรับให้สูงขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในร่างกาย ประเด็นขับรถเร็ว ควรมีการกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดในเขตเมืองให้ต่ำกว่าเดิมในบางพื้นที่นอกจากข้อเสนอแนะข้างต้น รัฐบาลควรกำหนดเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้เป็นวาระสำคัญของชาติ และมีการรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โดยมีการบรรจุหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบปกติ อย่างไรก็ตามสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และจะดำเนินการติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ด้วย
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
พันตำรวจเอก ม.ล.สันธิกร วรวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า นโยบายกองบังคับการตำรวจทางหลวง ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ได้แก่ การอำนวยการจราจร ในเส้นทางที่ดูแลทั่วประเทศกว่า 20,000 กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยสะดวกและคล่องตัวที่สุด การบริการประชาชน ณ จุดบริการ 198 แห่งทั่วประเทศซึ่งประชาชนสามารถแวะพักได้ เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้คอยบริการประชาชนเพื่อลดความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง จัดการจราจรด้วยกล้อง CCTV ที่จะระบายรถช่วงที่หนาแน่นให้คล่องตัว เปิดช่องทางพิเศษ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ใช้ทางเลี่ยง ลดการติดขัดแก่ประชาชนผู้เดินทางได้รับทราบ นอกจากนี้ยังบูรณาการทุกภาคกำหนดจุดเฝ้าระวังเข้มข้น กวดขันตรวจจับความเร็ว ด้วย สปีดคาเมร่า (กล้องตรวจจับความเร็ว) เพื่อตรวจจับการกระทำผิดกฎหมาย เน้นกวดขันเรื่องความเร็ว การฝ่าฝืนกฎหมาย และเมา อีกทั้งประสานความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ในส่วนของรถโดยสารปลอดภัย เข้มการตรวจคนขับรถ หากพบทำผิดจะส่งข้อมูลการกระทำผิดกลับไปที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการลงโทษตามวินัยต่อไป
พันตำรวจเอก ม.ล.สันธิกร วรวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง
นายอรรณพ หาญกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมยานยนต์ กรมขนส่งทางบก กล่าวว่า ปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา พบเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 26 ครั้ง เสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บ 52 ราย สาเหตุหลักจากขับเร็ว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กรมกาขนส่งทางบกจึงมี 5 มาตรการเข้มที่จะดำเนินการในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 คือ 1.การบริหารจัดการเข้ม เกิดติดสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยศูนย์ควบคุมและสั่งการในสังกัดทั่วประเทศกว่า 494 แห่ง เพื่อให้รถโดยสารทุกคันขับด้วยความเร็วที่กำหนด 2.ดูแลประชาชนตลอดเส้นทาง เน้นปลอดภัย บริการไม่เอาเปรียบประชาชน 3.รถพร้อม คนพร้อม รวมทั้งสแกนรถโดยสารทุกคัน ทุกเส้นทาง ทุกสถานีทั่วประเทศ 4.บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นทั้งคนขับและผู้ประกอบการ และ 5.สร้างการรับรู้ เข้าใจ ในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยแก่ประชาชน
นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อปี 2544 ตนเองและภรรยาโดนรถเก๋งชน ที่คนขับเมา ขับเร็ว ไม่มีการเบรกชนด้านหลังอย่างแรง เวลาประมาณตีสอง ทำให้กระเด็นตกไปที่กระโปรงรถและได้กระชากร่างตนเองหล่นไปใต้ท้องรถ ครูดไปกับถนนไปไกลมาก จากนั้นมีคนมาช่วยลากออกมาจาก สภาพร่างกายที่ครูดกับถนน ทำให้แขน ข้อมือ และหัวเข่าบางส่วนเหลือแต่กระดูก ลำไส้ทะลักออกมาภายนอก และกระดูกต้นคอหัก ส่วนภรรยาใบหน้าเสียโฉม ต้องทำศัลยกรรมใหม่ ตนเองสลบไป 3 วัน ตื่นมาพบร่างกายช่วงล่างไม่มีความรู้สึก อยู่ห้องไอซียูกว่า 3 เดือน ใช้เงินรักษาจนหมดตัว 2 คนรวมกัน เป็นเงินกว่า 1 ล้าน 8 แสนบาท ส่วนคนขับรถชนไม่รับผิดชอบใดๆ ตอนนั้นไม่รู้กฎหมาย ไม่มีกล้องที่จะเป็นหลักฐานพยานได้ ต่อมาได้สอบถามหมอว่าเมื่อไหร่จะหายอยากกลับบ้าน หมอตอบว่า “คุณพิการแล้ว” พอรู้ความจริงคิดฆ่าตัวตายถึง 3 ครั้ง แต่ก็มีคนมาช่วยตลอดทำให้รอด ตอนนั้นคิดอย่างเดียวไม่อยากมีชีวิตอยู่ แค้นคนเมาแล้วมาชนเรา เพราะไม่ได้ทำลายแค่เราคนเดียว แต่ยังทำลายชีวิตครอบครัวด้วย ทุกวันนี้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยตลอดเวลา จากคนที่ทำอะไรกลับทำไม่ได้เลย ต้องกลายเป็นภาระของครอบครัว
“อุบัติเหตุที่เจอมาเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสังคม เกิดจากคนดื่ม คนเมาแล้วขับ ขาดสติ คิดว่าไม่เป็นไร แค่นี้เอง สารพัดข้ออ้าง แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น จะส่งผลเสียรุนแรง และจะไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก คุณอาจจะไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่คุณอาจทำลายชีวิตตัวคุณเองหากเกิดอะไรขึ้น อยากให้หยุดคิด ไตร่ตรองถึงคนอยู่ข้าหลัง ครอบครัวยังรออยู่ที่บ้าน กินเหล้าแค่มื้อเดียว มันสามารถทำลายชีวิตคุณได้แค่เพียงแค่ชั่วข้ามคืน” นายเจษฎากล่าวทิ้งท้ายว่า ให้ทุกคนมีสติในการฉลอง วางแผนให้ดีหากคิดดื่มแล้วมาขับรถ เพราะเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุสูง ไม่มีอะไรการันตีว่าเมื่อขับรถแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าเกิดขึ้นคุณจะไม่มีวันเรียกร้องมันกลับมาได้อีกเพราะจะมีแต่ความสูญเสียเท่านั้น