Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1435 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้ผมขอชี้แจงความคืบหน้าของการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ สำหรับในเรื่องของการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศให้สมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่ “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 นั้น ได้ยึดหลักโบราณราชประเพณีในการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบกับแนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ ในสถานะสมมุติเทพ ตามระบอบเทวนิยม ขณะนี้โครงสร้างพระเมรุมาศแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 95 ส่วนอาคารประกอบ อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร พลับพลายก เป็นต้น มีความคืบหน้าไปมาก งานโครงสร้างของอาคารทุกหลังแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 และอยู่ระหว่างการติดตั้งวัสดุและองค์ประกอบอาคาร ผมขอขอบคุณเหล่าช่างฝีมือ ทั้งที่เป็นข้าราชการกรมศิลปากร ศิลปิน และจิตอาสาในสาขาต่าง ๆ ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานศิลปกรรม และงานประณีตศิลป์ ในการร่วมกันถวายงาน ถวายพระเกียรติ ดำเนินงานต่าง ๆ สำหรับงานพระราชพิธีสำคัญของปวงชนชาวไทยนี้ ซึ่งจะถูกจารึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก และได้รับการกล่าวขานชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอาหารมื้อเย็น สำหรับผู้ปฏิบัติงานทุกวัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และสร้างขวัญ กำลังใจต่อข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และจิตอาสาอย่างล้นพ้น อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดกิจกรรมโครงการจิตอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทาน ณ ลานพระราชวังดุสิต เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนบริษัท ห้างร้าน และกลุ่มจิตอาสาต่าง ๆ ได้พร้อมใจกันสอนประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ แก่ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้อีกด้วยนะครับ นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงดนตรี ณ พระลานพระราชวังดุสิต เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนอกจากจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยแล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลง อันทรงคุณค่า มีความหมายลึกซึ้ง และเปี่ยมสุนทรียภาพเพื่อพระราชทานความสุขแก่คนไทยตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยพี่น้องประชาชน สามารถร่วมกิจกรรมนี้ได้ ทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 19.00 นาฬิกา เป็นต้นไปขอเชิญชวนทุกท่าน
พี่น้องประชาชน ครับ
สัปดาห์นี้ ผมขอแนะนำหนังสือ 2 เล่ม ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมกับสังคมไทย ภายใต้บริบทของโลกในปัจจุบัน ที่สำคัญที่สุดก็คือสอดคล้องกับศาสตร์พระราชา อันจะช่วยนำพาชีวิตและประเทศชาติของเรา ไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ได้ในอนาคต อันได้แก่...
(1) หนังสือชื่อ “ปรัชญาทางสายกลาง” ซึ่งเรียบเรียงโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยประเทศจีน และชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นสอนให้วางตัวอย่างเหมาะสม ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ไม่สุดขั้ว ไม่เอนเอียง รู้จักพอเหมาะพอควร แม้จะเป็นปรัชญาของจีน แต่ก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทย ที่นับวันเริ่มจะลืมเลือน ละเลยสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไป โดยเฉพาะเรื่องการปรองดอง การไม่คดโกง และการมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีให้แก่กัน สังเกตง่าย ๆ คือ “สุภาษิต” ซึ่งเป็นคำพูด สั่งสอน ตักเตือนดี ๆ ในอดีต ทุกวันนี้ถูกแทนที่ด้วยวาทะกรรมอันเป็น “ทุ-ภาษิต” หรือคำพูดที่ผิด ไม่ถูกต้องตามหลักธรรม สัจธรรม และการกล่าวเท็จ บิดเบือน ให้ร้าย ซึ่งส่งผลในทางลบ เป็นบาป เป็นอกุศลกรรม ทั้งนี้ ผมเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ มีเป้าหมายที่เชื่อมโยงโดยตรงกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทาน ให้แก่ปวงชนชาวไทย ได้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม สำหรับการดำรงชีวิตและปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศของรัฐบาล โดยยึด “ทางสายกลาง” ให้สามารถรอดพ้นและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
