รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1884 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้รัฐมนตรีซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
 

ในโอกาสนี้ผมขออัญเชิญ กระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร อันมีใจความสำคัญ เป็นสิริมงคล แก่คณะรัฐมนตรี และปวงพสกนิกร ทุกหมู่เหล่า ผมเห็นว่า พวกเราทุกคน ควรได้ระลึกถึงและรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ สรุปใจความได้ว่า...
 

“...ขอให้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยให้ศึกษาวิเคราะห์พระราชดำริและแนวทางพระราชทาน นานัปการ ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมา สำหรับประยุกต์ใช้ ในการบริหารราชการแผ่นดิน , การประกอบกิจการ และการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในความรับผิดชอบ รวมทั้งยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีในกิจวัตรประจำวัน อันจะเป็นสิริมงคลเป็นพระคุ้มครอง และเป็น “แสงสว่างนำทาง” ให้แก่ปวงชนชาวไทย ทุกคนตลอดไป เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทั้งปวง
 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานใด ๆ ย่อมมีปัญหา ย่อมมีอุปสรรค ก็ขอให้ปรึกษากัน หาข้อมูลที่ถูกต้อง และปฏิบัติด้วยความรอบคอบ ทันกาล เหมาะสมกับสถานการณ์และมีเหตุมีผล ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรค เหล่านั้น นอกจากจะเป็นเสมือน “บททดสอบ บทเรียน” แล้วยังจะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับเราทุกคนด้วย ดังนั้น ต้องมีความตั้งใจ มีขันติ มีความอดทน ตลอดจนมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาปัญหาและแก้ไขให้รอบคอบก็จะได้ผลต่อประเทศ และเป็นบุญเป็นกุศล กับตนเองด้วย...”
 

“ศาสตร์พระราชา” ถือว่าเป็น “ตำราแห่งชีวิต” เพราะบันทึกจากประสบการณ์ จากการทรงงาน ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มาได้ทุกมิติ ผมขอชื่นชมสื่อทุกแขนง ที่ได้นำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ สู่สายตาประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้รับรู้เข้าใจได้ลึกซึ้งและถ่องแท้มากยิ่งขึ้น เพื่อสามารถน้อมนำไปสู่การปฏิบัติได้ เป็นอย่างดี
 

ในส่วนของรัฐบาล ได้ดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ และสัตว์ป่า โดยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ที่มีหลักการครอบคลุม “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” ไปประยุกต์ใช้ อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาสมดุล และสร้างความยั่งยืน ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมานั้นมีผลการดำเนินงานที่เป็น “รูปธรรม” กว่าอดีตที่ผ่านมามาก พอสมควร อาทิ
 

1. ด้านป่าไม้ ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว ตั้งเป้าหมายไว้ที่ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยการดำเนินการมาตรการหลัก ได้แก่ (1) การป้องกันการบุกรุกพื้นที่ “ป่าสมบูรณ์” จำนวน 102 ล้านไร่ ไม่มีการบุกรุกป่าเกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง (2) การบังคับใช้กฎหมายกับผู้มีอิทธิพล เพื่อทวงคืนผืนป่าและฟื้นฟูพื้นที่ป่า ปัจจุบันได้มีการยึดพื้นที่ป่าคืนแล้ว ราว 4.3 แสนไร่ นำมาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการบริหารจัดการที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความพอเพียงในอนาคต (3) การตั้งศูนย์ฟื้นฟู “ป่าต้นน้ำ” ในพื้นที่วิกฤติ 13 จังหวัด และป้องกันการบุกรุกพื้นที่ซ้ำ (4) การจัดตั้งพื้นที่ “ป่าชุมชน” 4,000 แห่ง เพื่อให้ประชาชนช่วยดูแลรักษาป่า และสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน ได้ร่วมกันปลูกป่า หรือทำให้ประชาชนได้ร่วมในการดูแลรักษาให้อยู่รอดได้ด้วยนะครับ (5) การส่งเสริมให้ปลูก “ป่าเศรษฐกิจ”เพื่อใช้ประโยชน์ได้จริง ได้มีการลงทะเบียนสวนป่าผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวก และรวดเร็วและลดปัญหาการประพฤติมิชอบ และ (6) การแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ “ป่าอนุรักษ์” ราว 6 ล้านไร่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมากว่า 20 ปี ด้วยการกำหนดกลุ่มและวิธีการดำเนินการ ตามกระบวนการทางกฎหมายที่ชัดเจน ควบคู่กันไป สำคัญที่สุด ประชาชนต้องเป็นหลักในการดูแลรักษาป่า ปลูกป่าเพิ่มเติมและใช้ประโยชน์ได้อย่างพอเพียง
 

