Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1489 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและคณะได้เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนตามคำเชิญของท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศนะครับ ที่มีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับพระราชวงศ์
โดยปวงชนชาวไทยมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรน ได้ทรงมีข้อความ พระราชสาสน์แสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
และได้ทรงมีข้อความพระราชสาส์นถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสขึ้นทรงราชย์ สำหรับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ก็ได้เสด็จมาถวายความอาลัยต่อการสวรรคตฯ ด้วยเช่นกัน
ในการเยือนครั้งนี้ นอกจากจะได้รับพระราชานุญาตฯ ให้เข้าเฝ้า สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรนแล้ว ยังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีแบบเต็มคณะนะครับ โดยได้รับทราบถึงนโยบาย “Economic Vision 2030” ของบาห์เรน
ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบาห์เรน ทรงมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มวิสัยทัศน์ดังกล่าวเพื่อความมั่งคั่งของชาวบาห์เรน บนพื้นฐานความยั่งยืน, ความเป็นธรรม และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันนะครับ ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของเรา ซึ่งมุ่งเน้นความรู้, เทคโนโลยี, การสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เช่นกัน ให้กับประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
ได้มีการหารือในหลายๆ ด้าน ได้มีพีธีลงนามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง จำนวน 3 ฉบับที่ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตร, การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และการส่งเสริมให้แพทย์ผู้ชำนาญของไทยได้เข้าร่วมโครงการ Visiting Doctor Programme ของบาห์เรน
ซึ่งในอนาคต ประเทศไทยก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรนอย่างอบอุ่น เหมือนที่เราได้รับในครั้งนี้เช่นกันนะครับ เพื่อเป็นการสานต่อมิตรภาพอันดีระหว่างกัน ในทุกระดับ ให้ยั่งยืนต่อไป
พี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็น “ผู้ร่วมสร้างชาติ” ทุกท่าน ครับ, วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ตรงกับ “วันกรรมกรสากล” หรือ “เมย์-เดย์ (May Day)” นะครับ ของโลก แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในกระบวนการผลิต ห่วงโซ่คุณค่าในระบบเศรษฐกิจ โดยพลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น
ดังนั้น ความมั่นคงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ จะมีส่วนสัมพันธ์ “โดยตรง” กับพี่น้องแรงงาน ทุกประเภท ทั้ง “แรงงานในระบบ” ที่เรียกว่า มนุษย์เงินเดือน และ “แรงงานนอกระบบ” แรงงานอิสระนะครับ ที่มีอยู่ราว 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด เช่น คนงานที่รับงานไปทำที่บ้าน, แรงงานรับจ้างทำการเกษตร เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ที่เป็น “แรงงานตามฤดูกาล” และแรงงานประมง, คนทำงานบ้าน, รับจ้างทั่วไป, แม่ค้าหาบแร่ แผงลอย, ช่างเสริมสวย ช่างทำผม เหล่านี้เป็นต้นนะครับ
แรงงานนอกระบบนี้ ส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอน ไม่มีความมั่นคง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ และคุ้มครองจากรัฐบาล ทั้งด้านกฎหมายแรงงาน, ประกันสังคม และสวัสดิการอื่นๆ แล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบ ทั้งในมิติสังคมและความมั่นคง ตามมาอีกด้วย
ดังนั้น ผมเห็นว่าการจัดให้มี “ฐานข้อมูลกลาง” (Data Center) ข้อมูลแรงงาน ข้อมูลประชากรของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก จะช่วยให้รัฐบาลและทุกหน่วยงาน สามารถนำไปใช้กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ ได้อย่างเหมาะ สมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแรงงานกลุ่มต่างๆ และแรงงานคนพิการของไทย
รวมถึงแรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการลงทะเบียนจัดทำฐานข้อมูลตามขั้นตอนไปแล้ว นอกจากนี้ ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการจัดระบบ ให้เป็นระเบียบ สำหรับการบริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศสามารถใช้ศักยภาพจากทรัพยากรมนุษย์ หรือ “แรงงานของประเทศ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
ที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานไทย นอกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ด้านผลประโยชน์, ค่าตอบแทน และสวัสดิการแล้ว ยังคงมีปัญหาเรื่องปากท้อง การบริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการศึกษา อีกด้วย
ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน แก่พี่น้องแรงงาน “ทุกประเภท” โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ที่มักจะเป็นประชากร ระดับฐานราก และผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นจึงมีนโยบายสาธารณะต่างๆ ออกมาจำนวนมาก ในช่วงเวลา 2 ปีกว่านี้ ที่ผมอยากทบทวนอีกครั้งนะครับ เช่น ..
