รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2561

Last updated: 18 พ.ค. 2561  |  2100 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
 
          เนื่องในโอกาสเข้าสู่เดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1439 ผมขอส่งความปรารถนาดีไปถึงพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคน และขอสนับสนุนคำแนะนำของคณะกรรมการอิสลามในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการร่วมกันถือศีลอดด้วยความศรัทธา ปฏิบัติตามแบบอย่างของศาสดาและปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ร่วมกันดูแลครอบครัวและบุคคลที่ตนรักให้มั่นคงอยู่ในแนวทางของศาสนา ลด ละ เลิก สิ่งเสพติดที่เป็นโทษ อบายมุขทั้งปวงตลอดทั้งเดือนรอมฎอน อีกทั้งร่วมกันสนับสนุนนโยบายแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี โดยต่อต้านและปฏิเสธความรุนแรง ไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มที่ก่อกวนและก่อเหตุรุนแรงทุกกลุ่ม เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจในห้วงเดือนรอมฎอนเกิดความสงบสุข ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น ก็ขอให้ทุกคนนำหลักคำสอนของศาสนาไปปรับใช้ในชีวิต และร่วมมือกันเดินหน้าพัฒนาประเทศ ลดความขัดแย้ง ตลอดจนปกป้องประเทศชาติ ให้พ้นจากการกระทำของผู้ไม่หวังดี ที่พยายามยุยงปลุกปั่น หรือก่อเหตุสร้างความวุ่นวายในสังคมด้วย
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ

          หากใครเคยเป็นคนกลางอยู่ระหว่างความขัดแย้ง คงเข้าใจได้โดยง่าย ว่าสิ่งที่ยากไม่ใช่การยุติความขัดแย้ง แต่สิ่งที่ยากกว่า ก็คือการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน  เพราะว่าการปรับตัวเข้าหากัน  โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของคนกลาง ตามกฎกติกาที่ควรจะเป็นนั้น เป็นเรื่องของความสมัครใจและความยินยอมของทุกฝ่าย เราไม่อาจบังคับกันได้ และนั่นเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม 4 ปี ของ คสช. ก็นับเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง บางอย่างทำได้ก็ทำทันที บางอย่างสำเร็จโดยง่ายเพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน หลายอย่างขับเคลื่อนได้ยาก เพราะยังไม่เข้าใจกัน ที่แย่กว่านั้น บางคน บางกลุ่ม ยังปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน จนมองไม่เห็นผลประโยชน์ ส่วนรวม วันนี้เราก็สามารถเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศของเราไปแล้วหลายเรื่อง โดยผมขอหยิบยกบางประเด็นมาเล่าให้ฟังในคืนนี้ และขอย้ำว่า การปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันจบสิ้น บางเรื่องกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลานาน ต้องทุ่มเททรัพยากรมาก โดยเฉพาะความร่วมมือกัน และทุกการปฏิรูป ต้องเริ่มที่การปฏิรูปตนเองก่อนเสมอ อย่างน้อย เราจะต้องไม่หยุดพัฒนาตนเองด้วย ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศของเรา ระยะเริ่มต้น เราสามารถกล่าวได้เป็นประเด็น ๆ ดังนี้
 
          1. เรื่องการแก้จนเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน การปฏิรูปของเราเริ่มจากการขจัดหนี้นอกระบบ โดยบูรณาการหลายหน่วยงาน ด้วยการผลักดันกฎหมาย มาตรการ และโครงการต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560, การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงินทุน, การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยให้ความรู้ทางการเงิน และการทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งผู้มีรายได้น้อยเข้าร่วมโครงการกว่า 11 ล้านคน ที่จะได้รับวงเงินผ่านบัตร เพื่อลดภาระค่าครองชีพในเฟสแรก แล้วในเฟส 2 ก็สนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพ เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด เรื่องกฎหมายขายฝากที่จะช่วยไม่ให้พี่น้องเกษตรกรตกเป็นเหยื่อ จนเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนให้กับนายทุน เจ้าหนี้นอกระบบ เหมือนในอดีต กฎหมายสถาบันการเงินประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก สามารถจัดตั้งสถาบันการเงินเล็ก ๆ ในชุมชนของตนเองในทุก ๆ ตำบลทั่วประเทศ มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีธรรมาภิบาล มีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งก็จะส่งผลดีกับพี่น้องประชาชนมากกว่า 20 - 30 ล้านคน ทั้งในชนบทและในเมือง ปัจจุบันมีอยู่แล้วเกือบ 30,000 แห่ง เพียงแต่ยังไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่อไปจะได้รับการยกระดับการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนรักการออม และสร้างความมั่นคงในชีวิตบั้นปลาย มีการดำเนินงานเป็นรูปธรรมอย่างมากในรัฐบาลนี้ มีสมาชิกมากกว่า 5 แสนคน กว่าครึ่งเป็นเกษตรกร โดยมีเงินกองทุนกว่า 3 พันล้านบาท เป็นต้น 
 
          นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่าเหลือ 100 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ  เป้าหมายเราควรจะเพิ่มให้เป็นร้อยละ 40 ให้ได้ โดยเรามีแผนดำเนินการระยะยาว 10 ปี เราต้องทำควบคู่กัน กับผู้ที่เดือดร้อนจากการอยู่ในป่าเหล่านั้น ด้วยการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม  คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน เราดำเนินการแล้วใน 66 จังหวัด  พื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ มีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้ว จำนวนกว่า 250,000 ไร่ จัดที่ดินให้ประชาชนแล้ว 152 พื้นที่ ใน 54 จังหวัด มีประชากรได้รับการจัดที่ดินแล้วกว่า36,000 ราย โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) บริหารจัดการในภาพรวม รวมทั้งผลักดันกฎหมายสำคัญอื่น ๆ อาทิ กฎหมายป่าชุมชน และแก้ไข พร.บ.ป่าไม้ฯ เพื่อเปิดทางให้กับเศรษฐกิจชาวบ้าน เกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ เราก็จะทำให้ชาวบ้านและชุมชนสามารถสร้างสวนป่า ปลูกป่าไม้มีค่า ที่เป็นพืชเศรษฐกิจราคาแพงในที่ดินของตนเองได้  ก็จะเกิดเป็นเป็นสินทรัพย์  เป็นการออมระยะยาว ที่ชาวบ้านสามารถตัดขายเมื่อต้องการใช้เงิน และมีมูลค่าเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามอายุของต้นไม้
 
          สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ น้อยคนที่จะทราบว่าความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ธนาคารโลกประเมินไว้ ว่าประเทศไทยเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านบาท อีกทั้งภัยแล้งยังสร้างความเสียหายให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศปีละ 4 - 5 หมื่นล้านบาท เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้ผลักดันให้มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ  ล่าสุดเป็นแผนงานระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ต้องทำงานต่อเนื่อง มี สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ที่ทำงานในลักษณะ Single Command อย่างมีเอกภาพ แม้จะเกิดจากการบูรณาการกันของหน่วยงาน 3 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างแก้มลิงขนาดเล็ก 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคอีสาน สร้างแหล่งเก็บกักน้ำ มากกว่า 50 โครงการ คิดปริมาณน้ำกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประมาณ 1.1 ล้านไร่ พัฒนาอาคารบังคับน้ำ สามารถเก็บกักน้ำจากลำน้ำสายหลักได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 7 แสนไร่  สร้างระบบกระจายน้ำอุปโภค-บริโภค 256 โครงการทั่วประเทศ ได้ปริมาณน้ำ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับ 15,000 ครัวเรือนเรามีแผนที่จะทยอยสร้างระบบกระจายน้ำฯ เพิ่มเติมอีกประมาณ 3,500 แห่ง ภายใน 3 ปีถัดจากนี้ นอกจากนี้ ยังเร่งศึกษาโครงการผันน้ำจากกลุ่มน้ำสาละวินและสาขา เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 1 ล้านไร่ และทำแผนจัดหาน้ำระยะ 10 ปี สำหรับป้อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จากเดิมที่ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะหาเพิ่มเติม 800 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2570 และอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2579 ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้กับภาคครัวเรือน ภาคการผลิต เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการรักษาสมดุลทางธรรมชาติของประเทศ
 
