รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2779 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

        วันนี้ก็มาพบกันในบรรยากาศที่สบายๆ นะครับ ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 28ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 นั้น ปัจจุบันนะครับ ก็สรุปมียอดรวมประชาชนเดินทางมาสักการะพระบรมศพฯ กว่า 11 ล้านคนแล้วนะครับ เป็นที่น่าปลื้มใจนะครับ

        แล้วก็ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความอาลัยรัก ความศรัทธา และความจงรักภักดีของประชาชน ทุกหมู่เหล่า ที่มีต่อพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรนะครับ ก็ได้มุ่งมั่นเดินทางจากทุกสารทิศนะครับ เข้ามากราบถวายบังคมพระบรมศพ สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคล

        โดยทรงห่วงใยว่าประชาชนจะมีโอกาสกราบถวายบังคมพระบรมศพได้ไม่ทั่วถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ขยายเวลาการกราบถวายบังคมพระบรมศพ ออกไปจนถึงเวลา 24 นาฬิกา ของคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคมศกนี้ ซึ่งก็นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อันหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญนะครับ

        พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ไม่เพียงแต่ทรงสถิตในดวงใจปวงชนชาวไทยทุกคนเท่านั้น แต่ยังทรงได้รับการถวายความยกย่องสรรเสริญ ในระดับนานาอารยประเทศ อีกด้วย จากการที่ได้ทรงประกอบคุณงามความดี และดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์

        ทั้งนี้ ในการประชุมสันติภาพนานาชาติ 2017 เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีสนะครับ ได้มีการกำหนดหัวข้อ “การสร้างสังคมแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน มรดกในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช

        โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก และผู้แทนถาวรประจำยูเนสโก จากประเทศต่างๆ ได้ขึ้นมากล่าวถวายราชสดุดี และแสดงความอาลัย เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อันนำความซาบซึ้งมาสู่ปวงชนชาวไทย ทั้งประเทศ อีกวาระหนึ่ง ภายหลังจากที่ องค์การสหประชาชาติ ได้เคยจัดวาระพิเศษ ถวายแด่ “พ่อหลวงของเรา”

        เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปีที่ผ่านมาโดยนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ จากหลายประเทศ ได้กล่าวถ้อยคำแสดงความอาลัยด้วยตัวเองเช่นกัน สิ่งสำคัญ คือ ขณะนี้ทางองค์การยูเนสโก ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ชาติสมาชิกได้นำไปประยุกต์ใช้ ในการกำหนดแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของประเทศตนเอง

        อันเป็นเครื่องยืนยันนะครับ ว่า “ศาสตร์พระราชา” นี้ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นสากล เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ผมจึงอยากให้พวกเราทุกคนได้ภาคภูมิใจ และหวงแหน “มรดกพระราชทาน” นี้ รวมทั้งร่วมมือกันน้อมนำไปประยุกต์ใช้ ในการสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ให้กับประเทศชาติ และประชาชนสืบไปด้วยนะครับ

        พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในวันนี้ ผมขอเปิดตึก “ภักดีบดินทร์” ให้พี่น้องชาวไทยทุกคนได้ชมกันนะครับ โดยตึกหลังนี้ จะเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความจงรักภักดี” ของปวงชนชาวไทย ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะนี้ เราอยู่ในห้อง “ทองธารา” ภายใต้โดมสีทอง

        ประดับด้วยภาพศิลปกรรมสื่อผสม จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ชื่อภาพ “มหานที แห่งบารมีพระทรงธรรม” ที่สื่อความหมาย ถึงหยาดหยดจากน้ำพระทัย ที่รวมเป็นมหาสมุทรแห่งความเมตตา หล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินที่แตกระแหง ให้พลิกฟื้นสู่ความชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ ด้วยรอยยิ้มของความสุขสงบ ร่มเย็น ของพวกเราทุกคนนะครับ

        วันนี้ ผมมีเรื่องที่น่ายินดี มาเล่าให้พี่น้องประชาชนฟัง เกี่ยวกับการประกาศผลการจัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่งล่าสุดประเทศของเรา ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ ทั่วโลก หรือ “ดีขึ้น 2 อันดับ” จากปีที่แล้ว ทั้งนี้มีหลายประเด็นนะครับที่น่าสนใจผมขอยกตัวอย่าง ดังนี้

        1. ในภาพรวม ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นใน 8 ด้านหลัก และอีก 4 ด้านหลักมีคะแนนเท่าเดิม โดยไม่มีด้านหลักใด ที่คะแนนลดลงเลยนะครับ ทั้งนี้ ในส่วนที่ “ดีขึ้น” มีในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน,ประสิทธิภาพตลาดแรงงาน, การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม รวมทั้งนวัตกรรม ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และการพัฒนาต่างๆ เพื่อรองรับยุคดิจิทัลของประเทศในอนาคตด้วย

        2. ด้านเศรษฐกิจมหภาค ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งเป็นด้านเดียวนะครับ ที่เราอยู่ใน “10 อันดับแรก” ของโลก โดยมีปัจจัยส่งเสริมในหลายด้าน อาทิ การใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีกลไกในการปกป้องนักลงทุนที่ดีขึ้น, ความ สามารถในการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ภาคเอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น

        มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ตลาดทุนและสินเชื่อ ทำได้ง่ายขึ้น, ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขยายตัวดีขึ้น อันเป็นผลมาจากโครงการ “เน็ตประชารัฐ” ที่ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของทุกภาคส่วน, นอกจากนี้ ตลาดต่างประเทศ และการส่งออก สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นต้น

        และ 3. ในนโยบายยกระดับการให้บริการของภาครัฐหลายมาตรการ โดยเฉพาะเรื่อง Ease of doing business ซึ่งมุ่งเน้นการลดระยะเวลาในการเริ่มก่อตั้งธุรกิจลงนั้น นับว่าเป็นปัจจัยแรกๆ ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ส่งผลให้คะแนนในส่วนนี้ ปรับดีขึ้น และคาดว่าในปีต่อไป จะดีขึ้นได้อีกนะครับ