ด้านสุขภาพ ก็ได้แก่ (1) การแพทย์ฉุกเฉิน “72 ชั่วโมงแรก” ให้พ้นวิกฤต ที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงอันตรายถึงชีวิต ได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งเป็นการก้าวข้าม “กำแพงสิทธิ” ประเภทต่างๆ ไม่ว่าประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนอื่นๆ หรือแม้จะไม่มีสิทธิใดๆ โดยรัฐบาลได้รักษาไว้ซึ่ง “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของพี่น้องคนไทยทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สายด่วน 1669 นะครับ
และ (2) คลินิกหมอครอบครัว เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย เน้นมาตรการเชิงป้องกัน มากกว่ารักษา ที่มักมีราคาแพงกว่า ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายแพทย์ปฐมภูมิ ไปทั่วประเทศ จนเข้าถึงทุกครัวเรือน จำนวน 6,500 ทีม ในปี 2570 เหล่านี้เป็นต้นนะครับ
ด้านสวัสดิการสังคม ได้แก่ (1) กองทุนการออมแห่งชาติ สำหรับประชาชนและพี่น้องแรงงาน ที่ไม่อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ ที่เรียกว่ากบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กสล. หรือกองทุนประกันสังคม
(2) กองทุนยุติธรรม จะช่วยเหลือในเรื่องคดีความ, การให้ความรู้ทางกฎหมาย หรือการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
และ (3) การลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการภาครัฐ ที่จะปิดลงทะเบียนในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้ โดยจะมีมาตรการ “ลดค่าครองชีพ” สำหรับแรงงานที่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น การให้ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่ารถ ขสมก. สำหรับแรงงานในกรุงเทพฯ หรือค่ารถ บขส. สำหรับพี่น้องต่างจังหวัด เหล่านี้เป็นต้น ใครที่อยู่ในเกณฑ์ ดังกล่าว ก็ขอให้รีบมาลงทะเบียนกันนะครับ
และ ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ เช่น (1) ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) / (2) การสร้างระบบมาตรฐานแรงงาน ช่วยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล
และ (3) การส่งเสริมอาชีวศึกษา “ระบบทวิภาคี” ภายใต้กลไกประชารัฐ เป็นต้น ที่กล่าวมา ก็เป็นการบูรณาการหน่วยงาน และการสร้างระบบ “ตลาดแรงงาน” ที่สอดคล้องกันของฝั่ง Demand คือ กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงพาณิชย์ และฝั่ง Supply คือ กระทรวงศึกษา และกระทรวงแรงงาน ให้รองรับการก้าวไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” นั่นเองนะครับ
ทั้งนี้ ในอนาคต เราจะต้องยกระดับจาก “ผู้ใช้แรงงาน” เป็น “ผู้ใช้พลังสมอง” หรือที่เรียกว่า จากManpower สู่ Brainpower นะครับ ผมอยากให้ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากการเห็นว่า “ตนเอง” นั้น มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศเท่าเทียมกัน
ซึ่งคงต้องค่อยๆ ยกระดับตนเองเป็น แรงงานมีฝีมือ แรงงานคุณภาพ แรงงานที่มีนวัตกรรม และแรงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้ได้ โดยต้องรู้จักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างเหมาะสม ด้วยนะครับ
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” นับเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ เราออกแบบมาเพื่อการปรับเปลี่ยน จากการเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก ไปมุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีหลายประเด็นที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะให้เกิดความสำเร็จ หรือเรียกว่าให้ยั่งยืนให้ได้โดยเร็วนะครับ เช่น ...