2. ด้านการจัดการที่ดิน สำหรับเกษตรกร และผู้ที่มีรายได้น้อย ในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยได้จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ในปี 2560 จำนวน 4 แสนกว่าไร่ ใน 52 จังหวัด ก็ขอให้รวมกลุ่มกันได้ด้วย
 

3. ด้านทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย (1) พื้นที่ในเขตชลประทาน โดยการพัฒนาระบบกระจายน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานจำนวน 1.4 ล้านไร่ และเกษตรบาดาล กว่า 3 แสนไร่ และ (2) พื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยการขุดลอก คู คลอง หนอง บึง ตามธรรมชาติ กว่า 700 แห่ง การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร 1,700 บ่อ การฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 100 แห่ง และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำให้เป็นผู้บริหารจัดการ และดูแลรักษาเอง เป็นต้น เหล่านี้ต้องใช้เวลาในการที่จะต้องทำต่อไป ไม่เพียงพอ
 

และ 4. การดูแลเรื่องสัตว์ป่า ผลการดำเนินงาน ตามมาตรการต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับ จากหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จนมีผลตอบรับใน “เชิงบวก” ได้แก่ (1) กรณีของ “ม้าน้ำ” ประเทศไทยได้รับการถอดรายชื่อออกจากกระบวนการทบทวนมาตรการทางการค้า และ (2) กรณีของ “ช้าง” ประเทศไทยได้รับการเลื่อนสถานะที่ “ดีขึ้น” เกี่ยวกับการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย ของ CITES เป็นต้น
 

ด้วยองค์ความรู้จาก “ศาสตร์พระราชา” สอนให้เรารู้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น นอกจากเราจะต้องดูแลรักษาสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยจะต้องไม่มองข้าม “มิติสิ่งแวดล้อม” ด้วยแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการ ก็คือสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานรากเหมือนเสาเข็มถึงแม้ไม่มีใครมองเห็น อาจจะถูกลืม แต่ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานเริ่มแรกที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของประเทศนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงกำชับว่า “บทเรียนบทแรกก็คือ ให้ชาวบ้านเป็นครู” และ ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยเน้น “การระเบิดจากข้างใน” ซึ่งไม่ใช่การยัดเยียดจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว
 

วันนี้ ผมขอยกตัวอย่าง “ชุมชนบ้านหัวอ่าว” จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ “ต้นแบบ” ได้น้อมนำ “วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง” มาแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชน จากเดิมที่ดำรงชีวิตด้วยวิถีเกษตรที่พึ่งพิงธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว ปริมาณผลผลิตขึ้นอยู่กับดิน – ฟ้า - อากาศ รวมทั้ง โรค – แมลง และศัตรูพืช ที่ผลักดันให้หันไปพึ่งพาปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งนอกจากทำให้ต้นทุนการผลิตสูง กระทบต่อรายได้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และการกู้เงินนอกระบบ จนบางครัวเรือนต้องขายที่ดินเพื่อปลดหนี้ ต้องเช่านาทำกินแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โรคร้ายคุกคาม ร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน อายุสั้นลง และทรัพยากรดินเสื่อม แหล่งน้ำและอากาศเป็นพิษ
 

แต่ภายหลังจากการรวมกลุ่มกันเองของชาวชุมชน จากกลุ่มเล็ก ๆ ขยายเป็นกลุ่มใหญ่ ด้วยการสนับสนุนจากกลไก “ประชารัฐ” เพิ่มเติมนะครับ ทำให้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มาร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง เริ่มจากการปฏิเสธปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แล้วหันมาผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยไส้เดือน ทั้งผลิตใช้เอง และผลิตขาย นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ แล้ว ยังลดค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 2,000 - 3,000 บาทต่อครัวเรือน
 