        เนื่องจากรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนวัน ในกระบวนการต่างๆ ลง “10 เท่า” คือ จาก 25 วันครึ่ง ให้เหลือเพียง 2 วันครึ่งนะครับ และเราต้องให้ความ สำคัญกับธุรกิจ SMEs Startups สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งบริษัทประชารัฐรู้รักสามัคคี จำกัด ทั่วประเทศ ด้วยนะครับ เพราะว่าเป็นกลไก เครื่องมือ ที่สำคัญในการยกระดับรายได้ของประเทศด้วยการส่งออก มีการผลิตนวัตกรรมสินค้า ที่จะแข่งขันกันได้นะครับ เป็นโอกาสให้ทางเลือกให้กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มอาชีพต่างๆ นะครับ ที่อยู่ในห่วงโซ่เหล่านี้นะครับ จะต้องเชื่อมโยงกันให้ได้ แล้วก็จะต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นนะครับ

        โดยสรุปแล้ว ผลการจัดอันดับดังกล่าวนั้นก็เป็นมุมมองจากภายนอกนะครับ ที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นศักยภาพและความท้าทายของเรา ในอนาคตในหลายๆ ด้านได้แก่ (1) คือความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพของตลาดการเงิน (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และ (3) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในการสร้างนวัตกรรม อีกทั้ง (4) การเพิ่มขนาดของตลาดภายในประเทศและลดการพึ่งพาการส่งออก

        ทั้งนี้ ผมเห็นว่า เราจำเป็นนะครับ ที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไก “ประชารัฐ” ตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ในทุกๆ กิจกรรม นอกจากนั้นเราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ เนื่องจากการลงทุนเพื่ออนาคตนั้น ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรและเงินทุน รวมทั้งต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่องนะครับ

        ที่สำคัญ ก็คือความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ หลายคนอาจไม่ทราบ หรือลืมไปแล้วว่าเป็นผลงานที่รัฐบาลนี้ ได้พยายามแก้ไข พยายามปรับปรุง และทำให้ดีขึ้นนะครับ เกิดขึ้นจนเป็นผลสัมฤทธิ์ จนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สำหรับในประเทศ เราก็ต้องเชื่อมั่นกันเองนะครับ ผมว่าอย่าไปแบ่งแยกว่าอันนี้เป็นนายทุน หรือเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่คำนึงถึงคนที่มีรายได้น้อย ไม่ใช่แบบนั้นเลยนะครับ เพราะทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนะครับ แล้วก็ทุกคนเข้าไปอยู่ในวงจร หรือในห่วงโซ่กันให้มากขึ้น

        เพราะฉะนั้นกลไกสำคัญก็คือกลไกประชารัฐนะครับ เราต้องร่วมมือกันให้มากกว่าเดิม เพื่อจะเข้าให้ถึงกับคนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพนะครับ เราต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกันตั้งแต่วันนี้นะครับ เริ่มจากโทรศัพท์ มือถือของท่านเอง เว็ปไซต์ที่เป็นประโยชน์ของรัฐบาล ส่วนราชการ ภาคเอกชน อื่นๆ ด้วยนะครับ ทุกกิจกรรมทุกแผนงานโครงการ จะต้องมีการบูรณาการกัน ไม่ใช่ทำโครงสร้างเชื่อมต่อเสร็จแล้ว ในเรื่องดิจิตอลนะครับ เราก็ต้องมาเสียเวลาเรียนรู้กันใหม่นะครับ เราต้องเตรียมให้พร้อมกับการทำงานในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลไปพร้อมกันด้วย เมื่อเสร็จแล้วเราก็จะใช้งานได้ทันที ไม่ต้องมาสอนมาเรียนกันใหม่นะครับ

        พี่น้องประชาชน ครับ, “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น ก็คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความรู้ ปัญญา และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และ “ทำน้อยลง แต่ได้ผลสัมฤทธิ์มากขึ้น” หรือรายได้มากขึ้นด้วยนะครับ ก็มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ เพื่อจะให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาล ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ ก็ได้แก่นะครับ

        (1) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ประมาณ 75,000 แห่ง หรือ ทุกหมู่บ้านนะครับ โดยเรากำลังเร่งดำเนินการอยู่เกือบ 25,000 หมู่บ้าน

        และ (2) โครงการระบบเคเบิลใต้น้ำ ระหว่างประเทศ ระหว่าง เอเชีย แอฟริกา ยุโรป ที่จะเพิ่มศักยภาพของวงจรสื่อสารระหว่างประเทศของไทย, ลดต้นทุนในการเชื่อมต่อวงจรต่าง ประเทศลง, เพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสำหรับทุกๆ คน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยด้วยนะครับ เป็นช่องทาง ที่สำคัญที่สุดนะครับ สำหรับผู้มีรายได้น้อยนะครับ เข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงได้เร็ว เราต้องพยายามเรียนรู้นะครับ ที่สำคัญก็คือจะ ส่งเสริมให้ไทยนั้นเป็น “ศูนย์กลางด้านดิจิทัล” ของภูมิภาคอาเซียนอีก เพราะเราเป็นแกนกลางของอาเซี่ยนอยู่แล้วทางภูมิศาสตร์นะครับ

        อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมได้กล่าวไปนั้น เป็นการลงทุนและภาพการพัฒนาในอนาคต แม้จะเป็นอนาคตที่ไม่นานนักนะครับ แต่ผมเห็นว่า “การพัฒนาตนเอง” ของเรานั้น เราไม่อาจชักช้าแม้วินาทีเดียวนะครับ ดิจิตอลสามารถจะถึงกันได้ภายในไม่กี่วินาที เพราะฉะนั้นความคิดของเราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้วันนี้ เรียนรู้วิธีการพัฒนาตนเองให้ได้ผล ในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การปลูกฝัง “นิสัยรักการอ่าน”