(2) คือหนังสือ “เดินทางตามรอยพระราชา” ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน มูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) ผมเห็นว่าสามารถใช้เป็นคู่มือพ่อแม่ ครูอาจารย์ ในการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสนุกไปพร้อมกับเด็ก ๆ และลูกหลาน เป็น “การเที่ยวแบบสร้างสรรค์” ตามรอยพระบาท ณ แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถเชื่อมโยงกับสาระวิชาต่าง ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งคณิตฯ – วิทย์ – สังคม โดยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมพฤติกรรมการสังเกต วิเคราะห์ และประเมินผล ที่สำคัญคือการลงมือทำด้วยตนเอง ก็เป็นไปตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของรัฐบาลนี้ ผมได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปสอดแทรกในหลักสูตรต่าง ๆ เป็นแบบตำราเรียน ซึ่งคงต้องมีครบถ้วนในเรื่องของการสร้างธรรมาภิบาล ปราบปรามทุจริต สร้างหลักคิดที่ถูกต้อง เราควรจะกำหนดให้เป็นวิชาพิเศษ มีคะแนนหน่วยกิจ ทำตำราเพิ่มนะครับ เพื่อทำให้สังคมปลอดภัยและเข้มแข็ง รวมทั้งให้กระทรวงวัฒนธรรมและทุก ๆ หน่วยงาน ได้นำไปเผยแพร่ ประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาวไทย เพื่อจะได้ก้าวข้ามความขัดแย้งและกับดักต่าง ๆ ไปได้ด้วยกัน สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและ คสช. ที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ได้รับรายงานว่ามีความสอดคล้องกับคำแนะนำของธนาคารโลก ในเรื่อง “การพัฒนาประเทศอย่างมีระบบ” ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือว่า “เรามาถูกทางแล้ว” โดยเน้น 4 มาตรการหลัก
ได้แก่ (1) การสร้างงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยการปรับปรุงการเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น การเพิ่มการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรม (2) การสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทักษะให้กับกำลังแรงงานทั้งระบบ การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร และการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งกว่าเดิม (3) การสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก และ (4) การเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับองค์กรภาครัฐ เพื่อให้การดำเนิน การปฏิรูปประเทศในเรื่องที่สำคัญบรรลุผลสำเร็จ ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผลนั้น จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยเวลา ที่สำคัญคือ “ความเข้าใจและความร่วมมือ” จากทุกภาคส่วน
ดังนั้น “ความปรองดอง” ในพจนานุกรมของผม ไม่ได้หมายความเพียง “การลบล้าง” ความขัดแย้งทางการเมือง และการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในอดีต ที่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึง “การขจัด” เงื่อนไข – ประเด็นปัญหา – ข้อสงสัย – ข้อกังวลใจในโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล จนนำไปสู่ความเข้าใจ ไว้ใจ และร่วมมือ หรือ “การมีส่วนร่วม” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ “ฉบับปัจจุบัน” ให้สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไปได้ โดยปราศจากการต่อต้าน ความขัดแย้ง และมีผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เยาวชนได้รู้คุณค่าการประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน อยากให้รู้ว่าการทำแต่ละอย่างออกมานั้น กว่าจะได้ผลนั้นยากเย็นเพียงใด อยากให้เห็นคุณค่า ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทั้งหมดนั้นเป็นห่วงโซ่สำคัญ ที่จะเชื่อมโยงทุก ๆ คนของสังคม เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจฐานราก ฯลฯ ขอให้กระทรวง มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้มีการสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้มีการนำเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนไปร่วมกันทำงานในพื้นที่ ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันให้ได้ ให้เกิดความรักความสามัคคีไปได้ด้วยกันด้วย
พี่น้องประชาชนที่รักครับ วันนี้ พวกเราคงต้องย้อนกลับทบทวนตัวเองอีกครั้ง ผมอยากให้ทุกคนได้ถามตัวเองว่ามีความเข้าใจกับ “3 เรื่อง” ต่อไปนี้ อย่างถ่องแท้มากน้อยเพียงใด (1) ศาสตร์พระราชา เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้นนะครับ (2) ไทยแลนด์ 4.0 และ (3) เศรษฐกิจฐานราก ผมก็ไม่อยากให้เป็นการรู้จักกันแต่เพียงหลักการเพียงผิวเผิน ก็แล้วแต่ละส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ต่างก็นำไปพูด ไปกล่าวไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่เพียงเท่านั้น โดยอาจจะไม่เข้าใจสาระสำคัญว่าทั้ง 3 เรื่องนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร ซึ่งโดยสาระ ความเป็นจริงแล้ว มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกออกไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยอาศัยหลักการของศาสตร์พระราชาเป็นพื้นฐาน เป็นเข็มทิศนำทาง ซึ่งต้องใช้การประยุกต์ให้ตรงกับกิจกรรมของแต่ละบุคคล หรือแต่ละองค์กร ไม่ใช่เพียงการเรียกบุคลากร หรือประชาชนมาอบรม ติดป้าย มอบใบประกาศ แถลงข่าว คงพูดกันแต่ “กระพี้” คือเปลือกนอก แต่ลืม “แก่นสาร” อันเป็นสาระสำคัญ
