รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560

Last updated: 11 ธ.ค. 2560  |  2923 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

การทำงานของรัฐบาลนี้ และ คสช. เรามุ่งเน้นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ และเราจะต้องดำเนินการเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ให้แก้ไขได้อย่างยั่งยืน ช่วงที่ผ่านมานั้น หลายปัญหารัฐบาลก็ได้ดำเนินการแก้ไข ด้วยมาตรการระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเฉพาะหน้า แล้วทำควบคู่ไปกับมาตรการระยะกลาง มาตรการระยะยาว เพื่อจะแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา เรื่องน้ำท่วม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วันนี้เราต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผลบนข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงเหมือนอย่างที่ผมและรัฐบาลเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เราต้องคิดร่วมกัน ทำร่วมกันให้ได้
 

สำหรับปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ราคายางพาราตกต่ำ เราจำเป็นต้องเข้าใจในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไปในแนวทางที่จะร่วมมือกันได้
 

เรื่องที่ 1 คือ ประเด็นราคายางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ มีความเกี่ยวโยงกับมากมาย กับสถานการณ์หลายอย่าง เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งสะท้อนต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ สามารถใช้ทดแทนยางธรรมชาติได้เช่นช่วงปี 2540 - 2548 น้ำมันราคาแพง ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงตามไปด้วย ส่งผลให้หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย หันไปส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ายางสังเคราะห์ แต่พอราคาน้ำมันลด ราคายางสังเคราะห์ก็ลดตาม แต่ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติยังคงมาก และเกินความต้องการของตลาด เพราะหันไปใช้ยางสังเคราะห์ ก็เลยทำให้ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ
 

เรื่องที่ 2 คือ ประเด็นปริมาณการผลิตยางพารา ก็สืบเนื่องจากข้อแรก ช่วงปี 2554 - 2558 ทิศทางของโลกลดการผลิตลง แต่ไทยเราผลิตเพิ่มขึ้น ก็เป็นผลมาจากการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเดิมอาจจะทำให้ผลผลิตในช่วงปัจจุบันนั้นมีจำนวนมากพอสมควร ทำให้เกิดความไม่สมดุลกัน ที่สำคัญเกษตรกรสวนยางไทยนั้น เราจะปลูกยางเป็น “พืชเชิงเดี่ยว” จำนวนมาก ทำให้เมื่อราคายางผันผวน ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนอย่างรุนแรง เหมือนเช่นในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ประเทศอื่นนั้นเกษตรกรเขาจะเพาะปลูกเป็น “พืชทางเลือก” เสริมเข้ามาด้วย ควบคู่กับการปลูกยาง เช่น มาเลเซียก็มุ่งเน้นไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน 20 - 30 ปีมาแล้ว ส่วนอินโดนีเซีย เขาก็ทำเกษตรแบบยังชีพนะครับ ทำประมงควบคู่ไปด้วย หรือทำอาชีพอื่นไปด้วยเสริมกับการมีผลผลิตจากยาง เป็นรายได้ของเขา เมื่อราคายางลดลง ผู้ปลูกยางในประเทศเหล่านี้ ก็จะชะลอการกรีดยางแล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อเป็นการหารายได้เข้ามาแทน คล้าย ๆ กับเอาพืชการเกษตร แล้วเอารายได้จากยางเป็นรายได้เสริม ของเราเป็นรายได้หลัก
 

เรื่องที่ 3 ประเด็นการใช้ยางพาราในประเทศน้อยลง เมื่อเทียบกับผลผลิต ประเทศไทยเราผลิตยางพาราถึง 4.47 ล้านตัน มีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 0.60 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก ซึ่งทำให้ราคายางพาราของเรานั้นต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ซึ่งก็แปรผันตามปริมาณความต้องการ ที่ผูกโยงกับราคาน้ำมันด้วย เพิ่มความซับซ้อน จนไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดถึงแม้ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเราอาจจะถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก มีพื้นที่กรีดยางพารารวมกัน 50.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 62.09 ของเนื้อที่กรีดยางพาราของโลก มีผลผลิตรวม 8.56 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 63.27 ของผลผลิตโลกก็ตาม แต่อินโดนีเซีย ที่แม้จะมีการใช้ยางพาราในประเทศน้อยมากเช่นกัน อย่างที่กล่าวไป การปลูกยางก็ไม่ใช่รายได้หลัก ส่วนมาเลเซีย ได้สร้างสมดุลการใช้ยางพาราในประเทศ ให้ใกล้เคียงกับผลผลิตรวมทั้งสนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมัน และการปลูกพืชเชิงซ้อนอื่น ๆ อีกด้วย เรื่องนี้เราต้องให้ความสำคัญ ต้องช่วยกันทำต่อไป
 

