รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2478 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

          ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2559 และบัดนี้ สำนักพระราชวังได้มีประกาศขอเปิดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ ในวันที่ 30 กันยายน 2560 นี้ เป็นวันสุดท้าย  ทั้งนี้ เพื่อจะได้ดำเนินการจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้สมพระเกียรติต่อไป นั้น

          ผมขอแสดงความชื่นชมพี่น้องประชาชนจากทุกภาคส่วน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทั่วฟ้าเมืองไทย ใต้ร่มพระบารมี โดยเฉพาะ “จิตอาสา”ที่ได้ร่วมกัน “ทำดีเพื่อพ่อ” ถวายแด่ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย”ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา   ก็มีผู้เข้าถวายสักการะพระบรมศพ จำนวนกว่า 10 ล้านคน สำหรับห้วงเวลาที่เหลืออยู่ อีกประมาณ 1 เดือน นับจากนี้ เราทุกคน ยังคงมีงาน “ขั้นสุดท้าย” สำหรับภารกิจร่วมกันในครั้งนี้ ทั้งในส่วนตนและในส่วนรวม  อาทิ การปลูกดอกดาวเรือง หรือดอกไม้ที่มีสีเหลือง ณ ที่พักอาศัย อาคารสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ออกดอก เบ่งบานทั่วแผ่นดิน ในช่วงงานพระราชพิธีสำคัญนี้  ไปจนถึง การซักซ้อมการปฏิบัติ ในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะในขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า “ริ้วขบวน” ตามโบราณราชประเพณี   เพื่อให้มีความพร้อมและงดงาม“ประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์”  อันจะเป็นภาพความทรงจำ ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และของโลกต่อไป

          ในการเดียวกันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ ด้วยทรงห่วงใยว่า ประชาชนจำนวนมาก จะไม่สามารถเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ จึงมีพระราชประสงค์ให้ทุกคนได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีแด่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นครั้งสุดท้ายอย่างทั่วถึง  โดยควรจะได้สัมผัสบรรยากาศและความรู้สึกเช่นเดียวกัน อย่างพร้อมเพรียงทั่วทั้งประเทศ  คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง รวมจำนวน 85 แห่ง  ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 9 แห่ง  ในส่วนภูมิภาค จำนวน 76 จังหวัดๆ ละ 1 แห่ง  โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบัน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามแผนงาน และมีความก้าวหน้าไปมาก  รวมทั้งได้จัดให้มีพิธีบวงสรวง “นพปฎลสุวรรณฉัตร”  (ฉัตรทอง 9 ชั้น) เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเมรุมาศจำลอง ทั้ง 85 แห่งทั่วประเทศ  ซึ่งทั้งหมดนี้กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 15 ตุลาคม ศกนี้  โดยพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัดจะสามารถร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ พื้นที่ซึ่งทางจังหวัดของตนกำหนดไว้เช่นกัน ตามความสมัครใจ  ซึ่งทุกจังหวัดและอำเภอ ได้จัดทำแผนอำนวยความสะดวก ให้แก่ประชาชนที่มาร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์  อาทิ อาหาร น้ำดื่ม ห้องน้ำ แพทย์ พยาบาล  การรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการจราจรและอื่น ๆ  เป็นต้น  ทั้งนี้ เพื่อให้การแสดงความอาลัยและความจงรักภักดีในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ สามารถสืบค้นข้อมูลและติดตามข่าวสาร ได้จากเว็บไซต์และสายด่วน

          สำหรับโครงการ “จิตอาสาเฉพาะกิจในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ” ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันนั้น ยังคงเปิดรับสมัครต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้  อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า การทำดีเพื่อพ่อทำได้ทุกวันทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ โดยเฉพาะการทำเพื่อส่วนรวม  สังคม  ประเทศชาติ  ยกตัวอย่าง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้มีพระดำริบูรณะวิหารปฏิบัติธรรม วัดธาราทิพย์ประดิษฐ์ ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” โดยทรงตั้งพระทัย จะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ตามศิลปะล้านนาไทย แบบร่วมสมัย ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติและไตรภูมิจักรวาล  รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก”  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะเรื่อง “บุคคลเปรียบด้วยน้ำ 7 จำพวก” ซึ่งเป็นปริศนาธรรม เปรียบเสมือน “คนตกน้ำ” กับ “การเอาชนะอุปสรรค การถอนตัวออกจากกองทุกข์กองกิเลส” เป็นต้น  นอกจากนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ได้ลองติดตามศึกษา “ศาสตร์พระราชา” ในรูปแบบหนังสือเสียง ชื่อ“The Visionary ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต”สำหรับการ “สานต่อที่พ่อทำ”  คือ การสืบสานพระราชปณิธาน ผ่านวิธีคิดในการทำงานและการดำเนินชีวิต ที่ได้ทรงทำไว้เป็นแบบอย่าง ให้ประชาชนของพระองค์ท่านได้นำไปปรับใช้เป็นธรรมะประจำใจในการดำเนินชีวิตด้วย
         
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

          การบริหารราชการแผ่นดินนั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมโยง และสอดคล้องกัน จากระดับท้องถิ่น จังหวัด ภาค และประเทศ  แม้ว่าจะมีหลายกลไกที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว อาทิ ระบบราชการกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีรัฐมนตรีรับผิดชอบ สายการปกครองบังคับบัญชา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรับผิดชอบ รวมทั้งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีความจำเป็น และเห็นความสำคัญอย่างมากในการลงพื้นที่ทุกภูมิภาค เพื่อพบปะกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับทราบปัญหา ซึ่งทุกครั้งที่ไปก็คงไม่ใช่เฉพาะว่าผมไปพบพี่น้อง แล้วก็ได้พูดคุยกับทุกท่านที่มาตรงนั้น ผมก็ได้ให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน  หรือปัญหาต่าง ๆ หลายท่านที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสได้พบกับผมโดยตรง ซึ่งผมก็ได้ให้ศูนย์ดำรงธรรมให้สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ทุกเรื่อง ครั้งที่แล้วผมก็รับมาหลายปัญหาเช่นเดียวกัน  ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่แก้ปัญหาไปแล้ว อย่ามองว่าไปเพื่อทำงานการเมือง ไปทำประชานิยม ไปทำคะแนนเสียง  ผมไม่ได้ต้องการอย่างนั้น  ผมต้องการทราบความต้องการที่แท้จริง  และก็หาวิธีการทำงานในการตอบโจทย์ของประชาชนตามแนวทางศาสตร์พระราชาด้วย