        ผมเคยพูดไปแล้วนะครับ ว่าหนังสือทุกเล่ม ตัวหนังสือ หรือประโยคต่างๆ ในหนังสือนั้นมีชีวิตจิตใจนะครับ เมื่อจิตวิญญาณของผู้เขียน เพราะฉะนั้นคนอ่านก็สามารถที่จะคิดตามนะครับ แล้วก็หาเหตุ หาผล ไปได้นะครับ ซึ่งจะมีความรู้สึกที่ซาบซึ้ง ลึกซึ้ง มากว่าที่จะอ่นข้อความสั้นๆ ง่ายๆ ในยูทูป หรือในอะไรต่างๆ เหล่านี้นะครับ ซี่งก็ไม่ได้เสียหายนะครับ เราต้องเอาทั้งสองอย่างมาประกอบกัน เพราะอันนี้เป็นเรื่องของรายละเอียด อยู่ในหนังสือ แต่เขาจะมารย่อลงให้ง่ายขึ้น ในระบบดิจิตอลนะครับต้องอาศัยสองอย่างนะครับ จะได้ทั้งแก่นแท้และสาระไปด้วยนะครับ

        สำหรับนักเรียน นักศึกษาแล้วนั้น การเรียนหนังสือ จากตำราเรียน ก็อาจจะเพียงพอสำหรับการสอบนะครับ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในอนาคต อันนี้เป็นสิ่งสำคัฐนะครับ หลายเรื่องที่ไม่มีสอนในหลักสูตรนะครับ เพราะสอนให้คิด เขาสอนให้สมองได้รู้จักการคิดเป็นกระบวนการ มีการคิดวิเคราะห์ ตามหลักการ ตามวิชาการในหนังสือ

        แต่การที่จะเอาทุกอย่างมาร้อยเรียงต่อกันนี่ สติปัญญา สมองของเรา จะต้องเป็นคนทำเองนะครับ เราจะต้องอาศัยการค้นคว้าหาความรู้รอบตัวด้วยตนเอง รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติ ลงมือทำด้วยตนเองด้วย เราจะได้คิดไปด้วย ไม่ใช่บางทีก็เชื่อไปทั้งหมด

        ก็ไม่มีความคิดของตัวเอง ต้องหาเหตุหาผลของตัวเองไปด้วยนะครับ เคยเรียนไปแล้ว ว่าทุกคนไม่ใช่เชื่อทุกอย่างที่ได้ยิน หรือไม่เชื่อทุกอย่างที่ได้ยิน ก็ไม่ได้นะครับ ทั้งสองอย่างต้องใช้สติปัญญาของตัวเองในการไตร่ตรอง ในการใคร่ครวญ นะครับ เพื่อจะหาสิ่งที่ถูกต้อง และนำมาใช้ นำมาปฏิบัตินะครับ เหมือนกับนโยบายของกระทรวงศึกษาเวลานี้ก็คือการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” นะครับ ของรัฐบาลในปัจจุบัน

        สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว นอกจากการสืบค้นข้อมูลผ่าน “โลกอินเตอร์เน็ต” แล้ว ผมเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังคงมีความจำเป็น และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญนะครับ ผมเคยฝากไปแล้ว ว่าบรรดาสถานีโทรทัศน์ วิทยุต่างๆ นั้นก็ควรจะสร้างขบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนไปด้วยนะครับ นอกจากความบันเทิง เมื่อมีโอกาสทุกครั้งนะครับ อยากให้ทำแบบนั้น

        ซึ่งผมเองก็ติดตามอยู่บ้างนะครับ แต่ก็ถือว่าเป็นประจำ แต่ก็อยู่บ้าน หมายความว่าไม่ได้ดูต่อเนื่อง เปิดไปเจอตรงไหนที่มีสาระสำคัญผมก็จำไว้ ผมก็จดไว้ แล้วศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมนะครับ บางอย่างความคิดก็เกิดขึ้นดีๆ หลายอย่าง นำไปสู่การบริหารราชการแผ่นดินได้นะครับ

        ผมก็ดูตัวอย่างต่างประเทศบ้าง อ่านหนังสือ บทวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านี้นะครับเพราะมีองค์ความรู้ แล้วก็เป็นข้อมูลข่าวสารของทางราชการบ้าง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อันเป็นสาธารณะประโยชน์สำหรับทุกคนนะครับ ถือว่าทุกคนเข้าถึงได้ง่าย แต่ทุกคนจะต้องอ่าน แล้วก็ไขว่คว้า หาเองนะครับ จะได้ไม่ตกข่าว

        ที่สำคัญก็คือ จะเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะว่ามีการอ้างอิงนะครับ เนื่องจากมีกองบรรณาธิการ ต้องคอยดูแล ตรวจสอบความถูกต้องอยู่เสมอ ต้องมีจรรยาบรรณนะครับ ในการที่จะกำกับดูแลในเรื่องเหล่นี้ ก็อยากขอให้เจ้าของแหล่งความรู้ดังกล่าวได้มีการรักษามาตรฐาน รักษาจรรยาบรรณ ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของตนนะครับ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดไป

        ถ้าเราทำดีแล้ว บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ประชาชนก็อ่านอยู่ดีนะครับ เพราะว่ามีชีวิตนะครับ บางคนก็ไปกลัวใน ที่คนไปติดตามในโซเชียลมีเดียมากเกินไป อะไรทำนองนี้ ถ้าท่านทำดี เขียนดี น่าสนใจ คนก็อ่านอยู่ดีนะครับ เพราะฉะนั้นต้องไปคู่กัน เลิกอันไหนไม่ได้หรอกนะครับ

        นอกจากนั้นแล้ว การจัดนิทรรศการต่างๆ โดยเฉพาะงานในระดับนานาชาติ ผมอยากให้ทุกคนมีความสำคัญให้ความสำคัญกับในเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้นนะครับ นอกจากงานจัดของมาขายบางครั้งมีงานที่สำคัญๆ หลายงานซึ่งเหมาะกับการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนโดยทั่วไป

        ไม่ว่าจะเป็นงาน Digital Thailand Big Bang หรืองาน Thai Tech Expo ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปแล้วนะครับ ก็ได้ช่วยสะท้อนศักยภาพของประเทศแล้วก็ความพร้อมของธุรกิจไทยในการที่เราจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัลไปพร้อมกับนานาประเทศด้วยนะครับสัปดาห์หน้า ก็จะมีงานนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ...