เรื่องที่ 4 คือ ประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางพารา ในปี 2559ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางราว 20 ล้านไร่ โดยเฉลี่ยอัตราผลผลิต ประมาณ 225 ถึง 245 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่พื้นที่กรีดยาง ภาคเหนือให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำสุด คือ 143 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานให้ผลผลิตเพียง 185 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากอากาศ ปริมาณน้ำ และสภาพดิน ไม่เหมาะกับการปลูกยางพารา ที่ต้องการอากาศร้อนชื้น และฝนตกชุกเหมือนภาคใต้ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งปัญหาค่าขนส่งผลิตภัณฑ์ยางมาสู่ตลาดกลาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของเกษตรกรสวนยาง ที่ต้องเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาของยางพาราของรัฐบาลนี้ ในระยะยาว เพื่อความยั่งยืน คือ
 

1. ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีการประกอบอาชีพเสริม เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การปลูกพืชแซม เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ที่เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่นของตนเอง การทำปศุสัตว์ และประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง เพื่อให้มีรายได้ที่หลากหลายเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพารายได้จากการทำสวนยางแต่เพียงอย่างเดียว เช่น รัฐบาลนี้ให้มีการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สำหรับประกอบอาชีพเสริม เป็นต้น ที่ผ่านมามีชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริมประมาณ 380,000 ราย และในปี 2560 มีชาวสวนยางหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้นอีกกว่า 3,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูกในปีนี้ ยังไม่พอ ต้องมากกว่านี้ แล้วรัฐบาลก็จะได้สามารถส่งเสริมเรื่องการตลาดให้ด้วย
 

2. สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐจะชดเชยอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปีให้แก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน การปรับปรุงอาคาร การจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อจะพัฒนาศักยภาพในการส่งออกและแปรรูปยางในอนาคต
 

3. ส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นด้วยนะครับ เช่น การสร้างถนน ลานกีฬา ถุงมือยาง และอื่น ๆ เป็นต้น
 

4. ควบคุมและลดพื้นที่การปลูกยางพาราให้เหมาะสม โดยลดพื้นที่ปลูกยางลงให้ได้ มีเป้าหมายปีละ 4 แสนไร่ แต่ต้องหาอย่างอื่นแทน เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการในการใช้ ปัจจุบันเราสามารถลดพื้นที่ปลูกได้แล้ว 1.19 ล้านไร่ สามารถลดผลผลิตได้ 0.27 ล้านตัน จะเห็นว่ายังลดได้น้อยมาก แต่จะทำยังไงได้ เพราะเขาไม่มีอาชีพอื่นอีกเลย ก็ต้องหาอาชีพอื่นให้เขาทำด้วย จะได้ลดได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตยางในตลาดโลกใกล้เคียงกับความต้องการ ทำให้ราคาไม่ตกต่ำมากนัก ทั้งนี้ เราจะเน้นการลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสมในบางพื้นที่ พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งคงมีปัญหาทั้งปริมาณน้ำ ระบบชลประทาน และการขนส่ง ที่ล้วนแต่มีต้นทุนสูง หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีกว่า 2 ล้านไร่ในปัจจุบัน แล้วเราจะดูคนที่ทำสวนยางในตรงนี้อย่างไร ซึ่งก็เป็นงานหนักอีกอัน
 

5. จัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้มีการยุบรวม 3 หน่วยงาน ก็คือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง เข้าด้วยกัน มีภารกิจในการจัดทำยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการยางของประเทศแบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพ ขณะนี้เราก็เพิ่งเริ่มปฏิบัติมา อาจจะมีหลายอย่างถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง เพราะว่าวันนี้เราต้องเอาภาคเอกชนมาร่วมด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนกันขึ้นมาต่าง ๆ อันนี้รัฐบาลได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของ กยท. ตามที่มีการร้องเรียนอยู่
 

เรื่องที่ 6 ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก เราทำมาตลอด ไม่ใช่ไม่ทำเลย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ มีมาตรการควบคุมอุปทานยาง ให้อนาคตมีปริมาณการผลิตยางพาราของแต่ละประเทศในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนใหญ่มีปัญหาที่เรา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก เพราะว่าถ้าหากสถานการณ์ยางพาราตกต่ำมาก เราก็จะต้องมีมาตรการในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราของประเทศสมาชิกเหล่านี้ เป็นต้น ก็ต้องหารือกัน บางครั้งก็อาจจะไม่เห็นชอบร่วมกัน ใครเขาไม่เดือดร้อน เดือดร้อนน้อย เขาก็ไม่อยากจะไปมีมาตรการเหล่านั้น แต่เรามีปัญหามากที่สุดเพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกฝ่ายในห่วงโซ่ของยางพาราไทย ได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ขอให้ทุกคนได้อดทน เปลี่ยนแปลง ไว้ใจซึ่งกันและกัน แล้วก็มีหลักการและเหตุผลไม่ว่าจะประท้วง หรือยื่นหนังสืออะไรต่าง ๆ ก็ตาม ผมขอร้อง ขอให้ยื่นอย่างสงบแล้วกัน ไม่อยากให้มีการนำเกษตรกรเข้ามาที่กรุงเทพ ต้องมายื่นกับนายกรัฐมนตรี มาคนเดียวยื่นในพื้นที่ แล้วเขาก็ส่งถึงผมอยู่ดี มาเสียเวลาการทำมาหากินเปล่า ๆ สิ้นเปลืองด้วย ผมไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมือง ผมเข้าใจเศรษฐกิจสำคัญที่สุด ปัญหาอยู่ที่ว่ายังไง ถ้าทุกคนทำสวนยาง เมื่อยางราคาไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี เพราะรายได้มีแต่ยางอย่างเดียว ต้องคิดใหม่ จะได้แก้ปัญหาได้ร่วมกัน ตามนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ทุกฝ่ายก็มีประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลก็ไม่มีข้อขัดแย้ง มีรายได้มากขึ้น ประชาชน เกษตรกรสวนยาง หรือเกษตรกรอื่น ๆ ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน
 

