รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1762 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
                จากสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงตลอดสัปดาห์ ที่ผ่านมา ประกอบกับมีพายุโซนร้อน “ตาลัส” และ “เซินกา” ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย  ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า ค่าเฉลี่ยในฤดูฝนของแต่ละปี เกิดน้ำไหลหลากและท่วมขังในพื้นที่ 44 จังหวัด “ทั่วประเทศ” ในช่วงที่ผ่านมา มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า3 แสน 7 หมื่นครัวเรือน หรือราว 1 ล้าน 2 แสนคน ปัจจุบัน สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว 34 จังหวัด คงเหลือ10 จังหวัด ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ในขณะนี้
               ในการดังกล่าวนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  “สภานายิกา” สภากาชาดไทย พร้อมทั้ง พระบรมวงศานุวงษ์ “ทุกพระองค์” ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบทั้งในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการ “เราทำความดีด้วยหัวใจ หน่วยพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา” ทั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเป็นการด่วน ณ พื้นที่ประสบภัย โดยการประกอบอาหารกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชน รวมทั้งพระราชทานน้ำดื่ม และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ จากสภากาชาด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก อัญเชิญชุดธารน้ำใจ ถุงยังชีพ และสิ่งของพระราชทานมอบแก่ประชาชนผู้ประสบภัย อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพระราชทานอาหารสัตว์ ให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยอีกด้วย ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และความปลื้มปิติแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยเป็นล้นพ้น ขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ 
               นอกจากนี้ ได้ทรงเน้นเรื่องการนำโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติให้สมบูรณ์ในทุกพื้นที่นะครับ การปลูกหญ้าแฝก การตรวจสอบอ่างเก็บน้ำ เขื่อนกั้นน้ำนะครับให้แข็งแรง ซ่อม เสริมสร้างให้รวดเร็วนะครับ หากปัญหาเกิดขึ้นพร้อมทั้ง ให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันดูแล ทางราชการก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์โดยเปิดเผยทุกเรื่องให้ชัดเจน อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ อะไรที่ทำไหว ไม่ไหว ทั้งนี้ เพราะว่าทุกอย่างนั้น เป็นการก่อสร้างมาในอดีตที่ผ่านมา  บางสถานที่อาจใช้เวลายาวนานมาแล้ว วันนี้อาจจะไม่ทัน หรือแก้ปัญหาได้ไม่พอเพียง เนื่องจากสถานการณ์มากเกินปกติ ขอให้ทุกคนเข้าใจถึงปัญหา หากเป็นภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือไม่ใช่สถานการณ์ปกติแล้ว บางอย่างเราก็แก้ไขด้วยการทำโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ให้สมบูรณ์เกิดขึ้น จะได้เกิดความยั่งยืนอีกด้วย
               ในการนี้ รัฐบาลได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งฯ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยภาคใต้ ที่ผ่านมา นับเป็น “ศาสตร์พระราชา” ใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อเป็นแนวทางพระราชทาน สำหรับดำเนินการอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งสาธารณภัยอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เรื่องที่ (1) คือการกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และทันกาล แม้ในพื้นที่เข้าถึงยาก ก็มีหลายหน่วยงานที่ต้องพยายามเข้าไปให้ถึงให้ได้ (2) ดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการบูรณาการกัน ของทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน ทั่วถึง และ (3) คือ “เตรียมพร้อม” ให้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์  มีระบบการแจ้งเตือนภัย “ล่วงหน้า” และมี “แผนเชิญเหตุ” ที่สมบูรณ์ในทุกสถานการณ์ รวมทั้งให้มี “แผนการฟื้นฟู” หลังวิกฤติการณ์นั้น ๆ อีกด้วย
               ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่พี่น้องประชาชน และเป็นกำลังใจในการทำงานของทุกหน่วยงาน  ผมขอเล่าถึงการดำเนินการของภาครัฐที่ผ่านมา โดยสังเขป  เราแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ก็คือ “ก่อน – ระหว่าง – หลัง” การเกิดอุทกภัย หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ก็ตาม ดังนี้