จากนั้น ได้ยกระดับ “ความสำเร็จ” ต่อไปในเรื่อง (1) การปรับสภาพและดูแลรักษาดิน (2) การทำบัญชีครัวเรือน (3) การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค “สินค้าเกษตรอินทรีย์” ทั้งร้านอาหารและโรงแรมเจ้าประจำ (4) การเปิดช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การประชาสัมพันธ์ เช่น ตลาดนัดสุขใจ และตลาด Online (5) การได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นมาตรฐานสากล และ (6) การจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางพ่อหลวง เพื่อให้การบริการ ทั้งในและนอกชุมชน ประกอบไปด้วย แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงปลาในร่องสวน ธนาคารต้นไม้ โรงสีชุมชน และการปลูกมะนาว ด้วยผักตบชวาแทนดิน เป็นต้น
 

ทั้งนี้ “ปัจจัยสู่ความสำเร็จดังกล่าว” ประกอบไปด้วย (1) วิสัยทัศน์และการเป็นแบบอย่างที่ดี ของผู้นำ แกนนำ กรรมการหมู่บ้าน (2) ความร่วมแรง ร่วมใจ และความมุ่งมั่น รับผิดชอบในหน้าที่ และบทบาทของแต่ละคน (3) เวทีประชาคมที่เข้มแข็ง เน้นการมีส่วนร่วม รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุ่งให้การช่วยเหลือและร่วมแก้ปัญหา รวมทั้งความมีวินัยและเคร่งครัดในกฎกติกาของหมู่บ้าน และ (4) การใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือ ในการสานความสัมพันธ์ สมาชิกหมู่บ้าน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เข้าด้วยกันเหล่านี้ เป็นต้น
 

จากตัวอย่าง “ชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง” นี้ มีอีกคุณสมบัติสำคัญของชาวบ้านหัวอ่าว ก็คือ “ความใฝ่รู้” นิยมการแสวงหาความรู้ และการพัฒนาตนเอง ด้วย “การอ่าน” ทั้งจากหนังสือและสื่อโซเชียล ที่เป็นประโยชน์ ช่วยเพิ่มแนวคิด รับฟัง โต้ตอบ เสนอความคิดเห็น ไม่ใช่ฟังแต่คนอื่นอย่างเดียว แล้วไม่มีภูมิความรู้เป็นของตนเองเลย ก็ไม่เกิดการสื่อสารสองทาง ดังนั้น ผมอยากสนับสนุนให้คนไทย ทุกคน “รักการอ่าน” อันเป็นพื้นฐาน ในการสร้างแนวคิด เป็นคนมีเหตุมีผล และใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาของตนเองให้ลุล่วง เกิดความร่วมมือกับรัฐบาล ในการจะร่วมมือแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในที่สุด
 

โดยในวันนี้นั้น ผมอยากจะแนะนำหนังสือชื่อ “คุณธรรม จริยธรรม กับศีลธรรม จากมุมมองของปรัชญา” ของ ศ.ดร.ทินพันธ์ นาคะตะ ซึ่งกล่าวถึง ความรู้จักผิดชอบชั่วดีของคน และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นปกติสุข ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด ล้วนมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผลในตัวเอง ในช่วงท้ายของหนังสือ ได้กล่าวถึง “จรรยาบรรณ” ในอาชีพต่าง ๆ ของไทย ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ศาล ตำรวจ แพทย์ สื่อมวลชน ครู - อาจารย์ ฯลฯ ซึ่งต่างก็มีบทบาท หน้าที่ ที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อสังคม ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การดำรงตนให้อยู่ในกรอบ ในกฎเกณฑ์ ของทุกคน ทุกฝ่าย ย่อมช่วยให้สังคมมีแต่ความสุขความเจริญร่วมกัน หากเราไม่อยู่ในครรลองที่ถูกต้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หรือละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมมีบทลงโทษกำกับไว้เสมอ โดยทุกคนในสังคมนั้น ๆ ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันทั้งสิ้น ลองหาอ่านดู เราจะได้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างยั่งยืน สันติ และสงบสุข ได้ในอนาคต
 

พี่น้องประชาชนทุกท่าน ครับ
 

สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ ในวันนี้ ก็คือ การพัฒนาตนเอง ไปสู่คนที่มีหลักการ และเหตุผล ใช้สติปัญญาในการคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ รู้จักแยกแยะ จัดกระบวนการคิดของตนเอง แยกให้เป็นกลุ่มความคิดต่าง ๆ อาทิเช่น สิ่งนี้ทำแล้วจะเกิดเป็นประโยชน์เพื่อใคร เพื่อตนเอง หรือเพื่อคนอื่น หรือเพื่อทั้ง 2 อย่าง เราน่าจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง อย่างน้อย ก็พยายามฟังในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนเองบ้าง จะได้รู้ความเป็นมาเป็นไปของสถานการณ์รอบตัว ในปัจจุบัน ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยข้อมูลที่ดี ถูกต้อง และไม่ดี ไม่ถูกต้อง ถูกบิดเบือน ใครหลายคนอาจตัดสินใจไม่ได้ หรือตัดสินใจบนความยากลำบาก เพราะข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน จนคนเหล่านั้น อาจต้องใช้ความรู้สึก ความชอบ ในการตกลงใจ แล้วทำอะไรลงไป หากถูกชี้นำ โดยคนดี ๆ ข้อมูลถูกต้อง ทุกอย่างก็จะเป็นคุณ แต่หากถูกชี้นำ ด้วยคนไม่ดี มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ประกอบกับมีวาระซ้อนเร้นแล้ว ก็จะนำไปทางเสื่อม เสียโอกาส สำหรับตนเอง และส่วนรวมได้วันนี้เราต้องช่วยกันคิดพิจารณาว่าประเทศไทยของเรานั้น กำลังติดกับดักอะไรบ้าง และด้วยเหตุผลใด อาทิเช่น...
 

1. ความเคยชิน การไม่เคารพกฎหมาย ความไม่ชอบอยู่ในกฎระเบียบของสังคม การที่ชอบทำอะไรที่มักง่าย สบาย ๆ เป็นพวก “สะดวกนิยม” อาทิเช่น ขับรถสวนเลน ข้ามถนนใต้สะพานลอย จอดซื้อของในพื้นที่ห้ามจอด เหล่านี้เป็นต้น ยังมีอีกหลายอย่าง สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่ปัญหาการจราจร อุบัติเหตุ ความเห็นแก่ตัวของคนบางคน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคนอีกหลายคน รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ให้กับลูกหลาน ที่อยู่โดยรอบด้วย ข้าง ๆ
 

2. การทำความผิดโดยเลือกที่จะทำ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตน และความสะดวกรวดเร็ว เป็นต้น อาทิเช่น การยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ฉ้อฉล เพื่อการอำนวยความสะดวก หรือให้ค่าตอบแทน ให้กับผู้ที่เรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะสมยอม แล้วก็มาพูดให้ร้ายระบบ ให้ร้ายประเทศก็ยังคงมีอยู่ แบบนี้ ผมก็อยากจะถามว่า แล้วเราไปให้เขาทำไม เขาจะต้องมาร้องทุกข์ ร้องเรียน แจ้งความ เอาผิด เพราะฉะนั้นถ้าเรายังให้เขาอยู่ แล้วเรามาพูดก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ขอให้มาร้องทุกข์ร้องเรียน เราต้องเคารพตนเอง เคารพกติกา รู้จักรอ รู้จักอดทนซะบ้าง ไม่อย่างนั้นเราก็โวยวายโทษแต่คนอื่นร่ำไป แต่พอตนเองได้รับประโยชน์ก็เงียบเฉย
 

3. พื้นฐานความรู้ การเรียนรู้ “ที่ไม่เท่าเทียมกัน” ด้วยการขาดโอกาส หรือเคยมีโอกาส แต่ก็ไม่ใส่ใจ หรือไม่รู้จักแสวงหา ทั้ง ๆ ที่ความรู้มีอยู่รอบตัว อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ควรรับฟังคนอื่นบ้าง ทั้งจากการศึกษาในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชนต่าง ๆ เหล่านั้น จากการอ่านหนังสือทั่วไป หนังสือพิมพ์ จากการดูโทรทัศน์ การฟังวิทยุ จากอินเทอร์เน็ต จากสื่อออนไลน์ เป็นต้น โดยเลือกเสพความรู้ จากสื่อที่เชื่อถือได้ และแหล่งข้อมูลทางราชการที่ “เป็นกลาง” รวมทั้ง การตรวจสอบเพื่อยืนยัน “ความถูกต้อง” จากหลาย ๆ แหล่ง ก็จะทำให้เกิด “ปัญญา” โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตนเอง และประเทศชาติ ถ้าพวกเราไม่สามารถทำได้ตามนี้แล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะพัฒนาตนเอง รวมทั้งยากที่จะทำความเข้าใจกัน แต่กลับนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ฟังกัน ผลประโยชน์ที่จะได้รับก็ไม่ได้รับเพราะไม่ได้ฟัง
 