          การลงพื้นที่ภาคกลางครั้งนี้ ผมและคณะรัฐมนตรี ได้สร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจมีโอกาสพูดคุยและขอความร่วมมือกับกลไกประชารัฐในพื้นที่เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาภาคกลาง เรามี 6 ภาค อย่าลืมปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายของภาคกลางคือ  การพัฒนาภาคกลางสู่มหานครทันสมัยและเป็นฐานการเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เส้นทางขนส่งสองฝั่งทะเลดังนี้

          (1) การเสริมสร้างกรุงเทพมหานครเป็นมหานครทันสมัยระดับโลก ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง โดยเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การก่อสร้างถนนวงแหวน การจัดระเบียบการใช้พื้นที่ การคุ้มครองแหล่งอนุรักษ์และทัศนียภาพของเมือง การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอารยสถาปัตย์  การแก้ไขปัญหาขยะ น้ำเสีย  น้ำท่วม รวมทั้ง การสร้างระบบป้องกันภัยอาชญากรรมและภัยก่อการร้าย  เป็นต้น

         (2) การพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและสร้างความเชื่อมโยงให้กระจายไปทั่วทั้งภาค  ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาอย่างยั่งยืน การรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ อาทิ วัดพระแก้ว ชายทะเลชะอำ หัวหิน และสนามกีฬา  สนามกอล์ฟระดับโลกทางด้านตะวันตกของภาค การเพิ่มมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น เช่น ตลาดย้อนยุค ตลาดน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ กลุ่มประวัติศาสตร์และศาสนา กลุ่มดูแลสุขภาพและแพทย์แผนไทย  ตลอดไปจนถึง การเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แหล่งผลิตสินค้า OTOP และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร  เป็นต้น

         (3) การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อที่เราจะสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน  ประกอบด้วย การเสริมศักยภาพศูนย์วิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อยกระดับไปสู่ Smart Farming,การพัฒนามาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล  รวมทั้ง การเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการส่งเสริมธุรกิจ SMEs และ Startup  เป็นต้น

          (4) การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน  โดยการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน โบราณสถาน และน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง การขุดลอกลำน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำและเพิ่มความสะดวกการขนส่งทางน้ำการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในกลุ่มจังหวัดตอนล่างของภาค  รวมทั้งการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทางตะวันตกของภาค  เป็นต้น

          (5) การเปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อจะเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมากับระเบียงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในประเทศไทย โดยการพัฒนาถนนมอเตอร์เวย์ และรถไฟ ที่จะเชื่อม กรุงเทพ-กาญจนบุรี การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจของภาคบนแนวเส้นทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับ EEC การเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานด่านชายแดน

          (6) การพัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาค  เพื่อจะเสริมสร้างเสถียรภาพและลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ  ด้วยการเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทั้งรถไฟความเร็วสูง  รถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ 
  
          ทั้งนี้ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้แทนภาคเอกชน, ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น “พื้นที่ภาคกลาง” และผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ นั้นก็เป็นการรับฟังแนวความคิดในการพัฒนาตนเองของจังหวัดต่าง ๆ ที่กลไก “ประชารัฐ” ในท้องถิ่น ได้ทำการบ้านมาล่วงหน้า เพื่อจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ซึ่งมีหลายโครงการที่ตรงกับสิ่งที่ผมได้กล่าวไปแล้วคือเกิดความเชื่อมโยงเสริมสร้างการเติมเต็มแผนงานของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งบางส่วนเป็นสิ่งที่เกินขีดความสามารถของพื้นที่ จำเป็นที่รัฐบาลต้องยื่นมือมาช่วยเหลือ ตัวอย่างโครงการสำคัญ ๆ เหล่านั้น ได้แก่

           (1) ด้านการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสถานีขนส่งทางบกของกรมการขนส่งทางบกในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีภูมิสถาปัตย์ ที่เหมาะสมและกลมกลืนกับความเป็นเมืองมรดกโลก

           (2) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดอ่างทองขอให้จัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณชุมชนริมคลองโผงเผง และจังหวัดเพชรบุรีขอให้มีการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ลงอ่างเก็บน้ำทุ่งขาม ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่

           (3) ด้านการเกษตรจังหวัดสมุทรสงครามขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แปรรูปอาหารทะเลครบวงจร และจำหน่ายอาหารทะเล เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เช่า เพื่อทำการค้าขาย