              “ขั้นก่อน” จะเป็นการติดตาม  เฝ้าระวัง และสร้างการรับรู้ให้ประชาชน  โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือมาตรวัด สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล, การประเมินสถานการณ์ และพยากรณ์ อันได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เป็นต้น ในการดำเนินการร่วมกันประเมินจุดเสี่ยง และแจ้งเตือนภัย จากน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม คลื่นลมทะเลรุนแรง เป็นต้น  ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งกลไกภาครัฐและผู้นำชุมชนไปจนถึงประชาชนทุกครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเตรียมการรับมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนส่วนบุคคลเบื้องต้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการต่อไป  รวมทั้ง Infographic โซเชียล มีเดียต่าง ๆ ของทุกหน่วยงาน ก็ผลิตขึ้นมา เพื่อแนะนำการปฏิบัติของผู้ประสบภัย ให้ปลอดภัยและปลอดโรค เช่น การระวังไฟฟ้า สัตว์เลื้อยคลาน การดูแลยานพาหนะ หาที่จอดรถต่าง ๆ ที่ไหนได้บ้าง ในขั้นการเตรียมการ การขับถ่าย  การทิ้งขยะ การรักษาสุขอนามัย  และการป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ เป็นต้น  ที่เป็นประโยชน์  ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม นำ “ความรู้” เหล่านั้น ไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอีกด้วย  ขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสารจากทางราชการให้มาก  การแจ้งของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทุกคนจะได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า
               สำหรับขั้นตอนที่ 2 คือ “ขั้นระหว่าง” ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือ ซึ่งดำเนินการบนหลักการสำคัญ คือ จะต้อง “ปฏิบัติโดยทันที ไม่ต้องรอสั่งการ”  เป็นอำนาจการตัดสินใจ ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมอบหมายไปแล้ว อาทิ การระดมทรัพยากร  เครื่องจักรกล บุคลากร การจัดกำลังเจ้าหน้าที่ การตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชนมายังพื้นที่ปลอดภัย การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว การช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีพ เช่น แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม  เครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาทุกข์ ทั้งทางกายและจิตใจ เหล่านี้เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ทั้งหมดนั้นบรรจุอยู่ใน “แผนเผชิญเหตุ” ที่จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า แล้วปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ที่อาจจะมีการพัฒนาตลอดเวลา ซึ่งในครั้งนี้ผมเห็นว่า “สื่อโซเชียล” จะต้องมีบทบาทอย่างมากนะครับ ในการเผยแพร่ข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อผู้ประสบภัย และการทำงานของเจ้าหน้าที่ ผมขอชื่นชมไว้ด้วย ณ ที่นี้  
               แต่สำหรับบางข้อมูล ที่มีการส่งต่อ ๆ กันไป ซึ่งอาจจะไม่อ้างอิงแหล่งที่มา หรือไม่มีความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล อันนี้ก็ขอให้เป็นบทเรียน ในเหตุการณ์ในอนาคตว่าควรงดส่งต่อหรือตรวจสอบความถูกต้องก่อนเสมอ เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือซ้ำเติมสถานการณ์โดยไม่เจตนาได้  อยากให้เสนอข่าวให้ประชาชนคลายความตื่นตระหนก แล้วให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา เป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ส่วนการเร่งระบายน้ำออกนอกพื้นที่น้ำท่วมนั้น
                ผมได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแผนการใช้น้ำในอนาคตด้วย เช่น นับตั้งแต่วันนี้ อีก 3 เดือน จะสิ้นสุดฤดูฝน ดังนั้นการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องเก็บกักน้ำไว้เพิ่มเติม ราว 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอ สำหรับอุปโภคบริโภค ในภาคการผลิต และรักษาระบบนิเวศ ตามประมาณการความต้องการใช้น้ำ ในปีหน้า 2561 คือ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วย ภูมิภาคอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ใช่เห็นน้ำมากก็ผลัก ดันน้ำทิ้งจนหมด ระบายจนหมด ไม่คำนึงถึงการใช้น้ำในอนาคต ต้องระมัดระวังไปอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
                สุดท้ายคือ “ขั้นหลัง” คือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ก็เป็นการปฏิบัติตาม “แผนฟื้นฟู”  เพื่อให้พี่น้องประชาชน กลับมาใช้ชีวิตปกติสุข ให้ได้โดยเร็วที่สุด เช่น การสำรวจความเสียหาย การซ่อมแซมบ้านเรือน  ยานพาหนะ  เครื่องมือประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ การบูรณฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน  รางรถไฟ  สนามบิน  สะพาน  ฝาย ทำนบ  อ่างเก็บน้ำ ทางระบายน้ำ และสถานที่ราชการ เป็นต้น ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานได้มีการเร่งสำรวจความเสียหาย ในโอกาสแรก ๆ เพื่อแก้ไขในทันที  รวมทั้งสนับสนุนให้ “พลังประชารัฐ” ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น เอกชน NGO  อาชีวะ จิตอาสาต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือประชาชน เสริมหน่วยงานราชการต่าง ๆ  สำหรับพี่น้องประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการต่าง ๆ นั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้
                1. มาตรการด้านการคลัง อาทิ เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ดินราชพัสดุที่ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติและอื่น ๆ เป็นต้น
                2. มาตรการทางด้านการเงิน อาทิ การให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย การพักชำระหนี้ การผ่อนผันและการประนอมหนี้  รวมถึงการบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการเร่งประสานการชดเชยค่าสินไหมทดแทน กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย เป็นต้น
