สหประชาชาติถวายสดุดีในหลวง เป็นกษัตริย์นักพัฒนาและทรงเป็นศูนย์กลางของประชาชน

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  7368 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สหประชาชาติถวายสดุดีในหลวง เป็นกษัตริย์นักพัฒนาและทรงเป็นศูนย์กลางของประชาชน

สหประชาชาติถวายสดุดีในหลวง เป็นกษัตริย์นักพัฒนาและทรงเป็นศูนย์กลางของประชาชน

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นวาระพิเศษถวายพระเกียรติแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างยิ่งใหญ่ ทรงงานพัฒนาเพื่อความผาสุกพสกนิกรผ่านแนวพระราชดำริที่ยังประโยชน์แก่ไทยและโลก



          เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) นายปีเตอร์ ทอมสัน ประธานสมัชชาสหประชาชาติ ได้จัดประชุมสมัชชาสหประชาชาติโดยมีวาระพิเศษเพื่อแสดงความอาลัยและสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดไม่บ่อยนัก 

          ในโอกาสนี้ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวคำถวายสดุดีเพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้

ทรงทำตามสัญญา ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม

 

          นายปีเตอร์ ทอมสัน ประธานสมัชชาสหประชาชาติ(ฟิจิ) แสดงความเสียใจและอาลัยอย่างสุดซึ้งต่อพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก และได้รับการเคารพเทิดทูนอย่างที่สุด เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับพสกนิกร ตลอดการครองราชย์ 70 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ว่าจะ “ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” อย่างแท้จริงในเวทีพหุภาคี

          นานาประเทศล้วนยอมรับพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เช่น รางวัล UN Development Programme (UNDP) Human Development Lifetime Achievement Award เมื่อปี 2549 และการกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพ 5  ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของดินต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

          หลังจากการกล่าวถวายราชสดุดีของประธานในที่ประชุมก็มีการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยแด่พระองค์ท่าน 

          นายบัน คี มูน  เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวยกย่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และนำพาประเทศให้ทันสมัย ทรงนำความมั่นคงและเสถียรภาพมาสู่ประเทศในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต ความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีความสำคัญต่อประชาชนของพระองค์อย่างยิ่งใหญ่เพียงใด ความมุ่งมั่นของพระองค์ที่ทรงงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง สหประชาชาติจะร่วมทำงานเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลและประชาชนไทยต่อไป
 
ทรงเป็นผู้นำที่แท้จริง เป็นแรงบันดาลใจของประเทศไทยและของโลก

 

          นาย คาฮา อิมนัดเซ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรจอร์เจียประจำสหประชาชาติผู้แทนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ได้ย้ำถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนของประชาชนทั้งประเทศ ทรงได้รับการชื่นชมและเคารพจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทรงเป็นผู้นำที่แท้จริงที่เป็นแรงบันดาลใจของประเทศไทยและของโลก พระองค์ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยในทุกด้าน และทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทำงานเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ดังที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “คนดีย่อมทำให้คนอื่นเป็นคนดี ความดีจะกระตุ้นให้เกิดความดีในสังคมและทำให้ผู้อื่นเป็นคนดี”
 
          พระองค์จะเป็นที่จดจำในฐานะทรงเป็นผู้นำที่โดดเด่น เสียสละทุ่มเทเพื่อประเทศ ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” เป็นนักคิดผู้มีวิสัยทัศน์ ที่มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาระดับโลก อีกทั้งยังทรงใช้พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เป็นสะพานสานสัมพันธ์และหล่อหลอมมิตรภาพด้วย
 
พระองค์ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและความก้าวหน้าของประชาชนเสมอ

 

         นาย คริสเตียน บาร์รอส เมเลต  เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรชิลีประจำสหประชาชาติ ผู้แทนกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียน แสดงความชื่นชมในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดช่วงเจ็ดทศวรรษของการครองราชย์ นับแต่ปี ค.ศ. 1946 พระองค์ทรงได้รับความเคารพรักและเทิดทูนจากประชาชน เพราะพระองค์ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและความก้าวหน้าของประชาชนเสมอ UN Development Programme (UNDP) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “Human Development Lifetime Achievement Award” เมื่อปี 2549 นอกจากนั้น ทรงได้รับการยอมรับในระดับโลกในฐานะประมุขแห่งรัฐที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างเอกภาพและสันติภาพให้กับคนในชาติ

          ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ประจักษ์ได้จากโครงการที่ทรงริเริ่มกว่า 4,000 โครงการ
 
 
          นายอับดัลเลาะห์ วาฟี  เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไนเจอร์ประจำสหประชาชาติ ผู้แทนกลุ่มประเทศแอฟริกา ได้ย้ำถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช   ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ทรงนำทางและเป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างทึ่งของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาครองราชย์ 70 ปี ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ประจักษ์ได้จากโครงการที่ทรงริเริ่มกว่า 4,000 โครงการ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสั่งสมจากประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ทรงดำเนินการมาตลอดพระชนม์ชีพ และเป็นแนวทางที่สามารถนไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศต่างๆทั่วโลก การสูญเสียครั้งนี้จึงมิใช่การสูญเสียของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสูญเสียของโลก กลุ่มประเทศแอฟริกาเชื่อว่ามรดกตกทอดโดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นแรงบันดาลใจแก่ชาวไทยและโลกต่อไป

รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ได้จากพวกเราไปแล้ว
 

          นายมันซูร์ ไอย์ยาด อาโลไทบี  เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรคูเวตประจำสหประชาชาติผู้แทนกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประทีปนำทางตลอด 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างเอกภาพและศูนย์รวมประชาชนในช่วงเวลายากลำบาก เป็นที่รู้กันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีความโอบอ้อมและนักสร้างสันติภาพ ทรงส่งเสริมการเจรจาแทนความขัดแย้ง ได้รับความเคารพอย่างสูงสุดตลอดรัชสมัย พระองค์นำพาประเทศสู่ความรุ่งเรือง ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรักที่มีต่อพสกนิกร เห็นได้จากความมุ่งมั่นและอุทิศพระองค์นำพาประเทศสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ได้จากพวกเราไปแล้ว ความสูญเสียของประเทศไทย คือความสูญเสียของภูมิภาคและของโลก

พระมหากษัตริย์ผู้นำพาประเทศด้วยเกียรติภูมิ ด้วยการอุทิศพระองค์และสายพระเนตรกว้างไกล
 
          นาย แมททิว ไรครอฟต์  เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหราชอาณาจักรประจำสหประชาชาติ ผู้แทนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก กล่าวว่า ในนามของประเทศยุโรปขอแสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้นำพาประเทศด้วยเกียรติภูมิ ด้วยการอุทิศพระองค์และสายพระเนตรกว้างไกล ตลอดการครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก 70 ปี พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ขณะสหประชาชาติเพิ่งก่อตั้งได้เพียง 1 ปี และประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 55 ของสหประชาชาติ พระองค์ทรงครองราชย์หลังสงครามโลก ยุคที่ผู้คนฝันถึงสันติภาพ การพัฒนาและสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้นแล้ว สิ่งท้าทายที่พระองค์ทรงเผชิญตลอดรัชสมัยอันยาวนาน เป็นสิ่งท้าทายเดียวกับที่องค์การสหประชาชาติเผชิญ

          เป็นการยากที่จะกล่าวถึงเรื่องสำคัญที่พระองค์ทรงกระทำมาตลอดเพื่อประชาชน แต่ขอยก 3 ประการ อย่างแรกคือพระองค์จะได้รับการจดจำในฐานะผู้ที่ทำในสิ่งที่จำเป็นแก่ประชาชน ทรงใช้เวลาหลายปีเสด็จพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ซักถามปัญหาความเดือดร้อนจากผู้นำชุมชน เป็นผู้นำดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรรรมและสนับสนุนโครงการเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรีและศิลปะ จิตรกร นักประพันธ์ และการถ่ายภาพ สุดท้าย พระองค์จะได้รับการจดจำจากการอุทิศพระองค์เพื่อประชาชน ผลงานของพระองค์เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

คนไทยโชคดีเหลือเกินที่มีในหลวงเป็นสมาชิกในครอบครัว
 
          นาง ซาแมนทา พาวเวอร์  เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความผูกพันอย่างมากกับสหรัฐอเมริกา พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ทรงพบกันที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมตซาชูเสตส์ พระราชบิดาศึกษาด้านการแพทย์ ที่ฮาร์วาร์ด พระราชมารดาศึกษาที่วิทยาลัยพยาบาลซิมมอนส์ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยประทับในสหรัฐขณะยังทรงพระเยาว์เท่านั้น แต่ที่เคมบริดจ์ยังรู้สึกได้ถึงการดำรงอยู่ของพระองค์จนถึงปัจจุบัน

          เธอกล่าวเช่นนี้ได้เพราะก่อนมาร่วมทำงานในรัฐบาลประธานาธิบดีบารักโอบามา เคยสอนที่เคนเนดี สกูล ออฟ กอฟเวอร์เมนต์ ที่เคมบริดจ์ และเดินผ่านจตุรัส คิง ภูมิพล ที่อยู่ในละเวกใกล้เคียง เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นคนไทยแวะเวียนมาสักการะ ถ่ายรูปกับป้ายชื่อจตุรัส และเวลานี้ มีผู้คนนำดอกไว้มาวางเพื่อแสดงความอาลัย

          เกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว เคยมีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า มีพระประสงค์ให้เป็นที่จดจำอย่างไร พระองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใส่ใจนักว่าประวัติศาสตร์บันทึกถึงพระองค์อย่างไร แต่หากพวกท่านต้องการเขียนถึงข้าพเจ้าในทางที่ดีแล้ว ควรเขียนว่าข้าพเจ้าได้ทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์

          ในสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ การกระทำสิ่งอันเป็นประโยชน์ คือการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาต่างๆที่กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส และหนทางเดียวที่ จะทรงรู้ได้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ จะเข้าใจได้ถึงปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ คือการเสด็จพระราชดำเนินยังสถานที่นั้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะชนบทและพื้นที่ยากจน ทรงพบปะกับประชาชน ทั้งชาวไร่ชาวนา ชาวประมง นักเรียน ครู ตำรวจ เพื่อทรงรับทราบและแก้ไขปัญหาที่เกิดกับราษฎรของพระองค์

          ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีแนวพระราชดำริที่สร้างสรรค์และทรงพระปรีชาสามารถ ทรงจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของพระองค์ 40 ฉบับ ส่วนใหญ่มาจากการคิดค้นและทรงทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ราษฎรทั้งสิ้น  รวมถึงโครงการที่มีชื่อเล่นว่า แก้มลิง พระราชดำริที่ได้จากการเห็นลิงเก็บอาหารไว้ที่แก้มแล้วนำมากินในภายหลัง พระองค์ทรงออกแบบมาเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเป็นระบบกักเก็บน้ำในช่วงน้ำหลากก่อนนำมาใช้ประโยชน์ด้านการชลประทานในภายหลัง ซึ่งยังคงใช้อยู่ทั่วประเทศจนถึงวันนี้

          พระราชดำริของพระองค์ผนวกการอนุรักษ์กับการพัฒนามนุษย์ไว้ด้วยกัน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมคือความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาวนั้น เป็นแนวทางที่ในหลวงทรงล้ำหน้ามาหลายทศวรรษ

          เมื่อครั้งกลับมาเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2503 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ พระองค์ได้ตรัสสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาสหรัฐ ขณะพระชมม์มายุเพียง 32 พรรษา ว่า ทรงตอบรับคำเชิญด้วยเหตุผลส่วนหนึ่ง เนื่องจากความปรารถนาธรรมดาของมนุษย์คนหนึ่งที่อยากเห็นสถานที่ประสูติ คือเคมบริดจ์ ซึ่งพระองค์ได้กลับไปเยือน นอกจากนี้ ยังเป็นการมาเพื่อตอกย้ำมิตรภาพพิเศษและค่านิยมร่วมกันของสองประเทศ

          พระองค์ตรัสกับรัฐสภาสหรัฐด้วยว่า คุณค่าสูงสุดสำหรับคนไทยคือครอบครัว คนในครอบครัวจะช่วยเหลือกันในยามยาก การให้คือคุณค่าในตัวเอง ผู้ให้ไม่คาดหวังจะได้ยินคำสรรเสริญเยินยอหรือผลตอบแทนใดๆ กระนั้นผู้รับจะรู้สึกขอบคุณ พระองค์จะสืบสานพันธกิจนี้เช่นกัน พระราชดำรัสของพระองค์สะท้อนวิถีการแสวงหาหนทางที่เป็นประโยชน์กับพสกนิกร  ชีวิตแห่งการให้ และการบำเพ็ญประโยชน์ในทุกทุกวัน มิใช่เพื่อการแซ่ซ้อง และไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่เป็นการทำเพื่อครอบครัว พระองค์ถือว่าทุกคนในประเทศเป็นครอบครัวของพระองค์ คนไทยโชคดีเหลือเกินที่มีในหลวงเป็นสมาชิกในครอบครัว และคนทั่วโลกโชคดีที่ได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตจากพระองค์

 

          นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในฐานะผู้แทนประเทศไทย แสดงความขอบคุณและรู้สึกซาบซึ้งใจที่สมัชชาสหประชาชาติได้จัดวาระพิเศษเพื่อถวายสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพระราชกรณียกิจและสิ่งที่พระองค์ทรงทุ่มเทเพื่อปวงชนชาวไทยตลอด 70 ปีของการครองราชย์เป็นที่รับรู้ไม่เพียงแต่ในหัวใจของประชาชนไทย แต่ยังเป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งได้ถวายรางวัลที่ทรงคุณค่าเพื่อเทิดพระเกียรติสำหรับความสำเร็จที่ได้ทรงทุ่มเทด้วยพระวิริยะอุตสาหะเพื่อประชาชนของพระองค์ ได้แก่ เหรียญ Agricola ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี ค.ศ. 1995 รางวัล UN-HABITAT Scroll of Honour Award ปี ค.ศ. 2003  รางวัล Human Development Lifetime Achievement Award ของ United Nations Development Programme (UNDP) เมื่อปี ค.ศ. 2006 และรางวัล WIPO's Global Leaders Award ปี ค.ศ. 2009

          นอกจากนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระราชกรณียกิจด้านการวิจัยและพัฒนาดิน สหประชาชาติยังได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก (World Soil Day) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 อีกด้วย จากโครงการพัฒนาหลายพันโครงการทั่วประเทศ ได้สั่งสมและพัฒนาเป็น “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นกรอบในการตัดสินใจ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังได้รับการยอมรับในฐานะแนวทางที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

แหล่งที่มา : คมชัดลึกออนไลน์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้