        1. งาน Innovation Thailand Week 2017 ระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ตุลาคม นี้ นะครับ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นอกจากเป็นการจัดแสดงนวัตกรรม ในหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบัน การศึกษา สังคม ในทุกระดับแล้ว

        ก็ยังมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ เกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์, การออกแบบนวัตกรรมเชิงสังคม, สตาร์ทอัพ,แหล่งเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม, การขอรับทุนพัฒนานวัตกรรม, การส่งเสริมนวัตกรรมออกสู่ตลาด,การทดสอบและมาตรฐานนวัตกรรมรวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม เป็นต้นนะครับ และ 2. ก็คืองานTalent Mobility Fair 2017 ในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคมนี้ ณ ห้อง Ballroom Hall A ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งนอกจากจะมีการปาฐกถาพิเศษและการเสวนา ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาคนและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” แล้ว ก็ยังมีการออกบูทของเครือข่าย กว่า 47 หน่วยงาน มีทั้งภาครัฐ เอกชน และ 20 มหาวิทยาลัยนะครับ มีการจับคู่ เชื่อมโยงความช่วย เหลือด้านการวิจัย ให้กับนักวิจัยและทุนวิจัยภายในงานด้วย

        ทั้งนี้ ผมอยากให้ผู้ที่สนใจนะครับ ทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชน นะครับ ได้ใช้เวลาว่างนะครับ ของตนเอง ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาก็ในช่วงปิดเทอมนะครับ ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เปิดโลกให้กว้าง เป็นโลกที่เราต้องเรียนรู้นอกตำรานะครับ นอกห้องเรียน นอกหลักสูตร

        ท่านอาจจะพบประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วอาจจะค้นพบตนเองนะครับ หรือพบกับพรสวรรค์ในตัวเองนะครับ ซึ่งบางคนก็ยังไม้ทราบเลยว่าตัวเองมีพรสวรรค์ในเรื่องอะไรนะครับ ไปสนใจในเรื่องที่บางทีไม่ค่อยเป็นประโยชน์มากนัก ก็เลยทำให้บดบังพรสวรรค์ของตัวเองออกไป จนมองไม่เห็นนะครับ

        หลายคนก็อาจจะสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ จากการแสวงหาความรู้จากนิทรรศการเหล่านี้ ที่เปิดโอกาสให้มีการพบปะ พูดคุย ปรึกษาปัญหา และเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่นะครับ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง คือ การผลิต, การแปรรูป และการตลาด ที่ผมก็พูดอยู่เสมอนะครับ

        ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในสามส่วนนี้แหละ ยังไงก็ออกนอกกรอบตรงนี้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทำยังไงจะเข้าไปได้ ก็ต้องเปิดตา เปิดหูตัวเอง ศึกษา อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์นะครับ ทุกช่องที่มีโอกาสนะครับ มีประโยชน์ทุกช่องนั่นแหละ

        อีกประการหนึ่งก็คือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เราคงไม่ต้องไปคิดอะไรที่ยากจนเกินไปนะครับ เพราะบางครั้งสลับซับซ้อน เราก็ต้องเริ่มจากการวิจัยพัฒนา ที่กำหนดจากความต้องการชีวิต ในครอบครัวในการประกอบอาชีพ เพราะหลายคนที่ประสบปัญหาเดียวกันก็คือลูกค้าของท่านในอนาคต อันนี้พูดถึงว่าการที่จะใช้ดิจิตัล ในเรื่องของการวิจัยพัฒนา

        ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น U Lease นะครับ ซึ่งผันตัวจากเด็กแว้นท์นะครับ โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับจัดไฟแน้นท์ เช่าซื้อมอเตอร์ไซต์ออนไลน์ ที่จะช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวงจรธุรกิจดังกล่าวก็คือผู้ซื้อรถ ลูกค้า ผู้ขายรถ ร้านดีลเล่อร์ และผู้ให้สินเชื่อ บริษัทไฟแนนซ์นะครับ

        ซึ่งจุดประกายความคิด ก็เกิดจากประสบการณ์ทำงาน ประกอบความรู้ในห้องเรียนจนเป็นที่มาของอาชีพใหม่ แล้วก็ไม่กลับไปใช้ชีวิตของเด็กแว้นท์อีกต่อไป ก็ทราบว่านวัตกรรมนี้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ในเวที Fintech Challenge 2017 ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

        ผมก็ได้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วนำมาเล่าในวันนี้ครับ ก็ขอชื่นชม และขอให้เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับเด็กแว๊นที่ยังใช้ชีวิตที่เสี่ยงภัย และสูญเปล่า ให้ค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วพัฒนาตนเองไปสู้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ นะครับ

        อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เครื่องสำอางจาก “สเต็มเซลล์ข้าวไทย” ที่สกัดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อข้าว มีสรรพคุณช่วยชะลอริ้วรอยและช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากผิว เป็นเจ้าแรกในโลก แสดงให้เห็นว่า “ข้าวไทย” สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมาย หลากหลายรูปแบบ ด้วยการวิจัย – การแปรรูปผลิตภัณฑ์

        ท่านรู้หรือไม่ว่า น้ำมันรำข้าว ไขรำข้าว และแป้งข้าวเจ้า ก็สามารถนำมาเป็นส่วนผสมชั้นดีของลิปสติกข้าวไทย ซึ่งมีคุณสมบัติทั้งช่วยในการบำรุงและปกป้องแสงแดด โดย “ลิปสติกจากข้าว” ของไทย นับเป็นนวัตกรรม ที่ช่วยลด หรือทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสำหรับการผลิตเครื่องสำอาง ลงได้เป็นอย่างมาก