                3. มาตรการภาษีได้แก่การยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ยานพาหนะ  ซึ่งโฆษกรัฐบาลได้แถลงข่าวไปแล้ว  และการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดา บริษัทห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ได้ร่วมกันบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผ่าน “กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย” สำนักนายกรัฐมนตรี โดยในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้จัดงาน “ประชารัฐร่วมใจ ใต้ร่มพระบารมี” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเปิดรับบริจาคเงินเข้ากองทุนฯ ดังกล่าว เมื่อช่วงเย็นวันนี้ด้วย นอกจากนี้ ผู้มีจิตอาสา หรือจิตศรัทธา สามารถร่วมแสดงน้ำใจไมตรีแก่พี่น้องประชาชนที่เดือด ร้อน ผ่าน “ตัวแทนรับบริจาค” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรได้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคระหว่าง วันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม นี้ ไปหักเป็นค่าลดหย่อนรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากปกติได้ด้วยนะครับ ให้ขึ้นทะเบียนให้ครบ ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ของรัฐบาลนี้ มียอดเงินสะสม ประมาณ 788 ล้านบาทโดยหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ในมาตรฐานเดียวกับ “น้ำท่วมภาคใต้” ครั้งที่ผ่านมา เช่น ค่าเครื่องอุปโภค เครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องใช้อื่น ๆ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ค่าซ่อมแซมบ้านเรือน ตามความเสียหาย ตั้งแต่ 15,000 ถึง 230,000 บาท และค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท เป็นต้น 
                และ (4) “โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560” ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท อีกด้วย
                ทั้งนี้ ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุก โดยสร้างกลไกในการทำงานเพิ่มเติม เฉพาะกิจ เฉพาะกาล “แบบเดินเข้าไปหา และให้บริการ” พี่น้องประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ให้ได้รับความสะดวกที่สุด ให้รู้ช่องทางที่จะเข้ามาติดต่อนะครับ โดยเฉพาะช่วงนี้ ในช่วงที่ทุกคนเพิ่งผ่านความยากลำบากในชีวิต มาด้วยกัน
                สำหรับในการลงพื้นที่ของผม เพื่อให้กำลังใจพี่น้องผู้ประสบภัย และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ณ จังหวัดสกลนคร ที่ผ่านมานั้น ผมดีใจที่ได้เห็นรอยยิ้ม เป็นรอยยิ้มที่ยิ้มสู้ ของพี่น้องประชาชนหลังจากที่ทุกคนได้ผ่านประสบการณ์ที่ทุกข์ยากมา อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เสียกำลังใจนะครับ ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ จิตอาสา และทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันทำงาน เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน  และอยากจะขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาทุก ๆ เรื่องและทุกอย่าง ให้ประสบผลสำเร็จ และผ่านพ้นไปด้วยดี เพื่อพร้อมใจกัน “เดินหน้าประเทศไทย” ของเราต่อไป 
                ผมอยากให้การทำโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ระยะยาว เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ “อย่างยั่งยืน” แก้ปัญหาทั้งฝนแล้ง น้ำท่วมได้  แต่หลายโครงการที่เราวางไว้นะครับ เดินหน้าไปไม่ได้ เพราะติดที่ดินเอกชน ประชาชน เกษตรกร ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจ ทำให้ดำเนินการได้ไม่ต่อเนื่อง คงต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะหาทางออกกันอย่างไรนะครับ เช่น ในเรื่องของการการผันน้ำฝั่งตะวันตก ตะวันออก ลงสู่ทะเล คูคลองลัด เพื่อจะลดระยะทางการระบายน้ำ เหล่านี้เป็นต้น มีแผน การโครงการอยู่แล้ว แต่ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งยอม ไม่ยอม ทำให้ล่าช้า แก้ปัญหายั่งยืนไม่ได้สักที ทั้งนี้เราก็ต้องไปดูผังเมืองด้วย ถ้าเราสามารถที่จะทำให้ได้มากที่สุด ในเรื่องของการระบายน้ำ การก่อสร้างอะไรต่าง ๆ ทั้งวันนี้ และอนาคต ถึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่แก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้อีก ต้องแก้ไปด้วยกัน รัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
                สำหรับเส้นทางการเดินหน้าประเทศ ตาม Road map ของ คสช. นั้น ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามี “ก้าวย่าง” ที่สำคัญ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ได้ผ่านการ “ลงประชามติ” และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฯ แก่ปวงชนชาวไทย บัดนี้  พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งย่อมเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวไทยทั้งชาติ และชาวโลกได้เห็นพัฒนาการที่ดีของเรา สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ก็คือ การตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” และ “คณะกรรมการปฏิรูป” ในแต่ละด้าน เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย ทั้งนี้ ด้วย “เวลาอันเป็นข้อจำกัด” ในการทำงานดังกล่าว 
                ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ รัฐบาลและ คสช. ก็ได้มีการเตรียมการล่วงหน้า ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ สำหรับการบรรลุผลสำเร็จ ตามที่พวกเราทุกคนคาดหวัง  โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำการศึกษา รับฟังความเห็น และทำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต่าง ๆ ไว้ สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการทำงานต่อเนื่องของคณะกรรมการ “ใหม่”ดังกล่าว ทั้ง 2 คณะ ตามรัฐธรรมนูญ วันนี้เราทำการปฏิรูประยะที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยข้างล่าง ที่จะต้องทำให้สมบูรณ์เสียก่อน ถึงจะไปแก้ปัญหาปฏิรูปเรื่องใหญ่ ๆ ได้ 
               สิ่งที่ผมเห็นว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการปฏิรูปมี 2 ประการ คือ
                 (1) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ในฐานะที่เป็น “เจ้าของประเทศ”  เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ผมอยากจะให้ “ผู้อาวุโส” ได้ใช้ประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ร่วมกับ “คนรุ่นใหม่” ให้ได้ใช้ความริเริ่ม สร้างสรรค์ และพลังอันบริสุทธิ์ ได้ร่วมกันสร้างอนาคตของประเทศ เพื่อลูกหลานไทย ในอนาคต เราต้องฟังคนรุ่นใหม่ด้วย โดยช่องทางการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นนั้น จะต้องเปิดกว้างและทั่วถึง  ทั้งกลไกปกติของภาครัฐ ช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ เพื่อจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม  ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง โดยกรรมการทุกท่านต้องมีคุณสมบัติเป็นทั้งนักคิด นักวิชาการ และจะต้องเป็นนักปฏิบัติด้วย เพราะปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อน และความขัดแย้งหลายอย่าง ความเห็นต่าง บางอย่างก็ยาก มากเกินไปที่ทุกคนจะเข้าใจได้ ทุกอย่างเหล่านี้จเป็นปัญหาทำให้การปฏิรูปของเราไม่สำเร็จ ที่ผ่านมามีหลายอย่างที่สำเร็จไปแล้ว ในรายละเอียดปลีกย่อยใหญ่ ๆ น่าจะยังมองดูว่ายังช้าอยู่ แต่ทุกอย่างจะต้องแก้จากเล็ก ถึงจะไปแก้ใหญ่ ๆ ได้ ถ้าเราคิดจะทำอันใหญ่โดยที่ไม่แก้เล็ก ๆ ข้างล่างไปไม่ได้ เพราะเป็นกิจกรรมร่วมกันทั้งหมด ยึดโยงด้วยกัน 
                 (2) การจัดทำและการบังคับใช้กฎหมาย ที่คงไม่เป็นเพียงจะเป็นแค่พื้นฐานของการปฏิรูปประเทศ ยังเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติอีกด้วย ทุกคนมาอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน เคารพกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม เพราะว่าถ้าไม่มีการละเมิดกฎหมาย มีมีการละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็จะไม่มีความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ก็ไม่เสียหาย ประชาชนก็ไม่เดือดร้อน ประเทศก็มีเสถียรภาพ และก็จะพร้อมสำหรับการพัฒนา แล้วก็เดินหน้าไปสู่การปฏิรูปในทุก ๆ เรื่องที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่ต้องเปลี่ยนแปลงครบวงจร จะยิ่งเกิดปัญหาอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทำให้เดินไปได้ช้า ผมเองไม่อยากใช้กฎหมายบังคับให้มากจนเกินไป เพียงแต่ขอความเข้าใจ ขอความร่วมมือว่าเราจะต้องทำอะไรร่วมกันบ้าง
               ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลและ คสช. ได้ให้ความสำคัญกับ “กฎหมายและกระบวนยุติธรรม” มาโดยตลอด เนื่องจากผมเห็นว่า นอกจากจะเป็นการสร้าง “นิติรัฐ  นิติธรรม” ในสังคมไทยแล้ว ก็ยังเป็นรากฐานสำคัญของการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งทุกคนต้องเคารพกฎหมาย และยึดมั่นใน “ทั้ง 3 อำนาจอธิปไตย” คือ อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ที่สามารถตรวจสอบ ถ่วงดุลกัน และเป็นอิสระ ไม่ก้าวล่วงอำนาจซึ่งกันและกัน 
               ยกตัวอย่าง “การผลักดันกฎหมายใหม่ ๆ” ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานราชการ การปฏิบัติตามสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศอีกด้วย ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว เกือบ 200 ฉบับ ภายในเวลา 2 ปี เฉลี่ยแล้วเราทำ “ต่อปี” มากกว่า ช่วง 7 ปี ก่อนที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศนะครับ ถึง 7 เท่าตัว
               สำหรับตัวอย่าง “การปฏิรูปประเทศ” ในกรอบเล็ก ก่อนที่จะมี “คณะกรรมการปฏิรูป” ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปในกรอบใหญ่ต่อไปนั้น  รัฐบาลได้ดำเนินการในหลายส่วน เท่าที่จะทำได้ จากข้อเสนอแนะของทั้ง  สปท. และ สปช.  ที่ผ่านมา โดยทำในทันที รับฟังความคิดเห็นจากที่อื่นด้วย อาทิเช่นการปรับเปลี่ยนการเกษตรในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวที่ประกาศภัยแล้ง กว่า 100,000 ไร่ เป็นจังหวัดที่ใกล้ชายแดน เป็นพื้นที่ราบ ๆ ไม่มีแหล่งน้ำบนเขา ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ทำการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนเท่านั้น ถ้าฝนไม่ตก ก็ไม่มีน้ำ แล้วเราจะเอาน้ำจากที่ไหน เจาะบาดาลก็เจาะไม่ได้มากนัก บางพื้นที่ก็ไม่มีเลย สร้างคลองชลประทานได้ก็ไม่คุ้มค่า ผลผลิตข้าวเพียง 380 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีในขณะที่ผลผลิตข้าวในภาคกลาง เช่น ชัยนาท 700 ถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่ต่อ “ฤดูกาล” ไม่ใช่ต่อปีนะครับ ซึ่งคุ้มค่ากว่ากันมากมาย  เมื่อใช้ Agri mapสำรวจแล้วพบว่า ทั้งน้ำ ดิน อากาศ รวมทั้งตลาด ก็ไม่เหมาะที่จะไปปลูกพืชอย่างอื่นเพราะไม่มีน้ำ จึงเป็นที่มา “โครงการโคบาลบูรพา” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ ด้วยที่ตั้งจังหวัดสระแก้วอยู่ใกล้ชายแดนเชื่อมต่อแหลมฉบัง เชื่อมต่อกับกรุงเทพคล้าย ๆ กับฟาร์มโชคชัย ปากช่อง โคราช นอกจากนี้ ตลาดปศุสัตว์บ้านเรา ยังขาดแคลนอีกมาก เพราะเมื่อ 10 ปีก่อน เรามีโคเหลืออยู่ 8 ล้านตัว ปัจจุบันลดลง เหลือเพียง 4 ล้านตัว และหากไม่ได้เลี้ยงเพิ่มก็จะเป็นปัญหา  แต่ก็อาศัยซื้อมาเพิ่ม ตลาดโคเนื้อจึงขาดแคลน