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 25 ที่นครดานัง ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้พบปะหารือกับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งผมได้เสนอในที่ประชุมถึงแนวนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ไทยแลนด์ บวกหนึ่ง ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรม ทั้งด้านการเกษตร การสนับสนุนการเกษตร สนับสนุนเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer พร้อมน้อมนำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ตามหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่นะครับ
 

ส่วนในภาคการผลิต ผมได้กล่าวถึงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ EEC เพื่อจะสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ และก็เพิ่มมูลค่าในการแข่งขันจนสามารถไปสู่เวทีโลกได้ ที่สำคัญ คือ เราต้องเข้มแข็ง สร้างนวัตกรรม มีขีดความสามารถสูง ไม่เช่นนั้นเราสู้เขาไม่ได้ สินค้าเราก็ขายไม่ออก ก็ทำให้ห่วงโซ่ทั้งหมดมีปัญหา ที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราต้องเตรียมการให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ในขณะเดียวกันต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้ความสำคัญกับในเรื่องของการอำนวยความสะดวกของการประกอบการธุรกิจ การสนับสนุนไมโคร SMEs และการเตรียมพร้อมในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “ห่วงโซ่อุปทาน” ของภูมิภาคและของโลก เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องอยู่กับคนอื่นเขาด้วย เพราะฉะนั้นการหารือก็ต้องเป็นทวิภาคี พหุภาคี โดยทั้งหมดนั้นผมได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ทั้งกายภาพและอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ ประชาชนกับประชาชน ระหว่างประเทศสมาชิก ในการสร้างการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เราคงจะต้องเร่งผลักดันการเปิดเสรีการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
 

ที่ประชุมได้ย้ำเตือนเจตนารมณ์ร่วมของ APEC ในการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ตั้งเป้าให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และในปี พ.ศ. 2563 สำหรับสมาชิกกำลังพัฒนาที่เหลือ เรามีเวลาไม่มาก อีกเพียง 3 ปี ที่เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนในทุกมิติไปพร้อม ๆ กันด้วยในการประชุมครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีผู้นำประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศเข้ามาร่วมด้วย ผมได้ผลักดันบทบาทของไทยในฐานะหนึ่งในประเทศหลักของ ASEAN รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำทางแนวคิด มีวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาประเทศให้เติบโตไปกับภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน คือ ต้องไปด้วยกัน เราต้องโชว์คนอื่นเขาด้วย ทำคนเดียว เก่งคนเดียว ก็ไปไม่ได้ ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งจากข้างใน หรือ “ระเบิดจากข้างใน” และสร้างประโยชน์ให้กับภูมิภาคได้อย่างเต็มที่ในภาพรวม ผ่านความร่วมมือในการทำการค้า การลงทุนระหว่างกัน ผมหวังว่าเราจะช่วยเปิด “ประตูโอกาส” ของแต่ละประเทศ ตามศักยภาพ และช่วยกันพัฒนา ศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตและรายได้ของทุกประเทศต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดช่องว่างการพัฒนา ซึ่งแตกต่างกันอยู่มากในวันนี้
 

หลังการประชุม APEC ผมได้เดินทางต่อไปยังกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมประชุมสุดยอด ASEAN ครั้งที่ 31 ในปีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ เนื่องด้วยเป็นการครบรอบ 50 ปีอาเซียน ที่ผ่านมาถือว่าความร่วมมือในภูมิภาคอย่างดียิ่ง มีความคืบหน้าไปมาก มูลค่าการค้าระหว่างกัน ณ ช่วงเริ่มต้นประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ในขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรของภูมิภาค จากปี 2550 - 2558 ขยายตัวถึงร้อยละ 63.2 สูงขึ้นมาก แต่ก็คงยังไม่พอ เพราะหลายประเทศมีความแตกต่าง มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ประเด็นสำคัญที่บรรดาผู้นำได้หารือกันก็คือ การมองอนาคตของประชาคมอาเซียน มองไปข้างหน้า ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างมีเสถียรภาพ โดยยึดหลักนิติธรรม มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ตรงความต้องการของเขานะครับ ให้เขาได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นความท้าทายของโลก อาทิ การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค นอกจากนี้ ได้มีการหารือในประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่าง “3 เสาหลัก” ของอาเซียน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อาทิ โครงการและแผนงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อการส่งเสริมและขยายความเชื่อมโยงภายในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในฐานะเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้วย
 

ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนชาวไทย และประเทศไทย ผมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เรายังคงต้องร่วมกันขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ให้เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป ให้ได้ในอีก 50 ปีข้างหน้า ถึงแม้โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม เราก็เตรียมความพร้อมของเราเสมอ รองรับมาตรการ รองรับความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ซึ่งเป็นพลวัตร เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในทุก ๆ เรื่อง เราต้องให้ความสำคัญเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพในการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ให้อาเซียนขยายบทบาทให้ได้มากขึ้นในเศรษฐกิจโลก รวมถึงการขยายความเชื่อมโยงออกไปยังนอกภูมิภาค เช่น เอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งประชาคมโลกอย่างเป็นระบบ เพื่อจะรองรับการค้าและการลงทุนที่จะมีมากขึ้น และเป็นประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้กับภูมิภาค
 

ขณะเดียวกันเราต้องรักษาความเข้มแข็งภายในของอาเซียน สร้างความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร รวมถึงการรับมือกับภัยคุกคามจากนอกภูมิภาค เราจะต้องพยายามดำเนินการร่วมกันโดยสันติวิธี ขจัดความขัดแย้ง เราสามารถที่จะเป็นทั้งศักยภาพในด้านเป็นผู้ผลิตหลาย ๆ อย่าง เช่น ด้านการเกษตรหรือเทคโนโลยี การพัฒนาดิจิตอล อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราน่าจะไปเป็นหลักได้ โดยอาเซียนต้องร่วมมือกัน ในส่วนที่ 2 คือ เป็นในเรื่องของศักยภาพในเรื่องของการเป็นตลาดใหญ่ เพราะว่าเรามีพลเมืองรวมกันถึง 600 กว่าล้านคน เหล่านี้เราต้องคำนึงถึงเรื่องเป็นทั้งผู้ผลิตที่มีคุณภาพ สินค้าที่เป็นนวัตกรรม มีมูลค่า แข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ แล้วเราก็เป็นตลาดที่ประชาชนเรามีรายได้ที่เพียงพอ ในการที่จะเข้าไปสู่การใช้เทคโนโลยี โดยการใช้ดิจิตอลเข้ามาเสริม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ร่วมกัน รัฐ ประชาชน เอกชน
 

การเดินทางไปเยือนต่างประเทศในครั้งนี้ ผมต้องการให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความสำคัญของเรา ที่ใช้การขับเคลื่อนโดยกลไก “ประชารัฐ” ทุกประเทศก็เห็นชอบ ทุกประเทศก็พยายามทำแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่เราเรียกว่า “ประชารัฐ” ของเรา เราต้องอาศัยความพยายามของภาครัฐ ทำให้มากขึ้นประกอบกับความร่วมมือร่วมใจของเอกชนและภาคประชาชน ถ้ารัฐคิด แล้วรัฐทำอย่างเดียวไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รัฐ เอกชน ประชาสังคม แม้กระทั่งในส่วนของ NGO ต่าง ๆ ก็มาช่วยกันอะไรที่เป็นการพัฒนาประเทศ เราคิดอย่างเดิม บางทีก็ไม่ได้ ทำให้ทุกอย่างเดินไม่ได้ การใช้จ่ายภาครัฐก็ลงไปไม่ได้ โครงการก็ไม่ได้รับการอนุมัติ การเบิกจ่ายงบประมาณก็ทำได้ช้า ก็เลยไม่เกิดทั้งเม็ดเงินเม็ดงาน อาชีพรายได้ ลงไปสู่พื้นที่ท้องถิ่น แล้วปัญหาก็ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างเดิม ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง การพัฒนาที่เหลื่อมล้ำกัน ทุกภาคไม่มีความเข้มแข็ง ดีมานด์ ซัพพลายก็ไม่สอดคล้อง เหล่านี้ต้องใช้กลไกประชารัฐทั้งหมด เดินไปตามแผนปฏิรูปของเรา ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของเรา อะไรที่สำคัญ อะไรที่ต้องร่วมมือ พรรคการเมืองหรือทุกรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าต่อไป ก็คงต้องทำทั้งสองด้าน ทั้งภายในและภายนอกด้วย และเราต้องปรับตัวเข้าสู่โลกเทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างยั่งยืน มีความสมดุล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นดิจิตอลที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ไว้ทำลายกัน เราจะต้องประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เหมาะสม ทุกอย่างต้องประยุกต์หมด เพราะว่าท่านทรงวางไว้เพื่อคนทุกคนคนทุกกลุ่ม คนทุกฝ่าย และในทุกกิจการ ไม่ใช่เฉพาะภาคเกษตรอย่างเดียว
 