วันนี้ เราจำเป็นต้องหยิบยกตัวอย่างของการนำหลักการไปสู่การปฏิบัติที่สัมฤทธิ์ผล เป็นรูปธรรม จากทุกสถานีอบรม จากทุกพื้นที่มาสร้าง เรียนรู้ร่วมกัน จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “กว่า 4 พันแห่ง” ศูนย์การเรียนรู้ “นับหมื่นแห่ง” หรือศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ทั้ง 6 แห่ง” ทั่วประเทศ โดยเราต้องจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักการ ต้องดูถึงผลสัมฤทธิ์ของ “ศาสตร์พระราชา” ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่เพียงพอ และลดความเสี่ยงจากการถูกกระทำ หรือผลกระทบต่างๆ จากภายนอกด้วยนะครับ
วันนี้ รัฐบาลนี้ได้เดินหน้าสร้าง “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยวางบทบาทเป็น “ผู้สร้างสะพาน” เชื่อมความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในประชาคมโลก ภายใต้แนวคิด “เข้มแข็งไปด้วยกัน” และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 2030) ของสหประชาชาติ ไปแลกเปลี่ยนและสร้างการรับรู้ในเวทีระหว่างประเทศ จนได้รับการยอมรับมีผลสำเร็จเชิงประจักษ์ และมีความเป็นสากลปัจจุบันมีประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็น “SEP for SDGs Partnership” กับไทยแล้ว 22 ประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานในอนาคต ได้แก่ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ ชุมชนต้นแบบ ตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในประเทศที่ไทยมีความร่วมมือ มีการส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในและนอกหลักสูตร ให้กับเยาวชนของเราในการขับเคลื่อน SDGs ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายกับเยาวชนโลก รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ “การทูตประชารัฐ” เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ส่งเสริมและยกระดับการทูตและการต่างประเทศของไทย โดยเน้นความร่วมมือในมิติ Soft Power เพื่อแสวงหาความร่วมมือรูปแบบใหม่ ๆ ที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันนะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกมีความพยายามในการสนับสนุนให้มีการกำหนดความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยมี “เสาหลัก” 3 ประการ คือ ด้านการคุ้มครอง ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยาครับ
เสาหลักแรก “ด้านการคุ้มครอง” ถือเป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐโดยตรง ในการดูแลมิให้บุคคลได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของภาคธุรกิจ ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่หลายฉบับ โดยรัฐบาลได้มีการออกกฎระเบียบ นโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเคารพสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ซึ่งต่อจากนี้ไป รัฐบาลจะจัดทำแนวทางและให้คำแนะนำภาคธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจการของตน อีกทั้งดูแลให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักการนี้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ตัวอย่างที่ดีในด้านการคุ้มครองนี้ ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมความไปถึงการทำประมงที่ผิดกฎหมายด้วยนะครับ ซึ่งรัฐบาลนี้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี 2557 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น (1) การคุ้มครองบุคคลจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกเอารัดเอาเปรียบโดยถูกบังคับให้ทำงานในสภาพที่เลวร้าย โดยให้มีการเข้มงวดในการตรวจเรือประมงและแรงงานบนเรือ (2) การปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด สามารถยึดทรัพย์สินในคดีค้ามนุษย์มากที่สุดในรอบ 10 ปี เป็นเงินเกือบ 800 ล้านบาท และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวม 52 ราย และ (3) การจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