              เพราะฉะนั้นแนวคิด “โคบาลบูรพา” นี้ ก็จะมี 3 กิจกรรมสำคัญ คือ 
              (1) ธนาคารโคเนื้อ ที่ไม่ใช่ให้กู้ยืมเงินแต่เป็นการให้ยืมโคเนื้อ “ตัวผู้ - ตัวเมีย” เลี้ยงเป็นคู่ ประมาณครึ่งปีออกลูกมา ก็ทยอยใช้หนี้เป็นลูกวัว สำหรับเกษตรกรรายอื่น เอาไปเลี้ยงบ้าง
              (2) การลดพื้นที่การทำนาข้าวแล้วหันมาปลูกพืชอาหารโคเนื้อแทน เช่น หญ้า - ข้าวโพด - มันสำปะหลัง โดยทยอยลดพื้นที่สมมุติว่าเดิมท่านทำนาไม่ได้ผล 15 ไร่ ก็มาทำฟาร์มโคเนื้อ โดยลดการทำนาลง ปีละ 5 ไร่ มาปลูกข้าวโพดเพียง 3 ปี จะลดพื้นที่การทำนาที่ไม่คุ้มค่าได้ 100% และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งให้ผลกำไรที่ดีกว่า  เช่น ด้วยการเลี้ยงโคเนื้อและทุ่งหญ้า - ไร่ข้าวโพด เป็นต้น  
              (3) การรวมกลุ่ม “เกษตรแปลงใหญ่” ทำปศุสัตว์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งการหาซื้อเมล็ดพันธุ์และการเช่าเครื่องจักรกล อีกทั้งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งภายในกลุ่ม มีอำนาจต่อรอง มีพลังในการริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ง่ายขึ้น
              ปัจจุบัน มีเกษตรกรผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,100 ราย ปรับเปลี่ยนการเกษตรแล้ว 30,000 ไร่ จาก 100,000 ไร่ เพื่อจะปลูกพืชอาหารสัตว์และในเดือนตุลาคมนี้ จะมีการมอบโคเนื้อและแพะ ให้เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมในโครงการด้วย ในอนาคตจังหวัดสระแก้ว ก็จะกลายเป็น“เมืองโคเนื้อ” หรือ “โคบาลบูรพา” ส่วนพื้นที่แล้งซ้ำซาก 1 แสนไร่ ก็จะกลายเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ หาม้ามาให้เช่าขี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ได้และรัฐบาลไม่ต้องหว่านเงินแก้ปัญหาภัยแล้งให้ชาวนาจังหวัดสระแก้วอีกต่อไป ถ้าเป็นไปได้ตามนั้น  เราจะประหยัดได้อีกไม่รู้เท่าไหร่ คงต้องอาศัยเวลาบ้าง แต่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องมีการประท้วง ไม่ต้องมีการซื้อเสียง ไม่มีการทำประชานิยม ที่ไม่เป็นประโยชน์ให้รัฐบาลเอาเวลาไปแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ยากกว่านี้ดีกว่า  
 
พี่น้องประชาชนทุกท่าน ครับ 
               การช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนมาในทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลนี้และ คสช. ก็เช่นกัน ด้วยความเชื่อที่ว่า การกระจายรายได้อย่างทั่วถึง การลดความเหลื่อมล้ำของพี่น้องประชาชนจะทำให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีความสงบสุข มั่นคง 
               พี่น้องประชาชนครับ เมื่อเราพูดถึงภาคเกษตร เรากำลังหมายถึง “ภาคการผลิต” ที่สำคัญของประเทศ  ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 8ของรายได้รวมทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเรากำลังหมายถึงพี่น้องเกษตรกรที่มีถึง 25.07 ล้านคน หรือ ร้อยละ 38.14 ของประชากรไทย ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเกษตรของไทย ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องดิน ฟ้า อากาศ และความผันผวนของราคาพืชผลต่าง ๆ ทำให้พี่น้องเกษตรกร รวมทั้ง เศรษฐกิจของประเทศมีรายได้ที่ยังไม่มั่นคงนัก 
               นอกจากนั้น โลกเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า, ด้านสังคม ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการดำรงชีวิต และการผลิต รวมถึง ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลอย่างมาก  จากภาวะโลกร้อน อีกประเด็น การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ก็คือการที่ประชากรในภาคเกษตรมีแนวโน้ม เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี โดยพบว่า สมาชิกครัวเรือนเกษตรกร ที่อายุมากกว่า 64 ปีขึ้นไป เคยอยู่ที่ร้อยละ 7 ในช่วงปี 2540 – 2544 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 แล้วในปี 2555 - 2559 ถ้าวัดกันที่อายุเฉลี่ย พบว่าเกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 58 ปี เทียบกับเวียดนามมีเกษตรกรที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 39 ปีปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้แรงงานในภาคเกษตรของไทยลดลงมาก อีกทั้งลูกหลานในภาคเกษตรเอง ก็อาจจะไม่สนใจที่จะมาทำอาชีพเกษตรกรเหมือนพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย แต่สนใจที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคท่องเที่ยวบริการแทน โดยเฉพาะภาคการบริการ เช่น การค้าขาย โรงแรม ภัตตาคาร ที่เห็นว่ามีแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาแรงงานลดลงนี้ จะทำให้ศักยภาพการผลิต และ ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยปรับลดลงต่อเนื่อง