            (4) ด้านการท่องเที่ยว จังหวัดชัยนาท ขอเป็นส่วนหนึ่งในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขอให้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยดำเนินการเป็นโครงการประชารัฐ “เนรมิตอยุธยา”ด้วยการบูรณะโบราณสถาน ต้นไม้ ส่งเสริมการเดินทางโดยจักรยาน เรือรถราง โดยสร้างจุดแวะพัก และดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
ผมเห็นว่าทุกโครงการมีประโยชน์ในภาพรวมของภูมิภาค และประเทศทั้งสิ้น จึงได้สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมโดยให้มีการทำงานอย่างบูรณาการกัน ทั้งในส่วนแผนงาน งบประมาณ ระยะเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการ หากงานในงานใดก็ตามสามารถจะปรับพิจารณาแผนเดิมที่มีอยู่แล้วได้ โดยให้ความสำคัญ ความเร่งด่วนให้สอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าวด้วย ในพื้นที่นั้นด้วย โดยผนวกด้วยยุทธศาสตร์ชาติที่เกื้อกูลกัน เช่น การเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยว โดยลงทุนโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ระหว่างแหล่งท่องเที่ยว ในเมืองหลัก  เมืองรอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล ได้แก่ (1) ท่าเรือ Ferry เชื่อมพัทยา-หัวหิน (2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมอเตอร์ เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา นครปฐม-ชะอำ และบางใหญ่-กาญจนบุรี (3) โครงการรถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน  หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และลพบุรี-ปากน้ำโพ และ (4) โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เป็นต้น นี่คือประโยชน์ของการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการทำงานร่วมกับภาคและจังหวัด ซึ่งก็เปรียบเสมือน “วงมโหรีปีพาทย์” ถึงแม้ว่ามีเครื่องดนตรีดีด  สี  ตี  เป่า มีความหลากหลาย  และต่างก็เล่นตามโน้ตของตัวเองในเพลงเดียวกันคือสรุปว่าทั้งวง ต้องบรรเลงเพลงทำนองและจังหวะของเพลงนั้น จึงจะเป็น “เสียงดนตรี” ที่ไพเราะ ผสมผสานกัน

          ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงทำงานให้แล้วเสร็จเราจะต้องมีผลงานตามกำหนดเวลาเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติทุกภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือสำเร็จอย่างสัมฤทธิ์ จับต้องได้เป็นรูปธรรมไม่ใช่ทำให้แล้ว ๆ ไป นั่นก็ถือว่า การบรรลุวัตถุประสงค์ของการทำงานร่วมกัน ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ บางอย่างนั้นรัฐบาลไม่อาจดำเนินการได้ ครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยระบบราชการเพียงอย่างเดียว ที่ยังคงมีข้อจำกัด หลาย ๆ อย่าง ดังนั้น เราก็ริเริ่มให้มีกลไกประชารัฐที่จะช่วยเติมเต็ม และลดจุดอ่อนเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม การทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ และสื่อมวลชน อันจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ยังคงต้องการให้ปรับตัวเข้าหากัน ทั้งนี้ กุญแจสู่ความสำเร็จ คืออุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นคือ ผมได้มีโอกาสได้พบกับบรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีความยินดีมีการพบปะพูดคุยกัน เรียกว่าการปรองดองในขั้นต้น คือไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นพวกกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน เรายังไม่พูดถึงตรงนั้นเลยเราเพียงแต่ว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในวันหน้า เพราะว่าท่านเหล่านั้นเป็นนักการเมืองอาชีพ คือทุกคนอยู่ในกระบวนการบริหารราชการแผ่นดินมา ทุกพรรค เราก็ยินดีที่พบปะพูดคุยแต่บางท่าน บางพรรคไม่อยากพูดคุยด้วย ผมไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน

         เพราะฉะนั้น วันนี้ผมต้องกันที่พยายามลดความขัดแย้งที่หลาย ๆ คน เรียกร้องว่า รัฐบาลไม่พูดคุยไม่ฟังใคร ไม่ฟังนักการเมืองผมก็ฟัง พอฟังเสร็จก็หาว่าผมจะพยายามที่จะไปดึงมาเป็นพวกอีก ดึงมาพูดคุยกันเพื่อให้เข้าใจว่า รัฐบาลกำลังจะทำอะไรอยู่แล้ว เมื่อท่านเป็นนักการเมืองเข้าบริหารประเทศท่านจะเห็นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รัฐบาลนี้ทำไว้อยู่แล้ว ท่านก็รับไปสานต่อให้สำเร็จผมก็เป็นรัฐบาล คสช. ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น ถึงแม้ว่าจะ 3 ปี ก็ตาม บางอย่างมีปัญหามาหลาย 10 ปี ผมยกตัวอย่างเช่น ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้งเราก็เน้นในเรื่องแรก ปีแรก ๆ คือการจัดหาแหล่งน้ำซึ่งต้องทำมากมายในหลายพื้นที่ ทั้งแหล่งน้ำที่เพื่อการเกษตร หรือแหล่งน้ำที่จะเก็บกักน้ำหรือบรรเทาน้ำท่วมที่จะเป็นเรื่องของการขุดที่กักเก็บน้ำ ขุดร่องระบายน้ำและซ่อมซ่อมแซมต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นจำนวนมาก คงรับทราบกันมาบ้างแล้วว่ามีสถิติมากมาย เพิ่มพื้นที่การเกษตรมามากมายคราวนี้ปัญหาของการแก้ปัญหาของน้ำท่วม ต้องแก้อย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมาก เราก็ทยอยดำเนินการ

