Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1784 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2559 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล 2 ราย จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 59 ราย จาก 24 ประเทศ ดังนี้
1. สาขาการแพทย์ ได้แก่ เซอร์ เกรกอรี พอลวินเทอร์ คณบดีวิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เป็นนักชีวเคมี ระดับชั้นนำของโลก ที่ได้ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี ในการสร้างและดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดี้ ให้มีประสิทธิภาพสูง และลดความเป็นสิ่งแปลกปลอมลง นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนา “ยากลุ่มใหม่” ที่มีประสิทธิภาพสูง ในการรักษาโรค ที่เดิมรักษาได้ยาก และมีผลข้างเคียงสูง เช่น กลุ่มภูมิคุ้มกัน โรครูมาตอยด์ และโรคมะเร็ง ตลอดจนก่อให้เกิดการพัฒนายาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นับเป็นคุณประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วย นับร้อยล้านคน ทั่วโลก
2. สาขาสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ. วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทอร์น ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา เป็นผู้นำในด้านโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม จากปัญหาหลอดเลือด ผลงานของเขานอกจากจะช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากแล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมและความจำเสื่อม ได้อีกด้วย
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลนี้ เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็น “พระราชานุสรณ์” แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” และ “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” ทั้งนี้ นอกจากจะแสดงถึงพระวิสัยทัศน์ยาวไกล ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างความตระหนัก ถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในวงการแพทย์
รัฐบาลนี้ ก็ได้มีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์” รวมทั้งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นแบบอย่างที่ดี แก่นักวิจัยไทย ในทุก ๆ สาขาวิชาชีพ โดยได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ หมุนช้า แบบทุ่นลอยน้ำ หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลอย่างง่ายในการเติมอากาศ แต่มีประสิทธิภาพสูง ในการปรับคุณภาพน้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงคิดค้นและจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ สำหรับแก้ปัญหาสังคมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ดังนั้น เพื่อให้นักประดิษฐ์รุ่นเล็ก นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงนักวิจัยและพัฒนารุ่นใหญ่ มืออาชีพของไทย ได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ นอกจากนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทยอีกด้วย
สำหรับปีนี้ งานวันนักประดิษฐ์ และงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร ผมขอเชิญชวน พี่น้องประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจเอกชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ข้าราชการ หน่วยงาน รวมทั้งผู้ที่สนใจ ร่วมงานและชมผลงานวิจัย ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ ๆ สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต ประจำวัน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ การขยายผล ต่อยอด เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ การนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศต่อไปได้
ทั้งนี้ ผลงานต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ได้รางวัลนั้น ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทย สำหรับการต่อยอด การสร้างมูลค่าเพิ่ม ในเชิงพาณิชย์ ในอนาคต รวมทั้งจดสิทธิบัตร เพื่อเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทุกอย่างต้องทำอย่างมีระเบียบ แบบแผน และเป็นสากล เนื่องจากจะเป็นพื้นฐาน ในการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง ในการนำพาประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป
ในโอกาสวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก ผมขอให้พี่น้องชาวไทยทุกคน ระลึกถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ทั้งชีวิตและเลือดเนื้อ ของทั้งอาสาสมัคร พลเรือน ตำรวจ ทหาร ในอดีต เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งความเป็นชาติ และเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง ความเสียสละของเจ้าหน้าที่ ด้านความมั่นคง สำหรับการปฏิบัติงานปกป้องอธิปไตย ณ พื้นที่เสี่ยงภัย ห่างไกล ทุรกันดาร ตามตะเข็บแนวชายแดน และการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการแสดงน้ำใจจากแนวหลัง อุดหนุนซื้อ “ดอกป๊อบปี้ สีแดง” เพื่อนำเงินรายได้ มาสงเคราะห์และเป็นสวัสดิการ ให้กับทหารผ่านศึกของไทยด้วย
พี่น้องประชาชนครับ เส้นตรงเกิดจากจุดเล็ก ๆ เรียงต่อกัน จนเป็นรูปทรง เป็นงานศิลปะ เป็นจิตกรรม เป็นสถาปัตยกรรม เป็นสิ่งปลูกสร้าง การสร้างเมืองก็เริ่มจากอิฐ ทีละก้อน การเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ ก็เริ่มจากผลงานเล็ก ๆ ง่าย ๆ การไปให้ถึงจุดหมายสิ่งสำคัญไม่ใช่การก้าวเดินให้ไวจนเสียการทรงตัว แต่อยู่ที่การไม่หยุดเดิน และการใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กัน เพื่อการเดินที่ปลอดภัย ไม่ตกหลุม หรือสะดุดสิ่งกีดขวาง
ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลนี้ จึงมีการเพิ่มศักยภาพจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนในทุกขั้นตอน ทุกรายละเอียด ในกระบวนการทำงาน ซึ่งมีการทบทวนอยู่เสมอ เพราะเข้าใจว่าปัญหาปากท้อง ปัญหาของประเทศ ยังไม่สามารถแก้ไขให้จบสิ้นไป ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่า และไม่อาจจะรั้งรอ หรือละเลยได้
ปัจจุบัน การทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นั้น ผมถือว่าเป็นการปรับกระบวนการทำงานของรัฐบาล ร่วมกับ “แม่น้ำทุกสาย” เพื่อให้เป็นผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ “มากยิ่งขึ้น” รวมทั้ง แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในด้านขั้นตอน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อให้ 4 งานหลัก อันได้แก่ 1) การบริหารราชการ 2) การปฏิรูป 3) ยุทธศาสตร์ชาติ และ 4) การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สามารถเดินหน้าไปได้ และสามารถส่งต่อรัฐบาลต่อไปได้
สิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ได้ดำเนินการไปแล้ว มีอยู่มากมาย ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ กำลังเริ่มดำเนินการ ซึ่งจะต้องจัดระบบ ระเบียบ เพื่อเร่งรัดดำเนินการ พร้อมกำหนดความสำคัญเร่งด่วน ขับเคลื่อนด้วยกลไกใหม่ ที่สร้างความสอดคล้อง บูรณาการ และติดตามประเมินผลได้ ในทุกระดับ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ จะขับเคลื่อนงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการและขับเคลื่อนไว้อยู่แล้ว โดย กขป. คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 6 คณะ ทั้งงาน Function และงาน Agenda รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว และสอดคล้องกันทุกมิติ
2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เป็นการนำวาระปฏิรูปทั้งหมด ทั้งที่มาจากรัฐบาล คสช. สปท. สนช. และ กขป. 6 คณะ มากกว่า 200 เรื่อง ซึ่ง บางส่วนได้คิดและทำไปแล้ว มาจัดกลุ่ม และกำหนดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยขั้นต้นในปี 2560 นี้ มี 27 วาระปฏิรูป ที่สำคัญเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการ ส่วนวาระปฏิรูปที่เหลือก็ต้องจัดลำดับ และดำเนินการตามความสำคัญเร่งด่วน โดยเริ่มดำเนินการคู่ขนานกันไป เพื่อพร้อมส่งมอบให้กับรัฐบาลใหม่ต่อไป โดยจัดทำ Road map การทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้การส่งมอบผลการปฏิรูปสู่พี่น้องประชาชน มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
3. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะมีการแบ่งกลุ่ม เพื่อการพูดคุย ทั้งกลุ่มการเมือง นักกฎหมาย นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐกิจและสังคม ประชาสังคม การต่างประเทศ และสื่อมวลชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ตกผลึกในมุมมองของแต่ละกลุ่ม ที่พูดจาภาษาเดียวกัน ก่อนที่จะนำทุกข้อเสนอ จากการ ระดมสมองมาพิจารณาแบบบูรณาการกันในคณะกรรมการ ระดับชาติ เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านั้นมีผลเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่า การปรองดองนั้นมิใช่เฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ภาครัฐ และภาคประชาชน ที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน จึงไม่เกิดความร่วมมือ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมและประเทศชาติในอนาคต เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อวันข้างหน้าทั้งสิ้น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อน และติดตามการทำงาน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยังได้กำหนดให้มี PMDU หรือสำนักงานบริหารนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล และถ่ายทอดนโยบาย คำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงไปยังหน่วยงานระดับปฏิบัติอีกด้วย