               ดังนั้น เราคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยมาตรการระยะสั้นอีกต่อไป โดยการช่วยเหลือเยียวยารายได้ของพี่น้องเกษตรกร แต่เพียงอย่างเดียว เราต้องคำนึงถึง “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ระยะยาวเพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังถาโถมเข้ามารอบด้านได้ด้วย ทางที่ดีที่สุด ก็คือ “การพัฒนาคนในภาคเกษตร” ให้เข้มแข็ง ให้มีคุณภาพ มีความรู้รอบตัวรอบด้านมากขึ้น มีทักษะที่เหมาะสม ทำด้วยใจรัก พี่น้องเกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลข่าวสาร ด้านการผลิต ราคา และสภาพตลาด เป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยได้ เข้ามาเสริมการทำธุรกิจ ให้ได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังต้องมีการสร้างค่านิยม เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรม รัฐเอง ก็ต้องเข้าไปเสริมในเรื่องการสนับสนุนองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตด้วย
               ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนในการสร้าง “เกษตรกรยุคใหม่” ซึ่งจะต้องดำเนินการให้สอดคล้อง กับแต่ละกลุ่มคน เราแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 
               1. กลุ่มบัณฑิตใหม่ที่จบสาขาเกษตร มีความรู้ แต่ก็ไม่ได้เข้ามาเต็มตัว เพราะอาจจะขาดปัจจัย เช่น ที่ดิน หรือเงินทุน และโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ เราจะให้การสนับสนุนปัจจัย และจัดหาที่ดินทำกิน เพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มนี้ อาจจะมีการรวมกลุ่มกันสร้างฟาร์ม หาที่ดินให้อะไรให้ทำนองนี้ เพื่อสร้างเป็นตัวอย่างเพื่อให้มีผลผลิตออกมาเพื่อขยายไปสู่ประชาชนหรือเกษตรกรโดยทั่วไปด้วย
               2. กลุ่มเกษตรกรเดิมและลูกหลานเกษตรกร ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่มีพื้นฐาน และมีความพร้อมอยู่แล้วในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว เราจะต้องมุ่งสร้างค่านิยม ให้คนกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรม รวมถึง สร้างความมั่นคงด้านรายได้ ลดหนี้สินให้ได้ ตลอดจน สนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตร อย่างครบวงจรมีการใช้ระบบข้อมูล เทคโนโลยี เพื่อจัดกระบวนการผลิต และลดความเสียหาย ที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติให้ได้มากที่สุด  ให้มีการเลือกผลิตสินค้าเกษตรที่มีโอกาสทางการตลาด  คือ ปลูกแล้วก็ขายในสิ่งที่ตลาดต้องการ อย่าไปคิดปลูกเองแล้วอยากจะขายให้ได้ราคาดี มันเป็นไปไม่ได้ นะครับ และ
               3. กลุ่มที่อยู่ภาคการผลิตอื่น หรือ ผู้สนใจเข้าสู่ภาคเกษตร ซึ่งต้องเน้นการให้ความรู้ และคำปรึกษาในการผลิต 
 
               แนวทางเหล่านี้ อยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลและ บทเรียนของเกษตรกรรุ่นใหม่รวมถึงการสำรวจความเห็นของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ที่พบว่า องค์ประกอบสำคัญในการผลักดันการสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่” ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ได้แก่ 
               1. เกษตรกรต้องมีใจรักในอาชีพเกษตรกรและ ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความทุ่มเท เอาใจใส่ และ มีความสุขกับสิ่งที่ทำ
               2. การสร้างแรงจูงใจและการเพิ่มศักยภาพการทำเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว หรือเกษตรกรที่เข้ามาใหม่ มีความสนใจและพร้อมทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
               3. การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าสู่การทำการเกษตร โดยทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนควรร่วมจะกันสนับสนุนและผลักดันให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ เพื่อสืบสานอาชีพเกษตรกรรม ที่เป็นอาชีพสำคัญของประเทศนี้ แต่จะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นด้วย
               4. การยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณกับเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรมีความตั้งใจประกอบอาชีพและยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ หรือผู้ที่สนใจจะเข้ามาทำอาชีพเกษตรกรต่อไป
พี่น้องประชาชนครับ การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่นี้ ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้สามารถชดเชยแรงงานพี่น้องเกษตรกรที่ลดลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัย ความร่วมมือและการผลักดันร่วมกัน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ก็เป็นที่น่ายินดี ที่องค์กรในภาคเอกชนหลายแห่ง ได้ให้การสนับสนุนนโยบายพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างดี มีการจัดกิจกรรมหรือโครงการฝึกอบรม,ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี,มีการจัดการประกวดกระบวนการพัฒนานวัตกรรมและการสรรหาเกษตรกรต้นแบบ ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำเกษตรกรยุคใหม่  เป็นต้น
               ผมขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจของเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น กรณีของ “นายดำ ขยันยิ่ง” เกษตรกรต้นแบบ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่องการเกษตรแบบอินทรีย์ แล้วนำมาปรับความคิดของตน เริ่มจากการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อจะเพิ่มธาตุอาหารในดิน สลับกับการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ทำให้สามารถพลิกชีวิตตัวเอง จากชาวนาที่เคยประสบปัญหาหนี้สิน ที่ดินถูกยึด  จนกลายมาเป็นเกษตรกรที่ได้รับชื่อว่า เป็นผู้นำของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ แห่งอำเภอลำปลายมาศที่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านและชุมชน  ผันตัวเข้ามาสู่ “วิถีเกษตรอินทรีย์” ด้วย การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ จะช่วยเพิ่มรายได้ขึ้น แน่นอน  มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีความเสียหาย จากน้ำท่วมฝนแล้งตลอดเวลา แล้วก็ไม่ได้กำไร  ไม่เหลือเงิน  เราจะต้องทำหลาย ๆ อย่าง ประกอบกันเพื่อจะได้เลี้ยงดูตัวเองได้  ในระหว่างที่สัตว์ยังไม่โตหรือ ต้นไม้ยังไม่ออกผล  เราต้องลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้ได้   เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดเกษตรผสมผสานตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นะครับ เกษตรทฤษฎีใหม่ก็มี อะไรก็มีทั้งหมด
               นอกจากนี้ รัฐบาลมีการดำเนินการให้หลายส่วนงานดำเนินการ ไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (InnoAgri) เหมือนกับ Agri Map อันนี้เป็นเรื่องของอินโนเวชั่น คือนวัตกรรม แผนที่ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม นะครับพูดง่าย ๆ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้มีการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้เพื่อสนับสนุน การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาคการเกษตรของประเทศสอดคล้องกับทิศทางของ“ประเทศไทย 4.0”  ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม  ที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริหารจัดการ และ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ Smart Farming ก็ได้มีการคัดเลือกเกษตรกร โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินการผ่าน 3  รูปแบบ อันได้แก่
               1. ยกระดับเกษตรกร เป็นเกษตรกรไฮเทค ที่สามารถจะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เหมาะกับยุคสมัย ไปใช้สำหรับการลดต้นทุน และเพิ่มรายได้  
               2. ยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากผลิตผล  
               3. การสนับสนุนการสร้างเกษตรนวัตกรรมยั่งยืน ด้วยการสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม ที่มีความสามารถในการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลิตภาพการผลิต ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
               ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 6,000 รายแล้ว และทางกระทรวงฯ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้สนใจ คอยรับฟังข่าวสาร  เพื่อจะเข้าร่วมและใช้ประโยชน์จากโครงการให้ได้ อย่างเต็มที่ ปากต่อปากบอกกันไป ชักชวนเพื่อนกันเข้ามา  ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดเป็นจำนวนมาก ๆ และไม่ได้ผลที่ชัดเจนออกมา
 
พี่น้องประชาชน ครับ 
              อนาคตของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า และต่อ ๆ ไป เราจะต้องการ “นวัตกรรม” ของเราเอง แทนการพึ่งพา หรือการจัดซื้อนวัตกรรมของต่างชาติมาใช้ ซึ่งจะทำให้เราไม่มีวันที่จะเข้มแข็งได้ หรือเราก็ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาได้ทั้งนี้ การริเริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ นั้น ผมอยากให้เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ จากวิถีชีวิต จากปัญหาที่เราต้องประสบอยู่ทุกวัน แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมของเราเอง ของคนไทย ที่จะสามารถแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อย  เขาไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะไปซื้อหาอะไรได้มากนัก ช่วยเขาดูตรงนั้น  คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายลง อาทิ เครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่าง ๆ ที่เราทำเองได้ ราคาถูกลง เหล่านี้ เราต้องเร่งการพัฒนาวิจัยออกมาให้ได้ แล้วก็ใช้เป็นจำนวนมากได้ด้วย ทุกพื้นที่
               ยกตัวอย่าง “โครงการ TAXI OK” อีกเรื่องของ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมเพื่อจะแก้ปัญหามาตรฐานการให้บริการของ “แท็กซี่ส่วนบุคคล” และ “แท็กซี่สหกรณ์”  ที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เช่น การปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่กดมิเตอร์  พูดจาไม่สุภาพ ขับรถเร็วและประมาทถึงแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะออกตรวจจับ  บังคับใช้กฎหมาย ลงโทษขั้นสูงสุดทุกกรณี ควบคู่มาตรการพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ แล้วก็ตาม ยังเกิดขึ้นอยู่บ้าง โดยแนวทางในการพัฒนายกระดับมาตรฐาน ในการให้บริการรถแท็กซี่ของเรานั้น ตามโครงการนี้ ประกอบไปด้วย