ส่วนเสาหลักที่ 2 “ด้านการเคารพ” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะสิทธิของแรงงานที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ภาคธุรกิจพึ่งพิงในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน ปัจจุบัน เรามีกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน ในเรื่องของค่าจ้าง วันหยุด และการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ จากประเทศเพื่อนบ้านที่เราจำเป็นต้องดูแลด้วย เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืน ผมเห็นว่าภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับชุมชน โดยพึงระมัดระวัง ไม่ให้การดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การปล่อยสารพิษ ของเสียที่เป็นพิษ โดยต้องมีกระบวนการกำจัดสารพิษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวัน “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ผมขอความร่วมมือ ทั้งจากภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินการตามแผนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยจะดำเนินการใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย สำหรับประชาชนทุกคน ก็มีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้ง่าย ๆ ด้วยการลดใช้ถุงพลาสติก การคัดแยกขยะ ณ ต้นทาง การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น และไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ด้วย
สำหรับเสาหลักสุดท้าย “ด้านการเยียวยา” กับผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐเป็นกลไกหลักในการดำเนินการผ่านระบบศาลในกระบวนการยุติธรรม และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รองรับสิทธิของบุคคล ในการเรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหาย ที่เกิดจากการกระทำผิดในกรณีต่าง ๆ แม้ในปัจจุบันจะมีอยู่บ้างแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรมนั้น มักต้องใช้เวลานาน ดังนั้นผมเห็นว่าเราต้องสร้างกลไกอื่น ๆ เข้ามาเสริมด้วย เช่น ในรัฐบาลนี้ เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรมในทุกหมู่บ้าน ตำบลและจังหวัด ซึ่งทำงานในรูปแบบ One Stop Service รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนในเรื่องต่าง ๆ เบ็ดเสร็จภายในจุดเดียว นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบได้ ซึ่งผมเห็นว่าบริษัทหรือผู้ประกอบการเอง ก็ควรจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ในสถานประกอบการของตนเพื่อขจัดและแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ก่อนที่จะบานปลาย
ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน จะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคนั้น โดยเฉพาะผู้บริโภคในประเทศตะวันตก ไม่ได้คำนึงถึงแต่เพียงคุณภาพของสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังดูด้วยว่ากระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือทำให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ หากปรากฏว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต สินค้าเหล่านั้นก็อาจจะถูกปฏิเสธ แม้จะมีคุณภาพดีก็ตาม จะเห็นได้ว่า “การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน” นั้น มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับมาตรการทางการค้าและความต้องการของตลาด ที่จะช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 2030) อีกด้วย
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ คือ เรื่องขยะ ผักตบชวา และอื่น ๆ ที่เราต้องร่วมมือกันหามาตรการดำเนินการให้ได้ เพราะเป็นปัญหาที่ทำให้ระบบระบายน้ำ ส่งน้ำ กระจายน้ำมีปัญหา ไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานคร หรือท้องถิ่นในทุก ๆ จังหวัด เรื่องขยะนี้เกี่ยวพันกับอีกหลาย ๆ ปัญหา ในด้านกฎหมาย เป็นภาระหน้าที่ที่จำเป็น ที่จะต้องมีหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน หลายโครงการ ใช้งบประมาณหลายส่วนด้วยกัน เพราะเจ้าหน้าที่จากเพียงหน่วยงานเดียว อาจจะไม่เพียงพอนะครับ อยู่ที่การบูรณาการในการใช้ทั้งคน ทั้งแหล่งงบประมาณ ทั้งแผนงานให้สอดคล้องกัน มีความรับผิดชอบหลักนะครับ แบ่งความรับผิด ชอบให้หน่วยงานอื่น ๆ ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ทั้งในภารกิจและพื้นที่ เช่น ขยะผักตบชวาในชุมชน ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น น้ำมากก็ไหลลงคูคลอง แม่น้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน หากกำจัดตั้งแต่ต้นทางได้โดยประชาชนทุกคนช่วยกัน เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถแก้ไขได้โดยทันที
สำหรับขั้นตอนการจัดการขยะทั่วไป ตั้งแต่ที่ทิ้งขยะ การดำเนินการแยกขยะขนขยะ การจัดหาที่ทิ้งขยะฝังกลบขยะนำไปสร้างพลังงาน ทุกอย่างต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเราเก็บค่าขยะได้เพียงครัวเรือนละ 20 บาทต่อเดือน ประกอบกับทำให้เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณจากงบกลางและของกระทรวงมหาดไทยลงไปเพิ่มอีกปีละเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