         วันนี้เรามีแผนในการระบายน้ำภาคกลาง โดยเฉพาะยิ่งในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ลงสู่ทะเลได้เร็วในบริเวณพื้นที่ อำเภอบางบาล และบางไทร ถึงแม้ว่าจะเป็นแผนของใครก็ตาม เราก็ต้องมาปรับเหมือนกันไม่ใช่ว่าผมจะไปตัดของทุกคนทิ้งหมด เพียงแต่ว่าเอามาดูว่าเหมาะสมอย่างไร จะทำได้หรือไม่ จะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือเปล่าไม่ใช่หมายความว่า พอจะทำแล้วก็ประกาศทำเลย ทำไม่ได้หรอก
เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา อาจจะติดปัญหาเหล่านี้ ผมก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจในการทำแผนให้ละเอียดทำและนำสู่การปฏิบัติให้ได้ ก็ขอความร่วมมือประชาชนด้วย หลายอย่างที่กำหนดไว้แล้วเดิมทำไม่ได้ เพราะไม่ได้มีรายละเอียดไว้ก็สร้างความรับรู้ไม่ได้ ประชาชนไม่เข้าใจเราถึงใช้เวลาเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเรื่องของการจัดหาที่เก็บน้ำ การทำแก้มลิง การขุดรอบคูคลอง ทุกอย่าง พันกันไปหมดในเรื่องของกฎหมาย ในเรื่องของการทำ EIA การทำในเรื่องของการรักษาระบบนิเวศน์ต่าง ๆ เหล่านี้ พันกันไปมาด้วยความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องมาคลี่ออกต้องใช้เวลาพอสมควร หลายท่านก็บอกทำไมไม่ทำ แต่ทีแรกผมขออนุญาตชี้แจงทำความเข้าใจตรงนี้ คงไม่ใช่แค่ระบายน้ำให้เร็วขึ้นอย่างเดียว เพราะจะเป็นคลองที่เก็บกักน้ำไว้ด้วยมีทั้งประตูน้ำตลอดเส้นทางและประตูน้ำปลายทางก่อนจะออกทะเลด้วย ถ้าน้ำน้อยเราก็ปิด ถ้าน้ำมากก็เปิดระบายออกไป เพื่อจะมีการป้องกันน้ำทะเลที่จะรุกเข้ามาในประเทศด้วย อันไหนที่ทำก่อน อันไหนที่ได้ทั่วถึงมาก เราต้องเร่งทำก่อน เพราะประชาชนเดือดร้อนหลายพื้นที่ ตรงนี้ก็อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้านบาท เหมือนกัน ก็ดำเนินการได้โดยเร็วก็จะเป็นการดี ก็ขอข้อมูลในช่วงปีนี้ด้วย จะเริ่มดำเนินการทำความเข้าใจ สำรวจออกแบบต่าง ๆ ให้รวดเร็ว จะได้เร็วขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้แล้วเดิม อันนี้ก็ขอให้ฝากทำความเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่แค่ระบายน้ำให้เร็วขึ้นอย่างเดียว เพราะจะเป็นคลองสำหรับเก็บกักน้ำไว้ด้วย มีทั้งประตูน้ำตลอดเส้นทาง  แล้วประตูน้ำทางปลายทาง ก่อนจะออกทะเลด้วย ถ้าน้ำน้อยก็ปิดซะ ถ้าน้ำมากก็เปิดระบายออกไป ก็เท่านั้นเองนะครับ เพื่อจะมีการป้องกันน้ำทะเลที่จะรุกเข้ามาในประเทศด้วย

          เพราะฉะนั้น ขอให้มองในทุกมิติ ถ้าเสนอกันมาแบบนี้ผมก็สามารถจะทำให้ได้ แต่ถ้าบอกว่าไม่ควรทำเลยไม่ต้องทำ มันยุติทั้งหมดและทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ทุกคนก็มีผลกระทบกับน้ำท่วมฝนแล้งมาโดยตลอดก็อยากให้พิจารณาว่า อันนี้เป็นแบบอย่าง ถ้าเราทำได้ตรงนี้แล้วเห็นผลสัมฤทธิ์ออกมาในภาคอื่น ๆ ก็น่าจะทำได้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนซึ่งต้องมีการระบายน้ำออกข้าง ๆ โดยการเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เพื่อจะเก็บกักน้ำในช่วงสุโขทัยที่เวลามาก ก็จะลงมาภาคกลางลงมาเขื่อนเจ้าพระยา เป็นน้ำต้นทางลงมายังไงก็ทะลุกันหมดแล้วก็สะสมไปร่วมกับน้ำทุ่ง น้ำฝน ที่ตกมากเกินไปหรือที่พายุเข้าก็ท่วมกันทุกพื้นที่ต้องมองภาพรวมของประเทศด้วยไม่ใช่เฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งหรือภาคใดภาคหนึ่ง เพราะมีผลกระทบทั้ง 25 ลุ่มน้ำ