นอกจากนี้ ผมต้องการเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การเงิน และการสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาคไปด้วย เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ผลิตไทย คือ ต่างคนต่างต้องตอบแทนกัน ผมก็พูดกับทุกประเทศ ไม่ใช่ว่าเขาขายเราได้อย่างเดียว เราก็ต้องไปขายเขาได้ แต่เราต้องปรับกฎระเบียบกติกา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมาย ในเรื่องของภาษี ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ในเรื่องของการข้ามแดน การขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ต่าง ๆ แม้กระทั่งการค้าขายออนไลน์ก็ต้องสอดคล้องกันให้ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ทุกสาขาอาชีพ และทุกกลุ่ม มีการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ใช่ต่างประเทศอย่างเดียว เพราะมีกติกาเดียว คนไทยลงทุนก็ใช้กติกานี้ สิทธิประโยชน์ ทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อจะได้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
 

ผมขอยกตัวอย่างการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วยการใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีในการสร้างโอกาส เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยและภูมิภาค ก้าวเข้าสู่ "สังคมดิจิทัล" และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ อาทิ
 

1. ความร่วมมือของภาครัฐระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และ ธนาคารกลางสิงคโปร์ ในการพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินที่ทันสมัยของ 2 ประเทศ ของเราอาจจะเริ่มก่อนด้วยซ้ำไป คือ ระบบพร้อมเพย์ ที่ผมเคยกล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้า และระบบที่คล้ายกันของสิงคโปร์ ที่มีชื่อว่า Paynow โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การโอนเงินระหว่างประชาชนใน 2 ประเทศ สามารถทำผ่านเทคโนโลยีบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เน้นว่าจะต้องปลอดภัยด้วย ซึ่งทั้ง 2 ธนาคาร ก็จะได้ศึกษาแนวทางร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของทั้ง 2 ประเทศในระยะต่อไป ก็คงต้องขยายไปทั่วภูมิภาคกับประเทศอื่น ๆ ด้วยในอนาคต
 

2. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทย กับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของจีนเพื่อส่งเสริมให้ไทย มีบทบาทเป็น "ศูนย์กลางกระจายสินค้า" ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงการขนส่งและเชื่อมโยง "ห่วงโซ่การผลิต" เข้าด้วยกัน ผ่าน "ดิจิทัล อีโคซิสเต็ม" ครบวงจร ทั้ง อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) อีโลจิสติกส์ (e-Logistic) อีไฟแนนซ์ (e-Finance) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรัฐบาลนี้พยายามผลักดันให้มีความพร้อม สำหรับยกระดับ "การค้าออนไลน์" อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าขาย และการเข้าถึงตลาด ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งโอกาสด้านการศึกษาหาความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ เป็นการ "เปิดประตูโอกาส" ของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เปิดสมอง เปิดปัญญา ไปสู่สายตาชาวโลกได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น ช่วยให้สินค้า OTOP GI SME ไมโคร SME และ Startups ของเรา มีโอกาสในการขยายตลาด สร้างรายได้ครั้งใหญ่
 

นอกจากนี้ การพัฒนาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ผลิตของไทย สามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของตลาดนอกประเทศได้มากขึ้น ไม่เพียงประชากรในอาเซียน กว่า 600 ล้านคนแต่รวมไปถึงประชาชนในประเทศจีน กว่า 1,300 ล้านคน และประชากรทั่วโลกอีกด้วย และก็มีอินเดีย ในโลกใบนี้ก็เป็นประเทศทีมีพลเมืองมากก็เป็นตลาดใหญ่ของเราด้วย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการวางแผนการผลิต รวมถึงการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแต่ละแห่งได้ดีขึ้น และมีจำนวนมากยิ่งขึ้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่รัฐบาลนี้จะต้องเร่งรัดให้เกิดความเชื่อมโยงระบบออนไลน์ของเรา อาทิ โครงการ "เน็ตประชารัฐ" กับระบบเครือข่ายระหว่างประเทศให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง สิ่งสำคัญ คือ ความสามารถในการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องรองรับระบบใหม่ ๆ เหล่านี้ ตามกฎหมายก็หลายตัว ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว หลายอย่างก็เดินหน้าได้ หลายอย่างก็ติดขัดบางประการ เราต้องช่วยกัน จะได้ไปอย่างราบรื่น ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่งั้นบางคนก็บอกว่าไปอยู่ที่คนมีรายได้มาก อยู่ที่นักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่าลืมว่าคนของเราก็อยู่ในห่วงโซ่นั้นทั้งหมด อยู่ในห่วงโซ่การประกอบการมากมายไปหมด ในหนึ่งกิจกรรมของเรามีเอสเอ็มอีอยู่เกือบสามล้านราย มีหลายกิจกรรมไม่ว่า ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการ มากมายไปหมด เพราะฉะนั้นในแต่ละกิจกรรมจะมีคนอยู่ในห่วงโซ่นี้สิบล้านคนที่จะได้ประโยชน์จากการหมุนของห่วงโซ่เหล่านี้ อันนั้นแหละ คือ สิ่งที่เราต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ ถ้าห่วงโซ่ใหญ่มันเกิดไม่ได้ เล็ก ๆ จะได้ประโยชน์ได้อย่างไร ที่ผ่านมาเรามักจะไปส่งเสริมข้างล่างอย่างเดียว อาจจะด้วยในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย ไปดูคนรายได้น้อย ซึ่งก็อย่าลืมว่าต้องส่งเสริมคนข้างบนเขาด้วย ส่งเสริมแต่ข้างล่างอย่างเดียว ก็ไปไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปออกช่องไหน เอาทุกคนเข้ามาอยู่ในกติกาเดียวกัน ดูแลคนรายได้น้อยให้มากขึ้น ให้เขาได้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากเขา นั่นคือสิ่งที่เราต้องช่วยกัน เราต้องพัฒนาตนเองด้วย
 