การแยกขยะจากหมู่บ้าน ชุมชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ละที่สามารถจัดที่จัดเก็บ ที่ทิ้งได้เพียงพอหรือไม่ มีที่วางพอได้หรือเปล่า ถนน พื้นที่อาจจะคับแคบเกินไป ที่ทิ้งขยะใหญ่แบบเมืองนอกทำไม่ค่อยได้นะครับ เมื่อมีการแยกขยะมาแล้ว ก็ต้องมาดูเรื่องการขนส่ง การเก็บของเจ้าหน้าที่ รถเก็บขยะพอหรือไม่พอ แล้วการเก็บรวมกันไปทิ้งที่ปลายทาง ก็เหมือนเดิมทุกอย่าง ส่วนการแปลงขยะให้เป็นพลังงาน ปริมาณขยะต้องเพียงพอ ต้องมีการสร้างโรงงาน แต่ประชาชนก็ไม่ได้ให้สร้าง ในพื้นที่ตนเอง สรุปแล้วก็จะเกิดอะไรขึ้นไม่ได้ทั้งสิ้น ก็จะแก้ปัญหาขยะไม่ได้
วันนี้ต้องดูว่ารัฐบาลทำอะไรไปได้บ้าง อย่างน้อยก็ให้มีมาตรการเข้มงวดกวดขัน ออกมาตรการใหม่ ๆ ซึ่งก็จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้ทิ้ง ผู้เก็บ รัฐบาล เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนะครับ ถ้าเรายังคงคิดว่าขยะคือปัญหา แต่ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือตลอดกระบวนการ ก็แก้ไขไม่ได้ วันนี้ใช้เงินเพิ่มเติมไปปีละกว่าสามพันล้านบาท ในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ
เรื่องของปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน ต่างจังหวัดก็มี เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ที่เรามีน้ำภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร นอกเหนือจากมาตรการกำจัดขยะ ผักตบ ที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ในเมื่อระบบระบายน้ำเดิมเล็ก ขยายไม่ออกขยะอุดตัน ขยะชิ้นใหญ่ไหลรวม ตั้งแต่ โต๊ะ เก้าอี้ ที่นอน เราก็ได้พยายามจัดรถเก็บเพิ่มเติมนะครับ สำหรับขยะชิ้นใหญ่ กำชับ ได้สั่งการไปแล้ว กำชับและพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำให้เร็ว ไม่ได้ทันที เพราะระบบขยายไม่ออก แต่ปัญหาคือขยะจะเอาไปทิ้งที่ไหน น้ำจะระบายไปที่ไหน คูคลองเดิมมีน้อยนะครับ ถมไปแล้ว นานแล้วด้วย สกปรก ไม่เพียงพอ เครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ ระบายน้ำก็มีน้อย
สำหรับการบำบัดน้ำเสีย ปัญหาก็เริ่มจากการประกอบการอุตสาหกรรม ต้องกำจัดตั้งแต่ต้นทาง กฎหมายทุกฉบับมีอยู่แล้ว เราต้องเข้มงวด การติดตั้งถังดักไขมันระบบถังบำบัดน้ำเสียในบ้าน ทั้งเล็ก กลาง ขนาดใหญ่ ทุกกิจกรรมก็ต้องแก้ไข ทำอย่างไรจะไม่ไหลลงคลอง ระบบระบายน้ำก็จะไม่เกิดปัญหา ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำ ซึ่งรัฐบาลก็กำลังเพิ่มเติมในการทำงานทุกระบบ เท่าที่จะสามารถทำได้ เช่น ได้เพิ่มเครื่องมือสูบผลักดันน้ำ จากต้นทางและปลายทาง เพื่อจะดำเนินการสูบ และดำเนินการสูบโคลนเลนออกจากท่อ รวมไปถึงจัดหาเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมตามงบประมาณที่มีอยู่ หรือเพิ่มเติมได้จำนวนหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ในการจราจรที่ติดขัดแก้ปัญหารถเสีย ทำให้เกิดน้ำท่วมชั่วคราว
วันนี้เราต้องแก้ปัญหาให้น้ำลดลงให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ พอฝนตกลงมา แล้วก็ไม่ท่วม ไม่ไหล ลดระดับได้ภายในไม่กี่นาที เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่า กทม. เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลน้อยมาก สำหรับปัญหาของเดิมที่ทำกันเอาไว้ ก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องทำใหม่ เช่น การสร้างสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติม เราก็มีโครงการอีกโครงการหนึ่งกำลังให้ทำอยู่ โครงการโรงสูบน้ำคลองเปรมประชากรซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและใช้เวลาก่อสร้าง แต่ที่อื่นที่เดือดร้อนอีกจะทำได้หรือไม่ ขุดอะไรก็ไม่ได้ ติดขัดบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยทั้งหมด ก็เห็นใจเพราะว่าที่ผ่านมา ได้สร้างไปโดยไม่เป็นไปตามผังเมืองที่มีอยู่แล้ว ที่เขาทำมามีกฎหมายทุกฉบับ แต่ก็ปล่อยปละละเลยมายาวนาน ต่อจากนี้ไป เราคงต้องเตรียมรับมือกับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาเพิ่ม รวมกับฝนที่ตกใต้เขื่อน ที่อาจตกเกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำของเราที่จะรับได้ เพราะเราไม่มีเขื่อน ไม่มีแก้มลิงขนาดใหญ่เพียงพอ ขุดไม่ได้ เพื่อจะตัดตอนน้ำเหนือใต้เขื่อนที่มีอยู่ ประชาชนไม่ยินยอม เกรงว่าจะทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ก็จะมีผลกับน้ำท่วม ทั้งในพื้นที่ต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร เพราะน้ำไหลจากเหนือลงล่าง นอกจากนั้น การกักเก็บน้ำเราต้องดำเนินการไปอย่างพร้อมกัน เมื่อฝนทิ้งช่วงก็จะเกิดน้ำท่วม แล้วน้ำแล้งตามมา ทุกอย่างจะทำไม่ได้เลย ถ้าเราทุกคนยังขัดแย้งกันด้วยหลักการ ทุกคนต้องการมีน้ำใช้ ไม่อยากให้น้ำท่วม แต่ก็ยังไม่ค่อยยอมเสียสละ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง ยังให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล มีการทิ้งขยะเหมือนเดิม โทษกันไปมาทุกอย่าง ไม่มีโอกาสปฎิรูปได้ทุกอย่าง แน่นอนทุกเรื่อง คิดแบบเดิม วิธีการเดิม ๆ กฎหมายเดิม ๆ ไม่เข้าใจ ไม่ร่วมมือ แยกคิด แยกทำ ไม่บูรณาการ ผมอยากจะขอทำความเข้าใจวันนี้ด้วย