พี่น้องประชาชน ครับ

          การลงพื้นที่ 2 จังหวัด ในภาคกลางครั้งนี้ ผมก็ได้เห็นศักยภาพของจังหวัดมากมายแล้วมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงด้วย ผมถึงบอกว่าจะต้องเป็นภาค สร้างผลประโยชน์กันให้ได้ เพิ่มมูลค่าให้ได้ตามศักยภาพที่จังหวัดมีอยู่ ผมได้รับทราบตามโครงการสำคัญของจังหวัด ทั้ง 2 จังหวัด ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราไปในครั้งนี้เป็นหลัก แต่ต้องเชื่อมโยงจังหวัดอื่นมาด้วยในจังหวัดกลุ่มภาคกลาง ผู้ว่าก็ได้มาประชุมทั้งจังหวัด เราก็สามารถนำมาขยายผลระดับประเทศได้ ทั้งนี้ การปกครองในจังหวัด ก็ไม่ต่างจากการปกครองประเทศมากนั้น เพียงเป็นการย่อส่วนทั้งในมิติพื้นที่ ความรับผิดชอบ และปัญหา เท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้ ผมได้รับทราบโครงการสำคัญในจังหวัด ที่สามารถนำมาขยายผลในระดับประเทศ หรือสร้างความเชื่อมโยงกันได้ในอนาคต อาทิ  
          (1) โรงเรียนเกษตรกรชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรี ที่นำความรู้เชิงวิชาการมาสอนชาวนา ข้าราชการ และผู้ที่สนใจ ในเรื่องกระบวนการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ เรียนรู้การใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช เพื่อลดและงดการใช้สารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อชาวนา ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม  ที่ผ่านมาชาวนาพยายามเร่งผลผลิตด้วยสารเคมี เพื่อให้มีรายได้สูงแต่ต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดจากโรคภัยในการใช้สารพิษที่มีการใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องไม่ตรงประเด็น บั่นทอน และไม่ยั่งยืน ต้นทุนผลิตสูง    
           นอกจากนี้ ยังเน้นการปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ให้รู้ว่าจากเดิม การหว่านพันธุ์เมล็ดข้าว 25 กิโลกรัมต่อไร่นั้น ถือว่ามากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดการกระจุกตัวของต้นข้าว ทั้ง ๆ ที่ 1 เมล็ดสามารถเติบโต เป็นต้นข้าว ได้กว่า 10 กว่ากอ ถ้าทำแบบเดิมต้นข้าวก็จะแย่งอาหารกัน ไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแล้ว ปลูกห่างกันมากขึ้น ก็จะใช้ปุ๋ยน้อยลง ลดต้นทุนลง ศัตรูพืชก็ลดลง ต้นข้าวก็เจริญงดงามขึ้น ผลผลิตก็มากขึ้นก็เป็นการลดต้นทุนไปด้วยในตัว ที่สำคัญ มีการเสริมวิชาการองค์ความรู้ต่าง ๆ จนได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัย และครบวงจร “ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง” ทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่มการผลิตเข้าสู่ตลาดได้ ตลอดจนสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล บรรดาเกษตรกรก็อยากให้มีทุกจังหวัด ผมได้สั่งการกับกระทรวงเกษตรไปแล้วถ้าเราจะใช้ สวก. นั้นขยายงานตรงนี้ไปก่อนได้ไหมหรือการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วเดิม จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกันมากนัก เพราะมีอยู่แล้วทุกจังหวัดทุกหลายพื้นที่
          (2) โครงการเปิดน้ำเข้านา  ปล่อยปลาเข้าทุ่ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของชาวนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรมชลประทานในการจัดสรรและส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ให้เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวตามระบบ “การปลูกข้าวเหลื่อมเวลา” และทันกำหนดระยะเวลาที่นัดหมายล่วงหน้า ทั้งนี้ ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละครั้งก็จะมีการผันน้ำเข้าทุ่งนา ประมาณ 3 เดือน ซึ่งนอกจากจะมีการปล่อยปลา ให้เกษตรกรได้ทำการประมง เป็นอาชีพเสริมแล้ว น้ำที่ท่วมทุ่งก็จะช่วยนำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทุ่งนาอีกด้วย หลักการที่สำคัญ คือ การใช้ทุ่งนาเป็นพื้นที่ “แก้มลิง” รองรับน้ำหลากทั้งนี้พื้นที่เหล่านั้นก็เก็บเกี่ยวไว้ทันเวลาไปเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เราถือว่าเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่มากมีอยู่หลายแบบด้วยกันมีพื้นที่หลายแสนไร่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เป็นจำนวนล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบน้ำท่วมซ้ำซากได้อีกด้วยถ้าหากเรามีการระบายน้ำได้เร็วขึ้นมากขึ้นมันก็จะได้ไม่ต้องเก็บไว้นานก็สามารถไปเก็ยในคลองระบายน้ำนั้นได้ด้วยตามประตูน้ำต่าง ๆ

          นอกจากนี้ การลงพื้นที่ “ภาคกลาง” เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย และการมอบแนวทางการทำงานของรัฐมนตรีต่างๆ ก็เป็นประโยชน์อย่างมาก เชื่อมโยงการทำงาน “แนวดิ่ง” ลงไปประสานกันในแนวระดับ ซึ่งผมก็ได้รับรายงานอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงต่าง ๆ อาทิ
          1. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้มีการติดตามการยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP “มะขามป้อมแช่อิ่ม” เครื่องสำอางสมุนไพรในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง การแปรรูปผลิตภัณฑ์แห้ว, การคัดเลือกสายพันธุ์ใบบัวบก ปุ๋ยไส้เดือนดิน วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้ง การพัฒนาแอปพลิเคชั่น “Museums Pool” (มิวเซียมส์ พลู) ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว ในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นตัวช่วยในการชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนตัว เช่น มือถือ  แท็ปเล็ต เป็นต้น  ทั้งนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ข้าราชการ และผู้ที่สนใจ ร่วมในงาน “THAI TECH EXPO 2017” ระหว่างวันที่ 20 - 24 กันยายนนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา  ซึ่งมีการจัดแสดงผลงาน ศักยภาพด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมฝีมือคนไทย กว่า 700 ผลงาน ที่พร้อมขับเคลื่อนสู่ภาคการผลิต รองรับการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”  อีกทั้ง มีกิจกรรมการซื้อขาย - เจรจาธุรกิจ ทั้งระดับชุมชน - SMEs – ธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยนะครับ ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจไปร่วมชื่นชม ร่วมมือก็จะเกิดขึ้นได้ผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เราทำมากมาย
          2. กระทรวงยุติธรรม  ติดตามกองทุนยุติธรรม ในการช่วยเหลือประชาชน ราว 3,000 ครั้ง เป็นเงินเกือบ 150 ล้านบาท  เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน แก่ผู้เสียหายและจำเลย ในคดีอาญา เป็นเงินรวม 600 กว่าล้านบาท การไกล่เกลี่ยหนี้ในชั้นบังคับคดีในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เพื่อเป็นการลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี และทำให้เกิดความสมานฉันท์สามัคคีในสังคม รวมจำนวน 5,500 กว่าเรื่อง เป็นผลสำเร็จร้อยละ 87  รวมทั้ง การป้องกันและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ในหมู่บ้าน ชุมชนกว่า 13,000 แห่ง  เป็นต้น เรื่องปัญหายาเสพติดมีทุกพื้นที่เลยนะครับ ต้องลดลงให้ได้ ต้องขจัดให้หมดสิ้นไป วันนี้ก็เร่งรัดให้ฝ่ายความมั่นคง พลเรือนตำรวจ ทหาร ให้แก้ปัญหาเหล่านี้นะครับ เรื่องยาเสพติดให้ได้โดยเร็ว เป็นบ่อนทำลายประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
         3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ติดตามความคืบหน้า “โครงการเน็ตประชารัฐ” ซึ่งมีเป้าหมายส่งมอบ 24,700 หมู่บ้าน  ภายในสิ้นปีนี้ โดยสิ้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาสามารถส่งมอบได้กว่า 15,000 หมู่บ้าน เร็วกว่ากำหนดราว 4,000 หมู่บ้าน  ซึ่งในพื้นที่ภาคกลาง มีเป้าหมาย 1,514 หมู่บ้าน ดำเนินการแล้วเสร็จเฉลี่ย ร้อยละ 60  นับว่าเป็นไปตามแผน ในการพัฒนาระดับหมู่บ้าน ตำบล ที่รัฐบาลถือว่าเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ของการพัฒนาในทุกเรื่อง คือ เริ่มตั้งแต่ระดับฐานราก  นะครับ อันนี้ก็ขอให้ส่วนราชการในพื้นที่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย เมื่อเสร็จแล้วใช้ประโยชน์อย่างไร กลุ่มใดบ้าง ช่องทางเป็นอย่างไร เขาไม่เข้าใจทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่าไปรอว่าทำให้เสร็จทำเสร็จแล้วค่อยไปสอนก็ไม่ใช่ ต้องสอนตั้งแต่วันนี้ไม่ว่าเสร็จหรือไม่เสร็จ เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนก่อนครับ สำคัญที่สุด
 