        ทั้งนี้ ผมได้ติดตามข่าวสารจากงานประชุมนานาชาติข้าว “Thailand Rice Convention 2017” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ได้รับทราบถึงศักยภาพประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวเพื่อสุขภาพและความงาม ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ ทำให้เครื่องสำอางจากธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์เวชสำอางธรรมชาติ มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว

        ทั้งนี้ ยังมีนวัตกรรมข้าวไทยในอุตสาหกรรม เพื่อสุขภาพและความงาม อีกหลายรายการ ที่ผมขอยกตัวอย่างให้ฟัง อาทิ น้ำมันรำข้าวแคปซูล ครีมบำรุงผิว ผงพอกหน้า เคล็นซิ่ง แชมพู แป้งคุชชั่น ลิปสติก ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตและมีส่วนผสมจากข้าวไทย รวมถึง ผลิตภัณฑ์สกินแคร์จาก “ข้าว GI” เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากจังหวัดร้อยเอ็ด และมีอีกหลายแบรนด์ ที่ได้ตรารับรอง USDA Organic ไปแล้วและได้รับลิขสิทธิ์เทคโนโลยีข้าวแล้ว นะครับ

        ทั้งนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้นักวิจัย และขอกระตุ้นให้นักเรียน – นักศึกษา ที่จะเติบโตขึ้นมาในวันข้างหน้า ได้ช่วยกันเร่งหาความรู้ใส่ตัว ทั้งในตำรา จากนิทรรศการต่างๆ สำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมดีๆ เพื่อยกระดับชีวิตของคนไทย ไปพร้อมๆ กับที่รัฐบาลพยายามจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มันต้องใช้ควบคู่กันไปนะครับมุมมองของต่างประเทศ และเราจะต้องเอามุมมองจากต่างประเทศเหล่านั้นมาคิด ว่าเราจะได้ประโยชน์จากที่เขามองอย่างไร

        ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง ต่อให้เขามองดียังไงก็ตามเราก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมาหรอกครับ อย่าไปวาดหวังคอยแต่เพียงอย่างเดียว ที่กล่าวมาแล้วนั้น เราจะต้องไม่ปล่อยให้สิ่งประดิษฐ์ใดใดนั้นสูญเปล่า เรามีการคิดค้นมาตั้งหลายหมื่น เป็นแสนชิ้น แต่มันถูกผลิตน้อยมาก เพราะฉะนั้นมันก็เหมือน “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” นั่นแหละ มันก็ทำให้เกิดการผลิตไม่ได้ มันก็ใช้ได้ไม่มาก ไม่ทั่วถึง ราคาสูงมีความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ รายได้เราน้อยนะครับ เราต้องมีการสานต่อ ขยายผล เพื่อจะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ให้ได้

        เอาเรื่องที่ใช้เยอะๆ เอาเรื่องที่เกษตรกรต้องใช้ เอาเรื่องที่ผู้มีรายได้น้อยต้องใช้ ในชีวิตประจำวันเหล่านี้นะครับ ถ้าทำให้มันคุณภาพดีราคาถูกลง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆที่มันน่าใช้ ทนทาน มีคุณภาพ มาตรฐาน ผมว่ามันขายดีหมด นะครับ

        อันนี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมเหมือนกันนะครับ ไม่ใช่ว่าต้องไปคิดเรื่องใหญ่โต เรื่องที่สลับซับซ้อน เครื่องจักร เครื่องยนต์ เหล่านี้อย่างเดียว อันนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในเรื่องของอนาคตนะครับ คนปัจจุบันเขามีปัญหาเรื่องรายรับกับรายจ่ายไม่ตรงกัน เพราะต้องไปซื้อของราคาแพง ที่เราทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปคิดอะไรที่มันทำเองได้ แล้วจะได้ซื้อของแพงๆ ให้น้อยลง

        อันนี้ขอขอบคุณนะครับพี่น้องประชาชนชาวไทย ทั้งที่อยู่ในประเทศ และอาศัยอยู่ต่างประเทศ โดยได้มีการร่วมกันประกอบพิธีวันที่ระลึกวันพระราชทาน ธงชาติไทย และเป็นวันครบรอบ 100 ปีของการประกาศให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา และร้องเพลงชาติไทยอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อวานนี้นะครับ

        อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ ความผูกพัน ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ โดยไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา คนไทยทุกคนมีความรู้สึกร่วมกันถึงความรักชาติ ทุกครั้งที่เราได้เห็นการเชิญธงชาติไทยขึ้นสูงยอดเสาในทุกสนามการแข่งขันกีฬา หรือแม้กระทั่งปลายยอดเขาเอเวอเรสต์เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของโลก

        แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “ธงไตรรงค์ผืนเล็กเท่าฝ่ามือ” เคยร่วมโคจรรอบดวงจันทร์กับ “ยานอพอลโล 15” เป็นระยะเวลาเกือบ 300 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางไป-กลับ กว่า 1.4 ล้านไมล์ เมื่อ 46 ปีที่แล้ว

        ทั้งนี้ “ธงไตรรงค์” นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แทนชาติไทยและคนไทยแล้ว ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ให้ทุกคนมีสำนึกในความเป็นชาติ “ทุกลมหายใจ”

        คำว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งสำคัญนะครับ ประวัติศาสตร์คือปัจจุบัน และจะเป็นอนาคตไปด้วย เพราะว่าทุกคนจะต้องเรียนรู้นะครับ เราจะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันวันนี้ได้อย่างไรให้กับ รุ่นใหม่ในวันหน้านะครับ เพราะฉะนั้นเราควรจะทำสิ่งที่ดีดีกันในวันนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

        ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ 4 ข้อคำถามของผมนะครับ ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับจนถึงวันนี้ ก็มีจำนวนกว่า 1 ล้านคนแล้ว ผมถือว่าเป็นทุกความเห็นมีคุณค่ามาก และยิ่งใหญ่กว่าการทำโพลสำนักใดๆ ที่ผ่านมา ที่อาจจะเก็บตัวอย่างเพียงไม่กี่พันคน จากประชากร 65 ล้านคน

        ผมยังให้คณะกรรมการทำต่อไปนะครับ ขอเชิญชวนทุกคน ทุกภาคส่วน ทั้งพ่อค้าประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร ครอบครัว ได้ช่วยกันมาแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ให้มากขึ้นนะครับ คือถ้ามีอะไรที่จะเสนอแนะ หรือ มีข้อคิดเห็นประการใดก็เขียนเพิ่มเติมได้นะครับ นอกจากตอบคำถามที่ผมถามไปแล้วนั่นแหละ
ผมจะได้นำมาสู่การคิด วิเคราะห์ มาสู่การนำสู่การปฏิบัติ เพื่อจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินนั้นเป็นผลดี และเป็นที่พึงพอใจของทุกคน ในเรื่องของการการกำหนดนโยบายต่างๆ ก็จะได้ตรงตามที่พี่น้องประชาชนปรารถนา ผมก็มีความคิดอย่างนี้นะครับ คือปัญหาต่างๆ ของเรามันมากมาย ประเทศของเราเนี่ยนะครับ ไม่ว่าจะรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม การใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า ไม่ทั่วถึง ทำนองนี้

        เพราะฉะนั้นปัญหาใดๆก็ตามในประเทศไทย ผมคิดว่ามีหลายปัญหา ปัญหาใหญ่ ปัญหาเล็ก บางทีก็เล็กมาก การที่จะพัฒนาประเทศของเรานั้นผมคิดว่า ถ้าเราลองคิดดูนะครับว่า ปัญหาหลายปัญหา สามารถแก้ไขได้ด้วย ประชาชน เองนั่นแหละครับ ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ตรงไหนก็ตาม

        ที่ทุกคนก็ปรารถนาว่าเราจะต้อง บริหารจัดการตัวเองนะ การบริหารจัดการตนเอง ผมคิดว่าในระยะนี้อยากให้ทุกคนคิดว่าเราจะบริหารจดการตนเองกับปัญหาของเรานั้นอย่างไร ปัญหานั้นก็จะหมดไป 50 เปอร์เซ็นต์แล้วหละ ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน เรื่องขยะ เรื่อง ความไม่สงบเรียบร้อย การทะเลาะเบาะแว้ง ทะเลาะวิวาทกัน หรือแม้กระทั่งปัญหายาเสพติดนะครับ ถ้าทุกคนเข้มแข็งไปด้วยกัน ดูแลซึ่งกันและกัน มันก็จะลดไปได้ครึ่งหนึ่ง รัฐบาลก็จะไปเติมตรงนี้ถ้าต้องการอะไรเพิ่มเติม

        ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลมองในภาพกว้าง ภาพข้างบนลงไป ก็จะไปเติมเต็มตรงนั้นเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะแก้ปัญหาได้ยั่งยืน อยากให้ทุกคนมองแบบนี้นะครับ ไม่อยากให้มองว่า ทุกอย่างนี่รัฐบาลเท่านั้น เพราะว่ารัฐบาลคิดอะไรไปข้างเดียวบางทีมันไม่ตรง ไม่เข้าใจ

        เพราะฉะนั้นวันนี้ผมได้บอกให้ส่วนราชการทุกส่วน ไปทำความเข้าใจกับพื้นที่นะครับว่า ชุมชนหรือท้องถิ่นที่รัฐบาลอยากจะบริหารจัดการเองนั้น มันมีหลักการคิดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนหนทาง สาธารณูปโภคพื้นฐาน นะครับ หรือการบริหารจัดการน้ำ หรืออะไรต่างๆ เขาก็ค่อยๆเห็นภาพ ถ้าเป็นอย่างนี้มันถึงจะเกิดผลอย่างนี้

        แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนี้มันก็จะเกิดผลอย่างอื่น ถ้าเขาเข้าใจวันนี้ มันก็ความขัดแย้งมันก็น้อยลง เมื่อโครงการรัฐบาลลงไปก็ทำได้นะ เพราะทุกคนเห็นแล้วว่า ไอ้ที่ลงไปแล้วมันจะเกิดปัญหาอย่างที่เราเคยบอกไว้แล้ว แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ผมว่ามันไปไม่ได้หมดนะ

        มันมีผลกระทบในเรื่องของ การเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดทำแผนงานโครงการต่างๆ มันมีคนคัดค้านตลอดเวลานะครับ แต่เราต้องอย่าลืมว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่นะครับ

        ไม่ว่าจากการทำ EIA , HIA อะไรต่างๆเหล่านี้ บางทีก็เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย มีส่วนน้อยไม่กี่คนไม่เห็นด้วย แต่มันทำให้ทุกอย่างมันล่าช้าไปหมดเลย ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องพลังงาน ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การจัดที่ดิน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะว่าทุกคนขาดมานาน ทีนี้พอจัดสรรปันส่วนให้ก็ไม่พอใจ ยังไม่เป็นที่เพียงพอ

        ต้องค่อยเป็นค่อยไปสิครับ หลายคนไม่เคยมีที่ ก็จัดที่ทำกินให้ วันนี้ก็จัดให้ไปแล้ว วันนี้ก็ไอ้ระบบภายในเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นระบบไฟฟ้า ประปา อะไรก็แล้วแต่ ต้องมายื่นขอคำร้องก่อนนะครับ คือถ้าไม่มีการยื่นขอคำร้อง มันทำอย่างอื่นไม่ได้งบประมาณมันใช้ไม่ได้