ที่ผมพูดทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ตัวของรัฐบาลหรือ คสช. หรือโยนความผิดให้กับใคร แต่เราต้องยอมรับในปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันแก้ไขมากกว่าตำหนิ เลิกบ่นว่าในสิ่งที่ทำไม่ได้ ก่อนจะติติงวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ กรุณามีหลักคิดให้ถูกต้อง มีข้อมูลที่เพียงพอ มองปัญหาที่ทับซ้อน แกะออกมาจะได้รู้ว่าเราจะแก้ไขได้อะไรบ้าง เพื่อจะช่วยกันปฏิรูปประเทศก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เราต้องช่วยกันหาสิ่งที่ทำได้ไปก่อน ผมเชื่อว่าทุกปัญหาจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ปานกลาง จำเป็นต้องใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งเพิ่มขีดความสามารถ มีการลงทุนเพิ่ม เพื่อจะสร้างงาน สร้างรายได้ โดยสร้างความเชื่อมโยง ไม่ใช่ช่วยจน หรือช่วยโดยไม่มองรายละเอียดอย่างเดียว ความชัดเจน ความเดือดร้อนต่าง ๆ นั้น มีไม่เท่ากัน รายได้น้อยสุด เราก็อาจจะต้องดูแลมากที่สุด ให้เขาสามารถมีรายได้ที่เพียงพอ พึ่งตนเองได้ ซึ่งเราจะต้องทำอย่างระมัดระวัง การใช้จ่ายงบประมาณต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ โดยไม่ปล่อยปละละเลยทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนเข้าใจ อย่าไปฟังคำบิดเบือนว่าต่อไปจะมีการช่วยอะไรได้หมดทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน ทั้งรัฐ ประชาชน ประชาสังคม NGO และอื่น ๆ เรื่องการใช้จ่ายการบริหารหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ รัฐบาลก็ต้องทำควบคู่กันไป ตลอดเวลา หนี้ประชาชน หนี้ของประเทศ เราจะได้เห็นความพยายามในการแก้หนี้นอกระบบ การลดภาระหนี้สินครัวเรือน เราจัดให้มีกองทุนกู้เงินแก้ปัญหา ทั้งประชาชนที่มีรายได้น้อย ทั้ง SMEs ทั้งอะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ติดที่ว่าทุกคนไม่พร้อม คุณสมบัติไม่ได้ ไม่ผ่าน ก็ต้องเห็นใจ เพราะงบประมาณทุกงบประมาณนั้น เราปล่อยให้เสียหายไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการบริหารจัดการหนี้ในอดีตที่ผ่านมา การสร้างการเรียนรู้ที่ไม่พอ ทุกคนไม่มีบัญชีครัวเรือน เทคโนโลยีเจริญเติบโตเร็วเกินไป ไม่เข้มแข็งเพียงพอ รายได้ไม่เพียงพอ เกิดการเป็นหนี้นอกระบบ ในระบบ มาอย่างต่อเนื่อง การไม่มีบัญชีครัวเรือน ในการใช้หนี้ กู้ยืมเก่าและใหม่ การที่จะให้รัฐบาลช่วยทั้งหมดโดยไม่ต้องชำระคืนเป็นไปไม่ได้ อย่าไปเชื่อผู้บิดเบือนว่ารัฐบาลนี้มาสร้างหนี้ ไม่ช่วยเหลือต้องไปดูว่าหนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นหนี้มีมูลค่าบ้างหรือไม่ เช่น ผ่อนบ้าน ที่ดิน รถยนต์ ประกอบอาชีพ หรือหนี้ที่ไม่มีมูลค่า ซื้อของฟุ่มเฟือย แบรนด์เนมเกินความจำเป็น เกิดขีดความสามารถของตัวเอง ใช้บัตรเครดิตอย่างไม่ระมัดระวัง เราจะมีวิธีบรรเทาเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อจะช่วยเขาให้เขามีรายเพิ่ม ขึ้นเพื่อชำระหนี้เก่า แล้วก็ดำรงชีวิตใหม่ได้อย่างไร เราต้องทำทุกมาตรการ รัฐบาลอยากจะทราบว่าวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ รัฐบาลต่อไปจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรได้ดีกว่านี้ ยั่งยืนได้มากกว่า หรือจะเข้ามาแบบเดิม ช่วยเหลือโดยไม่คำนึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต ประเทศชาติต้องล้มเหลวอีกครั้ง ในเรื่องระบบการเงินการคลังของประเทศ
กรณีการป้องกันไม่ให้ใช้งบประมาณของรัฐบาลในการสร้างนโยบายพรรคการ เมือง ในรูปแบบประชานิยมเต็มรูปแบบ เช่น พระราชบัญญัติกองทุนพลังงาน พระราชบัญญัติการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ การจัดทำงบประมาณภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด ที่มีความชัดเจนในปัจจุบัน ในการใช้จ่าย ซึ่งก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาในวันหน้าได้บ้าง แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการมีธรรมาภิบาลของทุกรัฐบาลต่อไป
รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มาสร้างปัญหาต่อไป และก็จะต้องระมัดระวังหามาตรการไม่ให้เกิดปัญหานี้อีก ซึ่งขอให้ทุกคนเข้าใจเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ของกฎหมายทุกฉบับ ที่ออกในสมัยรัฐบาลนี้ด้วย อย่าไปมองว่าไปสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน อย่างที่หลายกลุ่ม หลายฝ่ายออกมาพูดกัน เราต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงทุกเรื่อง แล้วสร้างความเท่าเทียม สร้างความเป็นธรรมโดยการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ
สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศที่สำคัญ และเป็นภัยเงียบในสังคมไทย คือ การทุจริตและการกระทำผิดกฎหมายและความไม่เข้าใจบิดเบือน ไม่ใช้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ เฝ้าระวังทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชน รัฐบาล สาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดความรอบรู้ ประสิทธิภาพ จากนโยบายขับเคลื่อนสู่ผู้ปฏิบัติและสังคม ประชาชน ขาดความยับยั้งชั่งใจของเจ้าหน้าที่ ความไม่พอเพียง ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนส่วนหนึ่ง และการไขว่คว้าแสวงหาความสะดวกสบายฟุ่มเฟือย จากของใช้เครื่องมืออุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ เทคโนโลยีสูง แต่ก็ลืมประมาณตนว่ามีรายได้เพียงพอหรือไม่ หรือจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ การทุจริตอาจมาในรูปแบบของการขอรับบริการ การอำนวยความสะดวก ซึ่งผู้กระทำความผิด มักเป็นผู้ที่นิยมการใช้อภิสิทธิ์ หรือต้องการการดูแลเป็นกรณีพิเศษ ที่แย่กว่านั้น คือ การประกอบกิจการสีเทา หรือการทำธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่บางนาย บางกลุ่ม บังคับใช้กฎหมายที่ตนเองถืออยู่ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แบบเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เกื้อกูลซึ่งกันและกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็ผิดทั้งคู่ กลายเป็นภาระความผูกพันจนแยกกันไม่ออก แม้ปัญหาลักษณะนี้จะมีมานานคู่สังคมไทย จนบางคนชินชา เอือมระอา กลืนไม่เข้า คายไม่ออก แต่วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปลดเรื่องเหล่านี้ให้ได้ ต้องมีการปฏิรูปสังคม ต้องหยุดวงจรคอร์รัปชันเหล่านั้น เราต้องช่วยกันพิจารณาว่า เราจะร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าแก้ไขได้ โดยการปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับข้าราชการ การสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคน เริ่มตั้งแต่เยาวชนในระบบการศึกษา และการเป็นตัวอย่างที่ดีของคนในครอบครัว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ และการเข้าอกเข้าใจกัน อย่าได้เรียกร้องอะไรที่เกินฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะท่านต้องไปหามาสุจริตไม่ได้ก็ทุจริต อย่าไปคิดว่าจะต้องทำทุกอย่างให้มีฐานะเท่าเทียมเพื่อนฝูง จงคิดเสียใหม่ว่า เราทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่คนที่จะมีความสุขในชีวิตได้ คือ คนที่รู้จักพอ หรือพอเพียง ส่วนคนที่ไม่รู้จักพอ ก็จะไม่เคยมีความสุขเลย รัฐบาลและ คสช. ยอมรับว่าการปราบปรามการทุจริต และการจัดระเบียบสังคม และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการไหล เวียนในระบบเศรษฐกิจ มีเศรษฐกิจหดตัว ฝืดเคือง ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากเม็ดเงินจากการประกอบธุรกิจสีเทาเหล่านี้ ซึ่งเดิมมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมีการปราบปรามอย่างหนัก ก็จะมีผลสะท้อนทางลบต่อตัวเลขเงินที่หมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ถ้าหากเราปล่อยปละละเลยก็จะเป็นสนิมกัดกร่อนประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในเวลาเดียวกัน
อีกส่วนหนึ่งนั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหากับผู้มีรายได้น้อยมาก เพราะว่าบางคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่นี้มาโดยตลอด ระยะเวลาที่ผ่าน ๆ มา เขาได้ใช้เงินเหล่านี้ในการดำรงชีพ อาทิเช่น การจ่ายส่วยเพราะขายของบนทางเท้า การขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ การขายหวยใต้ดิน เฝ้าบ่อน เฝ้าซ่องโสเภณีเหล่านี้เป็นต้น บางคนไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดกฎหมายเพราะทำมาตั้งแต่เด็ก บางคนมักง่ายในการหาเงิน หาง่ายก็ใช้ง่าย เที่ยวเตร่ ใช้เงินง่ายไม่รู้คุณค่าของเงิน หมดก็หาใหม่ ก็ต้องทำผิดกฎหมายอีก เกิดการจี้ปล้นทำอาชญากรรมต่าง ๆ อีกมากมาย พอมาวันนี้ สิ่งที่เคยชิน แต่ทำผิด จึงถูกห้าม ถูกจับ ถูกปรับ ทำไม่ได้ เลยรู้สึกว่าเดือดร้อน ก็เป็นส่วนหนึ่ง คงไม่ใช่ทั้งหมด จนนักการเมืองที่ไม่ดีนัก ออกมาพูดบิดเบือน โจมตีนโยบายการจัดระเบียบบ้านเมือง ว่าสร้างความลำบากให้กับผู้มีรายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ เพื่อหวังผลทางการเมือง แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร ทำไมเราไม่สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง สอนให้ประชาชนมองผลกระทบในระยะยาว ชวนกันทำในสิ่งที่ถูกต้อง มั่นคง และยั่งยืนจะดีกว่าหรือไม่