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ

            การพัฒนาในอดีตในศตวรรษที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดการเติบโตแต่เพียงทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่สมดุล ขาดการบูรณาการ  จนเราต้องสูญเสียความสมดุล ในหลายมิติ (1) ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้ (2) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ การเคารพกฎหมาย การบังคับกฎหมาย เลยเกิดความขัดแย้งไม่ว่าจะประชาชนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เราเห็น อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ก็พยายามแก้มาโดยตลอดให้ดีขึ้นมา มีนัยยะสำคัญ (3) ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี ซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดความแปลกแยก ล้าหลัง บางพวกน้อยอกน้อยใจ ว่าตัวเองไม่ได้รับความสนใจไม่ได้รับการพัฒนา ผมเห็นว่าเราต้องปรับทัศนะคติ  มุมมองใหม่ โดยรัฐบาลนี้ น้อมนำศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม  ซึ่งผมเน้นย้ำว่า ผมให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาระดับฐานราก ตำบล หมู่บ้าน  เหมือนการสร้างบ้าน สร้างเจดีย์ ที่ต้องใส่ใจกับความแข็งแรงของฐานราก ดังนั้น สิ่งที่เราต้องร่วมมือกัน เร่งดำเนินการ ดังนี้.
            (1) การให้ความสำคัญกับสถาบันศึกษา  นักเรียน นักศึกษา  สำหรับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของพวกเขา ในมิติสังคม เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น  มีแผนการพัฒนาชุมชน ด้วยการกำหนดอนาคตของตนเอง หรือระเบิดจากข้างใน และให้ทุกคนในสังคมเล็ก ๆ นั้น ได้รับการดูแล อย่างมีระบบและทั่วถึง ทั้งผู้สูงอายุ  คนพิการ  เด็กกำพร้า  และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม  หากทำได้เช่นนี้ ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด หรือแม้กระทั่งปัญหาขยะ หรือปัญหาความไม่เรียบร้อยก็จะไม่ถูกละเลย ทุกคนมีการเคารพกฎหมายที่เคร่งครัด ก็ไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน อันนี้ฝากมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย ขอให้ดูแลท้องถิ่นให้มากที่สุดในพื้นที่ ทั้งเด็กทั้งครู ต่าง ๆ ต้องไปศึกษาทำความเข้าใจ พื้นที่ของตัวเอง รักในพื้นที่ รักภูมิลำเนาของตัวเอง ทุกคนก็มาเรียนรู้ได้แล้วก็กลับไปพัฒนาบ้านเมืองของตัวเอง
            (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง 3 ลักษณะทางกายภาพ คือ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน น้ำ ไฟ คมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศทางสังคม คือ การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และประชาธิปไตยที่เป็นสากล และทางข้อมูลข่าวสาร คือ ฐานข้อมูลกลางภาครัฐ การเข้าถึงข้อมูล และการวิเคราะห์ Big Data สำหรับกำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
            (3) การเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์กองทุนต่าง ๆ ในระดับตำบล หมู่บ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ทั่วถึงเป็นธรรม ไม่ทุจริตให้โปร่งใสให้ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างสังคมแห่งโอกาส ให้ทุกคนอ่านออกเขียนได้ มีอาชีพ มีรายได้ ที่เพียงพอเข้าถึงระบบสาธารณสุข ที่มีคุณภาพ เข้าถึงนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ ต้องอาศัยการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสามัคคี นอกจากนี้ เราต้องสร้างสังคมแห่งปัญญา ควบคู่ไปด้วย ใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการเงินและการออม ด้านดิจิทัล เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม และด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อการรับรู้และสื่อสารกัน อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

           ทั้งนี้ สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศ ในปัจจุบันนั้น “ด้านเศรษฐกิจ” ล่าสุดตามหลักการ วิชาการ หรือตามหลักเศรษฐศาสตร์ หลายอย่าง ปรับดีขึ้นนะครับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรในหลายหมวดปรับเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี หัวมันสำปะหลังสด ปาล์มทะลาย และยางแผ่นดิบก็มีราคาที่เพิ่มขึ้นมาสมควร ส่วนด้านธุรกิจ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 แสดงว่าทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี จากมาตรการของภาครัฐด้านภาษี เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน   สอดคล้องกับที่ U.S. News ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกด้วย ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 นี่แหละ คือความเป็นจริง ฉะนั้นที่พูด ๆกันอยู่ก็ขอให้ฟังทางผมบ้าง หลายประเทศก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทยในเวลานี้