ในโอกาสนี้ ผมขอน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “ชาติบ้านเมือง ประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิต ร่างกาย ซึ่งจะดำรงอยู่ได้เพราะอวัยวะใหญ่น้อย ทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมือง ก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่าง ๆ ตั้งมั่น และปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยพร้อมมูลอย่างนั้น” ทั้งนี้ เพื่อให้สติกับพวกเราทุกคน และขอให้ศาสตร์พระราชานี้ เป็นแรงกระตุ้นพลังแผ่นดินจากทุกภาคส่วน ในการร่วมกันเดินหน้าประเทศของเราไปสู่ความสำเร็จ เพื่ออนาคตของลูกหลานสืบไป
พี่น้องประชาชนที่รักครับ ผมขอให้เราลองมองย้อนไปในอดีต ระลึกถึงกุศโลบายของบรรพบุรุษ ในการสร้างความใกล้ชิด ความผูกพัน ความรัก และความสามัคคีในชุมชน ท้องถิ่นที่อยู่คู่สังคมเกษตรกรรมของไทยมาช้านาน ได้แก่ ประเพณีการลงแขก ทำนา ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว แม้ในปัจจุบัน เราจะก้าวสู่สังคมประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทุกคนต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และไม่ว่าใครจะเป็นคนไทย 1.0, 2.0, 3.0 หรือ 4.0 ก็ตาม แต่ความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่เสมอ ด้วยกุศโลบายสร้างความสามัคคีดังกล่าว ช่วยให้รัฐบาลสามารถเดินหน้านโยบายที่สำคัญต่าง ๆ ตามแนวทางประชารัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
1. การแก้ปัญหา “แฟลตดินแดง” ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ มากกว่า 50 ปี ที่มีความทรุดโทรมทางกายภาพ และบั่นทอนสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ที่ผ่านมา 5 รัฐบาล หรือกว่า 16 ปี ปัญหานี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยอุปสรรคคือ ความไม่เข้าใจ จึงไม่ร่วมมือ ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ ไม่ใช่เรื่องแผนงาน หรือเรื่องอื่นใด
ด้วยความจริงใจ ที่ต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม และต้องการสร้างโอกาส ในการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลนี้ใช้เวลาเพียง 10 เดือน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ได้แก่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อันเป็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาที่สำคัญ ที่รัฐบาลได้ยึดถือเป็นแนวทาง ทั้งในการวางรากฐานการพัฒนา ในทุก ๆ ด้าน และการปฏิรูปประเทศ มาโดยตลอด ร่วมกับแนวทางประชารัฐ โดยสามารถสร้างความเข้าใจ แสวงหาความร่วมมือจนชาวชุมชนดินแดงเห็นด้วย และเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง กว่าร้อยละ 97 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี พ.ศ. 2559 – 2568 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงฯ และการก่อสร้างอาคารพักอาศัย แปลง G เป็นโครงการนำร่อง ที่จะสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม กว่า 6,500 หน่วย และผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ เกือบ 14,000 หน่วย รวมทั้งสิ้น กว่า 20,000 หน่วย โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ได้แก่ ผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การเปิดโอกาสให้ผู้แทนชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) และการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จนมาสู่การวางศิลาฤกษ์ และเริ่มก่อสร้างได้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
2. “เกษตรแปลงใหญ่” สร้างรายได้ที่มั่นคง และแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน เป็นการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปวิธีการผลิต โดยหันมาให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม และรวมพื้นที่เป็นแปลงขนาดใหญ่ นอกจากเพื่อสร้างพลังอำนาจในการเข้าถึงแหล่งทุน ปัจจัยการผลิต และการตลาดแล้ว ยังเป็นการสร้างพลังความสามัคคี ตั้งแต่ระดับฐานราก ด้วยกิจกรรม ที่มีจุดร่วม ความสนใจร่วม ผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีทั้งแปลงใหญ่ พืชเชิงเดี่ยว ไร่นาสวนผสม เกษตรทฤษฎีใหม่ ประมง ปศุสัตว์ พืชผักผลไม้ ไม่ใช่ข้าวอย่างเดียว หรือพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว โดยอาจอยู่ในพื้นที่ติดต่อกัน หรือไม่ก็ได้ ขอความร่วมมือ ทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย
วันนี้ มีพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ประชารัฐ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ในต้นทุนที่ลดลง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยยึดพื้นที่ที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับ Agri Map ประหยัดการใช้น้ำ ที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่เพียงพอ พร้อมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สพก.) โดยใช้งานวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีในการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาช่วย ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการ
สำหรับผลการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2559 มีการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ 9 ประเภท ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผักและสมุนไพร ไม้ผล หม่อน กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และประมง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ เกือบ 10,000 ราย บนพื้นที่รวมกว่า 1.5 ล้านไร่ ประสบผลสำเร็จแล้ว 480 แปลง จาก 600 แปลง
ตัวอย่างกลุ่มสินค้าข้าว สามารถลดต้นทุนการผลิต จากเดิม 4,200 เป็น 3,400 กว่าบาท/ไร่ ลดลงร้อยละ 25 หรือราว 1,000 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต จากเดิม 583 เป็น 659 กิโลกรัม/ไร่ และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวม 1,188 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในขณะนี้ สามารถสรุปผลสัมฤทธิ์ จากการดำเนินงานของชนิดสินค้าหลัก จำนวน 12 ชนิดสินค้า จาก 9 ประเภท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 92 % ของพื้นที่ที่ดำเนินงานในปี 2559 พบว่าก่อให้เกิดรายได้รวมเพิ่มขึ้น มากกว่า 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลผลิตเพิ่มขึ้น กว่า 1,500 ล้านบาท ลดต้นทุน ราว 2,700 ล้านบาท เฉลี่ยมูลค่าที่เกษตรกรได้รับ ประมาณ 41,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้ การทำงานภายใต้กลไกประชารัฐนั้น ผมเห็นว่าข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้แทนภาครัฐ มีความสำคัญอย่างมาก ในฐานะสะพานเชื่อมความร่วมมือ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ระหว่างภาคธุรกิจเอกชน กับภาคประชาชน ดังนั้น การสร้างนวัตกรรมทางความคิด กระบวนการทำงาน การสร้างเครือข่าย เพื่อสรรหาแนวทางใหม่ ในการบริหารจัดการกับปัญหาเดิม ๆ ที่หมักหมม หรือเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ประชาชนพึงพอใจและมีความสุขมากขึ้น โดยที่นวัตกรรมไม่ใช่เพียงสิ่งประดิษฐ์ แต่อาจหมายถึง กระบวนการคิด ขั้นตอนการทำงานก็ได้ ซึ่งผมขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องข้าราชการทุกคนที่ทำงานต่างพระเนตร พระกรรณ เพื่อความสุขของปวงชนชาวไทยให้ประสบความสำเร็จ และยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนอยู่เสมอ
สำหรับกรณีการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็จะเร่งแก้ไขปัญหาในอีกหลายเรื่อง ทั้งวิธีการ กระบวนการ การทำกฎหมาย ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลนี้มีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่น และจริงใจที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ จึงขอให้ภาคธุรกิจประชาชนร่วมมือกัน
ตามที่รัฐบาลได้นำภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ชุด “เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร” บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นการสอนธรรมะ ผ่านตัวการ์ตูน มาฉายให้เด็ก ๆ ได้ชมในวันเด็กแห่งชาติ ณ ทำเนียบรัฐบาล ที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสื่อสารมวลชนที่ได้ตอบรับ โดยจะนำสื่อฯ ดังกล่าว ไปเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์อย่างพร้อมเพรียงกัน ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้ ได้แก่ สถานี NBT กรมประชาสัมพันธ์ สถานีข่าว TNN 24 ทะเว้นตี้-โฟร์ สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ช่อง 3 Family ช่อง 5 กองทัพบก MCOT FAMILY ช่อง 14 True ปลูกปัญญา Now 26 และ New TV ทั้งนี้ หลังจากเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็จะเผยแพร่ซ้ำอีก ในสื่อทีวีดาวเทียม Cable TV Social Media ต่อไป และขณะนี้ ได้รับรายงานว่าได้มีการเตรียมจัดทำเป็นภาคภาษาอังกฤษ เพื่อใช้เผยแพร่ ในสื่อภาคภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวางต่อไปอีกด้วย