               1. การพัฒนา “ระบบเรียกบริการรถแท็กซี่” ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ Smart Phone สามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ทุกคันที่ร่วมโครงการ โดยผ่านการจดทะเบียน ณ ศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่  ตรวจสอบด้วย
               2. การติดตั้งอุปกรณ์สำคัญ ให้รถแท็กซี่ในโครงการทุกคัน ได้แก่  มาตรค่าโดยสารที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูล  กับเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ GPS-Tracking อุปกรณ์แสดงตัวตนผู้ขับรถ ที่สามารถส่งข้อมูล ระยะทาง เวลา พิกัด ตำแหน่งรถ เส้นทางการเดินทาง ความเร็วรถ ค่าโดยสารจากมิเตอร์ พร้อมมีระบบตรวจสอบตัวตนผู้ขับรถ ได้อีกด้วย  กล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ภายในรถ แบบ Snap Shot  และ ปุ่มฉุกเฉิน ที่สามารถส่งการแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
               3. การสร้างเครือข่าย “ศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่” ที่เป็นหน่วยงานกลาง ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับรถแท็กซี่ ในการบริหารจัดการเดินรถ และ การให้บริการ ติดตาม กำกับ รับเรื่องร้องเรียน และ แจ้งเหตุต่างๆ รวมทั้งส่งข้อมูลไปยัง ศูนย์บริการจัดการรถแท็กซี่ ของกรมการขนส่งทางบก
               4. การจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการรถแท็กซี่” (DLT TAXI CENTER) กรมการขนส่งทางบก เพื่อทำหน้าที่ควบคุม และกำกับดูแลศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่ ของผู้ประกอบการเอกชนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารการจัดการ ได้แก่ ระบบติดตามตำแหน่งรถ เส้นทางการเดินรถ ความเร็วของรถ ติดตามภาพเหตุการณ์ภายในรถ ระบบพิสูจน์ตัวตนพนักงานขับรถ บันทึกพฤติกรรมพนักงานขับรถ และระบบจัดเรตติ้งศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในการให้บริการแก่ประชาชน
              ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการ Taxi OK ถือเป็นมิติใหม่ ของการยกระดับมาตรฐานการให้บริการแท็กซี่ ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”  ภายใต้กลไกความร่วมมือ “ประชารัฐ”  โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวก ให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถตลอดการให้บริการ  และ ยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่ ได้อย่างยั่งยืน  ก็ขอร้องบรรดาสมาคมแท็กซี่ สหกรณ์แท็กซี่ไทยต่าง ๆ ก็ต้องให้ความร่วมมือ เพื่อเราจะได้มีการควบคุมคุณภาพรถ คนขับรถ ให้ดีด้วย เกิดความไว้เนื้อเชื้อใจกับผู้รับบริการ ผู้ใช้บริการ
              สุดท้ายนี้ เพื่อจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ   ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม 2560  มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ร่วมกับ 25 องค์กร ที่ดำเนินโครงการ สนองพระราชดำริ ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จะจัดงาน “สีสันพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 11 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ด้วยพระเมตตาดั่งสายธาร” ระหว่างวันที่ 9 - 14 สิงหาคม ศกนี้  ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิต ล้วนเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยได้รับการถวายพระราชสมัญญานาม “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลาย ทางชีวภาพ” ดังนั้น ผมขอเชิญชวนพวกเรา “ทุกคน”  ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการไปร่วมในงานดังกล่าวหรือ การใช้ชีวิตประจำวันของเรา 
              นอกจากนี้ ผมขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยร่วมใน “โครงการประชารัฐร่วมใจปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน” บนพื้นที่ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ  พื้นที่ป่า  พื้นที่รัฐ ที่ทางราชการกำหนดโดยเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศ ในวันที่ 7 สิงหาคม และเรื่อยไปจนถึง 30 กันยายนนี้  ทั้งนี้ เพื่อจะเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมทั้ง รณรงค์ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อจะเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และร่วมกันกระทำความดี ให้กับประเทศชาติที่สำคัญ ก็เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้ และทรัพยากรป่าไม้ ให้แก่ชนรุ่นหลัง ผมอยากให้ทุกคนที่ร่วมในกิจกรรมปลูกต้นไม้นี้ได้ภาคภูมิใจในการที่จะรดน้ำ พรวนดิน บำรุงรักษา ดูแล “ต้นไม้ของท่าน” ให้เติบโตอย่างมั่นคง แตกกิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นเปรียบเสมือนกับสิ่งที่เรากำลังทำร่วมกันในวันนี้ ทั้งนี้เพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศชาติ และลูกหลานไทย ในอนาคตนะครับ ร่วมกันทำถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันด้วย  ขอให้ทุกคนร่วมมือ  ร่วมใจกัน และตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
 

ขอขอบคุณ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้