         ทั้งนี้ รัฐบาลก็จะเดินหน้าส่งเสริมในเรื่องของการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกครั้ง อันนี้ผมก็เป็นกังวลกับประชาชนระดับล่าง ระดับฐานล่างซึ่งยังอาจไม่เชื่อมโยงตรงนี้ เราก็พยายามอย่างเต็มที่ ทั้งมาตรการในการช่วยเหลือ มาตรการในการกำหนดราคาข้าวเปลือก หรือสินค้าการเกษตรบางอย่างได้ ตามพันธสัญญาที่เราสามารถทำได้เอง ที่ไม่ไปละเมิด WTO อะไรต่าง ๆ เราก็ทำตามมาตรการเหล่านี้ นี่คือความแตกต่าง อย่ามาบอกว่าประชานิยมเหมือนกัน คนละเรื่องกัน ถ้าอะไรก็ตามที่ทำได้แล้วไม่ขัดหลักการของ WTO หรือหลักการพันธสัญญากับนานาประเทศ ทำได้ทั้งหมด แต่ปัญหาคือเราจะหาเงินได้อย่างไร ผมก็พูดอีกข้างหนึ่งว่า ถ้าเราสนับสนุนส่งเสริมเรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา เรื่องเกษตรมาก ๆ เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ แต่จะทำอย่างไรให้เขาเข้มแข็งได้ ไม่ใช่ให้อย่างเดียวไปเรื่อย ๆ จนเขาเหมือนกับเขาเคยชินมาก ๆ แล้วถึงเวลาพอไม่ได้แบบนั้นก็มีปัญหากับการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างนี้ไม่ได้ โทษเขาไม่ได้เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาหลาย ๆ รัฐบาลก็ไม่ได้คิดตรงนี้ อาจจะไปคิดในแง่ในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือมาก ๆ อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่าเราจะหารายได้ที่ไหน ที่ผมพูดหมายความว่า ผมบอกว่าช่วงนี้เรายังไม่มีเงินมากพอที่จะทำให้มันดีมากกว่านี้อีกหลายเท่า แต่เราก็ทำให้มันดีขึ้น นโยบายรักษาพยาบาล การศึกษา แต่มันไม่ดีขึ้นทั้งหมด ความต้องการความขาดแคลนมากเกินไป เพราะว่าไม่ได้แก้อย่างเต็มระบบอย่างครบวงจรในช่วงที่ผ่านมา วันนี้เราต้องแก้ไขวงจรเหล่านี้ คราวนี้เงินต้องเพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มขึ้น ผมก็บอกว่าวันนี้ทุกคนเรียกร้องทั้งหมดก็บอกว่าไม่มีเงินให้ จะมาบอกว่าให้ไปตัดตรงโน้นมาใส่ตรงนี้ ตรงนี้มาใส่ตรงโน้น แล้วตรงอื่นก็ไม่ต้องทำก็ไม่ได้อีก
ผมจึงอธิบายต่อไปว่าเราต้องไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของเรา หารายได้เข้าประเทศ เก็บภาษีจากรายได้ใหม่เหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้น การลงทุนใหม่ที่มีราคาสูงมากยิ่งขึ้น เพื่อจะนำเอาเม็ดเงินเหล่านั้นมาเติมตรงนี้ เพราะฉะนั้นหลายคนก็มาบิดเบือนเอาว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับคนรายได้น้อย ให้ความสำคัญกับการซื้อ กับการลงทุนขนาดใหญ่ เอื้อประโยชน์กับคนที่มีรายได้มาก ทำนองนี้ ก็ตีกันอยู่แบบนี้ ไม่มีประเทศไหนหรอกครับ เอาเงินไปทุ่มด้านไหนด้านหนึ่งอย่างเดียว ก็มีมากน้อยตามความสำคัญไป แต่ต้องทำทุกอัน ขอให้เข้าใจด้วย วันหน้าจะได้ไม่วุ่นวายอีก ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม กว่า 28,000 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้ ประกอบไปด้วย (1) โครงการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ทั่วไป เพื่อส่งออกต่างประเทศ (2) โครงการส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตอุตสาหกรรม ซึ่งก็เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก EEC และ (3) โครงการส่งเสริมการขยายกิจการผลิตเส้นใยไฟเบอร์กลาส เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปีเหล่านี้เป็นต้น สำหรับโรงงานในปัจจุบัน รัฐบาลนี้เข้ามาก็ได้มีการกำหนดชัดเจนว่าเข้ามาต้องลงทุนอย่างไร สร้างโรงงานภายในกี่ปี สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้าไม่ทำตามห้วงเวลาดังกล่าวนี้ ก็สามารถเรียกคืนได้ หรือทำอะไรที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็หยุดการปฏิบัติได้ หยุดหรือเรียกว่าปิดโรงงาน ทั้งชั่วคราว ปิดถาวรก็ได้ นี่ต้องชัดเจน ไม่ใช่ไม่ได้มีมาตรการควบคุมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ผ่านมา แล้วก็ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย แล้วมีการตั้งสถาบันวิจัยและการพัฒนาได้ มีคนเข้ามาทำงานได้เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลง

           สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ภาครัฐก็ได้พยายามเร่งดูแลไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หลาย ๆ ท่านก็เข้าใจว่าให้แต่บริษัทใหญ่ ๆ เพราะบริษัทเล็กเราก็แยกกลุ่มออกมาเป็นเรื่องของ SMEs ต้องเชื่อมโยงกับบริษัทใหญ่ได้อย่างไร ในเรื่องของการให้ทุน ในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา เหล่านี้ต้องดูทุก Sector และก็ทุกเป้าหมาย ทั้ง ใหญ่ กลาง เล็ก ทั้งหมด เราก็ได้มีการสนับสนุนในเรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ให้สะดวก  ปัญหาที่มีที่ผ่านมาไม่ได้จัดระบบไว้ชัดเจน   การขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยพร้อม หลักฐานการทำบัญชีก็ไม่ค่อยเรียบร้อย การใช้เทคโนโลยีก็จำกัด วันนี้เราก็พยายามที่จะให้เขาได้มีการพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ ทีนี้ก็ติดปัญหาว่าหนี้สินเยอะ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เหล่านี้ก็พยายามไปสู่จุดที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนให้ได้ เพื่อจะสามารถขอกองทุนได้ นำมาใช้ประโยชน์ได้ในการลงทุนและปรับปรุงกิจการฟื้นฟูกิจการได้อย่างรวดเร็วขึ้นทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ก็ได้ปรับขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางประชารัฐให้เร็วขึ้น ภายในเดือนกันยายน 2560 นี้ คาดว่าจะสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 9,900 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ ก็ต้องไปดูว่าไม่ได้เพราะอะไร ด้วยกฎหมาย ด้วยความไม่พร้อม หรือด้วยศักยภาพ ด้วยสินค้าไม่น่าจะผลิตออกมา พอผลิตออกมาแล้วไม่ได้ผล ไม่มีนวัตกรรมเหล่านี้ ก็ต้องปรับปรุงเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่มาขอแล้วทุกคนจะต้องได้ทั้งหมด ก็มีกติกา อย่าทำอะไรที่ดูไร้กติกา พอวันหน้าก็พังไปอีกเหมือนเดิม ใช้เงินไปสิ้นเปลืองสูญเปล่าอีก ก็กู้ไปแล้วก็หาทางชำระหนี้อะไรด้วย เราก็พยายามลดดอกเบี้ยอะไรต่าง ๆ พอสมควรแล้ว