ผมจึงขอเชิญชวนเด็ก เยาวชน และคนไทยทุกคน ติดตามชมภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ชุดเมืองนิรมิตแห่งจิตตนครนี้ เพื่อจะได้นำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อันจะก่อให้เกิดความสงบสุข ความร่มเย็นในผืนแผ่นดินไทยนี้ตลอดไปครับ
พี่น้องประชาชนครับ สุดท้ายนี้ ผมมีอีก 2 กิจกรรมที่สำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าประเทศของเรา ได้แก่
1. งานระดับนานาชาติ คือ งาน “Opportunity Thailand” ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ ณ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อประกาศให้คนไทยและทั่วโลก ได้รับทราบถึงศักยภาพ และความพร้อมของประเทศไทย ด้านการลงทุนอย่างแท้จริง ทั้งศักยภาพที่จะก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ศักยภาพที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตลอดจนพื้นที่เป้าหมายในการลงทุน คือ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (EEC) ที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นการประกาศเปิดตัวเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีเทคโนโลยีระดับสูง คือ 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ 2) พระราชบัญญัติเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 3) ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ในงานนี้ จะมีการเชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทระดับโลก เช่น บริษัทหัวเว่ย อายิโน๊ะโมะโต๊ะ แอร์บัส ฯลฯ มาบรรยาย ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังได้เชิญที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการลงทุน ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือประธานบริษัทจากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก จำนวน 33 คน มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ตลอดจนมีการเชิญผู้สื่อข่าวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กว่า 70 คน มาเยือนประเทศไทย เพื่อให้เห็นเชิงประจักษ์ถึงศักยภาพ และความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของไทย ที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพ สัมผัสได้ ผมได้สั่งการให้นำแบบจำลอง ของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นศักยภาพและความพร้อมด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ ที่จะรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกในลักษณะ OSS หรือศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคอีกด้วย เชื่อว่างานนี้จะช่วยจุดประกาย เสริมสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดงาน
2. งานระดับประเทศ ที่จะช่วยเปิดประตูไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ได้แก่ “งานเมืองสุขภาพดี วิถีไทย” ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม โดยกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 6-26 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานบริการสุขภาพในสถานบริการของประเทศไทย การต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู่ภาคเศรษฐกิจสร้างชาติ และการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์แก่ประชาชน เป็นต้น รวมทั้ง ส่งเสริมด้านบริการ ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย หรือเรียกว่า “การแพทย์ผสมผสาน” สู่กระบวนการส่งเสริมและป้องกันโรคของประชาชน ในรูปแบบ “ตลาดนัดสุขภาพ”
นอกจากนี้ จะเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรที่มีศักยภาพ 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดที่มีคุณภาพระดับสากล 3) การส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ และ 4) การสร้างความเข้มแข็งการบริหารและนโยบายภาครัฐ
ผมขอเชิญพี่น้องประชาชนทุกท่านที่รักและใส่ใจในสุขภาพของตน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต มาร่วมกิจกรรมในงาน
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