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ
 

ภาพความเชื่อมโยงของประเทศไทย กับอาเซียน กับประชาคมโลก โดยเฉพาะ "ชาติมหาอำนาจ" ต่างๆ ที่ผมได้กล่าวมานั้น มีความสำคัญต่อเราในทุกมิติ ในระยะต่อไปนี้ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ จาก 2 ตัวอย่างความร่วมมือที่เพิ่งกล่าวไปแล้วนั้น พี่น้องประชาชนคงได้รับรู้ว่า ผมให้ความสำคัญกับ "ตลาด" ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อ "ปากท้อง - ความเป็นอยู่" ของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม คนจน คนรวยก็ตาม เพราะ "ตลาด" เป็นจุดเริ่มต้นของการมีปฏิสัมพันธ์ของคน มีการค้าขายและการแลกเปลี่ยนของชุมชน ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ผมจึงมีนโยบายให้ตั้ง "ตลาดประชารัฐ" ทั้ง 9 แบบขึ้น เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการ ทุกกลุ่ม ทุกสินค้า ทุกระดับ ทั้งสินค้าเกษตร OTOP SMEs ไมโคร SMEs วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ได้มีพื้นที่ค้าขายมากขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย ลดต้นทุนค่าเช่าแผง - ค่าตลาด และช่วยลดค่าครองชีพของคนในแต่ละชุมชน ทางอ้อมด้วยโดยการกำหนดพื้นที่ตลาดใหม่ หรือขยายพื้นที่ตลาดเดิมที่มีอยู่แล้ว ด้วยความร่วมมือในรูปแบบ "ประชารัฐ" ตามที่ได้กล่าวไว้ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
 

ภายหลังจากการเปิดให้ลงทะเบียน ตามโครงการ "ตลาดประชารัฐ" มีประชาชนจำนวนมาก มาลงทะเบียนจองพื้นที่ตลาดประชารัฐแล้ว ทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 10 - 14 พฤศจิกายน 2560) ราว 30,000 ราย โดยเฉพาะ "ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้" กว่า 2,000 แห่ง รองรับได้ 20,000 รายจองไปแล้ว กว่า 17,000 ราย และ "ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ" กว่า 3,800 แห่ง จองไปแล้วกว่า 13,000 ราย จากทั้งหมด 40,000 ราย เป็นต้น ซึ่งยังคงเปิดให้ลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องก็ทดลองเข้าไป ไปดูว่าไปได้หรือไม่ ไหวหรือไม่ เราจะเปิดลงทะเบียนต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ อย่าบอกว่าไม่ทราบ ผมพูด 3-4 ครั้งแล้ว ขอให้ไปดูก่อนว่าเป็นอย่างไร ไปดู ไปศึกษาว่าเราจะปรับตัวเข้ากับตรงนี้ได้หรือไม่ ถ้าเราปรับตัวเอง สินค้าเราก็ดี เราก็ขายได้ ต้องแข่งขันกันหมดนะวันนี้ ทำแบบเดิม ๆ บางทีก็ขายไม่ออก ซ้ำ ๆ กันมาก ๆ ก็ขายไม่ออก ต้องมีของตัวเอง อะไรบ้าง ทำนองนี้ จุดขาย สตอรี่ของตัวเอง สามารถไปลงทะเบียนเพิ่มได้ ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และอำเภอ ทั่วประเทศ ศูนย์เหล่านี้มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว ถ้าบอกไม่รู้จะไปไหน ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร แบบนั้น สำหรับกรุงเทพมหานครลงทะเบียน ณ สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ทั้งนี้ รายละเอียดคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน เงื่อนไขตลาดแต่ละประเภท และข้อมูลเกี่ยวกับตลาดประชารัฐ สามารถศึกษาข้อมูลผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ซึ่งกำหนดเปิดตลาดพร้อมกัน ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้
 

พี่น้องประชาชน ครับ
 

สำหรับกรณี "การบริหารจัดการน้ำ" เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุด ทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ผมอยากให้ข้อมูลเสริม เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมมือ ไม่อยากให้กล่าวโทษกันไปมา หรือเป็นประเด็นทางการเมือง โดยเราต้องยอมรับร่วมกันว่า ปีนี้ปริมาณน้ำมีค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนพายุดีเปรสชัน ที่เข้ามาทั้งเล็กทั้งใหญ่ ประมาณ 20 ลูกกว่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของปรากฏการณ์ ลานินย่า และเอลนินโย่ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน คาดเดายาก แม้กระทั่งภาพถ่ายดาวเทียมที่มีอยู่ก็ตาม บางทีก็ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าประกาศล่วงหน้าแล้วแต่ไม่ใช่ ก็เลยกลายเป็นว่าไม่ตรงอีก ก็เห็นใจกันบ้างแล้วกัน บ้านเรือน โดยเฉพาะในแถบที่มักมีน้ำท่วมขัง ที่ลุ่มต่ำ เช่น ในเขตอำเภอโผงเผง บางบาล บางระกำ อยุธยา หรือชัยนาท เหล่านี้ ที่เคยมีใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ หน้าน้ำ น้ำก็ขังท่วมก็ต้องขึ้นไปอยู่ชั้นบนแต่วันนี้บ้านเรือนส่วนใหญ่ กลับไม่มีใต้ถุน เพราะถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่ใช้สอย เพื่อรองรับจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น บางครั้งก็เป็นคนจังหวัดอื่นเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่อาจจะมีปัญหาจากน้ำท่วม น้ำขัง แล้วก็ไม่เคยชินด้วยก็เลยทำให้รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่าแต่ก่อน
 

แต่ทั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ได้พระราชทาน "ของขวัญ" เป็นเขื่อนภูมิพล - เขื่อนสิริกิติ์ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้กับพสกนิกรชาวไทยมายาวนานนะครับ อีกทั้งพระราชทานแนวคิดเรื่องแก้มลิง และการผันน้ำ ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหา และบรรเทาผลกระทบในกรณีที่มีปริมาณน้ำฝน และพายุจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีน้ำปริมาณที่เกินศักยภาพของระบบบริหารจัดการน้ำที่เรามีเหมือนเช่นปี 2554 และปีนี้ก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมถึง พี่น้องประชาชนก็ต้องพยายามปรับตัว ให้รองรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อะไรจะเกิดขึ้นอีกก็ไม่ทราบ เพราะในอนาคตเป็นธรรมชาติ ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมกันเข้าใจกันนะครับ ในระยะยาว รัฐบาลก็ได้มีการวางแผนให้มีการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างบูรณาการ เพื่อให้พื้นที่ต่าง ๆ สามารถรองรับภัยพิบัติได้ดีขึ้น และทันท่วงที ซึ่งจะมีการลงทุนวางระบบ ทั้งด้านชลประทาน และระบบขนส่งให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกัน การสัญจรไปมา ถนนหนทางต่าง ๆ จะทำยังไง ต้องยกระดับหรือไม่บนเส้นทางใด ๆ ก็ตามที่กีดขวางทางน้ำธรรมชาติ ต้องไปแก้ไขทั้งหมด มีเป็น 100 แห่งนะครับ ต้องใช้เวลาในการแก้ไข งบประมาณก็มากนะครับ แต่เราต้องทำเพื่อให้การสัญจรของพี่น้องประชาชน ไปมาได้สะดวก
 

สำหรับความคิดที่รัฐบาลนี้กำลังคิดอยู่ คือ การสร้างคลองส่งน้ำ หรือทำช่องทางระบายน้ำไปพร้อมๆ กับการสร้างถนน - ทางรถไฟเหล่านี้ เป็นต้น เพราะบางครั้งเราต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม อาจต้องทำทั้งสองเส้นทาง อันหนึ่ง คือ เรื่องน้ำ อันหนึ่ง คือ เรื่องถนน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำถนนและทางระบายน้ำหรือคลองส่งน้ำไปด้วย โดยเวนคืนพื้นที่เส้นทางเดียว ก็จะได้เดือดร้อนน้อยลง กำลังให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตร จะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ผมไม่อยากให้กระทบใครทั้งสิ้น แต่ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน ต้องผ่านที่ดินของเอกชนมาก เราทุกคนรับทราบดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่
 

รัฐบาลนี้ไม่เคยทอดทิ้ง ทุกวันทุกคืนก็นึกถึงพวกเราไม่เคยนิ่งดูดาย คิดใหม่ ทำใหม่ทุกวัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นทันใจตลอดเวลา ทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องอดทนร่วมกัน ผมก็ต้องอดทน ท่านก็ต้องอดทน ท่านเดือดร้อน เราก็ไปช่วยเหลือ ให้ผ่านพ้นเวลายากลำบากไปให้ได้ก่อน ความเข้มแข็งก็จะตามมา
 

ผมไม่อยากจะต้องใช้เงินในการเยียวยามากทุกปี ๆ จะสูญเปล่า เพราะว่าแทนที่เราจะเอาเงินไปทำอย่างอื่น เอาไปดูแลพี่น้องประชาชนอย่างอื่น ต้องมาเสียไปกับการเยียวยาก็ไม่พอเพียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เราต้องคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราก็มีความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่นเดียวกับทุก ๆ เรื่องที่รัฐบาลนี้ กำลังพยายามดำเนินการอยู่
 

เรื่องการระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะแก้มลิงซึ่งยังมีน้ำขังท่วมอยู่ ผมได้สั่งการไปแล้ว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย คสช. กองทัพต่าง ๆ ไปช่วยกัน วางแผนกันว่า จะจูงน้ำเหล่านี้ออกไปได้อย่างไร หรือว่าค่อย ๆ ระบายพื้นที่ส่วนใหญ่นี้ออกไป ค่อย ๆ ทยอยน้ำออกไป เข้าไปขังเก็บไว้ในพื้นที่แก้มลิงขนาดเล็กไปเรื่อย ๆ หรือไปตามถนนทั่วไป ไม่ใช่ระบายออกทะเลหมด วันหน้าก็ไม่มีน้ำอีก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องเสียสละที่ร่วมกัน อาจจะทำคูคลอง ไม่ต้องทำขนาดใหญ่ เหมือนเป็นคลองส่งน้ำธรรมชาติ แล้วก็ลากน้ำตรงนี้ ไปตรงโน้น ทั่วไปให้เหมือนรังผึ้ง แบบเตาขนมครกเล็ก ๆ ก็จะมีที่เก็บน้ำมีน้ำมากมายไปเราก็ไม่เดือดร้อนวันหน้า วันหน้าถ้าฝนตกลงมา ก็อาจมีการท่วมขัง ใช้เวลาให้น้อยลง ต้องเก็บน้ำให้ได้ด้วย อันนี้สั่งการให้หน่วยงานที่ผมกล่าวไปแล้ว และอื่น ๆ ไปพิจารณาเรื่องนี้โดยด่วน ไม่ใช่ทำโครงการใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว เรื่องโครงการเล็ก ๆ อย่างนี้ต้องทำและทำให้เร็วด้วย รีบระบายน้ำออกให้เขา ระหว่างนี้ก็ต้องดูแลความเดือดร้อนของเขาด้วย เขาจะอยู่กินกันอย่างไร ทั้งคน ทั้งสัตว์
 

สุดท้ายนี้ ในวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันเด็กสากล" และ เป็นวันครบรอบอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็กสากล อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ให้สัตยาบันเอาไว้ว่าจะรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กใน 4 ด้าน คือ (1) สิทธิในการอยู่รอด (2) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (3) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ (4) สิทธิในการมีส่วนร่วม ก็ขอย้ำเตือนให้ผู้ใหญ่ทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้ตระหนัก และร่วมมือกันพัฒนาเยาวชนของเรา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ ด้วยนะครับผมเห็นว่ากิจกรรมดี ๆ ในครอบครัวจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านความรู้ การใช้ชีวิต และจิตใจ ของลูกหลานของเรา ได้อย่างมาก
 

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ผมมีกิจกรรมที่น่าสนใจมาเสนอ ได้แก่ 1) มหกรรมสินค้าเชิงปัญญา 2560 นำเสนอผลิตภัณฑ์แปลงโฉมภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อตอบสนองชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งด้านคุณค่าและมูลค่า ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และ 2) กิจกรรมครั้งสำคัญระดับชาติ มาตรฐานระดับโลก คือ การสวนสนามทางเรือนานาชาติจาก 40 ประเทศ และ การจัดการแข่งขันเครื่องบิน Air Race One World Cup Thailand 2017 ซึ่งหาชมได้ยาก เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดี และเพิ่มเติมวิสัยทัศน์ให้กับลูกหลานของเราอีกด้วย ไม่เคยจัดในประเทศไทยมาก่อน ก็ขอเชิญชวนให้ไปเยี่ยมชมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย หรืออาจจะเป็นกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวถึงก็ได้ มีการจัดงานมากมาย ปีนี้ก็เป็นปีการท่องเที่ยวด้วย ไปช่วยกันดูด้วยเที่ยวในประเทศไทย วันนี้ก็มีปริมาณนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีการท่องเที่ยวไปถึงชุมชน ไปถึงพื้นที่การท่องเที่ยวในไร่นา สวนผสมต่าง ๆ เหล่านี้ ผมว่าจะเป็นรายได้ ไปสู่ท้องถิ่น ถึงครัวเรือนด้วย ช่วยกันทำให้เข้มแข็ง เป้าหมายก็คือ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของคนในครอบครัว และกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
 

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้