        ก็เช่นเดียวกันกับที่สระแก้วนะครับ วันนี้ก็เข้าใจกันดีแล้ว วันนั้นก็เป็นการแสดงเพียงตัวอย่างเท่านั้นเอง บางทีอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ให้เห็นว่าถ้ามันสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีบ้าน มีน้ำ มีไฟอย่างนี้ เป็นเพียงตัวอย่าง แล้วก็รู้สึกว่าจะมีบ้านหลังหนึ่ง แล้วก็มีคอกวัวอยู่คอกหนึ่งนะครับ

        แต่ทั้งหมดแล้วมันต้องเริ่มต้นด้วยตัวของท่านเอง เมื่อท่านเป็นเจ้าของที่ดิน แล้วท่านก็ต้องไปขอไฟ วันนี้ผมทราบว่ามันน่าจะขอได้สัก 13 ครัวเรือน วันนี้ขอได้ 4 ครัวเรือนเอง แล้วมันก็ไม่เพียงพอที่จะต้องเดินสายใหม่ เดินเสาใหม่ มันมีกติกาอยู่ไงครับ ว่าปริมาณผู้ใช้เท่าไหร่ มันถึงจะต่อไฟได้ เดินเสาไฟใหม่อะไรเหล่านี้
นี่ไม่เข้าใจกัน ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ มันต้องไปสร้างเวทีแห่งการรับรู้ ไม่ว่าจะกฎหมาย ไม่ว่าจะกติกา ไม่ว่าจะการดำรงชีวิตอะไรต่างๆ ผมว่าวันนี้เราต้องมาทบทวนใหม่ เวลาเราตั้งเวทีประชาคม หรือคุยกัน พูดคุยกัน วันนี้ผมอยากปรองดองด้วยการให้คุยกันในสิ่งอันเป็นประโยชน์

        เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่บอกว่า เราจะขายตรงนี้ให้ได้ประโยชน์อย่างไร มองขายอย่างเดียว ไม่มองต้นทุน มันขายไม่ได้หรอกครับ เราไปมองปลายทางซะส่วนใหญ่ ต้องย้อนกลับมาดูต้นทางทั้งหมดนะครับว่าปัญหามันเริ่มจากตรงไหน แล้วปลายทางเราต้องการอะไร ต้องหาวิธีการย้อนกลับไปกลับมาเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเหมือนกับรัฐบาลทำวันนี้

        ถ้าคิดไม่ตรงกันมันแก้ไม่ได้ เราต้องร่วมมือกัน แก้ไขด้วยการบริหารจัดการของประชาชนหรือชุมชนเอง รัฐบาลก็จะเป็นผู้สนับสนุน แล้วก็มีการผลักดันโครงการใหญ่ลงไปนะครับ เพิ่มเติม เชื่อมโยงโครงสร้างต่างๆ เหล่านั้น ที่มีอยู่แล้วเดิม ถ้าต้องไปทำใหม่ทั้งหมด มันทำไม่ได้ติดขัดคนหลายคน เพราะว่าทุกคนเป็นเจ้าของหมดนะครับ

        สำหรับสัปดาห์หน้า ผมมีกำหนดการเดินทางที่สำคัญ ไปปฏิบัติภารกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามที่ได้รับเชิญไว้ล่วงหน้านะครับ ดังนั้น รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ครั้งต่อไป ก็จะมีการบันทึกเทปจากที่สหรัฐอเมริกา แล้วผมจะได้เล่าเรื่องราว สารประโยชน์ จากการทำงาน ให้ทุกคนได้ฟัง ก็ขอให้ติดตามชมด้วยนะครับ

        ในการไปต่างประเทศนั้น ผมก็ได้สั่งการให้ ช่างภาพ นักข่าว ได้ถ่ายภาพของบ้านเมืองของคนอื่นเขา ถนนหนทางตลาด บรรยากาศของเมืองเขา ให้พวกเราได้ดูด้วย จะได้คิดเปรียบเทียบกับบ้านเราเอ๊ะเราควรจะเป็นยังไง หลายอย่างถึงบอกว่าต้องอ่านหนังสือ หลายอย่างก็ต้องดูด้วยตาของตัวเอง หลายอย่างดูจากโทรทัศน์ก็ได้ สนใจประเทศอื่นเขาบ้างนะครับ

        ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเหมือนเขา แต่เราเอาส่วนดีดีของเขามาแล้วเอามาปรับปรุง ที่มันดีอยู่มากพอสมควรแล้วให้มันดียิ่งขึ้น มันก็จะเป็นประเทศที่น่าอยู่น่าอาศัย น่าท่องเที่ยวอีกยาวนาน คนเขาจะได้ไม่เบื่อนะครับ วันนี้ก็มากันมากมาย วันหน้าผมก็อยากให้เขารักประเทศไทยมากันหลายๆ ครั้งนะครับ

        วันนี้ก็น่ายินดีนะครับที่กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 แล้วก็ประเทศไทยก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่การท่องเที่ยวจำนวนมากนั้น จริงๆแล้วรัฐบาลได้แต่เพียงส่วนเดียวเท่านั้นแหละครับ เป็นเรื่องของภาษี เรื่องอะไรต่างๆเหล่านี้ แต่ในส่วนที่ได้จริงๆก็คือรายได้ที่ลงไปสู่ผู้ให้บริการในพื้นที่นะครับ
วันนี้ผมก็เน้นไปถึงชุมชนด้วย การท่องเที่ยวทางการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการท่องเที่ยวในพื้นที่หรือบรรยากาศสวยงาม หรือเป็นพ้นที่ที่เก่าแก่เชิงวัฒนธรรม เหล่านี้มันต้องกระจายไปถึงข้างล่างให้ได้ในทุกจังหวัดนะครับ

