รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  4763 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักเคารพทุกท่าน
 

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หน่วยพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรม “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการขุดลอกคูคลองมหานาค และคลองเปรมประชากรนะครับ ช่วยกันทำความสะอาด และพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียง บ้าน วัด โรงเรียน ควบคู่กันไปซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แล้วก็นับว่าเป็นการรวมพลังของจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีกำลังพลจิตอาสาทั่วประเทศกว่า 4 ล้านคน พร้อมที่จะเป็นพลังของชาติบ้านเมือง โดยจะช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งปัญหาการจราจร น้ำท่วม ขุดลอกคูคลองเหล่านี้เป็นต้น เพื่อจะนำพาประชาชนไปสู่ความอยู่ดีมีสุข ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครับ
 

ผมเห็นว่ากิจกรรมจิตอาสาดังกล่าวนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกถึงพลังแห่งความดี และจะนำไปสู่ความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเจ้าของพื้นที่ ชุมชน ที่มีการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่นิ่งดูดาย ไม่ปล่อยเฉพาะจิตอาสาทำงานอย่างเดียว ซึ่งก็อาจจะเป็นการร่วมแรง หรือการแสดงน้ำใจ ตามความสมัครใจด้วย นอกจากนั้นผมก็ยังเห็นว่ากิจกรรมจิตอาสานี้ จะเป็นสิ่งย้ำเตือนใจเราทุกคนอยู่เสมอว่า กิจการงานใดก็ตามที่ได้ริเริ่มไว้ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างไม่ลดละ และต่อเนื่อง มิฉะนั้น ปัญหาต่าง ๆ ก็จะสะสม แล้วกลับมาใหม่ เช่น การกำจัดผักตบชวา ขยะ สวะต่าง ๆ ซึ่งก็ย่อมเป็นความรับผิดชอบในเบื้องต้นของเจ้าของบ้าน เจ้าของพื้นที่ ก่อนที่จะมีหน่วยงานราชการ หรือจิตอาสาเข้ามาดำเนินการในเรื่องใหญ่ ๆ
 

สำหรับภัยธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี เป็นสิ่งที่ต้องคิด ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และมองไปข้างหน้าอยู่เสมอ เช่น สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางและภาคอีสาน ภาคเหนือด้วย ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มทุเลาลดลงเหลือ 12 จังหวัด ที่ยังคงน้ำท่วมขังอยู่ โดยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อน เฉลี่ยประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีการระบายออกจากเขื่อนเฉลี่ยประมาณ 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สรุปว่าวันนี้ เรามีน้ำคงเหลือกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำขั้นต่ำ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับบริหารจัดการให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในอนาคต สำหรับอุปโภค-บริโภค การเกษตร และระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝนของปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า จากนี้ก็ต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เยียวยา ทั้งหมดได้มีการกำหนดไว้แล้วในแผนการดำเนินงาน ซึ่งเราจะต้องทำให้รวดเร็วและทั่วถึง ฝากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับทุกส่วนราชการด้วยในการสำรวจ
 

สำหรับภาคเหนือนั้น ขณะนี้ก็ย่างเข้าสู่หน้าหนาว ก็จะมีทั้งภัยหนาวและไฟป่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดเดา โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาไฟป่า และหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ทุกคนต้องควบคุม ต้องระมัดระวัง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ เราก็ได้วางมาตรการต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันตามแผนบูรณาการไว้แล้ว ขอให้ทำต่อเนื่อง ให้เพิ่มมากขึ้น ผมก็อยากให้ทุกคนทำตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน เกษตรกร โดยต้องเริ่มทบทวนความเข้าใจ ซักซ้อมการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้เกิดขึ้น แล้วก็ไปแก้ไข ต้องมีการเตรียม มีการซกซ้อม ทั้งคน เครื่องไม้เครื่องมือ แผนการเคลื่อนย้ายอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น มีการประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน ในการขอความร่วมมือ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นอีก อย่าจุดไฟในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย พื้นที่ที่มีความเสี่ยงทุกคนทราบดีอยู่แล้ว
 