          2. เรื่องการแก้เหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม อาทิ ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม โดยการยกระดับ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว มีผู้เสียหายมายื่นขอรับค่าตอบแทนเพียงร้อยละ 20  เปรียบเทียบกับสถิติการแจ้งความของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา ได้เร่งสร้างประชาสัมพันธ์ให้รับรู้สิทธิของประชาชน  เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้ส่งเสริมการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น  โดยสามารถยื่นขอความช่วยเหลือได้ที่ทุกสถานีตำรวจ หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัดใกล้บ้าน ผลสำเร็จคือ สถิติผู้เสียหายมายื่นขอรับค่าตอบแทนฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62 ในปี 2557 และร้อยละ 86 ในปี 2560 รวม 4 ปีของรัฐบาลนี้ มีผู้รับคำขอความช่วยเหลือ ประมาณ 70,000 ราย อนุมัติช่วยเหลือเกือบ 45,000 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้นกว่า 2,300 ล้านบาท 
 
          นอกจากนี้กองทุนยุติธรรมช่วง 10 ปีก่อนที่ คสช. เข้ามา มีประชาชนมาขอรับความช่วยเหลือเพียง 13,000 ราย และได้รับความช่วยเหลือไปประมาณ 5,600 ราย คิดเป็นเงินกว่า 260 ล้านบาท ในปี 2558 รัฐบาลนี้แก้ไขให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น แต่ต้องโปร่งใสด้วย ช่วยให้ช่วง 2558 – 2559 เพียง 2 ปี มีประชาชนเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมากขึ้นกว่า 10,000 ราย มียอดเงินที่ช่วยเหลือประชาชน มากกว่าถึง 351 ล้านบาท แบบนี้ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่โชคร้าย ตกเป็นเหยื่อ เป็นคดีความต่าง ๆ ก็จะได้รับโอกาส ได้รับความเป็นธรรม ลบคำกล่าวที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน ให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความบริสุทธิ์ หรือต่อสู้คดีโดยไม่ต้องติดคุก เสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงครอบครัว เสียประวัติอีกด้วย เว้นผู้ที่ตั้งใจทำความผิดครับ
 
          สำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลองลาดพร้าว มีเป้าหมาย 50 ชุมชน 7,000 กว่าครัวเรือน คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 30 สำหรับการสร้างบ้านมั่นคงซึ่งจะเป็นที่อยู่แห่งใหม่ของชุมชน อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกคูคลองสาธารณะ และปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย ส่วนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงนั้น เป็นโครงการที่ใช้ความพยายามมานานสิบ ๆ ปี หลายสิบปี ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารจัดการจนสามารถเดินหน้าโครงการได้ แบ่งเป็น 4 เฟส เฟสแรกอาคารที่พักหลังใหม่จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ แล้วเราจะย้ายผู้อาศัยเดิมเข้าอยู่อาศัยต่อไป ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ชุมชนแออัดในเมืองแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาทางสังคม อาทิ อาชญากรรม และยาเสพติดได้ทางอ้อมอีกด้วย ก็ขอร้องบรรดาผู้ที่อยู่อาศัยติดคลองต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นการบุกรุก ผิดกฎหมาย เราได้มีการปรับเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ขอความร่วมมือไปด้วย ไม่อย่างนั้นทุกคนก็อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ๆ แต่ก็ยังคงบุกรุกและอยู่อาศัยแบบเดิม  เราพยายามจะแก้ปัญหาให้ ไม่ใช่ว่าผลักดันออกไปที่อื่น อยู่ในที่เดิมแต่ต้องมีการจัดระเบียบใหม่ จัดสรรปันส่วนให้ดี เพราะต้องมีปัญหาทั้งในเรื่องของขยะ น้ำเสีย ในเรื่องของการระบายน้ำ การพร่องน้ำ การแก้ปัญหาน้ำท่วมบนผิวทางจราจร เพราะฉะนั้นวันนี้ คูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ กว่า 200 คูคลอง ต้องได้รับการแก้ไข แล้วก็บรรดา พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่อาศัยอยู่ตามริมคลองเหล่านี้  มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีมายาวนานแล้ว สุขภาพก็ไม่ดี กลิ่นต่าง ๆ ก็แรง แล้วน้ำก็เน่า เพราะฉะนั้นอันนี้อันตราย ขอความร่วมมือด้วยแล้วกัน
 