1. ประเด็นการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการ ผมถือว่านโยบายนี้ เป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ จึงพัฒนากลไกการบริหารจัดการขึ้น ก็คือ “ป.ย.ป.” ที่เรียกว่าคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อจะกำกับดูแล ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
อันประกอบไปด้วย การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21, การบ่มเพาะผู้ประกอบ การและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, การพัฒนา คลัสเตอร์เทคโนโลยี และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย, การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายใน ประเทศ ผ่านกลไก 6 ภาค 18 กลุ่มจังหวัด และ 76จังหวัด, การบูรณาการอาเซียน และเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก
และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ “ที่จับต้องได้” ที่เราคุ้นเคย รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “ที่จับต้องไม่ได้” ทางปัญญา และทางสังคม ที่มักถูกมองข้ามนะครับ แต่ต่างก็มีความสำคัญ สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
2. ประเด็นความพร้อม ด้านการพัฒนาแรงงาน หรือทรัพยากรมนุษย์ ผมถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ในการนำพาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ทั้งนี้ “คนไทย 4.0” ก็คือ คนในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องมีทักษะความรู้ ความคิดวิเคราะห์ และความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน STEM ที่เรียกว่า สะเต็ม นะครับ ที่ผมเคยได้กล่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โดยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องร่วมมือพัฒนาคนไทย เยาวชนไทย เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยึดหลักการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์,มีวิสัยทัศน์, นำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และคำนึงถึงส่วนรวม มีจิตสาธารณะ
3. ประเด็นการยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการทำธุรกิจในประเทศ ซึ่งนอกจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว เรายังต้องปรับปรุงกฎหมาย, กฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ของราชการ เพื่อจะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารงานภาครัฐ อย่างต่อเนื่อง
โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของภาคธุรกิจ อาทิเช่น ผลักดัน พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ และปรับปรุงการบริการของภาครัฐ โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ มาปรับใช้ ให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพื่อให้ภาคธุรกิจที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้รับความสะดวก รวดเร็ว ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และมีธรรมาภิบาล ยิ่งขึ้น
และ 4. ประเด็นการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี จากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เราไม่อาจจะเพิ่มศักยภาพของคนไทย หรือยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน ถ้ามัวแต่อาศัยเทคโนโลยีที่คนอื่นคิดขึ้น โดยไม่พยายามยืนบนลำแข้งของตนเองให้ได้ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเราเอง
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ผลักดันกฎหมายด้านการลงทุน 2 ฉบับ ก็คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีมูลสูงจากต่างประเทศแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดหุ้นส่วนเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระหว่างภาครัฐกับเอกชน, ไทยกับต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยไทยกับต่างประเทศ
รวมทั้ง จะดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสูง (Talents) จากต่างประเทศ มาช่วยเป็นกำลังเสริมในการพัฒนาประเทศของเรา และทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับคนไทยอีกด้วย โดยจะอำนวยความสะดวกด้าน Visa และใบอนุญาตให้ทำงาน(Work Permit), การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกลุ่มนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากต่างประเทศ ในสาขาที่ไทยต้องการ ผมเน้นนะครับ ในสาขาที่ไทยต้องการ และการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารTalents” เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-based Development Policy) ซึ่งเน้นการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ อย่างทั่วถึง อันจะเป็นส่วนสำคัญ ในการลดปัญหาสังคมในเขตเมือง และปัญหาครอบครัวในต่างจังหวัด ที่เป็นต้นตอของอีกหลายปัญหาของประเทศตามมา
โดยมีแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่สำคัญๆ ได้แก่ แผนพัฒนาระดับภาค กลุ่มจังหวัด, การจัดตั้งInnovation Hub กระจายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ, การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ในรูปแบบของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ตามแนวคิด “เราจะเข้มแข็งไปด้วยกัน และเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยอาศัยความสัมพันธ์ในลักษณะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และขยายออกไปในระดับ AEC
และอีกนโยบายที่สำคัญ คือ EEC การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุด และทันสมัยที่สุด ในภูมิภาคอาเซียน สำหรับเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ในหลายๆ ด้าน ทั้งการประกอบธุรกิจ การเงิน การวิจัยและพัฒนา การซ่อมอากาศยานและการซ่อมบำรุง การท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยใน 5 ปีแรกนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมประมาณ 1.5ล้านล้านบาท ผมอยากให้จิตนาการกันต่อไปนะครับ ว่า 10 ปี 20 ปีข้างหน้า หากพวกเราร่วมมือกันทุกฝ่าย ทุกคนเตรียมความพร้อมของตนเองแล้วนะครับ ตามที่ผมกล่าวไปแล้ว ประเทศไทยก็จะมีความโดดเด่นในภูมิภาค ตามที่เรามุ่งหวังได้นะครับ ขอความร่วมมือ ความเข้าใจจากประชาชนด้วยนะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, วันนี้ เราพูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นนะครับ อย่างต่อเนื่อง ถ้าพี่น้องประชาชนลองมองย้อนกลับไป ปี 2557 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียงร้อยละ 0.8 และปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2558 และ 3.2 ในปี 2559 ที่ผ่านมา
ในปีนี้ หากโครงการต่างๆ คืบหน้าไปตามแผนที่วางไว้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก ที่ประมาณร้อยละ3.5 ซึ่งก็ถือเป็นการค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น จากปัญหาความไม่แน่นอนต่างๆ ของประเทศและภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
แม้จะยังไม่ได้กลับมาขยายตัวสูงเท่ากับในอดีต แต่ก็สะท้อนว่าเรายังมีโอกาสนะครับ ที่จะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ และยังน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในวันข้างหน้า หากเราค่อยๆ ช่วยกันนะครับ ฟิตร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
สำหรับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีนะครับ เราได้เห็นการส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และเริ่มขยายตัวมากขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 10 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รายได้เกษตรกร ในเดือนมีนาคมปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทน มีราคาสูง เช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ซบเซามาเป็นเวลานาน สำหรับการค้าขายของภาคธุรกิจ มีการขอจดทะเบียนธุรกิจเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 10 ซึ่งก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เอกชนก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ทั้งนี้ หากเราต้องการที่จะกลับไปโตได้ในอัตราสูงๆ แบบเดิม เราจะต้องเร่งให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนไปบ้างแล้วนะครับ แต่ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างหนึ่งก็คือการเร่งให้เกิด EEC ที่จะช่วยวางรากฐานอนาคตของการผลิต การค้า และยกระดับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องเหล่านี้ ต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะเห็นผล ซึ่งความร่วมมือร่วมใจจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยนะครับ
อย่างไรก็ตามภายใต้ความพยายามเหล่านี้ ที่ผ่านมา ก็อาจจะมีหลายพวกหลายฝ่ายนะครับ พยายามจะโจมตีรัฐบาล ที่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่องนั้น คนในระดับฐานรากยังไม่ได้รับผลโดยตรง ไม่ถึงพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงบ้าง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่บ้าง ซึ่งก็ล้วนเป็นการสร้างความขัดแย้ง ทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุนในประเทศที่กำลังค่อยๆ ไปได้ดี ที่รัฐบาลและเอกชนหลายฝ่ายกำลังพยายามสร้างอยู่นะครับ
ก็ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี รับทราบ กำลังดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่องนะครับ แล้วก็จะเร่งรัดดำเนินการภายในปีนี้ให้ได้ต่อไปนะครับ
ช่วงนี้ อากาศก็ร้อนพออยู่แล้วนะครับ ผมไม่อยากให้เอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง จนต้องทำให้เราต้องร้อนใจไปด้วย ผมก็อยากให้ลองมองความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือประชาชน ทั้งในส่วนฐานราก และในภาพรวมของประเทศ ที่เราได้ดำเนินการมาตลอดเวลา เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งมาตรการระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนและธุรกิจสามารถเดินหน้าประกอบสัมมาอาชีพไปได้อย่างต่อเนื่อง ราบรื่น ไม่สะดุดล้ม และก็ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็เร่งดำเนินมาตรการระยะยาว ทั้งการวางรากฐานการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย รวมถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่งานที่ง่ายเลยนะครับ ทั้งแก้ปัญหาไปด้วย ทั้งเดินหน้าไปด้วย และก็วางอนาคตไปด้วยนะครับ 3 ประการด้วยกัน
ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้น ที่เรามุ่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับพี่น้องประชาชน มาตรการที่ดำเนินการไป คิดเป็นงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 2 แสนล้านบาท ไม่รวมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอีกเกือบ 4 แสนล้านบาท
ซึ่งถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน รวมถึงการชะลอการนำผลผลิตออกสู่ตลาดเพื่อจะรักษาระดับราคาที่เหมาะสม
นอกเหนือจากพี่น้องเกษตรกรแล้ว รัฐบาลยังได้ใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุน พี่น้องผู้มีรายได้น้อยกว่า1.4 แสนล้านบาท รวมถึงวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนกว่า 8 ล้านคน,การสนับสนุนเงินช่วยเหลือผ่านกองทุนหมู่บ้านและโครงการลงทุน ตำบลละ 5 ล้านบาทและการสนับสนุนสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยถึง 60,000 ราย รวมถึงให้เช่าที่พักอาศัยในราคาต่ำ อีกด้วยนะครับ
เม็ดเงินเหล่านี้ มีความจำเป็น และสำคัญต่อการประคับประคองความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ในภาวะที่ราคาพืชผลการเกษตรผันผวน และเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในห้วงแห่งการปฏิรูปโครงสร้างและลดความเหลื่อมล้ำ
อีกปัญหาที่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยยังต้องแบกรับอยู่ ก็คือภาระหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างครบวงจร ซึ่งมีการดำเนินการทั้งด้านเจ้าหนี้ และลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยนะครับ
ด้าน “เจ้าหนี้” ก็ให้ มีการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้มาร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ และเข้ามาขออนุญาตดำเนินธุรกิจสินเชื่อในระบบให้ถูกต้อง รวมทั้งมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมานะครับ
สำหรับ “ลูกหนี้” รัฐได้สนับสนุนการลดภาระหนี้นอกระบบ โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้เกิดมูลค่าหนี้ที่เป็นธรรม และให้ธนาคารของรัฐพิจารณาสินเชื่อ เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบตามศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ของลูกหนี้ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเงินเพื่อไม่ให้เกิดการก่อหนี้สินล้นพ้นตัวซ้ำเติมหนี้เดิม
ในขณะเดียวกัน ก็พยายามเพิ่มช่องทางให้ลูกหนี้สามารถกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ทั้งนาโนไฟแนนซ์, พิโกไฟแนนซ์ และการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินในกรอบวงเงินอีก 4,000 ล้านบาท อีกด้วย รัฐบาลหวังว่ามาตรการเหล่านี้ จะช่วยปลดเปลื้องภาระของพี่น้องประชาชนได้บางส่วน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสุขสบายขึ้นกว่าเดิมนะครับ
อีกกลุ่มหนึ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ก็คือผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากเป็นผู้จ้างงานของแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมสำคัญๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค 4.0 ด้วย ที่ผ่านมา ภาครัฐมีมาตรการหลากหลายในการช่วยเหลือ ทั้งที่เป็น SMEs ทั่วไป และพี่น้องเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจ SMEs และ Startup
ผ่านการให้สินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อ คิดเป็นวงเงินรวม มากกว่า 5 แสนล้านบาท รวมทั้งมีวงเงินชดเชยอีกประมาณ 75,000 ล้านบาท ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้ ได้เข้าไปมีบทบาทเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้ SMEs สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ในช่วงที่ผ่านมา และช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจในยุค 4.0 ได้ดีขึ้นด้วยครับ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ, นอกจากมาตรการระยะสั้นที่ผมเรียนมาทั้งหมดแล้ว ภาครัฐยังคงเร่งวางรากฐานให้กับประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางติดต่อระหว่างกันได้สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก และมีคุณภาพ
เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และการเชื่อมโยงรองรับความต้องการของภาคการผลิต บริการ และการท่องเที่ยว เสริมสร้างความมั่นคง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยอาจแบ่งสิ่งที่รัฐบาลได้เดินหน้าในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนและประเทศได้ 4 ด้าน อันได้แก่
ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตเช่น ...
1. การขยายเขตระบบไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยปัจจุบันสามารถให้บริการไฟฟ้าได้ครอบคลุมถึง ร้อยละ 99.7 ของจำนวนครัวเรือนปัจจุบันนะครับ
2. การลงทุนระบบประปาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำประปา ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้น้ำได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น กว่า 1.2 ล้านราย
3. การพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีเป้าหมายหมู่บ้านที่ยังขาดแคลน อีกจำนวน 4 หมื่นกว่าหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและข้อมูลของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง
และ 4. การลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้เพิ่มขึ้น อีก 3 หมื่นครัวเรือน
ด้านเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและการเชื่อมโยงเช่น ...
1. ทางถนน มีการลงทุนพัฒนาเส้นทางใหม่ บำรุงรักษาเส้นทางให้ได้มาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท
2. การลงทุนพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางราง เพื่อรองรับความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าของประเทศ วงเงินลงทุน ราว 2 แสนล้านบาท เช่น โครงการรถไฟชานเมือง โครงการรถไฟทางคู่ รวมทั้งอนุมัติการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล วงเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท
3. ทางน้ำ มีการลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ และดูแลรักษาร่องน้ำเดินเรือเศรษฐกิจของประเทศ วงเงินลงทุน มากกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศ
4. ทางอากาศ มีการลงทุนพัฒนา และบำรุงรักษาท่าอากาศยานในภูมิภาค และมีการแก้ไขปัญหาด้านการบินพลเรือนของประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานที่เป็นไปตามมาตรฐานและข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติ ของ ICAO
และ 5. ด้านโทรคมนาคม มีการลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ วงเงินลงทุน 1,400 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของประเทศไทย โดยทำให้มีความจุเพิ่มขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้บริการด้วยนะครับ
ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศเช่น ...
1. เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และทดแทนของภาครัฐ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สามารถรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปด้วยความมั่นคงนะครับ
2. การลงทุนโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
และ 3. การลงทุนโครงการปรับปรุงกิจการประปา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบผลิต สูบส่ง และจำหน่ายน้ำประปา รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาคุณภาพของแหล่งน้ำดิบให้กับพี่น้องประชาชนด้วย
สุดท้าย คือด้านการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เช่น
1. ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อช่วยลดมลภาวะและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีบนท้องถนน
ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ต่อเนื่องในประเทศ โดยจะเห็นว่าสัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศไทยได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานะครับ ในช่วงนี้อากาศร้อนนะครับ ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นการชั่วคราวนะครับ
2. เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนใน และสนับสนุนการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิล และใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
3. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ลดการแทรกแซงจากภาครัฐ และลดการชดเชยข้ามประเภทเชื้อเพลิง โดยปรับอัตราภาษีของกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น
และ 4. พัฒนาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ผ่านการจัดหาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่ให้ข้อมูลรายละเอียดสูงมาก และสร้างดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตัวเอง เพื่อจะช่วยการสำรวจข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและภูมิสารสนเทศของประเทศ ที่จะนำมาใช้ในการวางแผนปฏิบัติการต่างๆ
และการดำเนินนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้วยนะครับ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่รัฐบาลได้เร่งผลักดัน เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งนั้นนะครับ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงต่าง ๆ อยู่แล้ว หลายอย่างที่เป็นมาตรการระยะยาว จะต้องใช้เวลาดำเนินการจึงจะเห็นผล หลายอย่างต้องการการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน
ผมจึงอยากให้ทุกท่านได้รับทราบ รับรู้ ถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่จะเข้ามาดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในภาพรวม ลงไปถึงฐานรากให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาผมได้ให้ความ สำคัญกับการกำจัดปัญหาการทุจริต และวางระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้รัดกุม ซึ่งจะช่วยให้มีการกระจายของเม็ดเงินออกไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
หากพี่น้องประชาชนจะช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยกันคนละไม้ละมือ ในการที่จะช่วยกันสอดส่องดูแลการทุจริต และส่งข้อมูลมาที่ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้ส่วนกลางดำเนินการตรวจสอบ ก็จะถือเป็นอีกกำลังสำคัญนะครับ ที่จะมีส่วนช่วยปฏิรูปประเทศของเรา และก็ช่วยให้ทุกภาคส่วน ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ไปด้วยกันครับ
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากให้พี่น้องชาวไทยทุกคน ได้คิด ได้ทบทวนตัวเองว่าเรามีความเข้าใจ “คำสอนของพ่อ” หรือ “ศาสตร์พระราชา” อย่างถ่องแท้ หรือยัง แล้วได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวัน อย่างถูกต้อง เหมาะสม หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถ้าเรารู้จักความพอเพียง พอประมาณ เราคงมีความสุขกับสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ต้องแสวงที่เกินตัว ด้วยการทุจริต โกง คอรัปชั่นจากคนอื่นนะครับ หรือจากแผนงานโครงการต่างๆ
ถ้าเรามีความรู้ มีเหตุมีผล เราก็จะมีภูมิคุ้มกันในการคิด ตัดสินใจต่างๆ ถ้าเรามีคุณธรรม เราก็จะหลุดพ้นจาก “กองกิเลส” ที่ล่อลวงเราไปสู่หนทางเสื่อม และรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร สังคมก็จะมีแต่ความสุข เราคงไม่ต้องได้ยิน ได้ฟัง ในเรื่องราวที่ไม่ดีในสังคม เหมือนเช่นทุกวันนี้ ทั้งในเรื่องของการหลอกให้มาลงทุน หรือการใช้สื่อโซเชียลที่ไม่เหมาะสมและรุนแรง หยาบคายนะครับ เหล่านี้เป็นต้น
ทั้งนี้ นโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นพื้นฐาน เป็นการสร้างความเจริญ เพื่อกระจายความสุข ไปสู่ทุกอณูของสังคมไทย ครอบครัวได้อยู่พร้อมกันอย่างพร้อมหน้า ไม่ต้องเข้ามาแสวงโชคในเมือง ในกรุงเทพฯ อีกต่อไปในวันข้างหน้านะครับ
ไม่ใช่การสร้างวัตถุ โดยไม่สร้างความเจริญที่จิตใจคน ผมจึงอยากให้ช่วยกันคิด ทบทวนความผิดพลาดในอดีต มาแก้ไขปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า ไม่เกิด “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” นะครับ
วันพรุ่งนี้ 29 เมษายน ผมมีกำหนดการ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ นะครับ ซึ่งในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน ผู้นําประเทศสมาชิกจะใช้โอกาสนี้ ทบทวนการดําเนินการของอาเซียน ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งประเด็นภายในอาเซียน และประเด็นท้าทายในระดับภูมิภาคและโลก ซึ่งผลการปฏิบัติในรายละเอียด ผมจะได้เล่าให้ฟังในวันศุกร์หน้านะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