ส่วนภาคใต้นั้นฤดูกาลอาจจะแตกต่างจากภาคอื่น ๆ กำลังเข้าสู่ช่วงฝนตกชุก มีมรสุม น้ำฝนสะสม อันจะทำให้เกิดน้ำท่วม น้ำป่า พื้นที่เสี่ยง พื้นที่ท่วมเป็นประจำ ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งแผนเผชิญเหตุ ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ วันนี้ก็มีการย้ายทั้งคน ทั้งเครื่องมือไปเตรียมพร้อมไว้ ไปช่วยเหลือแล้วในขณะนี้ พี่น้องประชาชนทั่วไปนั้นจะต้องระมัดระวัง ร่วมมือ รวมทั้งในเรื่องของการเดินเรือ การทำประมง การท่องเที่ยวชายฝั่งอะไรเหล่านี้ การออกเรือ เราจะต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องมีการติดตามข่าวสาร การแจ้งเตือน จากทางราชการที่รับผิดชอบ ที่เชื่อถือได้ ก็อย่าไปหลงเชื่อการส่งต่อข้อความ ส่งต่อกัน ที่ไม่รู้แหล่งที่มา จนเกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ต้องมีสติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง ตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง ก่อนที่จะส่งต่อไปคนอื่น
 

ทั้งนี้ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ และห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งมีความเดือดร้อนแตกต่างกันออกไป หลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับภัยธรรมชาติ ทุกรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันนั้นเราต้องระมัดระวังมากขึ้น รับฟัง แล้วก็แจ้งเตือน ป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งเราได้มีการบูรณาการไว้ล่วงหน้าแล้ว
 

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านประเทศ มีการปฏิรูปมากมายที่เรากำลังดำเนินการอยู่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นแล้วจะได้เฉพาะพื้นฐาน เพราะพื้นฐานจะทำให้เกิดการปฏิรูปในเชิงที่เป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ เราต้องดำเนินการให้เป็นขั้นเป็นตอน มีระเบียบแบบแผน มีกรอบยุทธศาสตร์ชาติของเรา เพื่อจะมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ของประเทศ ก็คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โบราณท่านกล่าวไว้แล้วว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ก็เป็นสุภาษิตที่คนไทยเราคุ้นเคยยึดถือมาเป็นเวลานาน แต่สำหรับสถานการณ์ในทุกวันนี้ ผมก็ขอให้กำลังใจในการทำงานกับทุกคน ทุกฝ่าย ทุกระดับ ผมขอเสนอสมการแห่งความสำเร็จ ง่าย ๆ เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนใจให้มีความมุ่งมั่นอยู่เสมอ ก็คือ ความสำเร็จ ประกอบไปด้วย ความเพียรร่วมกับความร่วมมือ
 

โดยขอยกตัวอย่างความสำเร็จในระดับต่าง ๆ ดังนี้
ระดับบุคคล อาทิ ความสำเร็จของ “น้องทาม” เด็กชาย วรรธนะ คำอินทร์ ที่ชนะเลิศการแข่งขันการวาดภาพระบายสี ระดับเขตพื้นที่การศึกษาประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย คือ ไม่มีแขน แต่มีความมุมานะ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนและกำลังใจ ในการวาดภาพต้นไม้ของพ่อ จนเป็นผลสำเร็จ น่าประทับใจ เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรชาวไทย อีกความสำเร็จหนึ่ง เป็นของคณะนักเรียนไทย จากโรงเรียนคลองใหญ่วิทยาคม จังหวัดตราด ที่สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 1 (JAL Origami Plane Asian Competition) ที่เกาะมิยาโกะ จังหวัดโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 – 5 พ.ย. ที่ผ่านมา
 

ทั้งประเภทบุคคลทั่วไป และประเภททีม รวม 4 รางวัล ซึ่งต้องอาศัยความอุตสาหะ และการพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอ กว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย แล้วไปชนะผู้แข่งขันจากอีกหลายประเทศ ประกอบกับความร่วมมือกันระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทย รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นเบื้องหลังของความสำเร็จในครั้งนี้ด้วย ขอบคุณครับ ทั้งนี้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในอนาคต ย่อมเกิดจากก้าวเล็ก ๆ ในวันนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีเยาวชน นักประดิษฐ์ นักวิจัย หรือนักกีฬา อีกมากมาย ที่ชนะการแข่งขันการประกวดต่าง ๆ ในทุกระดับ ไปจนถึงระดับโลก ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอาใจใส่ เข้าไปสนับสนุน โดยมีโครงการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะดึงศักยภาพบุคคลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้มีความก้าวหน้า มีอนาคต ไม่ใช่เป็นแต่เพียงข่าว แล้วก็เลิกรากันไป เพราะผมถือว่าคนเหล่านั้นเป็นช้างเผือก เป็นเพชรน้ำเอก ที่เราสมควรลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีพรสวรรค์ร่วมกับพรแสวงให้ตรงจุด มีอีกมากมาย
 

ระดับประเทศ ก็มีความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยความเพียรของเจ้าหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วน และความร่วมมือของทุกคน ตามกลไกประชารัฐ ตามนโยบายรัฐบาลนี้ อาทิ การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยโดยธนาคารโลก หรือ Doing Business ซึ่งดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 20 อันดับ ก็นับว่ามีพัฒนาการดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามที่ทราบกันดีแล้ว ส่วนความสำเร็จที่รอคอยอยู่ข้างหน้า ก็จะเป็นเป้าหมายร่วมกันของพวกเรา ยังมีอีกมากครับ เช่น การแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งมีกฎระเบียบซับซ้อน เจ้าหน้าที่ไม่พอรองรับคำขอ กว่า 2 แสนรายการต่อปี และขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ เป็นต้น วันนี้เราก็ได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาไปแล้ว หากเราแก้ปัญหาได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือ กขร. เราก็จะสามารถเคลียร์บัญชีคำขอที่คงค้างอยู่เกือบ 9,000 รายการ นอกจากจะช่วยการเข้าถึงยาที่ได้มาตรฐานของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังช่วยลดมูลค่าการนำเข้ายา ประมาณ 5,000 ถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี
 

รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย เข้ามาเสริมได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอจากที่ประชุม กขร. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมก็ได้มอบนโยบายเพิ่มเติม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงไปดำเนินการในทันที เช่น ในเรื่องของการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การจดทะเบียนที่ดิน การนำเข้าและส่งออก รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมาย เหล่านี้เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การดำเนินการตามข้อเสนอของ กขร. ในครั้งนี้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และดำเนินการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยในอนาคต เราหยุดรอไม่ได้ วันหน้าก็ต้องพัฒนาต่อไป กฎระเบียบกติกาก็มากขึ้น เราก็อยากจะรักษาลำดับต้น ๆ ของเราไว้ อย่างเช่นในวันนี้ เพื่อจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางอ้อมอีกด้วย ก็จะส่งผลดีกับทุกคนในประเทศ ทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน หรือคนที่อยู่ในห่วงโซ่ทั้งหมด ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งหมดอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าเดียวกัน ตามที่ผมได้เล่าให้ฟังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว
 

สำหรับระดับโลกนั้น เราคงไม่อาจปฏิเสธว่าไทยก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลก เราจึงไม่อาจเป็นเอกเทศได้ หรือหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับกติกาสากลได้ เพราะวันนี้เป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจกันอยู่ รวมกลุ่มประเทศกันอยู่ หลายประชาคม หลายภูมิภาค ดังนั้น ผลสำเร็จล่าสุดจากการที่เราสามารถสร้างความเชื่อมั่น จนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงสำหรับประเทศไทย อันนี้ก็เป็นผลมาจากการบูรณาการความพยายามอย่างหนักของทุกหน่วยงาน ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องเดียวใช้เวลาถึง 3 ปี เพื่อขจัดปัญหาที่หมักหมมมานานนับสิบ ๆ ปีเป็นการร่วมมือกันทำงานเพื่อเป้าหมายสูงสุดเดียวกัน คือประเทศชาติและประชาชน ผลดีที่ได้รับก็คือกิจการบินและการท่องเที่ยวของไทย กลับมามีชีวิตชีวา สร้างมูลค่าเข้าสู่ประเทศได้อีกครั้ง อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ การสร้างความสำเร็จระดับโลก นั้นย่อมจะมีความสลับซับซ้อนขึ้น และองค์กร NGO ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้กลไกประชารัฐภายในประเทศ อาจจะยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายระดับโลกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ดีที่ผมอยากเล่าให้ฟัง เช่น ประเทศของเราได้ทำงานร่วมกับองค์กร NGO ที่ชื่อว่า “ICAN” (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons) และอีกหลายองค์กร รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในการผลักดันเรื่องการเจรจาสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามอาวุธนิวเคลียร์จนเป็นผลสำเร็จ
 

โดยประเทศไทยได้ลงนามและเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้แล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ณ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ซึ่งต่อมา ICAN ได้รับการยกย่อง และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2017 ในบทบาทดังกล่าว ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีและนโยบายของประเทศไทยมาโดยตลอด นับว่าประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จครั้งนี้อย่างน่าภาคภูมิใจด้วยครับ ที่สำคัญก็นับเป็นความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศเสมอมา
 

ความสำเร็จทั้งปวงเหล่านั้น แม้จะเป็นระดับบุคคล ก็ย่อมส่งผลดีไปถึงระดับประเทศในที่สุด ผมขอเน้นสมการความสำเร็จอีกอันหนึ่งในยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกครั้งว่า ต้องประกอบด้วยความเพียรและความร่วมมือ และก็ฝากเป็นข้อคิดอีกประการหนึ่งว่าประเทศไทยต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำในสิ่งที่ตนถนัด และทำให้ดีที่สุด ผมอยากให้เราคนไทย ได้มอบกำลังใจให้แก่กัน ดีกว่าเราจะติเรือทั้งโกลน หรือวิพากษ์วิจารณ์โดยเจตนาที่ไม่สุจริต เพื่อจะทำให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้ง แล้วบ้านเมืองของเราก็จะน่าอยู่ มีแต่ความผาสุก
 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ
สัปดาห์นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการนโยบายสำคัญ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลดีโดยตรงกับผู้มีรายได้น้อย และระดับกลาง ดังนี้
1. โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการเสียสละ หรือการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ฐานะดี ไม่เดือดร้อน เพื่อนำไปบริหารจัดการในรูปแบบกองทุน แล้วนำมาเป็นส่วนเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และยังเดือดร้อนอยู่ ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกันตามนิสัยคนไทย และวัฒนธรรมไทย ๆ ที่ชอบช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน รัฐบาลเพียงเข้ามาสร้างกลไกให้บุญกุศลเหล่านั้น เกิดเป็นมรรค เป็นผล ตรงไปยังผู้ที่สมควรจะได้รับ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ให้นั่นเอง เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุที่ลำบากอยู่ มีรายได้ในการดำรงชีพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับผู้ที่เสียสละ นอกจากจะอิ่มบุญแล้ว ท่านยังจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจ ตอบแทนการทำความดีในครั้งนี้ อีกทั้งก็จะยังได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค มองดูแล้วเดือนหนึ่งก็ไม่มากนัก แต่ถ้าคูณเป็นปีก็หลายพันบาทอยู่ครับ ทุกคนก็สามารถแสดงความจำนงจะบริจาคได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป จะบริจาคเป็นปี เป็นเดือน เป็นงวด ก็แล้วแต่ความสมัครใจ เงินส่วนนี้ก็จะไปเพิ่มเติมให้กับคนอื่น ๆโดยเฉลี่ยมากขึ้น ก็คงไม่ใช่สาเหตุเพราะรัฐบาลไม่มีสตางค์ แต่เราจะทำอย่างไรถึงจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ถึงคนที่มีรายได้น้อยจริง ๆ ที่เรียกว่าความเป็นธรรมครับ
 

2. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560 หรือ ช็อปช่วยชาติ ตามนิยามที่พี่น้องสื่อมวลชนตั้งให้ ก็จะเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศเท่านั้น แล้วนำมาขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท สินค้านั้น ต้องไม่ใช่สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสาหรับเติมยานพาหนะ เป็นต้น รายละเอียดตามที่เป็นข่าวไปแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม ศกนี้ ทั้งนี้ ก็อย่าลืมขอหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ได้แก่ มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ ในใบกำกับภาษี เป็นต้น
 

สำหรับโครงการนี้ เราไม่ได้มุ่งหวังให้มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เพียงแต่ต้องการลดค่าใช้จ่ายสำหรับพี่น้องประชาชน ที่มักจะมีการจับจ่ายใช้สอยสิ่งของที่จำเป็นสำหรับชีวิต ซ่อมแซมอุปกรณ์ประจำบ้าน ซ่อมรถ ซ่อมเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเป็นของขวัญปีใหม่ในช่วงปลายปีอยู่แล้ว ก็ขอให้พิจารณาใช้จ่ายอย่างประหยัด คนมีมากก็ใช้มาก คนมีน้อยก็ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น อย่างพอเพียง ให้เหมาะสมกับฐานะ อย่าไปคิดว่า รัฐบาลจะแจกแต่เพียงอย่างเดียว ลดให้ อะไรให้ บางครั้งนี่อาจจะเป็นนิสัยต่อไป ถ้าเราเข้าใจในระบบของธุรกิจ ก็ทราบดีว่าการที่เรามีการซื้อของมากขึ้น การผลิตก็จะมากขึ้น แรงงานในแต่ละกลุ่มกิจกรรม วันนี้ก็ในกลุ่ม SME หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่ ก็ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงาน เขาก็ได้ค่าแรงด้วย ถ้าไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนผลิต เมื่อไม่มีคนผลิต ก็เดือดร้อนไปทั้งหมด ทั้งผู้ประกอบการ แล้วก็แรงงานก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงเชื่อคำบิดเบือนต่าง ๆ เลยครับ
 

สำหรับเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือคำถามอีก 6 ข้อ ที่ขึ้นตามหน้าจอนั้น ก็จะเป็นคำถามต่อเนื่องของผม เนื่องจาก 4 ข้อเดิม ที่ผมได้สอบถามพี่น้องประชาชนไปแล้ว ก็จะรวมเป็น 10 ข้อ ทุกคนสามารถไปให้คำตอบได้ แสดงความคิดเห็นได้ หรืออาจเขียนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมความคิดเห็นก็ได้อย่างเป็นอิสระ และเปิดกว้าง ผมอยากให้ช่วยกันคิด ช่วยกันแสดงออกมาตามช่องทางนี้ได้ครับ
 

สำหรับผู้ที่เคยตอบ 4 คำถามแรกมาแล้วก็สามารถจะตอบใหม่ได้ทั้ง 10 ข้อ เรื่องนี้นั้นนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ไม่ได้มีเจตนาทางด้านการเมือง หรือจะไปสร้างความขัดแย้งกับบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองที่ดี ๆ ทำเพื่อชาติบ้านเมือง มีมากมาย เราก็สมควรสนับสนุน ผมเพียงแต่สร้างความเข้าใจ สร้างหลักคิดให้กับพี่น้องประชาชน กับกลุ่มทุกฝ่ายทุกหมู่เหล่า ที่ท่านกล่าวว่าประชาชนย่อมมีสิทธิ์มีเสียงที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองไทยนั้นคืออะไร นักการเมือง พรรคการเมืองที่ดี ก็คงต้องเห็นชอบด้วยกันในเรื่องนี้ เพราะทุกคน หลายท่านก็ตั้งใจในการที่จะทำให้บ้านเมืองเราพัฒนาไปข้างหน้า เราทุกคนต้องยอมรับข้อบกพร่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยของเราในช่วงที่ผ่านมา ก็มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น ขัดแย้งมากขึ้น วันนี้ต้องกลับมาสู่ปกติให้ได้ ทั้งนี้เราจะต้องทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกับพี่น้องประชาชน ทำผิดก็ทำใหม่ได้ หรือทำไม่ดีก็ทำให้ดีขึ้นได้ในโอกาสหน้า
 

ทั้งนี้ ผมอยากให้ประชาชนทั้งประเทศได้มีความหวัง สมหวัง มองอนาคต แล้วก็เดินหน้าไปสู่อนาคตของเรา คือประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน เราก็คงจะต้องมุ่งเน้นนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ และทำงานร่วมกับนโยบายของพรรคการเมือง ถ้าทุกพรรคการเมืองเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับนโยบายของพรรค ทำในสิ่งที่มันควรจะเป็น ก็จะเกิดการปฏิรูปประเทศ ตามที่เราทุกคนต้องการในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ที่เราจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเฉพาะเป็นพิเศษ ซึ่งก็มีหลากหลายกุล่ม หลายอาชีพ
 

ขณะนี้เราจะคิดแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป เพราะว่าไม่เข้มแข็ง เราต้องมีการจัดระเบียบ มีการสร้างระบบ สร้างมาตรฐาน กำหนดเป้าหมาย มีแบบแผน มีแผนแม่บท มีแผนปฏิบัติการ และแผนในการปฏิรูปให้ชัดเจน ว่าเราจะทำอะไร จะแก้ปัญหาอะไร แล้วก็จะให้เกิดผลกับกลุ่มใดอย่างไร และจะทำให้ทั่วถึงได้หรือไม่ เราคงต้องช่วยกัน บรรดาพรรคการเมือง นักการเมือง กับรัฐบาลและ คสช. เวลานี้ เราควรจะต้องคำนึงถึงคนไทยทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านคน มีทั้งผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ผู้หญิง คนชรา มากมาย เราต้องมีมาตรการที่หลากหลาย ที่ต้องตอบโจทย์ที่เฉพาะเจาะจง เฉพาะกลุ่มให้ชัดเจน ไม่ใช่การหว่านลงไปทั้งหมด ก็จะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรมภิบาล ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม คือไม่เข้าถึง คือไม่เท่าเทียม ก็คือทุกคนไม่เข้าถึงโอกาส ความเป็นธรรมก็คือผู้มีรายได้น้อยต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จากทางภาครัฐ ไม่ใช่ทั้งหมด ก็คือการบริหารด้านงบประมาณต่อไป
 

เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ก็จะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมภิบาล เพราะฉะนั้นบรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ทุกท่าน ผมไม่ใช่เป็นศัตรูของใคร ผมต้องการทำให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีอนาคต แล้วก็ไม่เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก ผมก็คาดหวังว่า หลายคน หลายท่านหลายพรรค จะได้มีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับตัวของทุก ๆ ท่าน ของทุก ๆ พรรค ซึ่งก็มีดี ๆ อยู่มาก มีไม่ดีอยู่ไม่มากนักหรอก ก็หวังว่าจะมีการปฏิรูปตัวเองครับ ลองฟังที่ผมพูดดูแล้วให้ลองคิดดูสิครับว่าผมมีเจตนาอะไร ผมไม่อาจจะไปทะเลาะกับใครได้ เพราะผมเข้ามา ผมจำเป็นต้องสร้างความปรองดอง ความปรองดองก็คือด้านการเมืองด้วย ทุกคนจะต้องมีการปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปพรรค เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาก่อนเสมอ ถ้าเราทำดีได้อย่างนี้เราก็จะอยู่ครบวาระ ไม่ต้องไปเตรียมการเพื่อจะเลือกตั้งใหม่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาอีกด้วย
 

ขอขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้