สุดท้ายนี้ สิ่งที่ช่วยให้เราบรรลุความสำเร็จ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ได้คือ การวิจัยและพัฒนา ตลอดขนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของไทยเอง นอกจากต้องผลิตเพื่อมาใช้ประโยชน์ ยังต้องนำไปสู่การขยายผลในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะต้องสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้วิจัย ผู้ผลิต การตลาด กฎหมาย ทั้ง 4 อย่างนั้น เราต้องหาวิธีการที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ที่ผ่านมาเราไม่ได้จัดทำห่วงโซ่ เหล่านี้ให้ครบวงจร หรือทำให้เกิดขึ้นได้ไม่มากนัก ทุกอย่างแยกชิ้นกันทำ หากันไม่เจอ เช่น ไม่วิจัยในสิ่งที่ตลาดต้องการ ประชาชนต้องการ ไม่จำเป็นเพราะไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันจึงไม่ดึงดูดความสนใจ และไม่นำไปสู่การผลิตกฎหมายก็ไม่เกื้อกูล ไม่ครอบคลุม กลับเป็นอุปสรรคในเรื่องเหล่านี้ การให้สิทธิประโยชน์และทุนวิจัย ขาดความต่อเนื่อง เป็นต้น เราก็ควรจะจัดกลุ่มความสำคัญ ความเร่งด่วน ให้สัมพันธ์กับทุนการวิจัยและกฎหมาย เพื่อให้เกิดกระบวนการ ที่ประสานสอดคล้องกัน ทั้งการวิจัยของภาครัฐ สถานศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนการลงทุนใน 5 S CURVE ใหม่ของเรา จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานรองรับ เช่น ของ มอก. อย. เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องสร้างห่วงโซ่ผู้ผลิต และการตลาดให้เกิดขึ้นให้ได้ ตรงความต้องการของประเทศมีผลตอบแทนให้กับผู้วิจัย คณะวิจัย ในหลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะสิ่งที่จำเป็น คือ เหมาะสมกับคิดมาเพื่อให้ใช้ได้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรม ตลอดจนงานด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน ในสิ่งของที่อาจจะไม่แพงมากนัก หรือแพงก็ทำให้ถูกขึ้น
วันอังคารที่ผ่านมา ผมได้เชิญนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาแสดงผลงานวิจัยในกลุ่ม Digital Economy ให้คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานด้านความมั่นคงชม วันนี้ผมขอยกตัวอย่าง 2 ผลงานมาเล่าให้พี่น้องประชาชนฟัง คือ ผลงานแรกเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการเก็บพิสูจน์หลักฐาน เช่น รอยนิ้วมือแฝง รอยอาวุธ รอยงัดแงะ ถ้าจะเก็บหลักฐานเป็น 3 มิติ ให้คงทน ชัดเจน ต้องใช้ซิลิโคนนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงหลอดนิดเดียว 2,500 บาท ใช้เวลาในการลอกลายประมาณ 15 นาที และมีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ลอกลายกระสุนปืนแบบเจาะทะลุไม่ได้ แต่ทีมวิจัยนี้ สามารถใช้ยางธรรมชาติมาผลิตเป็นเทอร์โมพลาสติกลอกลาย ใช้งานง่าย เมื่อโดนความร้อน หรือไดร์เป่าผม ก็จะอ่อนตัวเหมือนดินน้ำมัน เอาไปใช้ได้ทันที ได้คุณภาพความคมชัด ใช้เวลาลอกลาย แค่ 2 นาที รอยกระสุนแบบเจาะก็สามารถเก็บหลักฐานได้ ราคาถูกกว่ามาก กิโลกรัมแค่ 600 บาท แล้วยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle ได้อีกด้วย ก็ขอให้หน่วยงานความมั่นคงนำไปศึกษานำไปใช้ประโยชน์ด้วย
ผลงานที่สอง เป็นชุดตรวจสารพันธุกรรมทำนายอาการแพ้ยาในกลุ่มคาร์บามาซิพีน ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ก่อให้เกิดการแพ้ยามากเป็นลำดับต้น ๆ ของการแพ้ยาในผู้ป่วย โดยใช้การตรวจ DNA จากเลือดผู้ป่วย เพื่อคัดกรองลักษณะพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับการแพ้ยา ซึ่งหากแพ้รุนแรงอาจทำให้ตาบอดและอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งชุดตรวจที่เราพัฒนาขึ้นเองราคาเพียง 1,000 บาท ขณะที่ชุดตรวจนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูง ชุดละ 2,500 บาท ทำให้โอกาสในการตรวจกรองทำได้ครอบคลุมมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผมมั่นใจว่า ทุกๆ สถาบันการศึกษาในประเทศ มีขีดความสามารถและกำลังปรับตัว ปรับเปลี่ยนบทบาทของสถาบันการศึกษา ไปสู่การวิจัยและพัฒนามากขึ้นยิ่งขึ้น ซึ่งหลาย ๆ แห่งทำได้ดีมาก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ขอให้งานวิจัยเหล่านั้นมีทิศทางเพื่อแก้ปัญหาของชาติ ของพี่น้องประชาชน และช่วยนำพาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ขอขอบคุณหมอ อาจารย์ และนักวิจัยทุกท่านที่ได้ทุ่มเทเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งให้แก่ประเทศชาติ ผมเชื่อเสมอมาว่า สถาบันการศึกษานั้น จำเป็นต้องเปิดตัวเองเข้าสู่ชุมชน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท้องถิ่น จับมือเดินไปด้วยกัน แข็งแรงไปด้วยกัน Stronger together
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard