Last updated: 12 พ.ค. 2564 | 4111 จำนวนผู้เข้าชม |
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวถึงคำวินิจฉัยคดี "ธรรมนัส พรหมเผ่า" ทำลายเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ค Professor Vicha Mahakun กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ว่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มิใช่คำพิพากษาของศาลไทย
ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)
อันเป็นการตีความ มาตรา 98 (10) ที่ว่า ”เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด...กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า...” นั้น ต้องเป็นคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย
จึงเกิดข้อถกเถียงในทางวิชาการว่าแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ หากศึกษารายละเอียดที่ปรากฎในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว จะปรากฏข้อความตอนหนี่งว่า “..เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และ
ธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ...” เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบและขจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล มิให้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อันเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดตลอดมา ในการปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาในด้านจริยธรรม ของผู้บริหารที่ขาดความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจ (trust) จากประชาชน แต่ยังไม่ยอมออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าประชาชนเป็นผู้เลือกให้ทำหน้าที่แทนราษฎร ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา และล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน
การตีความโดยเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรของศาลรัฐธรรมนูญ จึงกระทบกระเทือนต่อภารกิจอันสำคัญยิ่งของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องเป็นผู้คุ้มครองป้องกันและรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ตามหลักรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) และก่อให้เกิดผลในทางที่ไม่น่าจะเป็น หรือยังให้เกิดผลประหลาด หรือผลอันไม่คาดคิด (a manifest absurdity) ดังเช่นในคดีนี้ย่อมสร้างความประหลาดใจให้แก่รัฐต่างประเทศว่าบุคคลซึ่งได้กระทำผิดและถูกตัดสินโดยศาลต่างประเทศ ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 98(10) ย่อมเดินทางกลับมาเป็นผู้ปกครองประเทศ หรือบริหารราชการแผ่นดินไทยได้ทั้งสิ้น ก่อให้เกิดมาตรฐานทางจริยธรรมที่แตกต่างกับลักษณะสากล อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆที่คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่11 และคณะที่ 13 ได้เคยประชุมร่วมกันและมีความเห็น ตามบันทึกกฤษฎีกาที่ 1271/2563 ว่ากรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริง มิใช่มาบังคับโทษในประเทศไทย ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้
ศึกษารายละเอียด จาก หนังสือการตีความกฎหมาย : ศ.พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร และ ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