          3. เรื่องการแก้โกงเพื่อป้องกันการทุจริตและสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการผลักดันให้นำ 2 มาตรการสำคัญ คือ ในเรื่องของโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ หรือระบบ CoST หรือข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP (Integrity Pact) ซึ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงกันเงียบ ๆ เท่านั้น แต่ยังส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปนั่งเฝ้าติดตามการประชุมร่างเงื่อนไข (TOR) การประมูลต่าง ๆ ไปเฝ้าดูกระบวนการเสนอราคา การตรวจเอกสาร ไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเองทุกขั้นตอนโดยตลอด ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการทุกคณะที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ในขณะนี้ นอกจากนี้เราได้จัดทำแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ที่เรียกว่าภาษีไปไหน เปิดบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทุกคนจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแล เป็นการติเพื่อก่อ อย่าทำให้ทุกอย่างสับสนวุ่นวาย อลหม่าน ด้วยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องช่วยกัน จะได้เกิดผลประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้ใช้การจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ช่วยให้การดำเนินการจัดหาวัสดุของภาครัฐดีขึ้น วันนี้มีการแก้ไขไปตามลำดับ ก็มีปัญหาอยู่บ้างในการใช้ระบบใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง เฉพาะในปี 2559 เราสามารถประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินกว่า 30,000 ล้านบาทจาก 30,000 กว่าโครงการ ด้วยวงเงินที่ตั้งไว้กว่า 430,000 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 นี้ เราสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินกว่า 47,000 ล้านบาท จาก 61,000 กว่าโครงการ ด้วยวงเงินที่ตั้งไว้ 400,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ช่วยให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ไร้การฮั้วประมูล และตรวจสอบได้ ยิ่งกว่านี้ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และการสร้างกลไกลักษณะเดียวกันนี้ ในระดับกระทรวงและระดับจังหวัดทุกจังหวัด ปฏิบัติงานร่วมกับ ป.ป.ช. ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ต้องเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) เพื่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีคุณธรรมและความโปร่งใส  

          นอกจากนี้ ได้ออกคำสั่งให้เกิดความชัดเจน ในการดำเนินการกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริต เปิดช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้ร้องเรียนมากขึ้นด้วย ทั้งสายด่วน 1111, สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม, สายด่วนไทยนิยมยั่งยืน ผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือ หรือสายด่วน คสช. 1299 เพื่อแจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นต้น อย่างไรก็ตาม การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข การปราบปรามและการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การปลูกจิตสำนึกให้คนในชาติมีหิริโอตัปปะ หรือความละอายต่อการทำบาป และรักษาศีล 5 เป็นนิจ รวมทั้งให้เยาวชนรังเกียจพฤติกรรมการโกง และเลิกนิสัยธุระไม่ใช่ เราต้องช่วยกัน วันนี้กำลังจัดทำแผนบทเรียนไปในสถานศึกษาด้วยว่าจะทำอย่างไร โตไปแล้วไม่โกง
 
          4. เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและประชาคมโลก 3 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดการลงทุน วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในแทบทุกโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และสถานีขนส่งสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาผมได้กล่าวมาเป็นระยะ ๆ แล้ว ทุกอย่างก็มีขั้นตอนการดำเนินการอยู่ ปีนี้จะผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องอีก รวมวงเงินราว 1 ล้านล้านบาท อาทิ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟฟ้าสีแดงอ่อน - แดงเข้ม - สีม่วงใต้, รถไฟทางคู่ ระยะ 2 จำนวน 7 เส้นทาง, ปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง, ทางยกระดับ - ทางด่วน - มอเตอร์เวย์ อีกหลายเส้นทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมอีกกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา, ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข, เชื่อมโยงการค้า e-Commerce จากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก และเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย 
 
          ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างดังกล่าว จะส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นระบบ อาทิ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กำหนดเป้าหมายการพัฒนา 5 ปี พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ อย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงนี้ให้ผู้ประกอบการ 200 ราย รวมทั้งการฝึกอบรมแรงงานฝีมือมากกว่า 25,000 คน คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินี้กว่า 12,000 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีตามแผน ทั้งนี้ EEC จะเป็นต้นแบบความสำเร็จให้กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ชายแดน 10 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 51 โครงการ เป็นวงเงินราว 9,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการจัดทำผังเมือง การจัดหาที่ดิน การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรเพิ่มเติม เราต้องมีการบริหารจัดการแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ระบบบริหารจัดการภายในพื้นที่ ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน สุขอนามัย การบริหารจัดการน้ำและขยะ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งดูแลในเรื่องความมั่นคงชายแดน
 