4. สมาธิไม่เท่ากัน บางคนสั้น บางคนยาว บางคนมากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องของตนเอง ก็ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจฟัง ไม่รับฟัง ก็เลยไม่รับรู้ว่าอะไรคืออะไร ในวันนี้ ในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต สิ่งใดเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม ประชาธิปไตยที่ถูกต้องคืออะไร ถ้าเรายังไม่รู้เรื่องเหล่านี้ “ลึกซึ้งถ่องแท้” จะทำให้เราติดกับดักประชาธิปไตยเหมือนทุก ๆ วันนี้นะครับ ยังมีการถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ที่ยังคงวนเวียนและก็เข้าใจแต่เพียงว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเป็นหลัก มีอีกหลายอย่างประกอบกันเมื่อมีรัฐบาลแล้ว ควรจะเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ทวงสัญญาจากการหาเสียง หรือสัญญาว่าจะให้โดยไม่ยอมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ตนเอง ชุมชน และสังคม แล้วก็จะเป็นช่องทางให้กับนักธุรกิจการเมืองเข้ามาลงทุน หมายความถึงว่าที่ไม่ดีนะครับ อาจจะเข้ามาได้จากการเลือกตั้ง แล้วมีการกอบโกยผลกำไรในอำนาจหน้าที่ เป็นความบกพร่องที่ผมพยายามให้สติกับสังคมไทยในวันนี้และตลอดมา เพื่อให้คนไทยรู้จักพัฒนาตนเอง และพัฒนาประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยร่วมกัน
 

เราลองช่วยกันพิจารณา หาความแตกต่างในทางที่ดี ระหว่างวันนี้กับอดีตที่ผ่านมาว่า มีอะไรที่ดีขึ้นมาบ้าง อาจจะมีบางอย่าง มากบ้าง น้อยบ้าง หรือกำลังเริ่มต้น อาทิเช่น...
 

1. การพัฒนารถไฟไทย ซึ่งซบเซามานาน 60 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการสร้างเส้นทางเพิ่มเติม และ 40 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ รัฐบาลนี้ ได้เดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างขบวนรถด่วน 115 คัน ได้สำเร็จ ถูกกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ กว่า 300 ล้านบาท โดยทราบว่ารถไฟชั้น 1 - สายเหนือ รุ่นใหม่ มีการจองตั๋วล่วงหน้าเต็มแล้ว 6 เดือน ปัจจุบันรัฐบาลได้ปรับปรุงรถไฟชั้น 3 จำนวน 20 คัน และจะทยอยทำให้ครบ 148 คัน เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้มีความสะดวก สบาย สะอาด ปลอดภัยแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในทุกเส้นทาง ในการที่จะเข้าถึงการบริการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน สิ่งที่กำลังเดินหน้าต่อไป ก็คือ (1) การพัฒนา “ทางคู่” ให้ครบ 2,500 กว่ากิโลเมตร เพื่อสวนไปมาได้ เพื่อจะเพิ่มสัดส่วนทางคู่ เป็น 60% จะทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น จะได้ไม่ต้องไปรอเวลารถสวนกัน (2) การแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ 1,000 กว่าแห่ง ทั่วประเทศ ด้วยสะพานข้าม อุโมงค์ทางลอด และการติดตั้งสัญญาณไฟ ซึ่งวันนี้ก็มีเส้นทางที่เรียกว่านอกกฎหมายตัดเพิ่มเติม ด้วยความเคยชินอยู่หลายเส้นทางเหมือนกัน แล้วทำให้เกิดอันตรายต่ออุบัติเหตุที่เกิดกับระหว่างรถไฟกับรถยนต์นะครับ และ (3) โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับเมืองเศรษฐกิจหลัก 4 ภาค แล้วจะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการพูดคุยเจรจาหารือกันมากมายนะครับจนกว่าจะได้ข้อยุติที่เป็นผลประโยชน์กับชาติให้มากที่สุด
 

2. รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของพี่น้องแรงงานไทยโดยได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย แล้ว 44 ศูนย์ และในปี 2560 จะตั้งเพิ่มเติมอีก 43 ศูนย์ (รวมเป็น 87 ศูนย์) ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เปิดช่องทางการสมัครงานได้ “ทุกที่ - ทุกเวลา” ทั้งทางอินเทอร์เน็ต และแอพลิเคชั่นบนมือถือ รวมทั้ง การพัฒนารูปแบบการให้บริการ เพื่อจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น แล้วมีการเชื่อมโยงข้อมูลระบบสารสนเทศเกี่ยวกับ “ตำแหน่งงาน” ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 2 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้สมัครงานกว่า 6 แสนคน มีงานทำตามที่ต้องการแล้ว เกือบ 4 แสนคน สร้างรายได้ราว 9 หมื่นล้านบาท อย่าลืมในส่วนที่จะต้องมีการพัฒนาตนเองนะครับ มีศูนย์การพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จบในที่เรียนสูง ๆ มา แล้วไปทำอาชีพเกี่ยวกับเรื่อง Technician หรือเรียกว่า เจ้าหน้าที่ระดับบน ระดับสูง ขอให้มีการไปติดต่อ เพื่อขอทดสอบฝีมือแรงงานตนเอง จะได้มีใบประกอบรับรองให้เวลาไปหางานตามสถานที่ทำงานต่าง ๆ จะได้มีค่าแรงอะไรที่ถูกที่ดีขึ้นกว่าเดิม และมากไปกว่าเดิม ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่รับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นเราต้องดึงกันไปขึ้นไปร่วมกันให้ได้ ทั้งมีฝีมือ ไม่มีฝีมือ ถ้าต่างคนต่างพัฒนาตัวเองขึ้นไปอย่างนี้แล้วร่วมมือกับการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานเหล่านั้นก็จะมีรายได้สูงขึ้น ดีกว่าจะมาเรียกร้องทั้งหมดเป็นไปไม่ได้
 

3. ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนี้ได้ใช้ความพยายามในทุกมิติ และกลไกประชารัฐเดินหน้าตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งทั้งคำว่าประชารัฐ ไทยแลนด์ 4.0 ก็มีความสงสัยอะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ผมคิดว่าถ้าคนหวังดีกับประเทศชาติ น่าจะเข้าใจ เว้นเสียแต่ว่าคนเหล่านั้นไม่ต้องการจะเข้าใจ นั้นคิดง่าย ๆ ก็คือเราจะมุ่งส่งเสริมให้มีการลงทุนจากภายในประเทศ เพื่อจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นสำคัญ สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนั้น ส่งผลให้มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในครึ่งแรกของปี 2559 มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 3 ร้อยละ 48 3 เท่าด้วยกัน เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่าราวประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กว่า 7 พันล้านบาท และเป็นการลงทุนในคลัสเตอร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ซึ่งก็ล้วนเป็นการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตามนโยบายของรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น อย่าไปเชื่อฟังคำบิดเบือน เราก็พยายามเร่งติดตามดำเนินการ ในการหามาตรการณ์ต่าง ๆ เพื่อจะสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น แต่ก็ขอให้ไว้ใจ รัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ประเทศเสียหาย
 

4. การกำหนดนโยบายบนพื้นฐานของ ข้อมูลทางสถิติและฐานข้อมูล ที่รอบด้าน ทันสมัยเชื่อมโยงกัน ตลอดห่วงโซ่ อาทิเช่น การกำหนดแผนการผลิตและแผนการตลาดของ “ข้าว” สำหรับการบริหารจัดการ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ รองรับ เพื่อป้องกันปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ล้นตลาด ขาดน้ำ เหล่านี้เป็นต้น หลายอย่างพืชเศรษฐกิจอีกหลายตัว ปีนี้ก็ถือว่าโชคดีบางอย่างก็ราคายังสูงอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขอให้ระมัดระวังในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต วันนี้ อาทิเช่น การลดพื้นที่การปลูกยางลงไป ก็ทำให้ยางมีจำนวนน้อยลง เมื่อน้อยลงราคาก็สูงขึ้น ความต้องการตลาดก็มาขึ้น เพราะเขารู้ว่ายางมีน้อย แต่ถ้าทุกคนยังบิดเบือนกันไป ให้กลับไปปลูกกันใหม่ ก็กลับมาที่เดิม ยางก็มีปริมาณมากขึ้น เรียกว่า ซัพพลาย มากกว่า ดีมานด์ ราคาก็ตกเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็อย่าไปเชื่อฟังคำบิดเบือน ผมเห็นหลายคนออกมาพูดบอกเสียดายโอกาสที่ไปโค่นต้นยางไปแล้ว ทำไมเราจะต้องกลับไปที่เดิม ไม่เข้าใจ เป็นความคิดของใครไม่ทราบ ไปทบทวนดูด้วย ในสถานการณ์การปลูกข้าว ปี 2559 ถึง 2560 นั้น มีพื้นที่คาดการณ์ รวมประมาณ 70 ล้านไร่ เราแยกเป็น “รอบแรก” 58 ล้านไร่ ได้ผลผลิตราว 25 ล้านตัน “รอบที่ 2” พื้นที่เพาะปลูก 10 ล้านไร่ ปลูกข้าว 9.8 ล้านไร่ ผลผลิตราว 6 ล้านตัน ที่เหลือเราปรับเปลี่ยนเป็นปลูกพืชชนิดอื่น และ “รอบที่ 3” คาดการณ์ปลูกข้าว 0.5 ล้านไร่ พักการปลูก 0.5 ล้านไร่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงดิน เราจะรณรงค์ให้ชาวนามีการพักแปลงนา เพื่อจะฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นต้น ซึ่งหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูล และเข้าใจ และคิดแบบเดิม โดยไม่ฟังคนอื่นที่ชักจูงกลับไปที่เก่า ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนี้ ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นอีก เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
 

5. การให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” ตามนโยบาย Digital Economy สำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน การให้บริการกับประชาชน อาทิเช่น PromptPay ในการทำธุรกรรมการเงินภาครัฐ และ GAC หรือแก๊บ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแอพลิเคชั่นบนมือถือภาครัฐ เหล่านี้เป็นต้น ล่าสุด สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ภาษาอาเซียน” และหนังสือศัพท์ภาษาอาเซียน พร้อมปากกาอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนการเตรียมพร้อมและการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน
 

และ 6. การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ “ด้านการกีฬา” ของประเทศตามแนวคิด “กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” เห็นได้จากความสำเร็จก้าวแรก ๆ ของโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อาทิเช่น “สายฝน รัตนภาณุ” เด็กไทยมุสลิมจากยะลา ที่ได้แชมป์มวย “ปูนเสือ” เป็นผลผลิตจากค่ายมวยรัตนภาณุ ของ ศอ.บต. ที่ใช้ยุทธศาสตร์ด้านการกีฬา สนับสนุนให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด และป้องกันการถูกดึงไปเป็นแนวร่วมในการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการกีฬาในทุกมิติเช่น อาทิเช่น (1) การจัดตั้งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติโดยยกระดับจากสถาบันการพลศึกษา 17 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มที่ จังหวัดชลบุรี ในเดือนสิงหาคมปีหน้า และสร้างความเชื่อมโยงกับโรงเรียนกีฬา 13 แห่ง ในการปูพื้นฐาน อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ตั้งเป้าการผลิตบุคลากรทางการกีฬาให้ได้ 4,500 คนต่อปี และ (2) การผลักดันแผนพัฒนาการกีฬาของประเทศ ระยะ 5 ปี (2560 - 2564) ซึ่งนอกจากจะมุ่งพัฒนาสุขภาพร่างกายและจิตใจของประชาชนคนไทยแล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานการพัฒนากีฬาไทยสู่สากล การที่เราจะเป็น Hub ด้านการกีฬาของอาเซียน ทั้งในเรื่องนักกีฬาอาชีพและสนามแข่งขันกีฬา รวมทั้ง รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมการกีฬา ที่มีอัตราการเติบโตถึง 3 เท่าของ GDP ในปี 2557 มีมูลค่ากว่า 81,000 ล้านบาท อีกด้วย
 