           นอกจากนี้ มีเรื่องที่น่ายินดี คือ กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลการจัดอันดับประเทศไทย ในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา สรุปว่าไทยจัดอยู่ในระดับที่ “มีความสำเร็จมาก” จากปีก่อนหน้า ที่ไทยเคยถูกระบุว่า มีปัญหาการบังคับใช้แรงงานเด็กในกิจการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล รวมถึงมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะมีพนักงานตรวจแรงงานไม่เพียงพอ และยังไม่สามารถสื่อสารในภาษาของชนกลุ่มน้อยได้เท่าที่ควร ปัญหาเหล่านี้ถ้าเราทำจริง ๆ ก็แก้ได้ แล้วทำไมไม่ทำมาตั้งแต่ต้น ต้องเสียเวลามาถึงวันนี้ กว่าจะฟื้นฟูขึ้นมาได้ ในปีนี้ สหรัฐฯ มองว่า เรามีความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างมาก ด้วยการปรับปรุงกฎหมาย ที่กำหนดอายุขั้นต่ำของการทำงานในภาคเกษตรและภาคประมงทะเล การเพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำความผิด รวมถึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ และคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวและปัญหาค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง ยังได้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อขจัดและป้องกันการใช้แรงงานเด็กอย่างเต็มที่ และได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในการจัดทำสถิติจำนวนแรงงานเด็กภายในประเทศด้วย ซึ่งการประเมินในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้กับฝ่ายไทยหลายข้อแต่เราก็ได้เริ่มดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว และก็จะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาที่ยังหลงเหลืออยู่ให้หมดไปโดยเร็ว และช่วยให้ไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ไม่กีดกันทางการค้าขาย ระหว่างประเทศกับไทยในอนาคตด้วย
 
สุดท้ายนี้ 
           เนื่องด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day) เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยให้เริ่มปีนี้เป็นปีแรก และครบรอบ 100 ปีของการประกาศใช้ “ธงไตรรงค์” นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และความเป็นชาติเอกราช อีกด้วย ทั้งนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้ร่วมภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ที่มีลักษณะเฉพาะของเรา นอกจากยิ้มสยามซึ่งแสดงถึงน้ำใสใจจริงแล้วก็ยังมีความซื่อสัตย์สุจริต ประกอบไปด้วย เหมือนนายยิ่งยศ ศรีเกตุ และนายไพโรจน์ แย้มกลีบ เจ้าหน้าที่ประจำรถขยะ จังหวัดนนทบุรี ที่เก็บเงินสดไว้ 2 แสนบาท แล้วก็พยายามตามหาเจ้าของ และการไม่ละความเพียร – ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เหมือนคุณทองใบ ชัยสวัสดิ์ นักกีฬาว่ายน้ำสาวทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองแรกของไทย และน้องเดฟ อภิสิทธิ์ ทาพรม ที่สามารถคว้าเหรียญทองและทำลายสถิติอาเซียนในกีฬากรีฑาระยะ 1,500 เมตรชาย ความพิการทางสมองของนักกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ในมาเลเซียในปีนี้ได้สำเร็จ มีอีกหลายท่าน ถ้าติดตามข่าวการแข่งขันจะเห็นว่าเราได้เหรียญทองขึ้นมาอยู่ในระดับ 3 ก็พยายามต่อไป คนได้แล้วก็แสดงความยินดีด้วย ที่เหลือก็ต้องพยายามต่อไป ขอบคุณทุกคนที่เป็นนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยผู้สนับสนุนสมาคม ผู้คุมทีม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เจ้าหน้าที่ทุกคน ก็ขอให้คนไทยทุกคนเป็นกำลังใจ ไปช่วยกันชื่นชมรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองของเราตลอดไป

           อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่เราต้องขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เราก็จำเป็นต้องมีการส่งเสริมสนับสนุน โดยการใช้ระบบดิจิทัลมาทำให้ทุกอย่างดีขึ้น วันนี้รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ได้จัดงาน Digital Thailand Big Bang 2017 อาคารเมืองทอง อิมแพคอารีน่า ขอเชิญชวนทุกคนช่วยไปดูด้วย ความทันสมัย โลกแห่งอนาคต และปัจจุบันก็ต้องมีการใช้อยู่แล้ว เราจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ระบบไอที ระบบดิจิทัล รัฐบาลได้ทำโครงสร้างอะไรต่าง ๆ ไว้แล้ว ท่านต้องเรียนรู้ตรงนี้ เมื่อรัฐบาลทำตรงนี้เสร็จก็ใช้ได้ทันที เพื่อจะเพิ่มรายได้ขอตัวเองได้อีกทางหนึ่ง ในการใช้สติปัญญาในการที่จะใช้ประโยชน์จากการขายสินค้าออนไลน์ การตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้ เพื่อจะไปสู่ SMEs แล้วก็โตไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไป
 
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ปลอดภัยทุกคน สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้