          ซึ่งนอกจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญอย่างมากในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการภาครัฐ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกและการอนุมัติ-อนุญาตต่าง ๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสยิ่งขึ้น ช่วยทำให้การจัดอันดับ Ease of Doing Business ของไทยดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 20 อันดับ ในการประเมินครั้งที่ผ่านมาก็มีผลกับการค้าการลงทุนของประเทศเราด้วย
 
          5. เรื่องการยกระดับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและการลงทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment ที่ช่วยทั้งในเรื่องความสะดวกสบายในการชำระเงินของประชาชน และภาคธุรกิจ SMEs ทั้งการโอนเงินที่เชื่อมโยงมากขึ้น ผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) ที่ปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนใช้แล้วกว่า 40 ล้านบัญชี ยอดการทำธุรกรรมสูงถึง 127 ล้านรายการ มูลค่ารวมกว่า 4.9 แสนล้านบาท ซึ่งการปรับลดค่าธรรมเนียมในโครงการพร้อมเพย์นี้ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินทั้งหมดในที่สุด ผมขอขอบคุณธนาคารพาณิชย์ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ช่วยกันสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs เป็นจำนวนมาก ในภาครัฐเอง ตอนนี้ก็มีการปรับในเรื่องการรับชำระเงินต่าง ๆ ให้สะดวกขึ้นผ่านเดบิตการ์ด ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องถือเงินสดจำนวนมาก ๆ มายังสถานที่ราชการอีกแล้ว ต่อไปเราก็จะเร่งเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ข้อมูลสวัสดิการสังคม และระบบการรับจ่ายเงินให้แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือและให้บริการประชาชนได้อย่างตรงจุด ตรงคน ลดการทุจริตในกระบวนการจ่ายเงินของภาครัฐ ถึงมือพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ในโครงการต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สร้างระบบการจ่ายเงินอุดหนุนผู้ประสบภัยทางสังคมที่มีบัญชีกับธนาคารกรุงไทย ให้สามารถรับเงินอุดหนุนได้ทันที ซึ่งระบบนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลและสิทธิ์ของผู้รับโอนก่อนดำเนินการได้ด้วย นอกจากนี้ ยังจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชี สำหรับผู้รับเงินอุดหนุนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร รวมถึงค่ารักษาบัญชี และผู้รับเงินจะได้รับ SMS แจ้ง เมื่อมีเงินเข้าบัญชีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในอนาคต เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สะดวกไปเปิดบัญชี ก็จะสามารถรับเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือใช้บัตร e-Money ได้อีกด้วย
 
          นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการภาครัฐอย่างกว้างขวาง อาทิ การพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ตั้งเป้าหมายการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม ระยะ 20 ปี (60-79) รวม 6 ล้านไร่ ช่วง 5 ปีแรกเราทำได้ 1.5 ล้านไร่ โดยมี ศพก. (ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ และเกษตรแปลงใหญ่เป็นกลไกขับเคลื่อน ในเฉพาะปี 61 นี้ มีเกษตรกรเข้าร่วม 43,000 กว่าราย เป็นพืชเศรษฐกิจ ราว 160,000 ไร่  เกษตรผสมผสาน กว่า 81,000 ไร่ ปศุสัตว์ 18,000 กว่าไร่ และประมง 1,100 กว่าไร่ ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตสินค้าทางการเกษตรชนิดใหม่ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทางตลาดการผลิต อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือร้านค้าดิจิทัลชุมชนที่เป็นการยกระดับการบริหารร้านค้าปลีก ขยายผลจากเครือข่ายเน็ตประชารัฐ ให้สามารถทำการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ประกอบด้วย 3 ระบบงานย่อย เกี่ยวกับ ร้านค้า ธุรกรรมการเงิน การส่งสินค้า (e-Marketplace, e-Payment และ e-Logistics) โดยเริ่มจากร้านค้าประชารัฐสามัคคี ที่มีที่ตั้งเหมาะสมในพื้นที่โครงการเน็ตประชารัฐ ราว 25,000 จุด แล้วเราจะขยายไปจนครบ 75,030 หมู่บ้านทั่วประเทศ เฉพาะปี 61 จำนวน 5,000 แห่ง โดย 25 พ.ค.นี้ จะทดลองขายสินค้าเป้าหมาย 125 รายการ จาก 1,300 รายการสินค้า ที่อยู่ในระบบคาดว่าจะสร้างมูลค่าได้ ราว 6.5 ล้านบาทต่อเดือน
 
          สิ่งสำคัญในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการบริหารราชการในอนาคตก็คือ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BIG Data ของภารรัฐ ซึ่งวันนี้ผมได้มุ่งเน้นให้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีความคืบหน้าไปตามลำดับ มีการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง เช่น ฐานข้อมูลกลางและภาพถ่ายทางอากาศ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ ซึ่งเราจะมีระบบอัจฉริยะสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย  ด้านข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ  และด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ และระบบสารสนเทศ เชื่อมโยงการบริหารข้อมูลภาครัฐทั้งปวง เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการตกลงใจในการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีธรรมาภิบาล และมีการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศได้อย่างมียุทธศาสตร์ในอนาคต รวมทั้งช่วยการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้อย่างตรงจุด ตรงคน ตรงกับความต้องการ วันนี้ภาคธุรกิจก็ใช้ Big Data ในการบริหารจัดการอยู่ด้วย

           6. เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและปรองดองในสังคมและบ้านเมือง ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญมากหรือมากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนแล้ว โครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะไม่อาจสำเร็จลงได้เลย ถึงแม้เราจะมีงบประมาณใด ๆ ก็ตาม ดังนั้น จึงมีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุก ๆ มิติ ทุก ๆ กิจกรรม ตั้งแต่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกกฎหมาย  มีการเสริมสร้างกลไกประชารัฐเข้ามาขับเคลื่อน โดยเฉพาะในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  และระดับฐานรากของประเทศ อาทิ บริษัทประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด ยังคงดำเนินการอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันมีการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,685 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตร กลุ่มแปรรูป กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน  สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1,600 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 600,000 ราย ล่าสุดได้ผลักดันโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่เน้นการระเบิดจากข้างในตามศาสตร์พระราชา ต้องมีการทำประชาคม การรับฟังปัญหาระดับชุมชน การสำรวจความต้องการและปัญหาแต่ละท้องถิ่น โดยจัดสรรเงินงบประมาณ ประมาณ 150,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป ไม่ได้ทำเพื่อการเมือง เป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน  ที่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน และยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ก่อนที่จะผลักดันงบประมาณลงไป 35,000 ล้านบาทในปี 2559 กับอีก 15,000 ล้านบาทในปี 2560 ทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้สำเร็จ เฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 85
 
          ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาลนี้ ช่วยให้ผลการดำเนินการพีพีโมเดลซึ่งเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประสบผลสำเร็จ ด้วยการเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 978 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน จากที่ก่อนหน้าเก็บได้เพียงปีละ 1 ล้านบาท เป็นอย่างไรครับ แตกต่างมาก นอกจากนี้ กลไกประชารัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้าง Smart City ทั้งเมืองน่าอยู่ เช่น พระนครศรีอยุธยา และเมืองอัจฉริยะ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ที่มีการร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาท้องถิ่นของตน โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ  ตามที่ผมเคยกล่าวอยู่เสมอว่าประชารัฐจะไม่ใช่เพียงทางรอด  แต่จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราสามารถเชื่อมโยงแผนพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ท้องถิ่น เข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติได้ การขับเคลื่อนประเทศก็จะมีพลัง มีทิศทางชัดเจน  
 
          ทั้งนี้ การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดช่วงนี้คือการศึกษาและการสาธารณสุข ก็มีอีกหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องนี้ก็สำคัญ อาจจะมากที่สุดเลย ในเรื่องของการใช้และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน เรากำลังก้าวสู่โลกยุคโลกาภิวัฒน์ โลกดิจิทัล โลกที่อากาศเปลี่ยนแปลง โลกที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมสูงวัย ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึง หากเรามุ่งเน้นแต่เพียงการรักษา ไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันเท่าที่ควรนะครับ ก็จะสร้างภาระด้านงบประมาณเป็นจำนวนมาก เราอาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอภายใน 10 ปีข้างหน้า เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาล แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานหนัก พัฒนาไม่ได้มาก เพราะต้องใช้จ่ายงบประมาณในการรักษาพยาบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยกันคิดนะครับ ไม่ว่าท่านจะถือบัตรประเภทใดหรือสวัสดิการอะไร รัฐบาลอยากดูแลให้มากขึ้น แต่เราจะหาเงินมาจากที่ไหนล่ะ ต้องช่วยกันคิดด้วย เพราะรัฐบาลต้องดูแลหลายมิติ รายจ่ายประจำ งานฟังก์ชั่น งานบูรณาการ หนี้สาธารณะ การลงทุนเพื่ออนาคต และอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย  เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องควบคุมกำกับดูแลให้การใช้จ่ายเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง การศึกษาก็เช่นกัน นับวันก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เรียนออกมาแล้วก็ต้องหางานทำให้ได้โดยเร็ว บางครั้งนี่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด  เรียนออกมาก็ทำงานไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าการศึกษาบกพร่อง  ต้องมีหลักคิด มีเหตุผล จะเลือกเรียนอะไร ถนัดอะไร ก็ขออย่าไปเรียนตามเพื่อน หรือไปเรียนที่ง่าย ๆ ถ้าตัวเองมีศักยภาพ
 
          เรื่องระบบภาษีของเราก็ยังคงเหมือนเดิม เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย หารายได้เพิ่มไม่ได้มาก เราจะต้องร่วมมือกันแก้ไข ทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ทำอย่างไรเราจะตอบสนองความต้องการประชาชนได้ ต้องช่วยกันคิด ช่วยหารือ ขัดแย้งกันไปมาไม่เกิดประโยชน์ จะดีทุกอย่างถ้าหากเราทำเพื่อประชาชนจริง ๆ แต่ต้องรับผิดชอบหากใช้จ่ายงบประมาณเกินรายได้ที่รัฐจะหาได้จนมากเกินไป
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ

          ผม รัฐบาล และ คสช. ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนหลงเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ที่บิดเบือน ไม่สุจริตใจ และขาดความรับผิดชอบ ที่พยายามจะกล่าวหาว่ารัฐบาลและ คสช. ไม่ได้ทำการปฏิรูปอะไรเลย การปฏิรูปต้องอาศัยวิธีการใหม่ ๆ การขับเคลื่อน การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นสากล ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ หลายท่านกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ เป็นเพียงการบริหารราชการแผ่นดินปกติ ที่ทุกรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว  ผมอยากให้ลองกลับไปคิดดูว่า แล้วทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาของท่านไม่ทำ ถ้าทำให้ครบทุกพื้นที่ เริ่มไว้ทุกกิจกรรม ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติ ให้สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เราต้องเดินหน้าด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ก็จะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในช่องทางของดิจิทัลได้มากกว่านี้ สร้างงาน สร้างโอกาส ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ท่านไม่ได้เริ่มสิ่งเหล่านี้ไว้มากนัก เราก็ต้องมาเสียเวลา จะปฏิรูปอะไรได้สักที ก็ต้องมาแก้ของเดิมกันอยู่นี่ เราก็พยายามทำทั้งของเดิมและของใหม่ไปด้วย แล้วท่านว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย ผมว่าไม่เป็นธรรมกับผมเท่าไร เพราะฉะนั้นวันนี้ก็จะเห็นได้ว่าเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นหลายอย่าง ปัจจุบันนั้นเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้ง เราอาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายมากมาย ประชาชนก็รู้สึกเดือดร้อน ผู้มีรายได้น้อยก็รู้สึกถูกรังแก ก็เลยทำให้การปฏิรูปไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย กฎหมายไม่ได้รับความเชื่อถือ มีการทำลายกระบวนการยุติธรรม เหล่านี้ทำให้เกิดการปฏิรูปได้ยาก ได้ช้า 
 
          เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคน ทุกพรรค ที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาเป็น ส.ส. เป็นรัฐบาล ควรจะออกมาพูดว่าท่านจะปฏิรูปอะไรและอย่างไร ดีกว่ามาพูด ว่า ติ รัฐบาลนี้ทำไม่ทำ ท่านบอกว่าท่านจะทำอะไรดีกว่าครับ ผมพูดของผมไปแล้ว ว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ท่านก็ต้องพูดของท่าน วันนี้ท่านเป็นกันมานานแล้ว ท่านอ้างว่าท่านเป็นกันมานานแล้ว ท่านรู้ปัญหาประเทศดีมากอยู่แล้ว ผมอยากจะรู้ว่าที่มากน่ะ ท่านแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าท่านมีวิธีการใหม่ ๆ วิธีการใช้จ่ายงบประมาณ วิธีการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมอย่างไร ย่อมจะดีกว่าที่จะมาพูดจาให้ร้ายซึ่งกันและกัน พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ ความยากจน พูดถึงอำนาจ  ผลประโยชน์ แล้วก็มาท้าทายกันเอง ประชาชนและประเทศชาติจะมีอนาคตได้อย่างไร  ถ้าหากท่านยังทำการเมืองในลักษณะเดิม การเมืองก็ต้องปฏิรูปด้วย ปฏิรูปที่ตัวเองก่อน หลักการที่ควรจะเป็นคือ เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประชาชน ทำให้คนไทยเข้มแข็งด้วยตนเอง ทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยพึ่งพาตนเองได้ พัฒนาตนเอง มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ทำให้เขาอ่อนแอ หวังพึ่งแต่รัฐไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร เรากำลังให้เร่งรัด ติดตาม การแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชน จากการปล่อยกู้ที่ผิดกฎหมาย ขจัดหนี้นอกระบบ และหนี้สินพี่น้องเกษตรกร จากเจ้าของโรงสีผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ  ดี ๆ ก็เยอะนะครับ พืชเศรษฐกิจ เช่น มัน อ้อย ปาล์ม ยาง เหล่านี้เป็นพืชหลัก เป็นพันธะผูกพันมายาวนาน เป็นปัญหาทางการเมืองมาด้วย ต้องแก้กันเป็นระบบครบวงจร
 
          นักธุรกิจทั้งหลาย ผู้ร่ำรวยทั้งหลาย ผมขอร้องแต่เพียงอย่างเดียวว่าช่วงนี้เป็นช่วงของการปฏิรูป อย่าเพิ่งมุ่งหวังกำไรกันมากมายนัก เพราะท่านก็ต้องช่วยเราปฏิรูปไปด้วย เพราะฉะนั้นการปฏิรูปจะสำเร็จได้ด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ให้พี่น้องระดับล่าง ให้มีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียง เลี้ยงครอบครัว บุตรหลาน ถ้าเราเพิ่มราคาไปเรื่อย ๆ เพื่อหวังผลกำไรให้มากขึ้น หรือไม่ยอมเสียผลประโยชน์ใด ๆ เลย ผลประโยชน์ก็ไม่เกิดขึ้นมากนัก แล้วภาระจะไปตกกับผู้บริโภค จะทำอะไรก็ตามนึกถึงพี่น้องเกษตรกร ประชาชน ผู้บริโภคบ้าง ช่วยรัฐบาล ช่วยกันปฏิรูปประเทศให้ได้ เราจะต้องเริ่มที่จิตใจของเราก่อน ในเรื่องของการเสียสละ ในเรื่องของการแบ่งปันต่าง ๆ เหล่านี้ จิตสำนึก
 
          สุดท้ายนี้ ก็ธรรมดาครับ ผมขอฝากบทกลอนที่สะท้อนให้เห็นถึงเสียงจากรัฐบาลและ คสช. ในช่วงท้ายของรายการวันนี้ครับ
 

                   ถึงวันนี้  ยังมีหลาย  ความคิดเห็น​​        ว่าจำเป็น  ไม่จำเป็น  ให้หวนหา
                   ประชาธิปไตย  นักเลือกตั้ง ที่ผ่านมา   ล้วนกล่าวว่า ทำวันนี้ ดีไม่พอ
                   อาจไม่ดี  ในสายตา  ของพวกเขา       ทำแบบเรา  ยั่งยืน หลาย พ.ศ.
                   ให้เปล่าเปล่า  ตามใจ  เท่าไรพอ        ​​​ตั้งตารอ  ไม่เรียนรู้ พัฒนา
                   เพียงเริ่มต้น  เคารพ ข้อกฎหมาย​​       ไม่บานปลาย ขัดแย้ง แจ้งข้อหา
                   กี่ชีวิต ทรัพย์สิน สูญสิ้นมา                 เพื่อวันหน้า  ไม่มี  แม้สักคน
                   ขอคนไทย  ทบทวน  เฝ้าหวนคิด ​​      แล้วตั้งจิต  พัฒนา  หาเหตุผล
                   เกิดความสุข  ถ้วนทั่ว  ทุกตัวตน        อย่าให้คน  มองแค่เปลือก  เลือกตั้งมา

          ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้