สิ่งเหล่านี้ เราอาจจะไม่เคยสังเกต หรือไม่เคยสนใจติดตาม อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับคนโน้นคนนี้บ้าง ต้องช่วยกันดู จะได้เกิดความร่วมมือเพราะเป็นห่วงโซ่เดียวกันทั้งสิ้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องการให้เกิดการวิวัฒนาการที่ดีของประเทศไทยของเรา ที่เราเรียกว่าเตรียมการปฏิรูปไปสู่อนาคต ในขณะที่สถานการณ์จากภายนอกนั้น ก็ยังคงมี “พลวัต” และมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในลักษณะที่เป็นทั้ง “คุณและโทษ” ต่อประเทศ และชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ผมจึงอยากให้พวกเรา “ทุกคน” นั้นพยายามสนใจในสิ่งที่อยู่รอบตัว ทั้งใกล้และไกลตัวของเราบ้าง ก็จะทราบ ความเป็นเหตุ เป็นผลในแนวคิดแนวปฏิบัติ ที่เกิดขึ้น ในทุกวันนี้ เพื่อพร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหาและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน โดยขอให้เลิกพูดว่า “ธุระไม่ใช่” ไม่เห็นได้ประโยชน์ เลิกเรียกร้องแต่สิทธิ โดยไม่รู้จักหน้าที่ เลิกปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของ ประเทศชาติไม่ใช่ของคนอื่นเลย ประเทศชาติของเรานั้นจึงจะมีอนาคต ประชาชนจึงจะมีความสุขได้ อย่างทั่วถึงและยั่งยืน
 

พี่น้องประชาชน ครับ หากท่านกำลังหาของขวัญปีใหม่ เป็นสินค้าพื้นบ้าน แบบไทย หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ในปัจจุบัน ผมขอแนะนำงาน OTOP CITY 2016 ของขวัญภูมิปัญญาไทยใต้ร่มพระบารมี ตั้งแต่วันที่ 18- 26 ธันวาคมนี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งมีทั้งสินค้า OTOP ที่ไปสู่ระดับสากล ได้แก่ OTOP คลาสสิก OTOP ระดับ 4 ดาว และ 5ดาว จากทั่วประเทศ กว่า 30,000 รายการ OTOP พรีเมี่ยม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ และ OTOP Best seller เป็นสินค้าขายดีย้อนหลัง 5 ปี รวมทั้ง สินค้าดีจาก 76 จังหวัด มาจำหน่ายในที่เดียวกัน ทั้งนี้ ท่านสามารถนำใบกำกับภาษีไปลดหย่อนภาษีได้ตามนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” ขณะนี้รัฐบาลกำลังนำ OTOP ชุดที่ 2 ขึ้นจำหน่ายบนเครื่องบินอีกด้วย
 

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากเกร็ดความรู้ การดูแลสุขภาพช่วงหน้าฤดูหนาวนี้ โดยพี่น้องประชาชน สามารถจะดูแลความอบอุ่นของร่างกาย ได้จาก (1) การรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ (2) การกินดื่ม ผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรไทย ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี กระเทียม หอมแดง เหล่านี้เป็นต้น จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต และช่วยให้อาการหนาวชาบริเวณปลายมือและปลายเท้าลดลง (3) การรับประทานผัก ผลไม้ สมุนไพรรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ใบชะมวง ยอดผักติ้ว สับปะรด มะขามป้อม มะแว้งต้น มะแว้งเครือ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ ขอให้ศึกษาวิธีใช้อย่างระมัดระวัง เอาไปประกอบอาหารแล้วรับประทานที่มีคุณสมบัติที่ตรวจสอบผ่านการรับรองมาแล้ว โดยจะมีฉลากติดที่ขวด ก็ทำตามคำแนะนำตามนั้น ใช้ตามนั้น นอกจากนั้นแล้ว เราจะต้องรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ “ครบ 5 หมู่” มีการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญคือการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย สวมเสื้อกันหนาว เสื้อผ้าหนา ๆ ห่มผ้า หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ไม่ไปหาวิถีการอื่นอย่างเช่น ดื่มเหล้าแก้หนาวแล้วก็แข็งตาย เพราะรับประทานมากเกินไป ร่างกายก็ไม่แข็งแรงอยู่ เพราะอาจจะเสี่ยงกับโรค เพราะมีความเสี่ยงกับโรคหัวใจวาย เสียชีวิตได้ เราเห็นเป็นตัวอย่างหลายปีมาแล้วตลอดมา รวมทั้งให้ระมัดระวังการก่อไฟ ผิงไฟ โดยไม่จำเป็น อย่าให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและกับผู้อื่น “ด้วยความห่วงใย” ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน”มีความสุข ในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้