        ปัญหาของบ้านเราก็คือสถานที่ท่องเที่ยวมันห่างไกลกันมาก ต้องเดินทางหลายชั่วโมงกว่าจะไปถึงจากแห่งหนึ่งไปแห่งหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวให้ชัดเจนขึ้นว่าจะไปถึงตรงไหน 1 2 3 4 5 ให้เค้าเห็นเลยแล้วก็ไปเลย หาวิธีการที่สั้นที่สุด เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะพาไปจากตรงนี้ไปตรงนี้อาจจะมีการรับช่วงต่อ มันก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มอาชีพให้กับสิ่งที่มันตรงกลางที่มันต่อเติม ผมเคยเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศ ผมเห็นเค้าทำ นั่งรถไฟไปจอดสถานีนี้แล้วลงไปก็มีการบริการรถมารับไป ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ไปเที่ยวในพื้นที่แล้วก็กลับมาขึ้นรถไฟเที่ยวกลับอะไรทำนองนี้ ฉะนั้นก็จะเกิดรายได้ทั้งรถไฟและรถให้บริการทั้งพื้นที่ที่ลงไปท่องเที่ยวด้วย นี่ก็สามารถใช้ได้ทุกกิจกรรมนะครับ สำหรับการศึกษานอกห้องเรียนหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะได้เกิดความใกล้ชิดซึ่งกันและกันนะครับ

       การไปศึกษานอกห้องเรียนนั้นก็ไม่ใช่ว่าไปเรียนอะไรที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์มากนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ก็คือว่า เราต้องเรียนรู้บ้านของเรา ชุมชนของเรา พื้นที่ของเรานะครับ ไม่ว่าจังหวัดใดก็ตาม ลองเอานักเรียนไปเยี่ยมเกษตรกรดูสิ ไปเยี่ยมการทำนา ไปดูการปลูกพืชให้เค้าเห็นความยากง่ายในการประกอบอาชีพ และให้เค้ารู้จักอดทน ให้เค้ารู้สึกมีความสุขในการที่จะปลูกพืช ในการที่จะเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไปมองเรื่องรายได้อย่างเดียว ความสะดวกสบายอย่างเดียว แต่งตัวสวยๆ อีกหน่อยมันก็ล้นตลาดตรงโน้นนะครับ ตรงนี้มันก็ขาดคนทำไป เกษตรกรก็หายไป

        เราจะทำยังไงนั้นให้เกษตรกรมีรายที่สูงขึ้น มันนั่งเฉยๆมันไม่ได้หรอกครับ อย่างที่หลายๆคนพูดมาต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ท่านต้องพัฒนาตัวเอง ไม่งั้นรัฐบาลก็ไม่รู้จะไปช่วยตรงไหน เพราะมันเยอะ มันต้องรวมกลุ่มให้ได้

        นอกจากนั้นในเรื่องของการที่พูดถึงการทุจริตโครงการนั้นโครงการนี้ก็ต้องไปตรวจสอบนะครับ ผมไม่ได้นิ่งนอนใจหรอกนะครับ ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีหรือไม่มีในขณะนี้มันพูดไม่ได้ มันต้องไปตรวจสอบหลายประเด็น มันเป็นปัญหาละเอียดเล็กน้อย บางครั้งอย่างเช่นโครงการลงไป หลายคนหรือว่าคนส่วนใหญ่เวลาประชุมก็อยากได้เครื่องมืออุปกรณ์ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ จากประเทศโน้นประเทศนี้ อีกพวกนึงก็บอกทำไมไม่ใช้ที่มันถูกกว่าราคาถูกกว่า ท้ายที่สุดคนส่วนใหญ่ก็จะเอาของประเภทนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อของที่ส่งมาและมีราคาแพง

        ถ้าส่งได้ไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือส่งตามโบว์ชัวร์หรือตามข้อตกลงก็ไม่ต้องไปรับนะครับถ้ามันไม่ได้มาตรฐาน อันนี้แหละมันเป็นความแตกต่างทางความคิดมันก็เลยทำให้เกิดปัญหาว่ามันทุจริตกันรึเปล่า ก็ต้องไปดูนะครับโดยเฉพาะโครงการ 9101เนี่ย ผมก็ให้ไปตรวจสอบนะครับ

        มันมีประเด็นปลีกย่อยเยอะแยะเลยที่ผมเรียนไปอันนึงแล้วเนี่ย แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆนะครับ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการในลักษณะใหม่ที่ลงไปว่าจะมีคนที่ยังไม่เข้าใจ บางคนที่อาจจะไม่ไว้วางใจนะครับ แต่ผมก็พยายามหรือยืนยันว่าจะพยายามปราบปรามการทุจริตให้มากที่สุด แต่ขอให้ไปดูรายละเอียดข้างล่างด้วยนะครับ ไม่ใช่ฟังอะไรมาทางแล้วก็แชร์กันต่อไป ก็ให้เวลาเค้าตรวจสอบหน่อยนะครับ

        ก็ขอขอบคุณอีกครั้งนะครับขอให้ “ทุกคน” มีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับเยาวชนก็ขอให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์นะครับ ดูโทรทัศน์ดูทีวี อ่านโซเชียลมีเดียอะไรก็แล้วแต่ลองอ่านแล้วก็คิด อันไหนไม่มีประโยชน์ก็ตัดทิ้งไปซะบ้าง บางทีมันก็ทำให้เราเสียสมาธิ ให้เราหาประสบการณ์นอกตำราเพิ่มเติม คิดว่าเราจะเอาที่โรงเรียนมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ยาก นั่นคือความแตกต่าง ใครทำได้มากก็จะได้รับผลประโยชน์มาก ทำงานได้เก่งกว่าเค้า ความคิดดีกว่า
ถ้าท่องอย่างเดียวไปสอบ สอบได้ที่หนึ่งแต่ทำงานไม่ได้หรอกครับเพราะว่าใช้ตำราเหล่านั้นใช้วิชาการเหล่านั้นไปทำงานไม่เป็น ความคิดไม่ต่อเนื่อง วิเคราะห์ไม่เป็น ขบวนการไม่มี นะครับก็ฝากให้ลูกหลานทุกคนได้คิดตามนะครับ

ขอบคุณนะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้